Agnos สตาร์ตอัปไทย ที่ใช้ AI ตรวจโรคให้ชัวร์ ก่อนรีบไปโรงพยาบาล
Business

Agnos สตาร์ตอัปไทย ที่ใช้ AI ตรวจโรคให้ชัวร์ ก่อนรีบไปโรงพยาบาล

3 ก.ค. 2023
Agnos สตาร์ตอัปไทย ที่ใช้ AI ตรวจโรคให้ชัวร์ ก่อนรีบไปโรงพยาบาล /โดย ลงทุนเกิร์ล
มีใครเคยเป็นไหมคะ เวลาป่วย หรือมีอาการแปลก ๆ เกิดขึ้นกับร่างกาย คิดอะไรไม่ออก ก็เข้าไปปรึกษากับอากู๋ (Google) แต่กลับเจอโรคร้ายแรง เกินจริงไปเยอะ
หรือบางครั้ง เสียทั้งค่าเดินทาง เสียทั้งเวลามาโรงพยาบาลครึ่งค่อนวัน แต่สุดท้ายเรากลับกลายเป็น คนไข้ที่เข้าพบแพทย์โดยไม่จำเป็น
แล้วรู้หรือไม่ว่า กว่า 60% ของคนไข้ที่มาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล คือคนที่ “ไม่มีความจำเป็นต้องพบแพทย์”
เนื่องจากอาการป่วยส่วนใหญ่ มาจากโรคที่รักษาได้ด้วยตนเอง เช่น ไข้หวัด, ท้องเสีย และอาหารเป็นพิษ
ก่อให้เกิดปัญหาตามมาคือ คนไข้ล้นโรงพยาบาล ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์มีไม่เพียงพอ และดูแลได้ไม่ทั่วถึง
ซึ่งปัญหาเหล่านี้ได้ก่อกำเนิดสตาร์ตอัปไทย สายเฮลท์เทคอย่าง “Agnos” เพื่อสร้างเครื่องมือให้ผู้คนได้เช็กอาการป่วยของตนเองแบบง่าย ๆ ในเบื้องต้น
เรื่องราวของ Agnos น่าสนใจอย่างไร ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
Agnos ก่อตั้งขึ้นในปี 2019
โดยคุณวิช-ปพนวิช ชัยวัฒโนดม ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO
แม้แรงบันดาลใจในการก่อตั้ง Agnos จะมาจากปัญหาที่เกริ่นไว้ตอนต้น
ซึ่งปัญหานี้ยังยืนยันได้ด้วย ฐานข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี 2018 ที่ว่า จำนวนแพทย์ต่อประชากรของไทยอยู่ที่ 1:1250 คน ชี้ให้เห็นถึงความไม่เพียงพอของบุคลากรทางการแพทย์ ที่จะดูแลคนไข้ได้อย่างทั่วถึง
แต่อีกแรงบันดาลใจหนึ่ง เกิดขึ้นจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก อย่างคุณพ่อของคุณวิช ที่จากไปด้วยโรคมะเร็ง
ถึงการจากลาจะเป็นเรื่องน่าเศร้า แต่ก็จุดประกายให้คุณวิชคิดว่า หากเขาสามารถรู้อาการป่วยเบื้องต้นของคุณพ่อล่วงหน้าสัก 1 ปี ท่านคงไม่ต้องจากไปเร็วเช่นนี้
ดังนั้น คุณวิชจึงเริ่มรวบรวมทีมวิศวกรพัฒนาซอฟต์แวร์ และแพทย์ เข้ามาร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีด้านสุขภาพ ในรูปแบบแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า “Agnos”
โดย Agnos ใช้ระบบ AI (ปัญญาประดิษฐ์) ตรวจอาการป่วยเบื้องต้น เพื่อวิเคราะห์โอกาสในการเกิดโรคต่าง ๆ
ซึ่ง AI จะทำหน้าที่มาซักประวัติและอาการป่วยของเรา คล้ายกับเวลาที่แพทย์ซักประวัติคนไข้ โดยการวิเคราะห์จะถูกพิจารณาร่วมกับปัจจัยเสี่ยงส่วนบุคคล เช่น โรคประจำตัว, อายุ, น้ำหนัก
การซักถามจะใช้เวลาโดยเฉลี่ย 3-5 นาที หลังจากนั้น AI ก็จะประมวลผลลัพธ์ออกมา ให้ได้ทราบว่า อาการดังกล่าวที่เราเป็นอยู่ อาจเป็นผลจากโรคใดได้บ้าง และแจ้งเตือนว่า เราควรไปพบแพทย์ต่อหรือไม่
ซึ่งหากเป็นโรคที่ไม่รุนแรง และสามารถรักษาให้หายได้ด้วยตนเอง AI ก็จะแนะนำร้านยาใกล้บ้าน ให้เราไปรับจ่ายยาได้โดยตรงจากเภสัชกร
โดยส่วนนี้ Agnos ก็ได้ร่วมมือกับร้านยากรุงเทพ หรือธุรกิจร้านขายยาที่มีสาขาทั่วประเทศกว่า 80 แห่ง
เรียกได้ว่า Agnos เปรียบเสมือนมีเพื่อนที่เป็นหมออยู่ใกล้ ๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส
ที่สำคัญ รูปแบบการทำงานของ Agnos ยังเข้ามาเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้น ที่ไม่จำเป็นต้องถึงมือแพทย์ ซึ่งจะช่วยลดภาระงานในโรงพยาบาลไปอีกทาง
รวมถึงช่วยให้ผู้ใช้งานประหยัด ทั้งค่าใช้จ่ายและเวลา
ทีนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า Agnos นำข้อมูลจากไหนมาป้อนให้กับ AI ?
