Deinfluencing เทรนด์รีวิวสินค้า ขั้วตรงข้าม ที่บอกผู้ติดตามว่า “ของมันไม่ต้องมี !”
Business

Deinfluencing เทรนด์รีวิวสินค้า ขั้วตรงข้าม ที่บอกผู้ติดตามว่า “ของมันไม่ต้องมี !”

17 พ.ค. 2023
Deinfluencing เทรนด์รีวิวสินค้า ขั้วตรงข้าม ที่บอกผู้ติดตามว่า “ของมันไม่ต้องมี !” /โดย ลงทุนเกิร์ล
เคยเจอไหม ? คอนเทนต์รีวิวสินค้าที่บอกว่า
“ไม่ต้องซื้อ !”
“ของมันไม่ต้องมี”
“ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้”
นี่คือ Deinfluencing เทรนด์ใหม่มาแรง ที่รีวิวว่าสินค้าในกระแสตัวไหนบ้างที่ไม่ควรซื้อ หรือไม่ได้คุ้มค่าสมราคา
พร้อมกับติด #Deinfluencing ในคอนเทนต์ บน TikTok, Instagram และ YouTube
โดยเฉพาะแพลตฟอร์ม TikTok ที่มีผู้เข้าชมแฮชแทกนี้ มากกว่า 586 ล้านครั้งแล้ว
เทรนด์นี้เกิดขึ้นมาจากอะไร และมีประโยชน์อย่างไร ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันการรีวิวจากอินฟลูเอนเซอร์ และรีวิวจากผู้ใช้จริง มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าอย่างมาก
จึงไม่แปลกที่จะเห็นแบรนด์ต่าง ๆ เลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์ หรือ KOL มาช่วยรีวิวสินค้าและสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย
โดยทั่วไป เนื้อหาในการรีวิวก็มักจะนำเสนอคุณสมบัติเด่นของสินค้าให้ดูน่าใช้ หรือบอกว่าเป็นสินค้าที่ใช้เองส่วนตัว แล้วดีจริง เลยมาบอกต่อ ซึ่งนำไปสู่ปรากฏการณ์รีวิวไวรัล จนสินค้าขาดตลาดให้เห็นอยู่บ่อย ๆ
ถ้ามองในมุมทางการตลาด การรีวิวที่ทำให้สินค้าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ก็เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ
แต่ในทางตรงกันข้าม การรีวิวที่ทำให้เกิดกระแสแห่ซื้อแบบนี้ ถูกมองว่าเป็นแนวคิดบริโภคนิยม ที่ส่งเสริมให้คนซื้อสินค้าเกินความจำเป็น เพียงเพราะคิดว่าของมันต้องมี หรือกลัวตกเทรนด์ จนลืมมองเงินในกระเป๋า
ตั้งแต่ต้นปี 2023 ที่ผ่านมา จึงมีครีเอเตอร์จำนวนไม่น้อย ที่เริ่มทำคอนเทนต์แนว “Deinfluencing”
เนื้อหาจะเป็นการให้ข้อมูลอย่างจริงใจ เกี่ยวกับอีกมุมหนึ่งของสินค้าในกระแส เช่น จุดด้อยของสินค้า ความเหมาะสมของคุณภาพสินค้ากับราคา
เพื่อโน้มน้าวผู้ติดตาม ไม่ให้ตกเป็นทาสของกระแสสังคมออนไลน์ ที่กระตุ้นให้ซื้อสินค้าที่อาจมีราคาสูงเกินกำลัง
พูดง่าย ๆ คือ Deinfluencing เป็นการรีวิวสินค้าที่เหมือนกับ “เพื่อนเตือนเพื่อน”
ว่าสินค้าไหนไม่ได้ใช้ดีอย่างที่อินฟลูเอนเซอร์แนะนำ และบางครั้งก็มีการนำเสนอสินค้าแบรนด์อื่นที่ทดแทนกันได้ ในราคาถูกกว่า ให้ไปซื้อใช้ตามอีกด้วย
ยกตัวอย่าง สินค้าที่ถูกพูดถึงในคอนเทนต์ Deinfluencing เช่น หูฟัง AirPods Max, อุปกรณ์ทำผม Dyson Airwrap, แชมพู Olaplex และแก้วน้ำ Stanley Cup
รวมถึงสินค้าแทบทุกประเภท ตั้งแต่เครื่องสำอาง, น้ำหอม, เสื้อผ้า, โทรศัพท์รุ่นใหม่ ไปจนถึงของตกแต่งบ้าน
มองผิวเผิน อาจรู้สึกว่าการทำคอนเทนต์ Deinfluencing น่าจะเริ่มต้นจากความรู้สึกไม่ถูกใจสินค้าเป็นการส่วนตัว แต่ความจริงแล้วไม่ใช่..
เพราะเทรนด์นี้เกิดขึ้นจากผลกระทบที่ใหญ่กว่านั้น
ทั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่กำลังก่อตัว และวิกฤติค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก
รวมถึงกระแสต่อต้านการบริโภคนิยม ที่หลายคนมองว่าการรีวิวสินค้าของบรรดาอินฟลูเอนเซอร์
ก่อให้เกิด “การบริโภคเกินจำเป็น” โดยเฉพาะคน Gen Z
ซึ่งข้อมูลจาก Forbs ระบุว่า 40% ของ Gen Z เต็มใจที่จะใช้จ่าย เพื่อแลกกับประสบการณ์ มากกว่าความจำเป็น
ตลอดจนประเด็นเรื่อง ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จากการบริโภคเกินจำเป็น ที่มักจะถูกกล่าวถึงอยู่บ่อย ๆ
มากไปกว่านั้น หลายครั้งที่ผู้คนซื้อสินค้าตามอินฟลูเอนเซอร์ แต่กลับพบว่า มันไม่ได้ดีจริง หรือไม่คุ้มค่ากับเงินที่จ่าย
เพราะอินฟลูเอนเซอร์บางคน อาจจะไม่ได้ใช้งานจริง แต่ได้รับเงินสปอนเซอร์จากแบรนด์ จึงรีวิวสินค้าว่าดี นั่นเอง
ดังนั้น Deinfluencing จึงเป็นเหมือนการช่วยบาลานซ์คอนเทนต์ชวนซื้อของอินฟลูเอนเซอร์ ให้ผู้บริโภคได้ฉุกคิด และประเมินความจำเป็นของสินค้า เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพการเงินในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม แม้คนที่จะได้ประโยชน์จากเทรนด์ Deinfluencing มากที่สุด จะเป็นผู้บริโภคที่จะมองเห็นข้อมูลอีกด้านก่อนตัดสินใจซื้อ
แต่ก็อย่าลืมว่า Deinfluencing ก็คือการ “Influencing” ที่อาจโน้มน้าวผู้ติดตาม ไปหาแบรนด์ขั้วตรงข้าม เช่นเดียวกัน..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.