EpiBone สตาร์ตอัปที่สร้างกระดูกมนุษย์ จากห้องแล็บ รายแรกของโลก และมีคนไทยร่วมก่อตั้ง
Business

EpiBone สตาร์ตอัปที่สร้างกระดูกมนุษย์ จากห้องแล็บ รายแรกของโลก และมีคนไทยร่วมก่อตั้ง

1 พ.ค. 2023
EpiBone สตาร์ตอัปที่สร้างกระดูกมนุษย์ จากห้องแล็บ รายแรกของโลก และมีคนไทยร่วมก่อตั้ง /โดย ลงทุนเกิร์ล
EpiBone (อ่านว่า เอพิโบน) เป็นสตาร์ตอัปด้านไบโอเทค สัญชาติอเมริกัน ที่กำลังจะเข้ามาพลิกโฉมวงการแพทย์ สำหรับการรักษาผู้ป่วย ที่มีความผิดปกติของกระดูก ไม่ว่าจะเกิดจากกระดูกผิดรูปมาตั้งแต่กำเนิด การแตกหักจากอุบัติเหตุ หรือเกิดจากโรคร้ายอย่างมะเร็ง
โดย EpiBone ได้คิดค้นนวัตกรรม การสร้างกระดูกขึ้นมาใหม่ จากการเพาะเลี้ยง “เซลล์ต้นกำเนิด” หรือสเต็มเซลล์ ภายในห้องแล็บ ให้เติบโตจนเป็นกระดูกที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกับกระดูกชิ้นเดิม และสามารถนำมาใช้ทดแทนกันได้
ซึ่ง EpiBone ถือเป็นสตาร์ตอัปรายแรกของโลก ที่คิดค้นนวัตกรรมการรักษานี้ขึ้นมา จึงทำให้บริษัทกลายเป็นที่น่าจับตามองของบรรดาสื่อต่าง ๆ รวมถึงนักลงทุน จนสามารถระดมทุนไปได้แล้ว หลักพันล้านบาท
ถึงแม้ชื่อของ EpiBone อาจไม่ค่อยคุ้นหูเราเท่าไรนัก
แต่รู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้วสตาร์ตอัปรายนี้ มีผู้ร่วมก่อตั้งเป็น “คนไทย” อยู่ด้วย
แล้วคนไทย ที่อยู่เบื้องหลังนวัตกรรมระดับโลกนี้ คือใคร ?
และการเนรมิตกระดูก จากห้องแล็บ น่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
EpiBone เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี 2013 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
โดย Dr. Nina Tandon และ ดร.สารินทร์ ภูมิรัตน (ดร.อิ๊ก)
ซึ่ง Dr. Nina Tandon รับหน้าที่เป็น CEO ดูเรื่องงานด้านการบริหาร
ส่วน ดร.สารินทร์ ภูมิรัตน รับหน้าที่เป็น CSO (Chief Scientific Officer) ดูแลเรื่องการวิจัยและพัฒนาทั้งหมด
ทั้งคู่ได้โคจรมาเจอกันในงานวิจัย เกี่ยวกับด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ ในชั้นเรียนปริญญาเอก ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐฯ โดยไอเดียในการก่อตั้ง EpiBone มีจุดเริ่มต้นมาจากการต่อยอดความสำเร็จในงานวิจัยของพวกเขา ที่ได้ทดลองเอา “สเต็มเซลล์” มาเพาะเลี้ยงให้เป็นกระดูก
แม้ว่าตอนนั้นจะเป็นเพียงการทดลองเฉพาะในสัตว์ แต่ทั้งสองคนกลับคิดต่อไปว่า สิ่งที่พวกเขาคิดค้นมันจะมีประโยชน์ต่อไปในอนาคต สำหรับวงการแพทย์ด้านกระดูก
เพราะที่ผ่านมา วิธีการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องโรคกระดูก ยังคงมีข้อจำกัด
เนื่องจากผู้ป่วยที่มีปัญหากระดูกผิดปกติตั้งแต่กำเนิด หรือกระดูกมีการแตกหักเสียหายขั้นรุนแรง
ร่างกายจะไม่สามารถซ่อมแซมกระดูกส่วนนั้น ให้กลับมาใช้งานได้ดังเดิม
ทำให้แพทย์ต้องผ่าตัดนำกระดูกจากส่วนอื่นในร่างกายของผู้ป่วย หรือรับบริจาคกระดูกจากผู้อื่น เข้ามาใส่ทดแทนให้ และหากแพทย์ไม่สามารถหากระดูกมาใส่แทนได้ ก็ต้องใช้วัสดุสังเคราะห์ เช่น เหล็ก ไทเทเนียม และพลาสติกชีวภาพ เข้ามาใส่ให้แทน
ซึ่งปัญหาที่ตามมาก็คือ กระดูกที่ใช้ทดแทนนั้น อาจมีรูปร่างไม่พอดีกับของเดิม
หรือหากเป็นกรณีรับบริจาคกระดูกจากผู้อื่นมา ร่างกายของผู้ป่วย ก็อาจเกิดการต่อต้านขึ้น
ส่วนถ้าหันมาพึ่งวัสดุสังเคราะห์ บางครั้งวัสดุสังเคราะห์ ก็อาจเป็นแหล่งเจริญเติบโต ของเชื้อแบคทีเรีย จนทำให้เกิดการติดเชื้อ และเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้
ดังนั้น EpiBone จึงต้องการเข้ามาเปลี่ยนวิธีการรักษาแบบเดิม ด้วยการสร้างกระดูกขึ้นมาใหม่ ให้มีรูปร่างลักษณะตรงตามที่แพทย์ต้องการ และสามารถเข้ากันได้ดีกับร่างกายของผู้ป่วยแต่ละคน
แล้ววิธีการสร้างกระดูกของ EpiBone เป็นอย่างไร ?
