กรณีศึกษา Moncler ขายเสื้อกันหนาวอย่างไร ให้ธุรกิจมีมูลค่า 650,000 ล้านบาท
Business

กรณีศึกษา Moncler ขายเสื้อกันหนาวอย่างไร ให้ธุรกิจมีมูลค่า 650,000 ล้านบาท

29 พ.ค. 2023
กรณีศึกษา Moncler ขายเสื้อกันหนาวอย่างไร ให้ธุรกิจมีมูลค่า 650,000 ล้านบาท /โดย ลงทุนเกิร์ล
ถ้าถามว่าเสื้อกันหนาวแบรนด์ไหนฮอตที่สุด ในนาทีนี้
คงต้องยกให้กับแบรนด์ที่ชื่อว่า “Moncler”
เพราะ The Lyst Index เซิร์ชเอนจินแฟชั่นระดับโลก ที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 200 ล้านคนต่อปี ได้ประกาศให้ Moncler อยู่ในรายชื่อแบรนด์แฟชั่นที่ร้อนแรงที่สุดในโลก
โดย Moncler ครองอันดับ 3 ติดต่อกัน 2 ไตรมาส
ทั้งไตรมาสที่ 4 ปี 2022 และไตรมาสที่ 1 ปี 2023
แต่รู้หรือไม่ว่า กว่า Moncler จะกลายเป็นแบรนด์หรูสุดฮอตอย่างทุกวันนี้
Moncler เกือบจะสิ้นชื่อ จากวิกฤติใกล้ล้มละลายมาก่อน
เรื่องราวครั้งนั้นเป็นอย่างไร ?
แล้ว Moncler ใช้กลยุทธ์อะไร กู้ความนิยมให้กลับมาได้ ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Moncler มีชื่อว่าคุณ René Ramillon และคุณ Andrè Vincent
โดยมีต้นกำเนิดที่ Monestier-de-Clermont ชุมชนในประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 1952 หรือราว 71 ปีที่แล้ว
ตอนแรก Moncler ผลิตถุงนอน เต็นท์ และเสื้อคลุม สำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง
ก่อนที่จะหันมาแตกไลน์ผลิตเสื้อแจ็กเกตกันหนาว ที่ทนทานต่อสภาพอากาศหนาวได้ดี
โดยผลงานสร้างชื่อของ Moncler คือ การผลิตเสื้อแจ็กเกตขนเป็ด ให้คณะสำรวจชาวอิตาลี เพื่อภารกิจพิชิตยอดเขา K2 ที่ประเทศปากีสถาน ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากยอดเขาเอเวอเรสต์ ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
อีกทั้ง ในปี 1968 Moncler ยังได้รับความไว้วางใจให้ผลิตเสื้อกีฬากันหนาว เพื่อการแข่งขันสกีโอลิมปิก สำหรับนักกีฬาฝรั่งเศส
เรื่องนี้จึงผลักดันให้ชื่อเสียงของ Moncler กลายเป็นที่ยอมรับ และเป็นที่รู้จักในระดับสากล
แม้เรื่องราวจะดูเหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น..
เพราะหลังจากเข้าสู่ยุค 1990 ชื่อเสียงของ Moncler กลับไม่ได้เป็นที่พูดถึงมากเหมือนแต่ก่อน สืบเนื่องจากแบรนด์ยังคงยึดติดอยู่กับความสำเร็จเดิม ๆ
ทั้งตัวสินค้าที่ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง แม้เทรนด์ตลาดจะเปลี่ยนไป รวมถึง Moncler ยังคงโฟกัสอยู่แค่บรรดาลูกค้ากลุ่มเดิม ๆ อย่างนักปีนเขา และนักกีฬา
บวกกับคู่แข่งในสนามธุรกิจที่มากขึ้น เช่น Canada Goose และ The North Face ซึ่งกำลังเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดไปเรื่อย ๆ
เรื่องทั้งหมดนี้ จึงส่งผลให้ Moncler ต้องเผชิญวิกฤติ ทำยอดขายได้ไม่ดีเท่าที่ควร และปัญหาเรื้อรังนี้เริ่มสะสมมาเรื่อย ๆ จนทำให้แบรนด์เกือบเข้าขั้นล้มละลาย
อย่างไรก็ตาม ในปี 2003 Moncler ก็ได้คุณ Remo Ruffini นักธุรกิจชาวอิตาลี เข้ามากอบกู้และพลิกโฉมธุรกิจ โดยเขาตัดสินใจเข้าซื้อกิจการของ Moncler พร้อมกับนั่งแท่น CEO บริหารแบรนด์ด้วยตนเอง จนถึงปัจจุบัน
ที่น่าสนใจคือ เขาคนนี้ยังได้พา Moncler เติบโตจนมีชื่อเสียงในวงการแฟชั่นระดับโลก และสามารถจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์อิตาลี ได้สำเร็จในปี 2013 อีกด้วย
แล้วคุณ Ruffini ใช้กลยุทธ์อะไร ในการกู้ความนิยมให้กับ Moncler ?
