Balmain แบรนด์แฟชั่น ที่ผู้ก่อตั้งปฏิเสธ การเป็นหุ้นส่วนกับ Christian Dior
Business

Balmain แบรนด์แฟชั่น ที่ผู้ก่อตั้งปฏิเสธ การเป็นหุ้นส่วนกับ Christian Dior

25 ต.ค. 2023
Balmain แบรนด์แฟชั่น ที่ผู้ก่อตั้งปฏิเสธ การเป็นหุ้นส่วนกับ Christian Dior /โดย ลงทุนเกิร์ล
รู้ไหมว่าคุณ Pierre Balmain ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Balmain
ถือเป็นอีกหนึ่งดิไซเนอร์ชาวฝรั่งเศส ในตำนาน ที่มีอิทธิพลต่อวงการแฟชั่นของฝรั่งเศส
เพราะในยุคของเขานั้น เขาเป็นดิไซเนอร์ที่มีมุมมองแตกต่างจากดิไซเนอร์คนอื่น ๆ
โดยต้องการทำแบรนด์แฟชั่น ที่ตอบโจทย์ตลาดในต่างประเทศ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา
ต่างจากแบรนด์แฟชั่นฝรั่งเศสอื่น ๆ ที่ตอนนั้น จะเน้นยึดรสนิยม และจับกลุ่มลูกค้าในประเทศเป็นหลัก
แม้ปัจจุบันคุณ Pierre Balmain ได้เสียชีวิตลงแล้วในวัย 68 ปี
แต่สิ่งที่เข้าทิ้งไว้ ทั้งผลงานและแบรนด์ Balmain
ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มุมมองที่แตกต่าง เป็นสิ่งที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้
แล้วเรื่องราวของ Balmain ก่อนจะมาถึงได้อย่างทุกวันนี้ เป็นอย่างไร ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง..
ในวัยเด็กของคุณ Pierre Balmain อาจไม่ได้สวยงามเท่าไรนัก เพราะคุณพ่อของเขา
เสียชีวิตตั้งแต่เขาอายุได้เพียง 7 ปีเท่านั้น ทำให้เขาถูกเลี้ยงดูโดยคุณแม่
ซึ่งคุณแม่ของคุณ Pierre Balmain ก็มีธุรกิจร้านเสื้อผ้าร่วมกับคุณป้า ทำให้เขาถูกรายล้อมไปด้วยเสื้อผ้าแฟชั่นตั้งแต่ยังเด็ก ๆ
เรื่องนี้จึงเป็นตัวที่หล่อหลอมให้คุณ Pierre Balmain เติบโตขึ้นด้วยความสนใจในศิลปะ โดยเขาได้ตัดสินใจเรียนในด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม
และในขณะเดียวกัน ก็รับงานฟรีแลนซ์เป็นนักวาดภาพให้กับดิไซเนอร์ชื่อคุณ “Robert Piguet”
ดิไซเนอร์ชาวสวิสที่โด่งดังจากการที่เคยฝึกงานให้กับคุณ Christian Dior (ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Dior) และคุณ Hubert de Givenchy (ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Givenchy) มาก่อน
พอเรื่องเป็นแบบนี้ เลยทำให้เขาเริ่มค้นพบตัวเองว่า ระหว่างการวาดรูปบ้านและวาดรูปเสื้อผ้า ถ้าต้องเลือกโฟกัสและทุ่มเทเพียงอย่างเดียว
อะไรคือสิ่งที่เขาต้องการมากกว่ากัน..
