ทำไมเกือบ 90% ของนักเขียนบทซีรีส์เกาหลี เป็นผู้หญิง
Business

ทำไมเกือบ 90% ของนักเขียนบทซีรีส์เกาหลี เป็นผู้หญิง

4 พ.ค. 2024
ทำไมเกือบ 90% ของนักเขียนบทซีรีส์เกาหลี เป็นผู้หญิง /โดย ลงทุนเกิร์ล
รู้หรือไม่คะว่า ซีรีส์เกาหลีที่ได้รับความนิยม และมีเรตติงสูงปรี๊ด ไม่ว่าจะเป็น
ซีรีส์รักโรแมนติกอย่าง Crash Landing on You, Goblin ซีรีส์ระทึกขวัญ Kingdom ซีรีส์เสียดสีสังคมไฮโซ The Penthouse และซีรีส์อบอุ่นใจอย่าง Reply 1988
ซีรีส์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ล้วนเขียนบทโดย “ผู้หญิง” ทั้งสิ้น
โดยนิตยสาร Forbes เคยให้ข้อมูลไว้ว่าเกือบ 90% ของนักเขียนบทในเกาหลีใต้ล้วนเป็นผู้หญิงเช่นกัน
แล้วทำไมนักเขียนบทซีรีส์เกาหลี ส่วนใหญ่ถึงเป็นผู้หญิง ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ปัจจุบันนี้ไม่ว่าเราจะดูซีรีส์เรื่องไหน ก็มักจะเจอกับพระเอกที่แสนอบอุ่น และพระรองที่รักนางเอกสุดหัวใจ จนเราเลือกไม่ถูก ว่าควรจะเชียร์ให้นางเอกคู่กับใครดี
แต่รู้หรือไม่คะว่า สมัยก่อนผู้ชายในซีรีส์เกาหลีไม่ได้มีนิสัยน่ารักอย่างทุกวันนี้ ในทางกลับกันผู้ชายในซีรีส์เกาหลีมักจะมีนิสัยแข็งกระด้าง ไม่อ่อนโยน เนื่องจากแต่เดิมเกาหลีใต้ มีรูปแบบสังคมที่เพศชายเป็นใหญ่
หลายคนอาจจะไม่เชื่อ แต่ช่วงปี 2013 เกาหลีใต้ยังมีบทละครที่พระเอกโกรธนางเอก จนถึงขั้นตบตีฝ่ายหญิงได้ง่าย ๆ หรือบีบบังคับคล้าย ๆ เรื่องสวรรค์เบี่ยงของไทย
แต่บทเหล่านั้นก็เริ่มหายไปแล้ว เนื่องจากรัฐบาลต้องการใช้ซีรีส์เป็น “สื่อกลาง” ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชายเป็นใหญ่ในสังคมของเกาหลีใต้
ด้วยการสร้างตัวละครชายที่แสนอบอุ่น จนใคร ๆ ต่างหลงรักมาแทนที่ ซึ่งคนที่จะมาช่วยเปลี่ยนภาพลักษณ์เหล่านั้นได้เป็นอย่างดี ก็คือ “ผู้เขียนบทผู้หญิง” นี่เอง
และที่ผ่านมา ซีรีส์หลาย ๆ เรื่อง ที่ผ่านการแต่งเติมความคิดสร้างสรรค์โดยนักเขียนบทผู้หญิง ก็ประสบความสำเร็จ และได้รับความนิยมไปทั่วโลก เช่น
ซีรีส์เรื่อง Queen of Tears, Crash Landing On You, My Love From The Star, The Legend Of The Blue Sea, The Producers เขียนบทโดยคุณพัคจีอึนซีรีส์เรื่อง Start-Up, While You Were Sleeping, Pinocchio, I Hear Your Voice, Dream High
เขียนบทโดยคุณพัคฮเยรยอนซีรีส์เรื่อง Hotel Del Luna, The Master's Sun, Big, My Girlfriend Is A Gumiho, You're Beautiful
เขียนบทโดยคุณฮงจองอึนและคุณฮงมีรัน หรือที่รู้จักในฐานะสองพี่น้องตระกูลฮง (Hong Sisters)ซีรีส์เรื่อง The Glory, Goblin, Descendants Of The Sun, The Heirs, Secret Garden เขียนบทโดยคุณคิมอึนซุกซีรีส์เรื่อง Reply 1997, Reply 1994, Reply 1988, Prison Playbook, Hospital Playlist เขียนบทโดยคุณลีวูจอง
ซึ่งพวกเธอก็ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่ามีความสามารถไม่ด้อยไปกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะซีรีส์บนจอแก้ว หน้าที่ของนักเขียนบท จะถือว่ามีอิทธิพลมากกว่าผู้กำกับด้วยซ้ำ
เนื่องจากเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ซีรีส์ ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ นั่นแปลว่า หากมีการขายลิขสิทธิ์ซีรีส์ไปต่างประเทศ ฝั่งนักเขียนบท ก็จะได้รับเงินค่าลิขสิทธิ์ก้อนโตอีกด้วย
ยกตัวอย่าง นักเขียนบทมือทองอย่างคุณคิมอึนซุก ที่มีการคาดการณ์ว่า ปัจจุบันเธอมีรายได้จากการเขียนบทสูงถึงตอนละ 2.7 ล้านบาทเลยทีเดียว
นอกจากนี้ อีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจก็คือ บทบาทการพัฒนาซีรีส์เกาหลี ของนักเขียนบทผู้หญิง
