รู้จัก ไวน์ Mouton Cadet หนึ่งในธุรกิจของ ตระกูล Rothschild
Business

รู้จัก ไวน์ Mouton Cadet หนึ่งในธุรกิจของ ตระกูล Rothschild

28 ก.ค. 2023
รู้จัก ไวน์ Mouton Cadet หนึ่งในธุรกิจของ ตระกูล Rothschild /โดย ลงทุนเกิร์ล
ตอนนี้ หากพูดถึงคนที่รวยที่สุดในโลก เรามักจะนึกถึงคุณ Elon Musk เจ้าพ่อ Tesla หรือไม่ก็คุณ Bernard Arnault เจ้าของอาณาจักรแบรนด์หรู LVMH
แต่หากเป็นเมื่อก่อน ในช่วงศตวรรษที่ 19
คำตอบที่ได้ ต้องไม่พ้น ตระกูลเก่าแก่อย่าง "Rothschild" (รอทส์ไชลด์) ตระกูลอภิมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลก
แม้ความร่ำรวยของพวกเขา จะไม่มีการเปิดเผยออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีการประเมินว่า ปัจจุบันตระกูลนี้มี “ความมั่งคั่งสุทธิ” (Net Worth) สูงกว่า 42 ล้านล้านบาท หรือรวยกว่า Elon Musk ถึง 5 เท่า เลยทีเดียว
โดยลือกันว่า ความรวยล้นฟ้าของตระกูล Rothschild มาจากการถือครองทรัพย์สินและหุ้นในธุรกิจต่าง ๆ นับไม่ถ้วน ทั้งสถาบันการเงิน, อสังหาริมทรัพย์, เหมือง, พลังงาน ฯลฯ
ซึ่งก็มีทั้งธุรกิจที่เปิดเผย และไม่เปิดเผยออกสื่อ
แต่หนึ่งในธุรกิจที่คอนเฟิร์มว่า มีสมาชิกตระกูล Rothschild เป็นเจ้าของแน่ ๆ ก็คือ ไวน์แบรนด์ดัง ราคาย่อมเยาอย่าง “Mouton Cadet” (มูตง กาเดต์)
แม้ Mouton Cadet จะไม่ใช่ไวน์พรีเมียม แต่ก็เลื่องลือในด้านรสชาติและคุณภาพ ไม่แพ้ไวน์พรีเมียมราคาแพง
แล้ว Mouton Cadet มีจุดเริ่มต้นอย่างไร ?
ทำไมตระกูล Rothschild ถึงสนใจธุรกิจไวน์
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
Mouton Cadet เป็นแบรนด์ไวน์ที่อยู่ภายใต้บริษัทผลิตไวน์ของตระกูล Rothschild ที่มีชื่อว่า Baron Philippe de Rothschild (BPDR)
จุดเริ่มต้นของ BPDR นั้น ต้องเล่าย้อนไปตั้งแต่ปี 1853 ที่คุณ Baron Nathaniel de Rothschild ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูล ที่ได้ตัดสินใจย้ายมาลงหลักปักฐาน ณ ประเทศฝรั่งเศส
คุณ Nathaniel ชอบดื่มไวน์เป็นชีวิตจิตใจ จนอยากบ่มไวน์ไว้ดื่มเอง เขาจึงได้ไปประมูลซื้อ “ชาโต” (Château) ในเมือง Pauillac ในแคว้น Bordeaux (บอร์โด) ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกองุ่น และผลิตไวน์ชั้นดีของโลก
ต้องอธิบายก่อนว่า ชาโตในฝรั่งเศสนั้น นอกจากจะหมายถึง คฤหาสน์ย่านชานเมืองของคนชั้นสูง ที่ใช้เป็นบ้านพักตากอากาศแล้ว
ที่ดินผืนแปลงใหญ่ของชาโต ยังมีฟังก์ชันเป็นไร่องุ่น และเป็นที่ตั้งของโรงบ่มไวน์ประจำตระกูล โดยใช้องุ่นจากไร่ในที่ดินผืนเดียวกันกับชาโต เป็นวัตถุดิบ
ซึ่งนั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า “ไวน์ชาโต” (Château wine) ที่เป็นเหมือนเครื่องหมายการค้า ที่ทำให้คอไวน์รู้ได้ทันทีว่า เป็นไวน์เกรดพรีเมียม คุณภาพสูง
กลับมาที่ชาโตของคุณ Nathaniel ที่เขาตั้งใจซื้อ เพื่อบ่มไวน์ไว้ดื่มเองโดยเฉพาะ
ต่อมาในยุคของคุณ Baron Philippe de Rothschild เหลนของคุณ Nathaniel หรือทายาทรุ่นที่ 6 ของตระกูล Rothschild ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง
โดยคุณ Philippe ได้เปลี่ยนจากชาโตที่ไว้บ่มไวน์กินเองในครอบครัวและผองเพื่อน มาเป็นธุรกิจผลิตไวน์ขาย และตั้งบริษัท BPDR ขึ้นในปี 1922
ช่วงแรก BPDR บ่มไวน์ชาโต ใส่ถังไม้ แล้วส่งไปให้พ่อค้าคนกลาง ไปกระจายขายตามเมืองต่าง ๆ ทั่วยุโรป
แต่ทำได้เพียง 2 ปี คุณ Philippe ก็เกิดไอเดียเปลี่ยนรูปแบบบรรจุภัณฑ์เป็นขวดแก้วและทำฉลาก เพื่อสร้างแบรนด์ของตัวเอง และเพิ่มมูลค่าสินค้า
และไวน์แบรนด์แรกของ BPDR เป็นไวน์ชาโต ชื่อ “Château Mouton Rothschild” (ชาโต มูตง รอทส์ไชลด์) ที่ตั้งชื่อตามชื่อของคฤหาสน์ ที่คุณทวดของเขาได้ตั้งไว้