ในที่สุดคุณ Pierre Balmain ก็ตัดสินใจลาออกจากการเรียน และเริ่มต้นฝึกงานเป็นดิไซเนอร์ฝึกหัดกับคุณ Edward Molyneux นักออกแบบชาวอังกฤษชื่อดัง ที่โดดเด่นด้วยการออกแบบที่ทันสมัย และการออกแบบสไตล์โอตกูตูร์ หรือก็คือเสื้อผ้าที่หรูหรา ที่ถือเป็นแฟชั่นชั้นสูง
แต่ดันโชคไม่ดี เนื่องจากคุณ Pierre Balmain ถูกเรียกตัวให้ไปเป็นทหารในช่วงสงครามโลก ซึ่งกินระยะเวลากว่า 3 ปี ทำให้เส้นทางการเริ่มต้นในวงการแฟชั่นของเขา ต้องหยุดชะงัก
และหลังจากถูกปลดประจำการในวัย 25 ปี เขาก็เริ่มกลับเข้าสู่วงการแฟชั่นดิไซเนอร์อีกครั้ง
ด้วยการเข้าไปร่วมทีมกับคุณ Lucien Lelong ซึ่งเป็นทีมที่คุณ Christian Dior ได้เข้ามาทำงาน
หลังจากปลดประจำการจากการเป็นทหารเช่นกัน
โดยผลงานอันโดดเด่นของคุณ Pierre Balmain ในขณะที่ทำงานให้กับคุณ Lucien Lelong ก็คือชุดเดรส Black Crepe Afternoon จนกลายเป็นชุดขายดีของร้านในขณะนั้น
ที่น่าสนใจคือ ในตอนนั้นคุณ Pierre Balmain ถูกแนะนำให้เป็นหุ้นส่วนกับคุณ Christian Dior เพื่อเปิดร้านด้วย แต่เขาก็ปฏิเสธข้อเสนอนี้หลังจากเริ่มวางแผนกัน..
ซึ่งการที่ข้อตกลงนี้ล้มเหลว ก็อาจเป็นเพราะมุมมองในการทำตลาดของทั้งคู่ “ที่แตกต่างกัน”
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าคุณ Pierre Balmain เป็นหนึ่งในดิไซเนอร์เพียงไม่กี่คน ที่มีมุมมองในการทำตลาดแฟชั่น ต่างจากดิไซเนอร์ฝรั่งเศสคนอื่น ๆ
เนื่องจากก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศฝรั่งเศสเปรียบเสมือนกับผู้นำแฟชั่นของโลก ที่เหล่าคนดังและมีอิทธิพล จากนานาประเทศ ก็มักจะนิยมใส่เสื้อผ้าแบรนด์ฝรั่งเศสเป็นส่วนใหญ่
แม้แต่ดิไซเนอร์จากสหรัฐฯ ก็ยังลอกเลียนแบบดิไซน์บางอย่าง เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการทำเสื้อผ้าของตัวเอง
แต่หลังจากที่ประเทศเยอรมนี เข้ายึดประเทศฝรั่งเศส ก็ส่งผลให้ร้านเสื้อผ้าชั้นสูงหลายร้าน ต้องปิดตัวลงไป เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ
จนทำให้ในช่วงนั้น ประเทศฝรั่งเศสเข้าสู่ช่วงวิกฤติของวงการแฟชั่นเลยก็ว่าได้ เพราะไม่สามารถส่งออกเสื้อผ้าออกสู่ประเทศอื่น ๆ ได้ และส่งผลให้ประเทศอื่น ๆ เริ่มมีสไตล์แฟชั่นเป็นของตัวเอง เพราะต้องออกแบบเสื้อผ้าเอง โดยไม่มีต้นแบบแฟชั่น จากประเทศฝรั่งเศสอีกต่อไป
และในขณะเดียวกัน ดิไซเนอร์ฝรั่งเศสหลายคน รวมถึงคุณ Christian Dior อยากจะทำแฟชั่นที่ตอบโจทย์คนฝรั่งเศส และแสดงความเป็นฝรั่งเศสออกมา มากกว่าที่จะทำสินค้าเพื่อตอบโจทย์ประเทศอื่น ๆ ซึ่งเป็นความเห็นที่ตรงข้ามกับคุณ Pierre Balmain ที่มองเห็นโอกาสในตลาดต่างประเทศ
ในปี 1945 คุณ Pierre Balmain จึงได้เปิดร้านเป็นของตัวเอง ภายใต้ชื่อแบรนด์ Balmain และประสบความสำเร็จแทบจะในทันที โดยแบรนด์ชูจุดเด่นที่คุณภาพชุด และโดดเด่นในเรื่องราคาสินค้าที่สมเหตุสมผล ก่อนจะค่อย ๆ สร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองในประเทศอื่น ๆ ในเวลาต่อมา
