กรณีศึกษา Siam Steak แบรนด์ที่ทำให้คนไทย รู้จักเมนูเบอร์เกอร์
Business

กรณีศึกษา Siam Steak แบรนด์ที่ทำให้คนไทย รู้จักเมนูเบอร์เกอร์

10 พ.ย. 2023
กรณีศึกษา Siam Steak แบรนด์ที่ทำให้คนไทย รู้จักเมนูเบอร์เกอร์ /โดย ลงทุนเกิร์ล
หากย้อนกลับไปในอดีต เมื่อ 40 ปีที่แล้ว
คนไทยส่วนใหญ่ อาจยังไม่รู้จักกับเมนูอาหารฟาสต์ฟูด ที่ชื่อว่า “เบอร์เกอร์”
เพราะตอนนั้น เชนเบอร์เกอร์ต่างชาติ ทั้ง KFC, McDonald's, Burger King ยังไม่มีแบรนด์ไหนบุกเข้ามาตีตลาดในไทยเลย
แต่รู้หรือไม่ว่า มีแบรนด์ไทยอยู่แบรนด์หนึ่ง ที่ได้ริเริ่มและบุกเบิกเมนูเบอร์เกอร์สัญชาติไทยขึ้นมา
เพื่อให้คนไทยได้รู้จัก และลิ้มลองรสชาติของเบอร์เกอร์
ซึ่งแบรนด์ที่ว่านี้ ก็คือ “Siam Steak” (สยามสะเต๊ค)
ตำนานธุรกิจเชนร้านเบอร์เกอร์ เจ้าแรกในประเทศไทย ที่อยู่มานานเกือบ 50 ปีแล้ว
เรื่องราวของ Siam Steak น่าสนใจอย่างไร ?
และอะไรที่ทำให้ Siam Steak ยังอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ แม้มีคู่แข่งฟาสต์ฟูดต่างชาติรายล้อม ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มต้นของ Siam Steak เกิดขึ้นในปี 1975 หรือเมื่อ 48 ปีที่แล้ว
เมื่อผู้ก่อตั้งอย่างคุณแจ่มจันทร์ หมื่นนิกร ได้มีโอกาสไปทำงานเป็นนักแปลภาษา ให้กับคณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐฯ (องค์กรจัสแมกไทย) ที่เข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย ช่วงสงครามเวียดนาม
ซึ่งการได้มาทำงานที่นี่ ทำให้คุณแจ่มจันทร์ได้สังเกตเห็นว่า ทหารอเมริกันนิยมทานเบอร์เกอร์ เป็นอาหารหลักกันเกือบทุกมื้อ คล้าย ๆ กับคนไทยที่คุ้นชินกับการทานข้าวแกงอยู่ทุกวัน
โดยต้องบอกก่อนว่า ในเวลานั้นเมนูเบอร์เกอร์ในประเทศไทยค่อนข้างหาทานยาก และคนไทยส่วนใหญ่ ก็แทบไม่รู้จักกับเมนูนี้ เพราะขณะนั้นยังไม่มีเชนร้านเบอร์เกอร์ที่เป็นอินเตอร์แบรนด์ เข้ามาตีตลาดในไทย
เมื่อเห็นถึงช่องทางการตลาด ที่ยังไม่มีใครขายเมนูนี้ในสมัยนั้น ทำให้คุณแจ่มจันทร์เกิดไอเดียทำธุรกิจเบอร์เกอร์ขึ้นมา เพราะเธออยากให้คนไทยได้รู้จัก และลิ้มลองความอร่อยของเบอร์เกอร์ ในเวอร์ชันแบบไทย ๆ ดูบ้าง
พอเรื่องเป็นแบบนี้ คุณแจ่มจันทร์ ก็เริ่มไปขอเรียนรู้วิชาการทำเบอร์เกอร์จากเชฟฝรั่ง ในโรงอาหารของจัสแมกไทย เพื่อนำมาทดลองและปรับปรุง ทำสูตรเบอร์เกอร์เป็นของตนเอง