สิ่งที่ EpiBone ทำคือ เริ่มจากการศึกษารูปร่างกระดูก ของผู้ป่วยแต่ละคน ด้วยเครื่องซีทีสแกน (CT Scan) เพื่อดิไซน์โครงสร้างกระดูก ที่เหมาะสมหรือที่ผู้ป่วยต้องการออกมา หลังจากนั้นก็จะนำไขมันของผู้ป่วย มาสกัดเอาสเต็มเซลล์ และเลี้ยงให้เซลล์เติบโต จนมีจำนวนเพียงพอ กับที่ต้องการนำมาสร้างกระดูก
โดยทุกช่วงการเติบโตของกระดูกชิ้นใหม่นี้ จะถูกหล่อเลี้ยงอยู่ในไบโอรีแอกเตอร์ หรือก็คือเครื่องเลี้ยงกระดูก อันเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะที่ EpiBone ได้พัฒนาขึ้นมาเอง เมื่อเวลาผ่านไปเพียง 3 สัปดาห์ ก็จะได้กระดูกชิ้นใหม่ ที่แพทย์สามารถนำไปใช้กับการรักษาในผู้ป่วยได้
ซึ่งนวัตกรรมของ EpiBone นี้ ไม่เพียงแต่จะช่วยลดขั้นตอนในการผ่าตัด และทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเจ็บตัวหลายรอบ เท่านั้น แต่ยังช่วยลดต้นทุน ลดเวลา และลดค่าใช้จ่ายในการค้นหาชิ้นส่วนกระดูก ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ด้วยตัวนวัตกรรมที่ยังไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน จึงทำให้ผลงานชิ้นนี้ไปเข้าตา Breakout Labs ซึ่งเป็นกองทุนของ Thiel Foundation ที่สนับสนุนเงินทุนให้กับสตาร์ตอัป ที่พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ออกมา
โดยผู้ก่อตั้ง Breakout Labs และ Thiel Foundation ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เขาคือ “Peter Thiel” นักธุรกิจชื่อดังระดับโลก หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท PayPal และเขายังเป็นผู้ลงทุนรายแรก ๆ ในบริษัท Facebook อีกด้วย
และหลังจากได้รับเงินสนับสนุนจาก Peter Thiel
EpiBone ก็ยิ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนรายใหญ่ ๆ จนสามารถเรียกเงินระดมทุนได้อีกหลายครั้ง เพื่อเอาไปทุ่มกับการวิจัยและพัฒนา อย่างต่อเนื่อง
อย่างล่าสุดเมื่อปลายปี 2022 ที่ผ่านมา EpiBone ก็สามารถระดมทุนเพิ่มไปได้อีกกว่า 635 ล้านบาท
ทำให้ปัจจุบัน บริษัทได้รับเงินทุนรวมไปแล้วมากกว่า 2,100 ล้านบาท
และอีกก้าวสำคัญของบริษัทคือ นวัตกรรมสร้างกระดูก จากในห้องแล็บของ EpiBone ยังได้รับการอนุญาต จาก FDA หรือสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ ให้สามารถเริ่มทำการทดลองใช้จริงกับมนุษย์ได้แล้ว ตั้งแต่ปี 2019
ทำให้เป้าหมายที่จะพลิกโฉมวงการแพทย์ ในการรักษาผู้ป่วยโรคกระดูก ได้ขยับเข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น
ซึ่งในอนาคตต่อไป EpiBone ยังได้ตั้งเป้าหมายว่า จะไปให้ไกลกว่าการสร้างกระดูก เพื่อให้บริษัทมีผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่สามารถรองรับและช่วยเหลือผู้ป่วย จากโรคหลากหลายรูปแบบ เช่น โรคหมอนรองกระดูก โรคข้อเอ็นเสื่อม เพราะสเต็มเซลล์ สามารถเพาะให้เป็นอวัยวะต่าง ๆ ได้
ก็น่าติดตามกันต่อไปว่า EpiBone จะสามารถใช้แต้มต่อ จากองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญ ที่พวกเขามีอยู่มาต่อยอด และเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการแพทย์ ในอนาคตต่อไปได้สำเร็จหรือไม่
แต่ที่แน่ ๆ การเป็นสตาร์ตอัปรายแรกของโลก ที่สร้างกระดูก จากสเต็มเซลล์ในห้องแล็บได้สำเร็จ
และยังมีผู้ร่วมก่อตั้งเป็นคนไทย ก็ถือเป็นอีกความภาคภูมิใจแล้ว..
-----------------------------------------------------------
Presented by กลุ่มบริษัทธนจิรากรุ๊ป (TANACHIRA) เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ แฟชั่นแบรนด์ชั้นนำจากต่างประเทศได้แก่ Pandora (แพนดอร่า), Marimekko (มารีเมกโกะ), Cath Kidston (แคท คิดสตัน) และเจ้าของผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลผิวพรรณ สปาแบบองค์รวมรายแรกในไทยภายใต้แบรนด์ HARNN (หาญ), VUUDH (วุฒิ), HARNN Heritage Spa (หาญ เฮอริเทจสปา) และ SCape by HARNN (เอสเคป บาย หาญ) มีสาขาอยู่ทั่วประเทศและในภูมิภาคกว่า 165 สาขา ภายใต้แนวคิด “Bring the Best of the Brand to the Best of Thailand”
https://www.facebook.com/TANACHIRA-GROUP-174055739828807/
#TANACHIRA
-----------------------------------------------------------
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.