กรณีศึกษา จีนออกนโยบายสนับสนุนแม่เลี้ยงเดี่ยว หวังแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย
Economy

กรณีศึกษา จีนออกนโยบายสนับสนุนแม่เลี้ยงเดี่ยว หวังแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย

10 มิ.ย. 2024
กรณีศึกษา จีนออกนโยบายสนับสนุนแม่เลี้ยงเดี่ยว หวังแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อย /โดย ลงทุนเกิร์ล
รู้หรือไม่ว่าในอดีต การเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวในประเทศจีน ไม่ได้รับการสนับสนุนสิทธิจากภาครัฐ เท่าเทียมกับครอบครัวที่แต่งงานมีลูก
แต่ในปัจจุบัน ประเทศจีนต้องเผชิญปัญหาอัตราการเกิดของประชากรตกต่ำที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ภาครัฐจึงออกนโยบายเพื่อสนับสนุนการมีลูกเพิ่มขึ้น
หนึ่งในนั้นก็คือ “สนับสนุนสิทธิสำหรับแม่เลี้ยงเดี่ยว”
ทางเลือกสำหรับผู้หญิงที่ไม่ต้องการแต่งงาน แต่อยากมีลูก เพื่อหวังแก้ปัญหาอัตราการเกิดที่ตกต่ำในประเทศ
นโยบายสำหรับแม่เลี้ยงเดี่ยวในประเทศจีน น่าสนใจอย่างไร ? แล้วนโยบายเหล่านั้น จะช่วยแก้ปัญหาอัตราการเกิดที่ตกต่ำได้จริงหรือไม่ ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่นต้องย้อนกลับไปในช่วงปี 1949 ช่วงที่ประเทศจีนเน้นนโบายให้ประชาชนมีลูกเยอะ ๆ
ทำให้ในช่วงนั้น จีนกลายเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรเยอะที่สุดในโลก ราว 1,400 ล้านคน
จนกระทั่งปี 1979 รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาจำนวนประชากรที่เยอะเกินไป โดยกำหนดนโยบายให้แต่ละครอบครัวมีลูกได้เพียง 1 คนเท่านั้น
เรื่องนี้ส่งผลให้ประเทศจีนเริ่มมีปัญหาอัตราการเกิดลดลง รัฐบาลจึงต้องผ่อนปรนนโยบายการจำกัดการมีลูกอีกครั้ง
โดยในปี 2015 รัฐบาลจีนได้เปลี่ยนนโยบาย จากที่อนุญาตให้มีลูกเพียง 1 คนต่อครอบครัว เป็น 2 คนต่อครอบครัว และในปี 2021 ก็เปลี่ยนจาก 2 คนต่อครอบครัว เป็น 3 คนต่อครอบครัวแทน
อย่างไรก็ตาม การผ่อนปรนนโยบายจำกัดการมีลูกของรัฐบาลจีน อาจไม่ใช่การแก้ปัญหาอัตราการเกิดที่ตกต่ำที่ถูกจุด
เพราะด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็น ค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็กที่เพิ่มสูงขึ้น ผู้หญิงบางคนก็ไม่อยากแต่งงาน ไปจนถึงไม่อยากทิ้งหน้าที่การงานของตัวเอง ทำให้ความคิดที่จะมีลูกหลายคนในยุคนี้ไม่ใช่การคิดที่สอดคล้องกับความเป็นจริง
ดังนั้น จำนวนเด็กเกิดใหม่ในจีนปี 2022 จึงลดลงเหลือเพียง 9.56 ล้านคน ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ ที่จำนวนการเกิดต่ำกว่า 10 ล้านคน
ทำให้รัฐบาลต้องหาวิธีรับมือกับปัญหาอัตราการเกิดตกต่ำในจีนที่เข้าขั้นวิกฤติ นั่นก็คือ การกำหนดนโยบายส่งเสริมการมีลูกหลากหลายวิธี เช่น
เพิ่มวันลาคลอดให้กับคุณแม่คุณพ่อมือใหม่ให้เงินอุดหนุนค่าที่อยู่อาศัยกำหนดให้ครอบครัวได้รับเงินค่าเลี้ยงดูเด็กรายปีจนกว่าจะอายุถึง 3 ขวบ
รวมไปถึงในบางพื้นที่ก็ “ให้สิทธิประโยชน์แก่คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว” หรือคนที่เลือกจะไม่แต่งงาน แต่อยากมีลูก
เช่น มณฑลเสฉวน ที่ให้สิทธิแม่เลี้ยงเดี่ยวมีลูกได้ไม่จำกัดจำนวนคน และสามารถจดทะเบียนการเกิดของลูกได้
