Thiel Fellowship โครงการที่ให้เงินทุน แบบให้เปล่า แก่วัยรุ่น เพื่อมาสร้างธุรกิจของตัวเอง
Business

Thiel Fellowship โครงการที่ให้เงินทุน แบบให้เปล่า แก่วัยรุ่น เพื่อมาสร้างธุรกิจของตัวเอง

22 พ.ค. 2023
Thiel Fellowship โครงการที่ให้เงินทุน แบบให้เปล่า แก่วัยรุ่น เพื่อมาสร้างธุรกิจของตัวเอง /โดย ลงทุนเกิร์ล
อย่างที่เรารู้กันว่า ในโลกของสตาร์ตอัป “แหล่งเงินทุน” คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่จะช่วยเปลี่ยนไอเดียและนวัตกรรมเจ๋ง ๆ จากบนแผ่นหน้ากระดาษ ให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่างได้จริง รวมถึงเข้ามาเป็นน้ำมันคอยหล่อเลี้ยงธุรกิจ ให้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้
ซึ่งในปัจจุบัน แหล่งเงินทุนจากภายนอกที่สนับสนุนสตาร์ตอัป ก็มีทั้งที่เป็นกองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital) การระดมทุนแบบ Crowdfunding หรือจากนักลงทุนอิสระ (Angel Investor)
โดยเมื่อสตาร์ตอัป ได้รับเงินสนับสนุนจากนักลงทุน ก็ต้องมอบหุ้นของบริษัท หรือผลประโยชน์อื่น ๆ ตามที่ได้ตกลงร่วมกันไว้ เป็นการตอบแทนแก่นักลงทุน
อย่างไรก็ตาม กลับมีอยู่แหล่งเงินทุนหนึ่ง ที่ตั้งใจมอบเงินทุนแบบฟรี ๆ ให้กับผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัป โดยไม่ต้องชดใช้เงินคืน หรือเอาหุ้นใด ๆ ไปแลกเปลี่ยนเลย
นั่นก็คือ โครงการที่ชื่อว่า “Thiel Fellowship” ของ Thiel Foundation ที่จะให้เงินทุนก้อนหนึ่ง แก่เหล่าวัยรุ่น เพื่อนำไปสร้างธุรกิจ
โครงการนี้ น่าสนใจอย่างไร ?
และมีสตาร์ตอัประดับโลก รายไหนบ้าง ที่เคยเข้าร่วมโครงการนี้ ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มต้นของโครงการ Thiel Fellowship เกิดขึ้นเมื่อปี 2011 หรือ 12 ปีที่แล้ว ก่อตั้งโดยคุณ Peter Thiel ซึ่งเขาก็คือหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท PayPal
รวมถึงยังเป็นนักลงทุนรายแรก ๆ ให้กับบริษัทชื่อดังอีกมากมาย เช่น Facebook, Airbnb, Spotify
โดยต้นเหตุที่ทำให้คุณ Thiel ตัดสินใจจัดตั้งโครงการ Thiel Fellowship ขึ้นมา สืบเนื่องมาจากเขาเห็นช่องโหว่ของระบบการศึกษาในสหรัฐฯ เมื่ออัตราค่าเล่าเรียนในระดับอุดมศึกษา เพิ่มสูงขึ้นจากเดิมถึง 4 เท่า ในตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
ทำให้คุณ Thiel มองว่าผลลัพธ์ของปัญหานี้ จะทำให้เด็กบางกลุ่มต้องจบการศึกษาออกไป พร้อมกับภาระหนี้สินติดตัว จากการกู้ยืมเงินเพื่อแลกกับการศึกษา ในขณะเดียวกันการศึกษาแบบดั้งเดิม เพื่อให้ได้ใบปริญญามาอยู่ในมือ ก็มิอาจการันตีความสำเร็จในหน้าที่การงาน ในอนาคตให้กับเด็ก ๆ เหล่านั้นได้
ด้วยเหตุนี้ Thiel Fellowship จึงถูกก่อตั้งขึ้นให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือก เพื่อช่วยเหลือและให้การสนับสนุน
ด้วยการมอบเงินทุนจำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.4 ล้านบาท ให้กับเหล่า “วัยรุ่น” อายุไม่เกิน 22 ปี ที่ไม่ต้องการเรียนต่อ หรือดร็อปเรียน แต่ต้องการสร้างธุรกิจ หรือคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นของตนเอง
