รู้จัก เทรนด์พฤติกรรม DINK คู่รักที่ตั้งใจไม่มีลูก ทำให้รวยมาก แต่ Elon Musk ไม่เห็นด้วย
Economy

รู้จัก เทรนด์พฤติกรรม DINK คู่รักที่ตั้งใจไม่มีลูก ทำให้รวยมาก แต่ Elon Musk ไม่เห็นด้วย

9 ธ.ค. 2023
รู้จัก เทรนด์พฤติกรรม DINK คู่รักที่ตั้งใจไม่มีลูก ทำให้รวยมาก แต่ Elon Musk ไม่เห็นด้วย /โดย ลงทุนเกิร์ล
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เพิ่งมีไวรัลวิดีโอของคู่รัก ที่ประกาศว่าตัวเองเป็น DINK
และเล่าถึงประโยชน์ของการไม่มีลูกว่า พวกเขาสามารถเพลิดเพลินไปกับงานอดิเรกอย่าง การเล่นสกีและตีกอล์ฟ, ซื้อกาแฟลัตเตราคาแพง, ท่องเที่ยวฟลอริดาตามใจชอบ ไปจนถึงการนอนหลับอย่างเต็มอิ่ม 8 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม มีทั้งกลุ่มคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เช่น มหาเศรษฐีที่มีลูกถึง 11 คน อย่างคุณ Elon Musk ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย และแสดงความคิดเห็นว่า “คนที่จงใจไม่มีลูก มีศีลธรรมอันเลวร้าย พวกเขาเรียกร้องให้ลูก ๆ ของคนอื่น ดูแลพวกเขาในวัยชรา”
จนก่อให้เกิดการถกเถียงกันต่อมากมาย ถึงทัศนคติของคุณ Elon Musk ที่มีต่อ DINK
แล้ว DINK คืออะไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
DINK เป็นคำสแลง ที่ย่อมาจาก “Dual Income, No Kids”
หมายถึง คู่รักที่ทำงานทั้งคู่ โดยที่ไม่มีลูก
ซึ่งคู่รักที่ดำเนินรอยตามพฤติกรรม DINK นี้ ก็มีแนวโน้มที่จะมีเงินเก็บมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ
เนื่องจากทั้งคู่ยังคงทำงาน ทำให้มีรายได้เข้ามาอย่างน้อยสองทาง ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตต่าง ๆ จะถูกหารสอง ไม่ว่าจะเป็นค่ากินหรือค่าอยู่
ที่สำคัญ ยังไม่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเรื่องลูก เพิ่มเข้ามาอีกด้วย แถมไม่จำเป็นต้องมีบ้านหลังใหญ่ ๆ เพื่อรองรับสมาชิกคนที่ 3
อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่า เป็น DINK แล้วจะ “รวย” โดยอัตโนมัติ
แต่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการหาเงิน และการใช้เงินของคนเหล่านั้นด้วย
และถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะเกิดคำถามว่า หากไม่มีลูก ตอนแก่ที่ไม่สามารถทำงานได้แล้วใครจะเลี้ยงดู สำหรับเรื่องนี้ เราก็มีเทคนิคการเป็น DINK ที่ไม่ต้องกังวลเรื่องเงินมาแนะนำ
การตกลงกับคู่ของเรา ว่าเป้าหมายอะไรในฐานะคู่รัก ที่เราจะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก
แน่นอนว่าก่อนจะไปถึงขั้นนั้น ระหว่างคู่รักจะต้องมีแผนการเงินพื้นฐานที่ดีเสียก่อน เพื่อครอบคลุมการใช้จ่าย และการใช้ชีวิตคู่ทุกอย่าง ทั้งเรื่องเงินฉุกเฉินสำหรับสองคน, เงินออมสำหรับชีวิตเกษียณ รวมถึงการชำระหนี้สิน
ซึ่งหลังจากที่เรามีสิ่งจำเป็นเหล่านี้ครบแล้ว ลำดับถัดไป ก็ถึงการที่ต้องเริ่มคุยว่า “เป้าหมายทางการเงินสูงสุด” ของเราคืออะไร
เช่น ถ้าเป็นการเกษียณก่อนกำหนด เราก็จะได้เน้นเก็บเงินมากเป็นพิเศษ แต่สำหรับบางคู่ อาจจะเป็นการมีบ้าน แปลว่าสิ่งที่จะโฟกัสย่อมต่างจากกรณีแรก ซึ่งอาจจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องการผ่อนชำระค่าบ้านแทน
อย่างไรก็ตาม การมีแผนที่ชัดเจน จะช่วยไม่ให้เราหลงทาง หรือเผลอไปใช้เงินเก็บสำหรับยามเกษียณโดยที่ไม่รู้ตัว
