ViaBus แอปดูตำแหน่งรถโดยสารไทย แบบเรียลไทม์ ที่เกิดขึ้นเพราะ ผู้ก่อตั้งเคย “ตกรถ”
Business

ViaBus แอปดูตำแหน่งรถโดยสารไทย แบบเรียลไทม์ ที่เกิดขึ้นเพราะ ผู้ก่อตั้งเคย “ตกรถ”

20 มิ.ย. 2023
ViaBus แอปดูตำแหน่งรถโดยสารไทย แบบเรียลไทม์ ที่เกิดขึ้นเพราะ ผู้ก่อตั้งเคย “ตกรถ” /โดย ลงทุนเกิร์ล
“รถเมล์” คือ ระบบขนส่งสาธารณะที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากในแต่ละวัน แต่ขณะเดียวกัน ผู้ใช้บริการเหล่านี้ ต่างก็เจอประสบการณ์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น..
-การยืนรอรถเมล์เป็นเวลานาน
และไม่สามารถคาดเดาเวลาได้ว่า รถจะมาถึงเมื่อไร ?
-การตกรถเมล์เที่ยวประจำ
และต้องมานั่งกังวลว่า รถรอบต่อไปจะมาอีกกี่นาที ?
-การไม่คุ้นชินกับเส้นทางเดินรถ (บางสาย)
จนสับสนว่า ตนเองจะต้องลงป้ายไหน ?
เชื่อว่าเหตุการณ์เหล่านี้ ต้องเคยสร้างความหนักใจให้กับผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ อยู่ไม่น้อย
แต่รู้ไหมว่า ? มีบริษัทหนึ่งที่เข้าใจหัวอกของผู้โดยสาร และได้เปลี่ยนปัญหาเหล่านี้ให้กลายเป็นธุรกิจ
ซึ่งธุรกิจที่กำลังพูดถึงนั้นก็คือ “ViaBus”
สตาร์ตอัปสัญชาติไทย ผู้พัฒนาแอปติดตามระบบขนส่งสาธารณะไทย แบบเรียลไทม์
แล้วเรื่องราวของ ViaBus น่าสนใจอย่างไร ?
และธุรกิจนี้มีโมเดลรายได้แบบไหน ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มต้นของ ViaBus เกิดขึ้นในปี 2015 หรือเมื่อ 8 ปีที่แล้ว
เมื่อคุณอินทัช มาศวงษ์ปกรณ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO ของ ViaBus เกิด “ตกรถ” Chula Pop Bus หรือรถโดยสารรับ-ส่งสาธารณะภายในจุฬาฯ ทำให้วันนั้นเขาไปเข้าร่วมทำกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยสาย
แต่การมาสายครั้งนั้นก็ไม่ได้สูญเปล่า เพราะมันทำให้คุณอินทัชเกิดคำถามในใจว่า “ถ้าเราสามารถรู้ตำแหน่งรถโดยสาร และพอจะคาดการณ์เวลาล่วงหน้าได้ว่า รถจะมาถึงเมื่อไรได้ ก็คงดี”
จากนั้น คุณอินทัช พร้อมกับเพื่อนอีก 2 คน (คุณธนัทเศรษฐ์ หอวัฒนพันธ์ และคุณธนิษฐ์ ซึ้งหทัยพร) ก็นำความสงสัยมาต่อยอด เกิดเป็นแอปที่ชื่อว่า “Chula Pop Bus”
โดยแอปนี้จะมีหน้าที่ช่วยให้ผู้ใช้บริการรถโดยสารภายในจุฬาฯ ติดตามตำแหน่งและเส้นทางการเดินรถได้แบบเรียลไทม์ ทำให้ผู้โดยสารสามารถกะเวลา และเที่ยวรถที่กำลังจะมาจอด ณ ป้ายจุดรับ-ส่ง ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
และด้วยคุณสมบัติของแอปที่ออกแบบมาตอบโจทย์ Pain Point ของผู้ใช้งานอย่างตรงจุด จึงทำให้มียอดดาวน์โหลดแอปนี้ไปใช้งานถึง 4,000 คน ภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน
แถมผ่านไปเพียง 1 ปี ยอดการดาวน์โหลดก็เพิ่มขึ้นอีกเป็น 40,000 คน ถือเป็นการเติบโตที่สูงมาก
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของคุณอินทัชและเพื่อน ๆ ก็ไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านี้ เพราะในปี 2018 พวกเขาได้ขยายแนวคิดนี้ ไปสู่การพัฒนาแอปใหม่ ที่มีชื่อว่า “ViaBus”
ซึ่งแอป ViaBus จะไม่ได้รองรับการใช้งานอยู่แค่ในพื้นที่จุฬาฯ เท่านั้น แต่ได้ขยายฐานผู้ใช้งาน ไปสู่ผู้โดยสารในระบบขนส่งรถเมล์สาธารณะของไทย อีกด้วย
โดยตัวแอป ViaBus จะมีฟีเชอร์คอยบอกข้อมูลต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น
