สรุป วิธีการสร้างรายได้ จาก “แพลตฟอร์มขายภาพ”
Business

สรุป วิธีการสร้างรายได้ จาก “แพลตฟอร์มขายภาพ”

30 ส.ค. 2023
สรุป วิธีการสร้างรายได้ จาก “แพลตฟอร์มขายภาพ” /โดย ลงทุนเกิร์ล
รู้หรือไม่ว่า อาชีพนักออกแบบ หรือกราฟิกดิไซน์เนอร์ สามารถทำเงินได้มากกว่าที่เราคิด
ยกตัวอย่างถึงคุณ Paula Scher หุ้นส่วนของ Pentagram บริษัทให้คำปรึกษาด้านการดิไซน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
เธอเคยทำเงินได้มากถึง 60 ล้านบาท จากการออกแบบโลโกให้กับ Citibank โดยเธอร่างแบบขึ้นบนผ้าเช็ดปาก ซึ่งใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที
ปัจจุบัน เธอมีผลงานออกแบบโลโก และให้คำปรึกษาด้านดิไซน์แก่บริษัทชั้นนำระดับโลกอีกมากมาย
เธอยังกลายเป็นกราฟิกดิไซน์เนอร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก และมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิมากถึง 100 ล้านบาท..
แม้เรื่องราวของคุณ Paula Scher จะเป็นตัวอย่างของคนส่วนน้อย และบางคนอาจมองว่า การทำเงินจากผลงานการออกแบบ ไม่ได้ง่ายอย่างนั้น
แต่รู้หรือไม่ว่า ปัจจุบันในยุคดิจิทัล ช่องทางการหารายได้จากสายงานนี้ เปิดกว้างกว่าเดิมมาก
เพราะตอนนี้มีแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไป ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีฝีมือ หรือโด่งดังเหมือนคุณ Scher ก็สามารถเข้าถึงและสร้างผลงานการออกแบบ เพื่อทำเงินได้เช่นกัน
แล้วแพลตฟอร์มที่มาช่วยสร้างเงิน ให้กับนักออกแบบ มีอะไรบ้าง ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
เริ่มแรกที่รู้จักกันดี และมีผู้ใช้งานจำนวนมากก็คือ Canva แพลตฟอร์มสำหรับการออกแบบสำเร็จรูป ที่คนทำกราฟิกไม่เป็นก็ใช้ได้
โดย Canva มีเทมเพลตและโลโกสำเร็จรูปมากมาย ที่นำไปใช้งานต่อได้ทันที จนแทบไม่ต้องจัดวางอะไรเพิ่ม
-เทมเพลตเรซูเม ที่เอาไว้ใช้ยื่นสมัครงาน
-เทมเพลตสไลด์ สำหรับออกแบบการพรีเซนต์งาน
-เทมเพลตออกแบบนามบัตร และอื่น ๆ
ซึ่ง Canva มีธุรกิจที่เรียกว่า Marketplace ที่เปิดให้นักออกแบบกราฟิกเวกเตอร์เข้ามาสร้างเทมเพลต โลโกต่าง ๆ เพื่อวางขายบนแพลตฟอร์ม
แต่จะมีเงื่อนไขคือ ต้องมีการ Export งานเกิดขึ้นก่อน หมายความว่า ต้องมีผู้ใช้งานเอาเทมเพลตหรือโลโก ที่เราสร้างไปใช้ แล้วเซฟงานนั้นออกมาจากแพลตฟอร์ม
แต่ถ้าคนใช้แล้วไม่ชอบ ไม่เซฟออกมา แบบนี้จะเรียกว่า Applied ซึ่งเราจะไม่ได้เงินจาก Canva
ซึ่งสถานะทั้งหมดนี้ นักออกแบบกราฟิกสามารถตรวจสอบได้จากหลังบ้าน หลังผลงานที่ส่งไป ผ่านการตรวจสอบและขึ้นไปวางขายบนแพลตฟอร์มเรียบร้อยแล้ว
โดยผลงานที่วางขาย จะสร้างรายได้จาก 2 ช่องทาง คือ
1) รายได้จากการซื้อผลงาน ผ่านการเติมเงิน
2) รายได้จากค่าสมาชิก ของผู้ใช้งาน
แบบแรกคือ ผู้ใช้งานเติมเงินเข้ามาซื้อผลงาน ในกรณีนี้เจ้าของผลงานจะได้รับส่วนแบ่งรายได้ที่สูง
-นักออกแบบกราฟิก ได้รับส่วนแบ่ง 75%
-Canva ได้รับส่วนแบ่ง 25%
แต่ถ้าคนซื้อผลงานเป็นสมาชิก Canva Pro ที่ Subscribe กับแพลตฟอร์ม เพื่อที่จะโหลดผลงานได้ไม่จำกัด ส่วนแบ่งรายได้ระหว่าง นักออกแบบกราฟิก และ Canva ก็จะแบ่งเท่ากัน คนละ 50%
ทั้งนี้ ส่วนแบ่งรายได้ในแต่ละประเทศ อาจจะแตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น การขายเทมเพลตในสหรัฐอเมริกา นักออกแบบกราฟิกจะได้รับส่วนแบ่ง 70% แต่ในออสเตรเลียจะเหลือ 50%
แล้ว Canva จ่ายให้นักออกแบบในไทย เท่าไร ?