แต่เนื่องจากเราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว การพูดคุยตกลงกัน จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น ที่สำคัญการที่เราเข้าใจและมีเป้าหมายร่วมกันแล้ว สองแรง ย่อมทำให้การเดินไปถึงจุดหมายนั้น ง่ายและเร็วยิ่งขึ้น
ช่วยกันเก็บเงิน
เก็บเงินให้ได้มากที่สุด และยิ่งเร็วยิ่งดี ซึ่งการมีเงินเก็บที่มากพอ จะช่วยให้เรามีตัวเลือกมากขึ้น เวลาที่จะต้องเผชิญหน้ากับรายจ่ายในอนาคต
สำหรับเรื่องนี้ เทคนิคง่าย ๆ ก็คือ เมื่อได้รายรับมา จะต้องแบ่งไปเก็บเป็นอันดับแรก ยิ่งโอนไปเก็บโดยอัตโนมัติได้ทันที ก็จะยิ่งดี ไม่ใช่รอใช้จ่ายก่อน แล้วเหลือเท่าไรค่อยเก็บ
หารายได้สองทาง และลงทุนทั้งสองทาง
กรณีนี้จะคล้าย ๆ กับเรื่องเงินเก็บ คือ ควรกันเงินส่วนนี้ออกมาตั้งแต่แรก เพราะการลงทุนจะช่วยสร้างความมั่งคั่งให้กับเรา และอาจจะเป็นรายได้ที่หล่อเลี้ยงเราในยามเกษียณ
ซึ่งยิ่งเราเริ่มลงทุนเร็วเท่าไร เราก็จะได้ประโยชน์จากเรื่อง “ดอกเบี้ยทบต้น” มากเท่านั้น
หรือก็คือ การที่เราเอาดอกเบี้ยหรือกำไรที่เราได้รับจากการลงทุน ไปลงทุนต่อ ทำให้เงินลงทุนของเรายิ่งเพิ่มสูงขึ้น และการที่เงินลงทุนยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ก็ยิ่งทำให้เราได้รับดอกเบี้ยสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ
จนมีคำเล่าลือว่าอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เคยพูดถึงดอกเบี้ยทบต้นว่าเป็น “สิ่งมหัศจรรย์อันดับที่ 8 ของโลก” เลยทีเดียว
แล้วสำหรับในแง่มุมของธุรกิจ กลุ่ม DINK น่าสนใจอย่างไร ?
จากผลสำรวจล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐฯ เผยว่า ความมั่งคั่งสุทธิของคู่รักที่ไม่มีลูก อยู่ที่ 14 ล้านบาท ขณะที่คู่รักที่มีลูก จะมีความมั่งคั่งสุทธิ อยู่ที่ 9 ล้านบาท
ด้วยความที่ DINK ถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่มองหาการสร้างฐานะ เพื่อความมั่นคงในอนาคต ที่ตัวเองอาจจะไม่มีลูกมาคอยดูแล แต่ก็แลกมากับการไม่ต้องมีภาระเรื่องลูกเช่นกัน
ดังนั้น DINK จึงกลายเป็นเป้าหมายทางการตลาด ของสินค้าจำพวกผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุน ไปจนถึงสินค้าหรู เช่น มื้ออาหารดี ๆ, รถยนต์ราคาแพง หรือแพ็กเกจท่องเที่ยวสุดพิเศษ
และอีกมุมหนึ่งคือ DINK ยังถูกมองว่าเป็นเป้าหมายของการจ้างงาน เนื่องจากทางฝั่งนายจ้าง ก็มองว่าคนกลุ่มนี้ จะมีเวลาทุ่มเทให้กับบริษัทอย่างเต็มที่ เพราะไม่ต้องแบ่งเวลาให้กับลูกนั่นเอง
หากมองย้อนมาที่ประเทศไทยเอง ก็มีอัตราการเกิดของเด็กไทยลดลงต่อเนื่อง
โดยในปี 2565 อัตราการเกิดต่อประชากร 1,000 คน จะอยู่ที่ 9.5 คน
ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2535 ที่อัตราเดียวกัน จะเท่ากับ 18.6 คน แปลว่า ผ่านไป 30 ปี อัตราการเกิดของประเทศไทย หายไปเกือบครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว
ที่สำคัญคือ ในปี 2565 ยังมีเด็กเกิดใหม่ คิดเป็นจำนวนเพียง 5.02 แสนคน ถือเป็นอัตราการเกิดที่ต่ำที่สุดในรอบ 71 ปี
แม้เรื่องนี้จะประกอบขึ้นจากหลาย ๆ ปัจจัย แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมในยุคนี้
ก็พอสรุปได้ว่าต้นทุนของการเลี้ยงลูกให้เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุด จึงไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ
ถ้าหากถามว่า การเป็น DINK เป็นเรื่องที่ผิดหรือไม่
เรื่องนี้ก็คงต้องตอบว่าขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน ว่าพึงพอใจกับอะไร ก็เท่านั้นเอง..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.