แกะวิธีคิด Prompt Design สตูดิโอสร้างแบรนด์และออกแบบบรรจุภัณฑ์คนไทย ที่ติดอันดับ 15 ของโลก
Business

แกะวิธีคิด Prompt Design สตูดิโอสร้างแบรนด์และออกแบบบรรจุภัณฑ์คนไทย ที่ติดอันดับ 15 ของโลก

7 ส.ค. 2023
Prompt Design x ลงทุนเกิร์ล
“บรรจุภัณฑ์ ก็เหมือนดาบ ที่แต่ละแบรนด์ ใช้แทงไปที่หัวใจลูกค้า 
แต่ดาบที่ผมทำ ไม่ใช่ดาบธรรมดาปกติ เพราะมีเชื้อของไอเดียอาบไว้อยู่ ทำให้พอลูกค้า 1 คน โดนแทงเข้าที่หัวใจแล้ว ยังสามารถแพร่เชื้อไปถึงคนอื่น ๆ ได้”
นี่คือมุมมองของ คุณแชมป์-สมชนะ กังวารจิตต์ Executive Creative Director ของ Prompt Design สตูดิโอสร้างแบรนด์ และออกแบบบรรจุภัณฑ์ 
ที่ต้องบอกว่า นอกจากจะเก๋าเกม เพราะคร่ำหวอดในวงการมากว่า 15 ปี ออกแบบบรรจุภัณฑ์มาแล้วกว่า 30,000 ชิ้น 
ผลงานที่ผ่านมือของ Prompt Design ยังการันตีด้วยการไปคว้ารางวัลออกแบบระดับโลกมามากกว่า 168 รางวัล และได้ Best of the Best ทั้งหมด 15 ครั้ง จากหลากหลายสถาบัน ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา, จีน, ญี่ปุ่น, เยอรมนี, อังกฤษ, ออสเตรเลีย และอื่น ๆ อีกมากมาย
ที่น่าภูมิใจไม่น้อย Pentawards ซึ่งเป็นสมาคมที่ใหญ่ที่สุดด้านบรรจุภัณฑ์ ยังจัดอันดับให้ Prompt Design อยู่ในอันดับที่ 15 ของโลกในด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ จากกว่า 3,000 บริษัททั่วโลก
นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม Prompt Design จึงเป็นสตูดิโอเบอร์ต้น ๆ ที่ลูกค้าตั้งแต่แบรนด์เล็กไปจนถึงแบรนด์ใหญ่นึกถึง และให้ความไว้วางใจอย่างต่อเนื่อง 
จนมีลูกค้าที่อยู่ในแทบทุกกลุ่มสินค้า​ ที่เราคุ้นเคย ตั้งแต่กลุ่มเครื่องดื่มและอาหาร ไปจนถึงกลุ่มยา
วันนี้ลงทุนเกิร์ล จะพาไปเจาะลึกถึง เส้นทางในการปลุกปั้น Prompt Design สตูดิโอสร้างแบรนด์และออกแบบบรรจุภัณฑ์ฝีมือคนไทย ที่นอกจากจะมีจุดขายที่ไอเดียที่แตกต่าง ยังมีรางวัลระดับโลกเป็นเครื่องการันตีฝีมือ
ต้องบอกว่า สตูดิโอสร้างแบรนด์และออกแบบบรรจุภัณฑ์บ้านเรา ก็มีไม่น้อย
แต่สิ่งที่ทำให้ Prompt Design แจ้งเกิดและแตกต่าง มาตั้งแต่วันแรก คือ การเป็นสตูดิโอสายประกวด
เพราะ คุณแชมป์ มองว่า แทนที่จะเดินตามรอยบริษัทอื่น ๆ ซึ่งตัวเองไม่ถนัด
เขาเลือกที่จะทำในสิ่งที่ชอบมาตั้งแต่สมัยเรียนสาขาการออกแบบบรรจุภัณฑ์ คณะศิลปอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นั่นคือ การเดินสายประกวด