ซึ่งก่อนหน้านี้ ความยากลำบากของการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวในจีน คือ การไม่ได้รับสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกับผู้ที่แต่งงานตามกฎหมาย เพราะพนักงานรัฐจะไม่ออกใบสูติบัตรให้กับเด็กหากไม่มีหลักฐานการแต่งงานของพ่อแม่
อีกทั้งเด็ก ๆ เหล่านั้น จะถูกจำกัดสิทธิบางอย่าง เช่น การเข้าเรียนในบางโรงเรียน หรือสิทธิในการรักษาในโรงพยาบาลบางแห่ง
สิ่งเหล่านี้ ทำให้แม่เลี้ยงเดี่ยว ต้องประสบปัญหาความยากลำบากในการเลี้ยงดูลูก มากกว่าครอบครัวปกติ จากการที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์สนับสนุนจากภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐออกมาย้ำว่า การเพิ่มนโยบายสิทธิประโยชน์ให้กับแม่เลี้ยงเดี่ยวนั้น ไม่ได้เป็นการส่งเสริมให้ผู้คนไม่แต่งงานกัน แต่เป็นการปกป้องสิทธิให้กับคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่สมควรจะได้รับ และมีจุดประสงค์เพื่อปรับปรุงจำนวนประชากรในระยะยาว
จึงจะเห็นได้ว่า มีแค่บางพื้นที่ในประเทศจีนเท่านั้น ที่ภาครัฐมีการสนับสนุนเพิ่มสิทธิให้กับแม่เลี้ยงเดี่ยว ซึ่งอาจมีการกำหนดสิทธิที่แตกต่างกันออกไป
อย่างไรก็ตาม นี่ก็ถือว่าเป็นก้าวแรกในรอบ 40 ปี ของประเทศจีน ที่ทำให้สิทธิของแม่เลี้ยงเดี่ยวเริ่มเทียบเท่ากับครอบครัวปกติ
ทำให้กลุ่มคนที่ไม่ได้ต้องการแต่งงาน เพราะมองว่าการดูแลความสัมพันธ์ในระยะยาวนั้นยาก แต่ก็อยากมีลูก เริ่มมองหาทางเลือกในการผสมเทียม เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF)
แต่เมื่อภาครัฐกำหนดสิทธิให้กับแม่เลี้ยงเดี่ยวเพียงแค่บางเมือง ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้พวกเธอต้องย้ายถิ่นฐานมาทำงานในเมืองใหญ่ ๆ กันมากขึ้น
ทีนี้มาถึงคำถามสำคัญที่ว่า การออกนโยบายสนับสนุนแม่เลี้ยงเดี่ยว จะสามารถแก้ปัญหาอัตราการเกิดที่ตกต่ำได้หรือไม่ ?
เรื่องนี้ก็คงต้องตอบว่าขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน
ส่วนในมุมของ ลงทุนเกิร์ล การที่ผู้หญิงจะเลือกเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวในประเทศจีน อาจมีเพียงประชากรส่วนน้อยเท่านั้น
อ้างอิงจากจำนวนการคาดการณ์ของสหพันธ์สตรีของประเทศจีนในปี 2020 ที่มีจำนวนแม่เลี้ยงเดี่ยวราว 19.4 ล้านคน คิดเป็นเพียง 1.38% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในปีนั้น
อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการผสมเทียมอย่างการทำเด็กหลอดแก้ว ก็มีค่าใช้จ่ายสูงราวหลักแสนบาทขึ้นไป ซึ่งกลุ่มคนที่เลือกจะเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ก็ยิ่งแคบลงไปอีก เพราะน่าจะต้องเป็นผู้ที่มีรายได้สูงทีเดียว
ที่สำคัญก็คือ นโยบายการสนับสนุนสิทธิของแม่เลี้ยงเดี่ยวในจีน ยังไม่ครอบคลุมระดับประเทศ
หากต้องการจะแก้ปัญหาอัตราการเกิดที่ตกต่ำให้ดีขึ้น นโยบายส่งเสริมการมีลูกของจีน ต้องมีการเพิ่มความหลากหลายของนโยบาย และขยายให้ครอบคลุมกับผู้คนทั่วประเทศมากขึ้น
แต่สุดท้ายแล้วรัฐบาลจีนจะมีวิธีรับมือกับปัญหาอัตราการเกิดต่ำอย่างไร และสิทธิที่แม่เลี้ยงเดี่ยวควรที่จะได้รับนั้น ควรจะเป็นไปในทิศทางไหน ก็เป็นเรื่องที่น่าติดตามกันต่อไปในอนาคต..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.