กรณีศึกษา Brompton จักรยานพับได้ ที่ไม่เคยเปลี่ยนกลไกเลย มากว่า 40 ปี แต่มียอดขาย 4,500 ล้านบาท
Business

กรณีศึกษา Brompton จักรยานพับได้ ที่ไม่เคยเปลี่ยนกลไกเลย มากว่า 40 ปี แต่มียอดขาย 4,500 ล้านบาท

25 เม.ย. 2023
กรณีศึกษา Brompton จักรยานพับได้ ที่ไม่เคยเปลี่ยนกลไกเลย มากว่า 40 ปี แต่มียอดขาย 4,500 ล้านบาท /โดย ลงทุนเกิร์ล
ต้นศตวรรษที่ 18 จักรยานถูกคิดค้นขึ้นมาเป็นครั้งแรก โดยนักประดิษฐ์ชาวเยอรมัน ซึ่งนั่นกลายเป็นจุดเปลี่ยนของสังคมไปตลอดกาล
เพราะก่อนหน้านี้ การเดินทางไปไหนมาไหน เป็นเรื่องที่ยากลำบาก และแพงมากสำหรับชาวบ้าน โดยยุคนั้นทั้งม้าและรถม้า เป็นสิ่งที่หรูหรา เกินกว่าชนชั้นธรรมดา ๆ จะเอื้อมถึง
แต่เมื่อจักรยาน ที่ราคาย่อมเยากว่า ได้ถือกำเนิดขึ้น การเดินทางใกล้ไกล จึงสะดวกสบายมากขึ้น และถูกลง ซึ่งนั่นก็นำมาสู่การเคลื่อนย้ายของผู้คน ที่ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการแลกเปลี่ยนต่าง ๆ เพิ่มขึ้น
ตัดภาพมาที่ยุคปัจจุบัน จักรยานก็ยังคงเป็นยานพาหนะ ที่ทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงได้ แต่ระบบคมนาคมที่พัฒนาขึ้น จักรยานก็มีวิวัฒนาการ ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยด้วย
จักรยานพับได้ ก็เช่นกัน ที่ถูกออกแบบมาให้เข้ากับจังหวะชีวิตของคนเมืองยุคนี้ ที่ต้องเดินทางหลายต่อ เพราะสามารถพับจักรยาน หิ้วติดตัวไปด้วยได้
และถ้าพูดถึงจักรยานพับได้ แบรนด์แรก ๆ ที่ถูกพูดถึง คงเป็นแบรนด์อื่นไปไม่ได้ นอกจาก “Brompton” ของประเทศอังกฤษ ซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องการใช้งาน และคุณภาพที่ไม่เป็นรองใคร
แม้ราคาเริ่มต้นของจักรยาน Brompton จะสูงไม่แพ้มอเตอร์ไซค์ หรือมีราคาราว ๆ เกือบ 4 หมื่นบาท
แต่ Brompton ก็ยังขายได้ทั่วโลก โดยปีล่าสุด สามารถทำยอดขายได้สูงถึง 4,500 ล้านบาททีเดียว
ที่น่าแปลกใจ คือ ตั้งแต่ทำต้นแบบโมเดลแรก ๆ ออกมาเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว Brompton ไม่เคยเปลี่ยนกลไกสำหรับการพับเก็บเลย
แล้วเรื่องราวของ Brompton น่าสนใจอย่างไร และทำไมคนถึงยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อมัน ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