ซึ่งเธอใช้เวลา 1 ปีเต็ม กับการพัฒนาเนื้อแพตตีสำหรับใส่ในเบอร์เกอร์ ให้อร่อยเด็ดไม่เหมือนใคร และตั้งชื่อว่า “Siam Steak” ก่อนจะนำเนื้อแพตตีนี้ไปทดลองวางขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจนี้ก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เนื่องจากเมนูเบอร์เกอร์ยังเป็นเรื่องที่ไกลตัวคนไทย ทำให้กิจการของคุณแจ่มจันทร์ ยังไม่ได้สร้างยอดขายตามที่คาดหวังไว้
แต่ในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดี เมื่อลูกชายของ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ได้มาซื้อเนื้อแพตตีเบอร์เกอร์ ของ Siam Steak ไปทาน ปรากฏว่ารสชาติอร่อยถูกปาก จนเนื้อแพตตีนี้ได้รับป้ายการันตี “เชลล์ชวนชิม” และยังได้โฆษณาลงในคอลัมน์เชลล์ชวนชิม ของนิตยสารฟ้าเมืองไทย
จากจุดนี้เอง ทำให้ชื่อเสียงของ Siam Steak เริ่มเป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้คุณแจ่มจันทร์ ตัดสินใจต่อยอดธุรกิจ จากผลิตแค่เนื้อแพตตี ไปสู่การทำร้านเบอร์เกอร์อย่างเต็มตัว
ซึ่งต้องบอกว่าธุรกิจเชนร้านเบอร์เกอร์ของ Siam Steak ในตอนนั้น ถือเป็นเจ้าแรกในประเทศไทยเลยก็ว่าได้
โดยที่แบรนด์ต่างชาติอื่น ๆ เข้ามาทำตลาดในไทย ในภายหลัง เช่น
KFC เปิดสาขาแรกในไทย เมื่อปี 1984, McDonald's เปิดเมื่อปี 1985 และ Burger King เปิดเมื่อปี 2000
จุดเด่นเบอร์เกอร์ของ Siam Steak นอกจากเนื้อแพตตีรสเด็ดแล้ว ยังมีไข่ดาวเยิ้ม ๆ และเนื้อสับปะรดฉ่ำ ๆ คอยช่วยตัดเลี่ยน จึงทำให้ได้รสชาติเบอร์เกอร์ที่ไม่เหมือนใคร
และด้วยรสชาติเบอร์เกอร์ที่เป็นเอกลักษณ์จนถูกปากคนไทย ทำให้ในวันแรกที่ Siam Steak วางขายเบอร์เกอร์ ลูกค้าต่างก็ให้ความสนใจกันเป็นอย่างมาก จนสามารถขายได้กว่า 1,008 ชิ้น เลยทีเดียว
เมื่อกิจการเบอร์เกอร์เริ่มไปได้สวย คุณแจ่มจันทร์ก็มองหาช่องทางขยายสาขาเพิ่ม โดยเธอตั้งใจเน้น กระจายความอร่อยไปสู่รั้วโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เนื่องจากกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ที่เข้ามาซื้อ มักเป็นเด็กวัยรุ่น รวมถึงผู้ปกครอง ที่นิยมซื้อเบอร์เกอร์ไปฝากลูกหลาน
โดยในปี 1977 Siam Steak ได้เปิดสาขาในสถานศึกษาเป็นครั้งแรก ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ เซนต์หลุยส์ ก่อนที่ต่อมาจะไปเปิดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ปัจจุบัน Siam Steak มีสาขาทั้งในโรงเรียน มหาวิทยาลัย รวมถึงสาขานอกสถานศึกษา เช่น โรงพยาบาล หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมกันแล้วมีสาขากว่า 80 แห่ง
และอีกประเด็นที่น่าสนใจคือ Siam Steak มีกลยุทธ์อะไร ?