“การส่งผลงานไปประกวดในเวทีระดับโลก ที่มีกติกาในการมอบรางวัลที่ได้รับการยอมรับอยู่แล้ว เป็นสิ่งที่จะช่วยพิสูจน์ผลงานของเราว่าอยู่ในระดับไหนได้ โดยที่เราไม่ต้องพูด แต่ให้รางวัลเป็นตัวพูดแทน แม้หลาย ๆ เวทีจะมีค่าใช้จ่ายในการสมัครประกวด แต่ผมเชื่อว่า อย่างน้อยสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้ คือ ผลรางวัล”
ถึงแม้ในสมรภูมินี้ จะมีทั้งสมหวังและผิดหวัง แต่คุณแชมป์ชอบความรู้สึกที่ได้ท้าทายตัวเองตลอดเวลา
จนเข้าขั้น “เสพติด” การประกวด ทำให้ต่อให้จะมาเปิดบริษัทของตัวเอง คุณแชมป์ก็ยังสนุกกับการท้าทายตัวเองทุกปี 
โดยผลงาน ที่ถือว่าเป็นประตูบานสำคัญให้คุณแชมป์ คือ การไปคว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ของสมาคม The Dieline ซึ่งเป็นหนึ่งในรางวัลด้านบรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถึง 3 ปีซ้อน
ความสำเร็จครั้งนั้น แจ้งเกิดให้คุณแชมป์เริ่มเป็นที่รู้จัก และเป็นใบเบิกทางสำคัญที่ทำให้คุณแชมป์ ได้รับเชิญให้ไปเป็นกรรมการตัดสิน Pentawards รางวัลสุดยอดการออกแบบบรรจุภัณฑ์ของโลก 
ซึ่งในแต่ละปี คณะกรรมการล้วนมีแต่ตัวแทนจากสตูดิโอและบริษัทระดับโลกเท่านั้น
“ตอนปีแรก ผมไปตัดสินที่บาร์เซโลนา ประเทศสเปน ใช้เวลาเตรียมตัวอยู่ 1 ปี 
ทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อศึกษาเรื่องแบรนด์ การดีไซน์ต่าง ๆ เตรียมตัวไปอย่างดี ไปรับบทกรรมการได้อย่างราบรื่น ไม่มีปัญหา 
แต่จุดที่ผมคิดว่าต้องกลับมาตีโจทย์ใหม่ คือ จะทำอย่างไร เพื่อต่อยอดโอกาสที่ผมได้รับ 
ทำให้คนที่ผมไปเจอในงาน จดจำผมได้ เพราะคนที่ไปร่วมงานในแต่ละปีมีเยอะมาก”
เพื่อแก้เกม ไม่ให้ตัวเองเป็นคนที่ถูกลืม คุณแชมป์ ใช้เทคนิคสร้างแบรนด์ให้ตัวเองเป็นที่จดจำ 
โดยใส่ใจทุก Touchpoint ที่คิดว่า คนที่ไปร่วมงานจะได้สัมผัส
เริ่มจากการตั้งชื่อ ต่อให้ชื่อ แชมป์ จะดูเหมือนเป็นคำภาษาอังกฤษ ที่เรียกง่าย และจดจำได้ไม่ยาก
แต่ประสบการณ์ในปีแรก สอนให้รู้ว่า พอเป็นคนต่างชาติต่างภาษา การออกเสียงให้ตรงกันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
คุณแชมป์เลยเลือกเปลี่ยนชื่อเป็น “แชมพู” พร้อมทำท่าสระผมประกอบ 
แม้จะฟังดูขบขำ แต่นั่นคือสิ่งที่คุณแชมป์ตั้งใจ เพราะอย่างน้อย ก็เป็นการสร้างโมเมนต์กับคู่สนทนา เพื่อให้เกิดการจดจำ
ขั้นตอนต่อมา คือ เตรียมนามบัตรที่มีรูปตัวเองไปแจก เพื่อเตือนความจำคนที่ได้นามบัตรไป 
นอกจากนี้ ยังตั้งใจแต่งตัวแบบเดิม ๆ เพื่อสร้างซิกเนเชอร์ ให้คนจำได้ พร้อมเลือกใช้แอกเซสซอรี อย่างกระเป๋าสะพายที่ปักชื่อแชมพู เพื่อที่เวลาสะพายในงาน แล้วเดินไปไหนมาไหน คนจะได้นึกออก ว่าเขาคือใคร​