นอกจากผลงานด้านแฟชั่นแล้ว คุณ Pierre Balmain ยังเปิดตัวแบรนด์น้ำหอม Vent Vert และเป็นน้ำหอมที่มีน้ำหอมเป็นสีเขียวขวดแรกของโลก จนกลายเป็นไอเทมขายดีในยุค 40
ต่อมาในปี 1951 คุณ Pierre Balmain ก็เริ่มทำตามแผนในการเข้าไปเปิดตัวที่สหรัฐอเมริกา และอาศัยเหล่าดาราฮอลลีวูดในการช่วยโปรโมตให้แบรนด์กลายเป็นที่รู้จัก และส่งผลให้เหล่าดิไซเนอร์ฝรั่งเศสที่เคยดูแคลนเขาในอดีต ก็ต้องยอมรับในงานดิไซน์ของเขา
โดยหนึ่งในผลงานที่เป็นที่จดจำก็คือ Jolie Madame เสื้อที่มีลักษณะคล้ายเบลเซอร์ แต่ยาวคล้ายเดรส และจะถูกรัดเข้ารูปด้วยเข็มกลัด ส่วนกระโปรงจะเป็นแบบทรงเอยาว ซึ่งดิไซน์นี้ก็ยังคงเป็นรากฐานในการออกแบบของ Balmain มาจนถึงปัจจุบัน
รวมถึงกระดุมสีทองที่มีชื่อของคุณ Pierre Balmain ติดอยู่ ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่ง ที่มีมาตั้งแต่ตอนที่เขาเริ่มต้นทำแบรนด์ช่วงแรก มาจนถึงปัจจุบัน
และตอนนี้แบรนด์ Balmain อยู่ภายใต้การดูแลของคุณ Olivier Rousteing ที่ได้เข้ามารับช่วงต่อเป็น Creative Director ให้กับแบรนด์ตั้งแต่ปี 2011 ด้วยวัยเพียง 25 ปีเท่านั้น
แต่ด้วยความที่เขามีการมองหามุมใหม่ ๆ ไม่ต่างจากคุณ Pierre Balmain ในอดีต จึงทำให้คุณ Olivier Rousteing สามารถออกแบบดิไซน์ที่ครองใจผู้คนในยุคนี้ได้ แต่ก็ยังไม่ทิ้งความเป็น Balmain ในอดีตเอาไว้..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
รู้หรือไม่ว่า เจ้าของแบรนด์ Balmain ในปัจจุบัน คือ “Mayhoola for Investments” บริษัทด้านการลงทุน จากประเทศกาตาร์
ซึ่งบริษัทนี้ ยังเป็นเจ้าของแบรนด์แฟชั่นหรูสัญชาติอิตาลี “Valentino” และ “Pal Zileri” ด้วย
—------------------------------------------------
โค้งสุดท้าย !!! ที่นั่งเหลืออีกไม่กี่ที่แล้วกับหลักสูตร "????????? ?????? ????? ???????? ??? ?????????" ที่จะทำให้คุณได้วางรากฐาน พร้อมฝึกแนวคิดการวางกลยุทธ์การทำการตลาดบน Social Media รับปี 2567 ก่อนใคร เรียนรู้เทคนิคสุด Exclusive จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารจากแพลตฟอร์ม และเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จแบบใกล้ชิด อัดแน่น 4 วันเต็ม 27-28 ต.ค. และ 3-4 พ.ย. นี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/LTG_MSMS
—------------------------------------------------
References:
-The Lives of 50 Fashion Legends
-https://historyofyesterday.com/a-brief-history-of-balmain-fce4e21e931f
-https://vintagedancer.com/1940s/what-did-women-wear-in-the-1940s/
-https://www.familysearch.org/en/blog/1940s-fashion-women-men
-http://fashion.telegraph.co.uk/news-features/TMG3497094/Lucien-Lelong-the-man-who-saved-Paris.html
-https://www.metmuseum.org/toah/hd/dior/hd_dior.htm
-https://vintagedancer.com/1940s/1940s-fashion-history/
-https://www.businessoffashion.com/community/people/olivier-rousteing
-https://en.wikipedia.org/wiki/Mayhoola_for_Investments
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.