กรณีศึกษา Mo-Mo-Paradise ร้านบุฟเฟต์ชาบูญี่ปุ่นที่มีแต่คนรัก
MarketingBusiness

กรณีศึกษา Mo-Mo-Paradise ร้านบุฟเฟต์ชาบูญี่ปุ่นที่มีแต่คนรัก

5 พ.ย. 2020
กรณีศึกษา Mo-Mo-Paradise ร้านบุฟเฟต์ชาบูญี่ปุ่นที่มีแต่คนรัก /โดย ลงทุนเกิร์ล
ตอนนี้ ถ้าใครไถฟีดในโซเชียล อาจจะต้องเห็นคอนเทนต์ ชี้เป้าไอศกรีมโมโม ทานได้ไม่อั้น หรือแม้แต่ วิธีผสมน้ำจิ้มสูตรลับ
จริงๆ แล้ว “โมโม” หรือ Mo-Mo-Paradise คือร้านบุฟเฟต์ชาบูจากประเทศญี่ปุ่น
ซึ่งเรื่องความอร่อยของอาหาร คงไม่ต้องพูดถึงมาก
เพราะหลายคนน่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี จนหันไปรีวิวด้านอื่นเพื่อความแปลกใหม่แทน
แล้วเคยสงสัยกันหรือไม่คะว่า 
Mo-Mo-Paradise จากญี่ปุ่น เข้ามาสู่ประเทศไทยได้อย่างไร?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟังค่ะ 
Mo-Mo-Paradise ถือกำเนิดที่ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2536
โดยสาขาแรกอยู่ที่ คาบูกิโช-ชินจูกุ กรุงโตเกียว 
สำหรับประเทศไทย ผู้ที่นำแฟรนไชส์ร้านนี้เข้ามาเปิด คือคุณสุรเวช เตลาน 
จะว่าไปแล้ว กว่าจะเจรจาขอซื้อแฟรนไชส์เข้ามาได้ ก็ถือว่าไม่ง่าย
ตอนนั้นคุณสุรเวช ได้มีโอกาสไปทาน Mo-Mo-Paradise ที่ประเทศญี่ปุ่น
แล้วติดใจในรสชาติ จึงอยากนำมาเปิดสาขาในไทย
แต่เจ้าของแบรนด์ไม่เคยขายแฟรนไชส์ให้กับคนแปลกหน้ามาก่อน
ปกติจะขายแฟรนไชส์ให้กับเครือญาติของตัวเองเท่านั้น 
ดังนั้นคุณสุรเวช จึงต้องแสดงความพยายามและความตั้งใจ ให้เจ้าของแบรนด์เห็น 
ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 9 เดือน กว่าจะเอาชนะใจได้
หลังจากนั้น Mo-Mo-Paradise ก็ได้เปิดตัวสาขาแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2550 
ผ่านการดำเนินธุรกิจมานานถึง 13 ปี 
ปัจจุบันมีสาขารวมแล้วทั้งหมด 19 สาขา
ตามเป้าหมายการขยายสาขาคือ ขยายปีละ 2 สาขา
เปิดมานานขนาดนี้ Mo-Mo-Paradise จะขายดีขนาดไหน? 