ที่ขาดไม่ได้ คือ การสร้างความประทับใจ ด้วยการนำของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ ติดตัวไปมอบให้เพื่อนใหม่ 
“เชื่อไหมว่า หลังจากทำแบบนี้ กลายเป็นว่า เวลาที่คนที่ผมไปเจอในงาน นึกถึงบริษัทออกแบบในเอเชียหรือในไทย ผมก็จะเป็นหนึ่งในตัวเลือก ที่เขานึกถึงเสมอ ทำให้ได้มีโอกาสต่อยอดความรู้ และเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ จากการที่เขาชวนไปบรรยาย หรือไปร่วมตัดสินใจในโครงการต่าง ๆ”
นอกจาก การได้มีโอกาสไปร่วมในเวทีประกวดต่าง ๆ จะเป็นการต่อยอดคอนเน็กชัน
การมีรางวัลระดับโลกมาการันตีผลงาน ทำให้ Prompt Design ค่อย ๆ สร้างชื่อและมีจุดยืนในวงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ และเป็นที่ไว้วางใจของลูกค้า
ซึ่งคุณแชมป์บอกว่า หลัก ๆ ลูกค้าที่เข้ามาหา Prompt Design จะมี 3 กลุ่ม คือ
หนึ่ง กลุ่มที่อยากสร้างแบรนด์ 
สอง กลุ่มที่เป็นสินค้าใหม่ หรือ อยากปรับภาพลักษณ์แบรนด์ให้ดูทันสมัย 
สาม กลุ่มที่มีโจทย์ชัดเลยว่า อยากได้รางวัล
“สำหรับสองกลุ่มแรก ไม่มีปัญหาครับ หน้าที่ของเราคือ การใช้ไอเดียเพื่อสร้างความแตกต่าง ให้ผลิตภัณฑ์ของลูกค้าดูต่างจากแบรนด์อื่น ๆ ที่มีอยู่ในชั้นวาง 
แต่สำหรับแบรนด์ที่มีโจทย์ว่าอยากได้รางวัล ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เราไม่ได้เคลมว่าได้แน่นอน แต่เราทำเต็มที่ ที่สุด ที่ประสบการณ์เรามี
แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ต้องมาดูก่อนว่า ผลิตภัณฑ์ที่จะมาล่ารางวัลไปด้วยกันนั้น มีโอกาสแค่ไหน
เพราะถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนในการสื่อสาร และมีข้อจำกัดในการออกแบบเยอะ อันนี้ยากพอควร” 
ดังนั้น อันดับแรก ต้องดูก่อนว่าผลิตภัณฑ์เหมาะสมหรือไม่
คำว่าเหมาะสม ในที่นี้คือ เป็นผลิตภัณฑ์ที่พูดมาแล้วทุกคนรู้จัก เช่น นม เนย ไวน์ เป็นต้น
เพราะถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่เพิ่งเจาะตลาด เช่น อาจจะเป็นเครื่องดื่มชนิดใหม่ ๆ ที่คนทั่วไปไม่รู้จัก 
ลำพังแค่อธิบายตัวสินค้าก็ยากแล้ว
ถัดมาคือ ต้องดูว่าแบรนด์มีความยืดหยุ่นแค่ไหน ทั้งในแง่ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ 
มีไกด์ไลน์ที่บังคับหรือเปล่า หรือไลน์การผลิตของแบรนด์สามารถปรับเปลี่ยนได้ไหม
ถ้ายิ่งยืดหยุ่นได้มากเท่าไร โอกาสก็ยิ่งสูง​ตาม
ถามว่า ทำไมแบรนด์ถึงต้องอยากให้บรรจุภัณฑ์ของตัวเองได้รางวัล 
แน่นอนว่า ได้ชื่อเสียง.. 