Agnos จะใช้ฐานข้อมูลมาจากหลากหลายส่วน โดยส่วนหนึ่งจะมาจากความรู้ของแพทย์ ที่เป็นกรณีศึกษาจากผู้ป่วยกว่า 100,000 เคส
ซึ่ง Agnos ใช้เวลาเก็บข้อมูลผลการวิจัยโรคต่าง ๆ ร่วมกับโรงพยาบาลพาร์ตเนอร์มากกว่า 2 ปีเต็ม
ปัจจุบันระบบ AI ของ Agnos สามารถวิเคราะห์โรคได้ครอบคลุมกว่า 200 โรค และยังมีทีมแพทย์เฉพาะทาง ให้บริการในระบบอีกกว่า 10,000 ราย
แล้วธุรกิจของ Agnos จะมีรายได้จากส่วนไหนบ้าง ?
แม้แอปของ Agnos จะเปิดให้ใช้บริการฟรี แต่บริษัทมีโครงสร้างการหารายได้มาจาก 2 ส่วนหลัก ๆ คือ
การทำหน้าที่เป็น Market place แนะนำโรงพยาบาลให้กับผู้ใช้งานภายในแอป หลังจากระบบ AI ประมวลผลแล้วว่าควรไปพบแพทย์ ซึ่งในส่วนนี้บริษัทจะได้ค่านายหน้าจากการแนะนำต่อ
ถัดมาคือ การเข้าไปเป็นพาร์ตเนอร์กับโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อช่วยออกแบบระบบซอฟต์แวร์ของ Agnos
โดยในส่วนนี้ บริษัทจะคิดค่าบริการอยู่ 2 รูปแบบ คือ โมเดลแบบ Subscription หรือแบบระบบสมาชิก และแบบ Pay per use หรือการจ่ายเมื่อใช้นั่นเอง
นอกจากนี้ Agnos ยังมีรายได้จากผู้สนับสนุน ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ที่ให้เงินทุนไปแล้วกว่า 10 ล้านบาท
สำหรับการพัฒนาระบบตั้งแต่เริ่มต้นมาจนถึงปัจจุบัน
ที่สำคัญในปี 2021 ที่ผ่านมา Agnos ยังได้รับเงินลงทุนเพิ่มจากชาร์คเต้-ภูริต ภิรมย์ภักดี หนึ่งในคณะกรรมการจากรายการ Shark Tank Thailand ที่ยื่นข้อเสนอให้เงินทุน 30 ล้านบาท เพื่อแลกกับหุ้นจำนวน 35% ของบริษัท
ซึ่งถ้าลองคำนวณมูลค่ากิจการจากเงินทุนก้อนนี้
เท่ากับว่า Agnos จะมีมูลค่าเกือบ 86 ล้านบาท เลยทีเดียว
โดยเงินทุนส่วนนี้ Agnos ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะนำไปขยายทีมและพัฒนาเทคโนโลยีของระบบ ให้สามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายผู้ให้บริการด้านสุขภาพอื่น ๆ ให้ครอบคลุมแบบครบวงจร ตั้งแต่โรงพยาบาล คลินิก และร้านขายยา
เพราะ Agnos มองว่า การเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพและทั่วถึง จะช่วยยกระดับชีวิตของผู้คนได้
ก็น่าติดตามกันต่อไปว่า Agnos จะเติบโตไปถึงเป้าหมายหรือไม่
แต่ที่แน่ ๆ การมี “สตาร์ตอัปด้านสุขภาพสำหรับคนไทย ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาโดยคนไทย เพื่อคนไทย”
ก็ถือว่าเจ๋งมากแล้ว..
------------------------------------------------------------
Presented by กลุ่มบริษัทธนจิรากรุ๊ป เดินหน้าขยายธุรกิจหาญ เวลเนสแอนด์ฮอสพิทอลลิตี้ (HARNN Wellness & Hospitality) ครอบคลุมทั้งเวลเนสและสปาภายในประเทศและต่างประเทศในระดับ Regional สร้างให้แบรนด์ไทยเป็นที่รู้จักและสร้างความภูมิใจในระดับสากลรวมกว่า 16 สาขาทั่วภูมิภาค
https://www.facebook.com/TANACHIRA-GROUP-174055739828807/
#TANACHIRA #HARNN #SCapebyHARNN
------------------------------------------------------------
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.