ที่ทำให้แบรนด์ยังคงอยู่ในใจลูกค้า มานานเกือบ 50 ปี ทั้งที่ปัจจุบันมีคู่แข่งฟาสต์ฟูดต่างชาติรายล้อม เต็มไปหมด
ถ้าให้ลองวิเคราะห์ คำตอบของเรื่องนี้ คงเป็นเพราะ “การวางตำแหน่งแบรนด์” ที่แตกต่าง จากเชนเบอร์เกอร์คู่แข่งในตลาด
อย่างที่บอกไปแล้วว่า Siam Steak มีสาขาส่วนใหญ่อยู่ในรั้วสถานศึกษา ดังนั้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลัก จึงเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมถึงผู้ปกครอง
ขณะที่คู่แข่งเน้นกระจายสาขาไปตามศูนย์การค้าและไฮเปอร์มาร์เก็ต มากกว่า ทำให้กลุ่มเป้าหมายจึงค่อนข้างต่างกัน
และเมื่อกลุ่มลูกค้าหลักเป็นเด็กวัยเรียน สิ่งที่ตามมาก็คือ ราคาสินค้าที่ต้องเข้าถึงง่าย โดยเบอร์เกอร์ Siam Steak 1 ชิ้น จะมีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ราว 27-39 บาท ซึ่งถือเป็นราคาที่ค่อนข้างถูกกว่าแบรนด์อื่น ๆ
ส่วนเมนูอื่น ก็มีราคาเริ่มต้นที่ไม่แพงเช่นกัน อย่างเมนูข้าวก็เริ่มต้นราว ๆ 55 บาท
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน Siam Steak พยายามหันไปขยายสาขานอกสถานศึกษามากขึ้น เพื่อขยายกลุ่มเป้าหมาย และหาโอกาสสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ
รวมทั้งเปิดขายแฟรนไชส์ สำหรับคนที่สนใจในธุรกิจของ Siam Steak อีกด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้ เรื่องราวของ Siam Steak ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจและแสดงให้เห็นว่า การสร้างธุรกิจที่เป็น “เจ้าแรกในตลาด” ในหลาย ๆ ครั้ง ต้องใช้เวลาและความทุ่มเทที่สูง เพื่อให้ผู้บริโภคยอมรับ
นอกจากนี้ การมีจุดยืนของแบรนด์ที่ชัดเจน ก็จะทำให้แบรนด์สามารถพัฒนาสินค้าและบริการ ได้ตรงกับความต้องการกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เหมือนกับ Siam Steak ที่ตั้งใจพัฒนาเบอร์เกอร์และสินค้าอื่น ๆ มาตลอดเกือบ 50 ปี
ดังนั้น จึงไม่แปลกใจเลยว่า ถ้าในวันนี้ Siam Steak จะกลายเป็นขวัญใจ
และเป็นที่พึ่งยามหิวให้แก่น้อง ๆ นักเรียน นักศึกษา ไปแล้ว..
------------------------------------------------
Presented by กลุ่มบริษัทธนจิรากรุ๊ป พุ่งเป้าพัฒนาธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) เพื่อเข้ามาเติมเต็มและต่อจิกซอว์เทรนด์ไลฟ์สไตล์ให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น หลังจากประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับอย่างดีจากกลุ่มลูกค้าชาวไทยและต่างชาติที่มาใช้บริการร้าน Marimekko Pop-Up Café คาเฟแห่งแรกในโลก พร้อมเดินหน้าปูทางธุรกิจ F&B ภายใต้แบรนด์อื่นในเครือ หวังเจาะตลาดกลุ่มลูกค้า Gen Y - Gen Z มากขึ้น
https://www.facebook.com/TANACHIRA-GROUP-174055739828807/
#TANACHIRA #MarimekkoCafeThailand
------------------------------------------------
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.