เรื่องราวของ Brompton เริ่มต้นขึ้นในปี 1975 เมื่อคุณพ่อของคุณแอนดรูว์ ริทชี ชวนเขาไปฟังแผนธุรกิจของสตาร์ตอัปจักรยานพับได้ ที่มีชื่อว่า Bickerton ซึ่งในเวลาต่อมา กลายเป็นแบรนด์จักรยานพับได้ แบรนด์แรกของโลก
แต่เมื่อคุณแอนดรูว์ได้ฟังการนำเสนอวันนั้นแล้ว เขาเห็นช่องโหว่ของจักรยาน Bickerton มากมาย โดยเฉพาะความยุ่งยากในการพับเก็บ แถมพอพับแล้วยังดูใหญ่เทอะทะ ไม่เหมาะที่จะหิ้วไปไหนมาไหน
พอกลับมาที่ห้อง คุณแอนดรูว์ได้ร่างแบบจักรยานพับได้ที่เขาคิดว่าดีกว่า ออกมาคร่าว ๆ และเห็นความเป็นไปได้ในการสร้างมันออกมา
จึงนำไอเดียนี้ไประดมทุนจากเพื่อน ๆ เพื่อตั้งต้นธุรกิจ ซึ่งก็ได้เงินมาทั้งหมด 1,000 ปอนด์สเตอร์ลิง
หลังจากนั้น เขาใช้เวลา 1 ปีเต็ม ในการพัฒนาจักรยานต้นแบบออกมา และได้ตั้งชื่อมันว่า “Brompton” ตามชื่อโบสถ์ Brompton Oratory ที่อยู่ข้าง ๆ แฟลตของเขาเอง
อย่างไรก็ตาม จักรยานโมเดลแรกของคุณแอนดรูว์นั้น ยังไม่ดีพอสำหรับเพอร์เฟกชันนิสต์อย่างเขา เขาจึงเดินหน้าทำโมเดลที่ 2 และ 3 ขึ้นมา เพื่อให้ได้โมเดลที่ดีที่สุด
โดยแผนธุรกิจแรกที่คุณแอนดรูว์คิดไว้ คือ เขาจะไม่ทำขายเอง แต่จะขายไอเดียนี้ ให้กับบริษัทผลิตจักรยาน แล้วนำเงินที่ได้ไปคืนเพื่อน และตัวเองก็ทำกำไรจากการขายไอเดียได้นิดหน่อยก็พอ
แต่ว่ามันไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะไม่มีบริษัทไหนสนใจไอเดียของเขาเลย
ซึ่งจะให้ทิ้งโมเดลที่พากเพียรทำมาแรมปี ก็เสียดาย คุณแอนดรูว์ จึงจำใจผลิตจักรยานพับได้ ออกมาขายเสียเอง
เขาใช้เวลา 18 เดือน ในการผลิตจักรยานล็อตแรกจำนวน 50 คันออกมาขาย ในราคาคันละ 250 ปอนด์สเตอร์ลิง ซึ่งถือว่าแพงมาก สำหรับจักรยานในสมัยนั้น
แต่เขาก็ขายหมดเกลี้ยง ทั้ง 50 คัน..
จากนั้น เขาก็ผลิตออกมาขายเรื่อย ๆ ซึ่งทำออกมาเท่าไร ก็ขายหมดทุกที และไม่เคยต้องสต็อกสินค้าเลย
จนเวลาผ่านไป เขาต้องลงทุนสร้างโรงงาน เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต
อ่านมาถึงตรงนี้ สงสัยกันใช่ไหมว่า ทำไมจักรยานพับได้ของคุณแอนดรูว์ ถึงขายดิบขายดี ทั้ง ๆ ที่ราคาสูง ?