ซึ่งก็กลายเป็นไวน์ตัวท็อป ราคาพรีเมียม ของ BPDR ที่ได้รับความนิยมสูง ตั้งแต่บัดนั้นจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาในปี 1930 เป็นช่วงที่คุณ Philippe ได้ยกระดับธุรกิจไวน์ของเขาขึ้นอีกขั้น และฉีกกฎธุรกิจไวน์ไปจากเดิม โดยการสร้างแบรนด์ไวน์ “Mouton Cadet” ขึ้นมา
และเหตุผลที่ทำให้ Mouton Cadet ผิดแปลกไปจากธรรมเนียมธุรกิจไวน์แบบเดิม เป็นเพราะก่อนหน้านี้ ไวน์ที่ซื้อขายในยุคนั้น เป็นไวน์ชาโตทั้งหมด
โดยวิธีดั้งเดิมแบบนี้ จะทำให้ได้ไวน์ที่มีมาตรฐาน และคุณภาพสูง เพราะแต่ละชาโต สามารถควบคุมมาตรฐาน ตั้งแต่พันธุ์ขององุ่น การดูแลต้นองุ่น รวมไปถึงการเก็บเกี่ยวและวิธีการบ่ม
แต่กระบวนการนี้ ก็ทำให้ผลิตไวน์ได้ในปริมาณที่จำกัด และไม่มีการบริหารความเสี่ยง เพราะธุรกิจขึ้นอยู่กับวัตถุดิบจากแหล่งเดียว แถมโรงบ่มไวน์ยังตั้งอยู่บนที่ดินผืนเดียวกันอีก
คุณ Philippe ต้องการเพิ่มปริมาณการผลิต เพื่อที่จะสร้างยอดขายที่สูงขึ้น เขาจึงใช้วิธีรับซื้อองุ่นจากไร่อื่น ในแคว้น Bordeaux แล้วนำมาบ่มด้วยกรรมวิธีของตระกูลเหมือนเดิม
แม้จะไม่ได้ผลิตจากองุ่นไร่เดียวกัน เหมือนไวน์ชาโต แต่ด้วยวิธีการบ่มที่พิถีพิถันไม่ต่างกัน ทำให้ไวน์ Mouton Cadet มีรสชาติดี ไม่ด้อยไปกว่าไวน์ชาโตเท่าไรนัก
นอกจากนี้ คุณ Philippe ยังเลือกที่จะขาย Mouton Cadet ในราคาที่ถูกลง เข้าถึงง่ายขึ้น เพราะต้องการขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มคนทั่วไป
หลังจากเปิดตัวได้ไม่นาน ปรากฏว่า Mouton Cadet ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า และเป็นที่นิยมในกลุ่มคนชนชั้นกลางในยุโรป
เมื่อเห็นแบบนั้นแล้ว คุณ Philippe ก็เพิ่มกำลังการผลิต จนสามารถส่งออก Mouton Cadet ไปข้ามทวีปได้สำเร็จ
แต่หลังจากที่คุณ Philippe เสียชีวิตลงในปี 1988 คุณ Philippine de Rothschild ลูกสาวคนเดียวของเขา ก็ได้สืบทอดกิจการ BPDR ต่อ
ในสมัยของคุณ Philippine ถือว่าเป็นยุคทองของ Mouton Cadet เลยก็ว่าได้ เพราะ Mouton Cadet ขึ้นแท่นเป็นไวน์ที่มียอดขายสูงสุด ในบรรดาไวน์จากแคว้น Bordeaux
สำหรับการควบคุมมาตรฐานของวัตถุดิบ Mouton Cadet จะทำสัญญารับซื้อองุ่นที่ได้มาตรฐาน กับเจ้าของไร่องุ่น และส่งผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับไวน์ ไปคอยให้คำปรึกษากับเกษตรกร เพื่อให้ได้องุ่นคุณภาพสูง ไม่กลายพันธุ์ และลดการใช้สารเคมีอีกด้วย
นอกจากวัตถุดิบ และกระบวนการผลิตแล้ว คุณ Philippine ยังเพิ่มความหลากหลายให้กับสินค้า โดยการผลิตไวน์ประเภทอื่น ทั้งไวน์ขาว และไวน์โรเซ่ ภายใต้แบรนด์ Mouton Cadet เพื่อให้มีสินค้าครอบคลุมคนทุกกลุ่ม
และหลังจากขึ้นมาบริหารได้ 26 ปี คุณ Philippine ได้เสียชีวิตลงในปี 2014 และส่งต่อกิจการให้ลูกทั้ง 3 คน ช่วยกันดูแลต่อ จนถึงทุกวันนี้
อ่านมาถึงตรงนี้ จะเห็นว่า Mouton Cadet จะไม่สามารถมาไกลถึงทุกวันนี้ได้เลย หากคุณ Philippe ไม่กล้าที่จะลงมือทำในวิธีที่ “แตกต่าง” จากธรรมเนียมเดิม
เขาเริ่มจากการตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มยอดขาย และหาวิธีการที่จะไปให้ถึงตรงนั้น แม้แนวทางนั้น จะไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐานทางธุรกิจที่เป็นอยู่ก็ตาม
ซึ่งการตัดสินใจเลือกทางที่แตกต่างนั้น ถึงจะแลกมาด้วยแรงเสียดทานมากมาย แต่หากสามารถก้าวผ่านจุดนั้นมาได้สำเร็จแล้ว มันก็อาจจะเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ธุรกิจ พลิกมามีความได้เปรียบในตลาด และไปได้ไกลกว่าเดิม นั่นเอง
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.