-ข้อมูลแผนที่ แนะนำวิธีการเดินทาง และระบบค้นหาป้ายรถเมล์ที่ใกล้ที่สุด
-ระบบข้อมูลแสดงผลว่า รถเมล์ที่เรากำลังโดยสาร วิ่งผ่านเส้นทางไหนบ้าง
-แสดงพิกัดการวิ่งรถแบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถกะเวลาที่รถจะมาถึงป้ายได้
-ข้อมูลแสดงรถที่สามารถรองรับผู้พิการที่ใช้รถวีลแชร์
-ข้อมูลแบ่งประเภทรถโดยสาร ทั้งแบบธรรมดาและแบบแอร์
-ระบบแสดงผลเป็นภาษาอังกฤษ รองรับการใช้งานกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
มากไปกว่านั้น ในปัจจุบัน ViaBus ยังได้ขยายเครือข่ายการเดินทางไปยังขนส่งโดยสารประเภทอื่น ๆ
เช่น รถสองแถว, รถมินิบัส, รถไฟฟ้าบีทีเอส, รถไฟฟ้าใต้ดิน, รถไฟ, เรือด่วน, เรือข้ามฟาก และรถตู้ระหว่างจังหวัด โดยมีบริการครอบคลุมกว่า 70 จังหวัด
ทั้งนี้ก็เพื่อให้ทุกการขนส่ง มีความสะดวกและเข้าถึงง่ายขึ้น ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้ผู้คนหันมาใช้ระบบการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้นไปอีกทาง
แล้วการใช้งานแอป ViaBus ต้องเสียค่าบริการหรือไม่ ?
ด้วยความที่ ViaBus ได้นิยามตนเองว่าเป็น “คู่หูในการเดินทาง”
ดังนั้นการใช้งานตัวแอป จึงไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เพิ่มเติม
เมื่อ ViaBus เปิดให้ใช้บริการฟรี แล้วจะนำเงินจากไหน มาลงทุนพัฒนาแอป ?
คำตอบคือ ได้รับเงินอุดหนุนจากภาคเอกชนและภาครัฐ รวมถึงการสนับสนุนผ่านระบบ ViaBus Fan จากผู้ใช้งานแอปที่อยากซัปพอร์ตการพัฒนาระบบการใช้งานต่อไป
อย่างไรก็ตาม ViaBus ไม่ได้หวังพึ่งรายได้จากเงินอุดหนุนเท่านั้น เพราะปัจจุบัน ViaBus ยังได้พัฒนาโมเดลธุรกิจไปสู่รูปแบบ B2B โดยจะให้บริการด้านระบบกับคู่ค้า ที่สนใจใช้บริการซอฟต์แวร์ติดตามการขนส่งผู้โดยสาร
อย่างเช่น การไปร่วมมือกับโรงเรียนเอกชนที่ให้นักเรียน, ผู้ปกครอง และบุคลากร สามารถติดตามตำแหน่ง Shuttle Van ดูตารางเวลารถ และเช็กที่ว่างในรถโดยสารรับ-ส่งของโรงเรียนได้
หรือการจับมือกับคอนโดมิเนียม อำนวยความสะดวกให้ผู้พักอาศัย สามารถกดดู Shuttle Van หรือ Shuttle Boat ที่จะมารอรับ-ส่ง ผู้พักอาศัย
และด้วยนวัตกรรมของ ViaBus ที่ช่วยเปลี่ยนมุมมองต่อการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ พร้อมกับสร้างอิมแพกต์ให้กับผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะหลาย ๆ คนในประเทศ
จึงทำให้ 3 ผู้ก่อตั้ง ViaBus ทั้งคุณอินทัช คุณธนัทเศรษฐ์ และคุณธนิษฐ์ ติดอันดับหนึ่งในผู้สร้างนวัตกรรมแห่งปี 2021 ที่อายุไม่เกิน 30 ปี จากนิตยสาร Forbes อีกด้วย
มากไปกว่านั้น ผลลัพธ์จากสิ่งที่ ViaBus ทำ มันไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ตัวธุรกิจและคู่ค้าเท่านั้น
แต่ยังสร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง ต่อระบบขนส่งสาธารณะของไทย ให้พัฒนาไปอีกขั้น..
สุดท้ายนี้ ปิดท้ายด้วยคำกล่าวจากคุณ Gustavo Petro อดีตนายกเทศมนตรีเมืองโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย
“ประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ใช่ประเทศที่คนจน มีรถยนต์ส่วนตัว แต่เป็นประเทศที่คนรวย ใช้ระบบขนส่งสาธารณะต่างหาก”
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.