แต่ที่มากกว่านั้นคือ การสร้าง Brand Awareness 
“ถ้าถามว่าบรรจุภัณฑ์ช่วยเพิ่มยอดขายได้ไหม ก็แน่นอนอยู่แล้ว แต่ผมมองว่า ศักยภาพของบรรจุภัณฑ์ ยังช่วยให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก ได้ไปออกสื่อต่าง ๆ หรือไปโชว์ในงานแสดงสินค้า ซึ่งผมว่า เป็นสิ่งที่ยากกว่า บางครั้งมีเงินก็อาจจะซื้อโอกาสแบบนี้ไม่ได้” 
มาถึงตรงนี้ ถ้าให้มองย้อนกลับไปสำรวจเส้นทางที่เขาสร้างมากับมือ คิดว่าอะไรทำให้มาถึงตรงนี้
คุณแชมป์บอกว่า “ความบ้า” 
“สำหรับผม แค่ความขยันไม่พอ ต้องบ้า 
เพราะถ้าขยัน ผมอาจจะเป็นแค่เด็กที่ทำตามโจทย์ที่ครูให้ สอบได้เกรด 4 
แต่ถ้าเด็กคนนั้นมีความบ้าอยู่ในตัว เขาอาจจะทำโจทย์ขึ้นมาเอง แล้วเอามาให้คุณครูช่วยแก้ก็ได้”
อีกหัวใจสำคัญคือ พลังของทีมเวิร์ก 
“ผมว่าจุดที่ยากของธุรกิจนี้ คือ เราต้องใช้คน เราไม่สามารถไปสั่งเครื่องจักรจากเยอรมนี แล้วผลิตผลงานแบบที่เราทำออกมาได้ เพราะฉะนั้น เราต้องค่อย ๆ สร้างคนของเราเอง”
ซึ่งผลจากความบ้า และพลังของทีมเวิร์ก ก็เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ วันนี้ Prompt Design ได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทออกแบบบรรจุภัณฑ์อันดับ 15 ของโลก 
“จริง ๆ เรามีฝันใหญ่เลย คือ อยากติดท็อปเทน แต่ต้องบอกว่า ยากมาก ๆ 
เอาแค่ว่าเรารักษาอันดับของเรามาได้ 4 ปี ก็ไม่ง่ายแล้วนะ
ดังนั้น เราเลยตั้งใจว่า แค่เราสามารถขยับอันดับขึ้นไปเรื่อย ๆ ทีละก้าว เราก็ดีใจแล้ว”
อย่างไรก็ตาม แม้ในเชิงผลงาน จะมีรางวัลระดับโลกการันตี แต่ในเรื่องการทำธุรกิจ คุณแชมป์ ยอมรับว่า ยังเป็นมวยวัด 
“เป้าหมายของเราไม่ใช่มีกำไรเยอะ ๆ แต่อยากจะพาบริษัทคนไทยไปแจ้งเกิดในเวทีโลก
ซึ่งที่ผ่านมา เราก็เริ่มเป็นที่รู้จักในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราได้เป็นคนกำหนดไกด์ไลน์ในการออกแบบ ที่ไม่ได้แค่ใช้ในประเทศไทย แต่ใช้ในภูมิภาค”
ปิดท้ายด้วยมุมมองที่คุณแชมป์มีต่อการมุ่งมั่นพัฒนาผลงานทุกชิ้น
“ผมชอบไปเดินห้าง ไปเดินดูบรรจุภัณฑ์ของแบรนด์ต่าง ๆ เวลาดู ผมไม่ได้มองดีไซน์ 
แต่สิ่งที่ผมอยากรู้ คือ วิธีคิดที่ทำให้เขาเลือกออกแบบแบบนี้มากกว่า
ทั้งหมดนี้คือ วิธีคิดเบื้องหลัง Prompt Design สตูดิโอสร้างแบรนด์และออกแบบบรรจุภัณฑ์ของคนไทย ที่ไม่เพียงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์ต่าง ๆ แต่ยังสร้างชื่อในฐานะบริษัทไทย ที่มีผลงานออกแบบบรรจุภัณฑ์เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกอีกด้วย
Reference 
-สัมภาษณ์โดยตรงจากคุณแชมป์-สมชนะ กังวารจิตต์ Executive Creative Director ของ Prompt Design
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.