คำตอบคือ คุณ Ruffini ใช้กลยุทธ์ขยายตลาด Moncler ไปทั่วโลกใน “กลุ่มสินค้าหรูหรา”
เริ่มจากปรับงานดิไซน์ของ Moncler ใหม่ให้ทันสมัยขึ้น และออกจากกรอบเดิม ๆ เช่น การออกแจ็กเกตสีสันฉูดฉาดอย่าง สีแดงและสีน้ำเงิน
และมีกิมมิกเพิ่มเงาสะท้อนให้กับเสื้อแจ็กเกต จนกลายมาเป็นซิกเนเชอร์ให้กับแบรนด์ในเวลาต่อมา
รวมถึงมีลูกเล่นที่แปลกใหม่ เช่น ออกแบบเสื้อแจ็กเกตให้สามารถสวมใส่ได้ทั้งสองด้าน
หรือการเปลี่ยนจากซิปมาเป็นกระดุมสวนทางกับกระแสนิยม เพื่อสร้างจุดเด่นเป็นของตัวเอง
มากไปกว่านั้น แบรนด์ยังพัฒนาคุณภาพและกรรมวิธีการผลิต โดยเสื้อแจ็กเกตของ Moncler จะถูกบุด้วยขนห่านคุณภาพสูงจากฝรั่งเศส โดยเลือกใช้เฉพาะขนส่วนหน้าอก
เพราะขนส่วนนี้มีลักษณะนุ่มเบา และไม่มีก้านแข็งเหมือนกับขนบริเวณอื่น สามารถกันลมได้เป็นอย่างดี ทำให้ใส่แล้วรู้สึกอุ่นสบาย และไม่หนักเหมือนเสื้อกันหนาวทั่วไป
ที่สำคัญยังมีความทนทาน และมีอายุการใช้งานนานกว่าการใช้วัสดุสังเคราะห์อื่น ๆ
สำหรับราคาเสื้อแจ็กเกตของ Moncler ก็มีราคาเริ่มต้นที่หลักหมื่นบาท โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ คนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อ
เรียกได้ว่า เป็นการรีแบรนด์ Moncler ให้กลายเป็นแบรนด์เสื้อกันหนาวหรู ที่ทั้งทันสมัย และมีคุณภาพสมราคาและอายุการใช้งาน
นอกจากนี้ อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่คุณ Ruffini ใช้กู้ความนิยมให้กับ Moncler ก็คือ “Moncler Genius”
หรือการที่แบรนด์ได้ไปจับมือกับดิไซเนอร์ และคนดังมากมาย เพื่อออกแบบคอลเลกชันพิเศษ เป็นรายเดือน
โดยสินค้าคอลเลกชัน Moncler Genius แต่ละเดือน จะขายในเวลาและจำนวนที่จำกัด ที่สำคัญสินค้าจะถูกหมุนเวียนเปลี่ยนสไตล์ไปเรื่อย ๆ ตามการออกแบบและซิกเนเชอร์ของดิไซเนอร์แต่ละคน
ซึ่งไม่ต่างอะไรจากการสร้างสินค้ารุ่นลิมิเต็ด และเล่นจิตวิทยากับลูกค้าผ่านพฤติกรรมที่เรียกว่า “FOMO” หรือ Fear Of Missing Out ซึ่งเป็นความรู้สึกกลัวที่จะพลาดโอกาสอะไรบางอย่างไป เช่น กลัวว่าถ้าของหมดแล้ว จะไม่มีโอกาสหน้าให้ซื้ออีก จนลูกค้าต้องรีบซื้อ รีบหยิบเป็นเจ้าของ นั่นเอง
และด้วยเรื่องของภาพลักษณ์แบรนด์หรู งานดิไซน์ การคงคุณภาพให้ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง และกลยุทธ์ Moncler Genius ของแบรนด์ จึงทำให้แบรนด์ค่อย ๆ กลับเข้ามานั่งในใจของผู้บริโภคอีกครั้ง
แล้วปัจจุบัน Moncler ขายดีแค่ไหน ?
ในปี 2022 ที่ผ่านมา Moncler Group มียอดขายสูงกว่า 97,100 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 27% และยังกวาดกำไรไปได้กว่า 22,600 ล้านบาท
มากไปกว่านั้น Moncler Group ยังเติบโต จนปัจจุบันบริษัทที่มีมูลค่าสูงกว่า 655,000 ล้านบาท
ด้วยสายตาอันหลักแหลม และการมองเห็นถึงศักยภาพในตัว Moncler ของคุณ Remo Ruffini ในวันนั้น
ก็ส่งผลให้ในวันนี้ เขากลายเป็นมหาเศรษฐี ที่มีมูลค่าทรัพย์สินสูงกว่า 124,800 ล้านบาท เลยทีเดียว..
-----------------------------------------
Presented by กลุ่มบริษัทธนจิรากรุ๊ป เดินหน้าขยายธุรกิจหาญ เวลเนสแอนด์ฮอสพิทอลลิตี้ (HARNN Wellness & Hospitality) ครอบคลุมทั้งเวลเนสและสปาภายในประเทศและต่างประเทศในระดับ Regional สร้างให้แบรนด์ไทยเป็นที่รู้จักและสร้างความภูมิใจในระดับสากลรวมกว่า 16 สาขาทั่วภูมิภาค
https://www.facebook.com/TANACHIRA-GROUP-174055739828807/
#TANACHIRA #HARNN #SCapebyHARNN
-----------------------------------------
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.