สำหรับงานภาพเวกเตอร์ หรือภาพที่นำไปปรับแต่งองค์ประกอบได้ทันที โดยไม่ต้องตัดต่อเพิ่ม ก็จะได้รับเงินเฉลี่ย 13 บาท ต่อการ Export 1 ครั้ง
ซึ่งยอดนี้ยังไม่รวมรายได้จากสมาชิก Canva Pro
และที่น่าสนใจคือ ยังมีแพลตฟอร์มอีกมากมาย ที่ให้ค่าตอบแทนกับนักออกแบบกราฟิก เหมือนกับ Canva เช่น
-Adobe Stock
ให้ส่วนแบ่งรูปภาพ 33% ของราคาขาย และวิดีโอ 35% ของราคาขาย
-Shutterstock
ที่ให้ส่วนแบ่งแบบทำมากได้มาก สูงสุดถึง 40% ของราคา ยิ่งงานผ่านเยอะ เปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งรายได้ ก็จะเยอะตามไปด้วย
และอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้การขายภาพลงแพลตฟอร์มเหล่านี้น่าสนใจคือ
งานหนึ่งชิ้นที่ทำออกมา สามารถส่งไปวางขายได้หลายแพลตฟอร์มพร้อมกัน เท่ากับว่า “ทำครั้งเดียว” สามารถสร้างรายได้พร้อมกัน “หลายทาง”
แล้วเจ้าของแพลตฟอร์มเหล่านี้ ทำเงินได้มากแค่ไหน ?
ลองมาดูตัวอย่างผลประกอบการของ Shutterstock ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
-ปี 2020 รายได้ 23,000 ล้านบาท กำไร 2,400 ล้านบาท
-ปี 2021 รายได้ 26,000 ล้านบาท กำไร 3,100 ล้านบาท
-ปี 2022 รายได้ 28,000 ล้านบาท กำไร 2,600 ล้านบาท
จะเห็นว่า Shutterstock ไม่จำเป็นต้องผลิตผลงานออกมาเอง ก็สามารถเป็นบริษัทที่มีกำไรหลักพันล้านบาท ด้วยการกินส่วนแบ่งเปอร์เซ็นต์ จากการขายภาพ วิดีโอ เพลงไม่ติดลิขสิทธิ์ ให้คนไปใช้สร้างสรรค์ผลงานได้
ในขณะเดียวกัน คนทั่วไปก็ไม่จำเป็นต้องมีอาชีพเป็นนักออกแบบ หรือมีความสามารถด้านการออกแบบ “ระดับมือโปร”
ก็สามารถสร้างรายได้ได้ เพียงแค่ออกแบบผลงานศิลปะของตัวเอง แล้วลงขายบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ
ซึ่งรายได้ที่เกิดขึ้น อาจเป็นได้ตั้งแต่อาชีพเสริม ที่สร้างรายได้หลักร้อยบาท
ไปจนถึงทำเป็นอาชีพหลัก ที่ทำรายได้หลักหมื่น หรือหลักแสนบาทต่อเดือน ได้เหมือนกัน..
คลิปวิดีโอ Citibank Logo - Paula Scher | Logo design & Designer review จาก YouTube
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.