โดยความสำเร็จนี้เกิดจากองค์ประกอบหลัก ๆ เหล่านี้รวมกัน
ซึ่งเรื่องแรก ก็คือ “ตัวผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบมาแก้ Pain Point ของกลุ่มลูกค้า”
Brompton เกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนเมือง อย่างแท้จริง
ในยุคที่คนเมืองต้องใช้บริการขนส่งสาธารณะหลายต่อ จักรยาน ที่แม้จะมีมาก่อนขนส่งสาธารณะทุกประเภท ก็ต้องมีการออกแบบใหม่ เพื่อให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้าที่เปลี่ยนไป
ซึ่งการขี่จักรยานทั่วไป มีข้อจำกัดทั้งเรื่องที่จอดบ้าง ถูกขโมยจักรยานบ้าง หรือไม่สามารถยกติดตัวไปขี่ต่อในการเดินทางต่อที่ 2 ได้บ้าง
จักรยานพับได้ จึงตอบโจทย์ เพราะสามารถพับเก็บ และหิ้วติดตัวไปด้วยได้
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีจักรยานพับได้อยู่ในตลาดบ้างแล้ว แต่คุณแอนดูรว์เล็งเห็นว่า ปัจจัยที่จะแก้ Pain Point ได้อย่างแท้จริง คือ
กลไกการพับเก็บ ที่ง่ายและรวดเร็ว
เมื่อพับเก็บแล้ว ต้องมีขนาดเล็กและเบา เพื่อให้สะดวกต่อการหิ้วติดตัวไปได้ทุกที่
เขาจึงทุ่มเทให้การออกแบบ จนได้โมเดลที่ดีที่สุด ซึ่งก็เป็นโมเดลที่คุณแอนดรูว์นำไปเสนอขายให้บริษัทจักรยาน ตั้งแต่ปี 1982 นั่นเอง
และกลไกของจักรยานพับได้นี้ ก็ถูกพิสูจน์ผ่านกาลเวลาแล้ว ว่าดีจริง เพราะ Brompton ยังคงใช้กลไกเดิมตั้งแต่นั้น จนถึงปัจจุบัน
เรื่องต่อมา คือ “การนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมวัสดุใหม่ ๆ มาใช้ต่อยอดให้กับผลิตภัณฑ์”
แม้กลไกการพับเก็บ จะเป็นกลไกดั้งเดิม แต่ Brompton มีทีมวิจัยเป็นของตัวเอง เพื่อนำเทคโนโลยี เทคนิค และวัสดุใหม่ ๆ มาต่อยอดให้กับจักรยานเสมอ
ทั้งวัสดุที่เบาและทนทานอย่างไทเทเนียม หรือ เทคโนโลยี 3D Printing ไปจนถึงการผลิตจักรยานไฟฟ้าพับได้ ที่เพิ่งส่งมอบล็อตแรกไปเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา ล้วนเป็นการนำสิ่งใหม่ ๆ มาส่งเสริมสิ่งดั้งเดิม ให้ดีขึ้นไปอีก
เรื่องสุดท้าย คือ “คุณภาพการผลิตที่ไร้ที่ติ”
เพราะการใช้งาน ที่ต้องพับเข้าพับออกบ่อย ๆ แถมต้องหิ้วไปไหนมาไหนด้วย ดังนั้นอีกคุณสมบัติสำคัญ ที่จักรยานพับได้ต้องมี ก็คือ ความทนทาน
Brompton จึงให้ความสำคัญต่อขั้นตอนการผลิตเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพสูง
โดย Brompton ใช้เทคนิคการบัดกรีแข็ง (Brazing) เชื่อมชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน แทนการเชื่อมทั่วไป
ซึ่งเทคนิคนี้ ทำให้จุดเชื่อมมีความยืดหยุ่น แต่แข็งแรง จักรยาน Brompton จึงทนทานต่อการกระแทกมากกว่า
แต่ข้อจำกัดของเทคนิคนี้คือ มีต้นทุนที่สูงกว่า และไม่สามารถใช้เครื่องจักรทำได้ จึงต้องอาศัยฝีมือแรงงาน และความประณีต
ด้วยเหตุนี้ พนักงานในโรงงาน Brompton จึงต้องผ่านการเทรนนิงถึง 18 เดือน ก่อนจะได้เริ่มประกอบจักรยานนั่นเอง
อ่านมาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า Brompton เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่ตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้า เป็นอันดับ 1
โดยเลือกผลิตสินค้า ที่คิดว่าดีที่สุด เพื่อให้ลูกค้าใช้งาน ง่ายและสะดวกที่สุด และถ้าสินค้านั้น ใช้งานได้ดี และตอบโจทย์จริง ๆ ถึงราคาจะสูงแค่ไหน ก็มีคนยอมจ่ายและเต็มใจที่จะซื้อ
เหมือนจักรยาน Brompton นั่นเอง..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.