โดยในแต่ละปี Thiel Fellowship จะคัดเลือกวัยรุ่นผู้มีความฝัน และความมุ่งมั่นอันแรงกล้า ในการสร้างธุรกิจ จำนวน 20-30 คน เข้าร่วมโครงการ ซึ่งนอกจากจะได้เงินทุนสนับสนุนแล้ว ผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ยังได้โอกาสในการเข้ามาเรียนรู้แผนการทำธุรกิจ ได้ทดลองสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตามแนวคิดธุรกิจที่แต่ละคนสนใจ
นอกจากนี้ในทุก ๆ 3 เดือน จะมีการจัดสัมมนาเชิญผู้มีประสบการณ์ และผู้เชี่ยวชาญในการทำธุรกิจ มาคอยให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ เช่น เรื่องภาษีทรัพย์สินทางปัญญา, วิธีการจ้างและสร้างแรงจูงใจพนักงาน, เทคนิคการนำเสนอโมเดลธุรกิจและผลิตภัณฑ์กับนักลงทุน
โดยในระยะเวลาที่ร่วมโครงการ 2 ปีเต็ม เด็ก ๆ ทุกคนจะมีเมนเทอร์ หรือผู้ที่จะช่วยให้ความรู้ คำแนะนำ และเป็นที่ปรึกษาให้โดยตรง ตลอดจนจบโครงการอีกด้วย
มาจนถึงปัจจุบัน Thiel Fellowship ก็ได้ให้เงินทุนสนับสนุนเด็ก ๆ รุ่นใหม่ไฟแรง จนสามารถปลุกปั้นธุรกิจเป็นของตนเองได้มากมาย
และหากนับรวมบริษัท ที่โครงการนี้ให้การสนับสนุน ก็จะมีมูลค่าบริษัทรวมกันสูงกว่า 1.6 ล้านล้านบาท
ซึ่งตัวอย่างอดีตเด็ก ๆ ที่เคยผ่านโครงการ Thiel Fellowship มาแล้ว และกลายเป็นผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัปชื่อดังก้องโลก ยกตัวอย่างเช่น..
-คุณ Vitalik Buterin ผู้ก่อตั้ง Ethereum Blockchain และเหรียญ Ethereum ซึ่งปัจจุบันเป็นคริปโทเคอร์เรนซีที่มีมูลค่าตลาดสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากเหรียญ Bitcoin
-คุณ Dylan Field ผู้ร่วมก่อตั้ง Figma แพลตฟอร์มด้านการออกแบบเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน สำหรับ UX/UI ที่ถูก Adobe ซื้อกิจการไป มูลค่ากว่า 675,000 ล้านบาท ในปี 2022
-คุณ Ritesh Agarwal ผู้ก่อตั้ง OYO Room แพลตฟอร์มจองโรงแรมและห้องพัก ที่มีเครือข่ายใหญ่ที่สุด ในอินเดีย
-คุณ Austin Russell ผู้ก่อตั้ง Luminar Technologies
บริษัทผลิตเซนเซอร์สำหรับรถยนต์ไร้คนขับ ที่มีบริษัท Volvo, Toyota, Daimler รวมถึง Intel เป็นลูกค้ารายใหญ่
อ่านมาถึงตรงนี้ เรียกได้ว่าโครงการ Thiel Fellowship นอกจากจะเป็นแหล่งเงินทุนให้เปล่าแล้ว
ก็ยังเป็นเหมือนห้องทดลองขนาดย่อม ของชุมชนสตาร์ตอัปรุ่นเยาว์ ให้ได้มาลองผิดลองถูก และทดสอบแนวคิดของตนเอง ก่อนที่จะไปต่อในสนามจริง
รวมถึงยังช่วยบ่มเพาะ ทักษะและพื้นฐานความรู้ ที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตจริง กับการสร้างและพัฒนาธุรกิจของตนเอง ในแบบที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย อาจไม่มีสอน..
-------------------------------------------
Presented by กลุ่มบริษัทธนจิรากรุ๊ป (TANACHIRA) เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ แฟชั่นแบรนด์ชั้นนำจากต่างประเทศ ได้แก่ Pandora (แพนดอร่า), Marimekko (มารีเมกโกะ), Cath Kidston (แคท คิดสตัน) และเจ้าของผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลผิวพรรณ สปาแบบองค์รวมรายแรกในไทยภายใต้แบรนด์ HARNN (หาญ), VUUDH (วุฒิ), HARNN Heritage Spa (หาญ เฮอริเทจสปา) และ SCape by HARNN (เอสเคป บาย หาญ) มีสาขาอยู่ทั่วประเทศและในภูมิภาคกว่า 165 สาขา ภายใต้แนวคิด “Bring the Best of the Brand to the Best of Thailand”
https://www.facebook.com/TANACHIRA-GROUP-174055739828807/#TANACHIRA
-------------------------------------------
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.