ประเด็นแรก นักเขียนบทผู้หญิงสร้างบทละครที่เข้าใจผู้หญิงมากขึ้น
รู้หรือไม่ว่า ภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องของสหรัฐฯ มักจะสอบตกแบบทดสอบ Bechdel Test หรือ “แบบทดสอบเกี่ยวกับอคติทางเพศ” ซึ่งตอกย้ำภาพลักษณ์เหมารวมที่มีต่อผู้หญิง
เนื่องจากคนเบื้องหลังในอุตสาหกรรมบันเทิงของสหรัฐฯ ทั้งหมด มีผู้หญิงเพียงแค่ 27% เท่านั้น ทำให้ตัวละครผู้หญิง มักจะถูกเล่าผ่านสายตาของผู้ชาย
แต่สำหรับเกาหลีใต้แล้ว ด้วยจำนวนผู้เขียนบทผู้หญิงที่มากกว่า จึงตีความตัวละครผู้หญิงออกมาได้อย่างละเอียดอ่อน และเข้าใจผู้หญิงมากกว่า
เช่น มิตรภาพระหว่างเพื่อนผู้หญิง และการนำเสนอความแข็งแกร่งและความสามารถของผู้หญิง ในด้านที่หลากหลายอย่างการต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง
ซึ่งประเด็นนี้ก็สะท้อนออกมาเป็นซีรีส์ที่มีเรื่องราวนำโดยตัวละครผู้หญิงมากขึ้น อย่างเช่นเรื่อง The Glory, Extraordinary Attorney Woo และ Little Women
รวมทั้งนักเขียนบทผู้หญิงยังสามารถถ่ายทอดตัวละครผู้ชาย ที่มีลักษณะนิสัยชวนให้ผู้หญิงส่วนใหญ่ประทับใจ จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมพระเอกในซีรีส์เกาหลีหลายคน ถึงอยู่ในใจสาว ๆ อย่างง่ายดาย
สำหรับประเด็นที่สอง ก็คือ สร้างบทละครที่มีความแปลกใหม่ ฉีกกรอบเดิม ๆ
บางคนอาจจะคิดว่านักเขียนบทผู้หญิง ก็คงจะเขียนบทรักโรแมนติกอย่างเดียวเท่านั้น และบทละครก็คงจะต้องเป็นเรื่องราวรัก ๆ ใคร่ ๆ ที่ดูวนเวียนอยู่แค่ไม่กี่ประเด็น
แต่ถ้าหากเราลองสังเกตซีรีส์เกาหลีดูดี ๆ จะพบว่า
เนื้อหามักจะถ่ายทอดจากมุมมองของสายอาชีพต่าง ๆ มากขึ้น แถมซีรีส์เกาหลียังมีการสอดแทรกเกร็ดความรู้ต่าง ๆ ลงไปในซีรีส์อีกด้วย ซึ่งบทซีรีส์ในลักษณะนี้ ส่วนใหญ่ก็มาจาก นักเขียนบทผู้หญิง นั่นเอง
ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ที่เกี่ยวกับการแพทย์อย่างเรื่อง Doctors หรือ Hospital Playlist
เรื่อง Start-Up ที่เกี่ยวกับการสร้างธุรกิจสตาร์ตอัป
เรื่อง Mouse ที่เป็นตำรวจสืบสวนหาฆาตกรโรคจิต
หรือแม้แต่อาชีพที่คนไม่ค่อยพูดถึง อย่างพนักงานเก็บกวาดที่เกิดเหตุหลังความตายจากเรื่อง Move to Heaven และเรื่อง It’s Okay to Not Be Okay ที่เล่าถึงการดูแลผู้ป่วยทางจิต
ที่น่าสนใจคือ ซีรีส์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะไม่ใช่แค่การหยิบเรื่องอาชีพมาเล่าแบบผิวเผินเท่านั้น
แต่ยังเจาะลึกและอัดแน่นไปด้วยความรู้ของอาชีพนั้น ๆ
และแม้ว่าจะมีการแต่งเติมเรื่องราว จนบางทีก็ดูเกินจริงไปบ้าง แต่ถ้าหากเราได้ดูซีรีส์จบแล้ว อย่างน้อย ๆ ก็ช่วยให้เราเข้าใจภาพรวมของการทำงานของแต่ละอาชีพ หรือกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับบางคนที่อยากจะทำอาชีพแบบนี้บ้าง
อ่านมาถึงตรงนี้ เราคงคิดว่าแรงขับเคลื่อนของผู้หญิงในวงการบันเทิง จะทำให้พวกเธอได้รับความเท่าเทียมต่าง ๆ เท่ากับผู้ชาย
แต่ความจริงอันน่าเศร้าของอิทธิพลชายเป็นใหญ่ยังคงหลงเหลืออยู่ และพ่วงมาด้วยกระแส “แอนตีเฟมินิสต์” ที่ยังขยายวงกว้าง จนกลายเป็นอุปสรรค ที่ไม่ว่าพวกเธอจะสร้างผลงานได้ดีมากแค่ไหน แต่สุดท้ายก็อาจจะยังคงไม่ได้รับการยอมรับเท่ากับผู้ชาย ในสังคมเกาหลีใต้อยู่ดี
แต่เหรียญย่อมมีสองด้าน เพราะคนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาดังกล่าว และเริ่มออกมาเป็นกระบอกเสียงให้กับความเท่าเทียมของตัวเอง
ไม่แน่ว่า ในอนาคตเราอาจจะเห็นผู้หญิงมีบทบาทในอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้มากกว่านี้อีก ก็เป็นได้..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.