ผลประกอบการ บริษัท โนเบิล เรสเตอท์รองต์ จำกัด 
เจ้าของแฟรนไชส์ Mo-Mo-Paradise ในประเทศไทย
ปี 2560 รายได้ 400 ล้านบาท กำไร 10 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 530 ล้านบาท กำไร 26 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 764 ล้านบาท กำไร 50 ล้านบาท
ซึ่งนับวัน เราก็คงเห็นแล้วว่า Mo-Mo-Paradise ยิ่งมีฐานลูกค้าเหนียวแน่นมากขึ้น
ซึ่งเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากมุมมองการทำธุรกิจของ คุณสุรเวช 
ที่ยึดมั่นใน “คุณภาพ” อย่างเสมอต้นเสมอปลาย 
และ “คุณภาพ” นี้ ก็ยังเป็นหัวใจของ Mo-Mo-Paradise
“ด้านคุณภาพอาหาร”
คุณสุรเวช ไม่เคยลดต้นทุนวัตถุดิบ มีแต่จะเพิ่มสิ่งดีๆ ให้ลูกค้า 
เช่น เนื้อวัว จากเดิมใช้เนื้อวัวธรรมดา ก็เพิ่มเป็นเนื้อโคขุนออสเตรเลีย 
หรือเนื้อหมูที่เคยใช้แบบธรรมดา ก็เปลี่ยนเป็นหมูคุโรบูตะ
ซึ่งแม้ว่าจะทำให้ราคาสูงขึ้น แต่ก็ทำให้รสชาติอาหารอร่อยขึ้นเช่นกัน
ที่น่าสนใจคือ แม้ว่าต้นทุนจะสูงขึ้น แต่ตลอด 13 ปีที่ผ่านมา 
ทางร้านปรับราคาเพียงครั้งเดียว ซึ่งคิดเป็นประมาณ 10%
ซึ่งวิธีแก้ปัญหาของคุณสุรเวช คือ การบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบ 
แทนการผลักภาระไปให้ฝั่งลูกค้า
เช่น ปวยเล้ง มีราคาสูง ถ้าจัดเก็บไม่ดี จะทำให้ปลายของผักเหี่ยว 
ทางร้านจึงเกิดความคิดที่จะตัดผักชนิดนี้ออกจากเมนูดีหรือไม่
สุดท้ายตัดสินใจไม่เอาออก เพราะลูกค้าชอบ 
แต่ทางร้านได้หันมาเน้นเรื่องการทำระบบและบริหารจัดการ
เพื่อควบคุมการสูญเสีย และได้ของที่มีคุณภาพขึ้น
“ด้านคุณภาพการบริการ”
คุณสุรเวช ยังให้ความสำคัญกับเรื่องการบริการ
โดยเขามักบอกกับทีมงานเสมอว่า ร้านอาหารไม่ได้ขายอาหารอย่างเดียว แต่เราขายการบริการด้วย
ลูกค้าจ่ายเงินเท่าไร เราต้องบริการให้ดีที่สุด ให้เกินความคาดหมายของเขา
“ด้านคุณภาพทำเล”
ถ้าสังเกตดูดีๆ จะพบว่า Mo-Mo-Paradise 
จะเน้นการขยายสาขาภายในห้างสรรพสินค้าเป็นหลัก 
เพราะคุณสุรเวช มองว่า ในห้างฯ สามารถรองรับที่จอดรถของลูกค้าได้ 
เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า
และยังมีการคำนึงถึงความพร้อมของทีมงานเป็นหลัก 
โดยจะต้องสร้างคนที่เป็นตัวแทนผู้บริหารให้ได้ก่อน ถึงกล้าที่จะตัดสินใจขยายสาขา 
สรุปแล้ว หลักสำคัญในการดำเนินธุรกิจของ คุณสุรเวช ก็จำง่ายๆ ค่ะ
คุณภาพอาหาร คุณภาพการบริการ และ คุณภาพทำเล เท่านี้เอง
ซึ่งล่าสุด นอกจากเนื้อและสุกี้ชาบู ที่เป็นเมนูหลักของร้าน
ความอร่อยของเมนูอื่น ก็ยังกลายเป็นที่เลื่องลือไม่แพ้กัน
เริ่มต้นจากกระแสไอศกรีม ซึ่งเป็นเมนูของหวาน
ก็เกิดเป็นกระแสในโซเชียลมีเดีย จนทำให้ร้านถูกขนานนามว่า 
“ร้านโมโม พาราไดซ์ ไม่ได้มีดีแค่ชาบู”
หรือเมนูไข่ดอง DIY ที่ทางร้านคิดค้นขึ้น
ทำให้คนที่ไปทานอาหารที่ร้าน สนุกไปกับการปรุงไข่ดองของตัวเอง
เรียกได้ว่า เป็นกิมมิกการตลาด ที่น่าสนใจทีเดียว
และด้วยคุณภาพ และการใส่ใจในรายละเอียดที่แม้จะเล็กน้อยนี้เอง
ทำให้เราหลงรัก Mo-Mo-Paradise มากขึ้นเรื่อยๆ..
References:
-https://amarinacademy.com/1449/highlight/mo-mo-paradise/
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.