Business
11.11 เมื่อวันคนโสด กลายเป็นสวรรค์ของนักช็อปออนไลน์
11 พ.ย. 2024
11.11 เมื่อวันคนโสด กลายเป็นสวรรค์ของนักช็อปออนไลน์ /โดย ลงทุนเกิร์ล
ช่วงเที่ยงคืนที่ผ่านมานี้ คงจะเป็นเวลาที่หลาย ๆ คนเฝ้า “หน้าจอ” เพื่อให้เลขนาฬิกา กลายเป็น 00.00 น. ก่อนจะรีบกดจ่ายเงิน
ซึ่งถ้าเป็นคนเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วมาเห็น ก็อาจจะสงสัยว่าทำไมถึงต้องจริงจังให้กับการช็อปปิงขนาดนี้ ทั้ง ๆ ที่อีคอมเมิร์ซ ก็น่าจะทำให้เราซื้อของได้ทุกเวลาอยู่แล้ว
เรื่องนี้มีที่มาอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ปกติช่วงเดือนพฤศจิกายนจะเป็นช่วงเวลาที่เราตั้งตารอเทศกาลคริสต์มาส
แต่ในช่วงหลัง ๆ มานี้ สิ่งที่เราตั้งตารอ กลับเป็นวัน “11.11” เทศกาลเฉลิมฉลองของเหล่าอีคอมเมิร์ซแทน
แต่ในช่วงหลัง ๆ มานี้ สิ่งที่เราตั้งตารอ กลับเป็นวัน “11.11” เทศกาลเฉลิมฉลองของเหล่าอีคอมเมิร์ซแทน
เทศกาล 11.11 บนโลกออนไลน์ ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “Singles’ Day” หรือ “วันคนโสด” ที่เกิดขึ้นในวันที่ 11 เดือนพฤศจิกายนของทุกปี
ว่ากันว่า เทศกาลนี้ เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 1993
มาจากนักศึกษามหาวิทยาลัยหนานจิงในประเทศจีน 4 คน ที่ต้องการจัดกิจกรรมวันเฉลิมฉลองสำหรับคนโสด เพื่อตอบโต้วันวาเลนไทน์
สาเหตุที่เลือกใช้วันนี้ เพราะเลข 11.11 ตัวเลขทั้ง 4 ตัว สื่อถึงสถานะโสดของพวกเขานั่นเอง
ซึ่งปรากฏว่า กิจกรรมนี้ ถูกเผยแพร่ไปตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมถึงในโลกออนไลน์
ทำให้วันคนโสดนี้ กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่คนโสดในประเทศจีน ต่างออกมาจับจ่ายซื้อสินค้าเป็นของขวัญมอบให้กับตัวเอง เพื่อฉลองให้กับความเป็นโสด
บรรดาร้านค้าหัวใส ก็ยกขบวนกันจัดโปรโมชันลดราคาแบบกระหน่ำ เพื่อต้อนรับเหล่านักช็อป
ซึ่งปัจจุบันเทศกาลนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในวงคนโสดในประเทศจีนเท่านั้น แต่กลายเป็นเทศกาลช็อปปิงที่โด่งดังสำหรับนักช็อปออนไลน์ ในหลาย ๆ ประเทศไปแล้ว
หลังจากที่ Alibaba อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของประเทศจีนเริ่มเอาไอเดียแคมเปญ “11.11” มาใช้ ตั้งแต่ปี 2009
ซึ่งผลลัพธ์ก็เป็นไปตามคาด เพราะเทคนิคการตลาดนี้ ก็ทำให้ Alibaba สร้างยอดขายได้ถล่มทลาย
โดยยอดขายสินค้าของ Alibaba ในวันคนโสด 11.11
ปี 2019 อยู่ที่ 1.3 ล้านล้านบาท
ปี 2020 อยู่ที่ 2.6 ล้านล้านบาท
ปี 2021 อยู่ที่ 2.9 ล้านล้านบาท
ปี 2019 อยู่ที่ 1.3 ล้านล้านบาท
ปี 2020 อยู่ที่ 2.6 ล้านล้านบาท
ปี 2021 อยู่ที่ 2.9 ล้านล้านบาท
11.11 จึงกลายเป็นเทศกาลลดแหลกอันยิ่งใหญ่ ที่หลายแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรับนำมาใช้ด้วย อย่างในบ้านเรา พอถึงช่วงเวลานี้ก็คงพลาดไม่ได้ที่จะกดเข้าแอปพลิเคชัน Lazada หรือ Shopee
ทีนี้ หากเรามาดูกันว่าแต่ละแพลตฟอร์มมีเทคนิคอะไรมาหลอกล่อเหล่านักช็อปกันบ้าง
แน่นอนว่าอย่างแรก ก็คือ “ส่วนลด”
ซึ่งนอกจากร้านค้าจะนำสินค้าตัวเองมาจัดโปรโมชันพิเศษต้อนรับเทศกาลนี้แล้ว เหล่าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเองก็ใช่ย่อย ที่เตรียมพร้อมแจกส่วนลดร่วมขบวนนี้อย่างล้นหลาม
เริ่มตั้งแต่การให้เราเข้าไปเก็บคูปองหรือโบนัสส่วนลด ที่จะแจกให้ก่อนช่วงเทศกาล 11.11 ไว้ให้เหล่านักช็อปเข้าไปเก็บสะสม ซึ่งนั่นก็ช่วยทำให้เราต้องเข้าไปส่องแพลตฟอร์มนั้นทุก ๆ วัน เพื่อไปกดรับคูปอง
แต่เข้าไปทั้งที ก็คงอดส่องหาสินค้าไม่ได้ ว่ามีชิ้นไหนน่าจับจองบ้าง ซึ่งบางคนถึงกับอั้นไม่ยอมซื้อก่อน แต่รวบรวมเก็บไว้เอามาซื้อในวันนี้แทน
นอกจากนั้นยังมีโคดต่าง ๆ เช่น โคดส่วนลดจากบัตรเครดิต หรือค่าโทรศัพท์มือถือ ที่เราต้องหาเตรียมเอาไว้ เพื่อให้เราซื้อของได้คุ้มที่สุด
และทั้งหมดนี้ ก็เหมือนเป็นการอุ่นเครื่อง ก่อนที่จะออกศึกจริง
ซึ่งที่บอกว่าเป็นการออกศึก ก็คงไม่ได้เป็นการพูดเกินจริงเท่าไรนัก เนื่องจากคูปองส่วนลดหลาย ๆ อย่าง จะมีจำนวนจำกัด รวมถึงหลายร้านค้า ก็จะมีโปรโมชันพิเศษสำหรับคำสั่งซื้อแรก ๆ
ทำให้ลูกค้าต้องแย่งกันก่อนที่ความพิเศษเหล่านั้นจะหมดโควตา
ที่น่าสนใจคือ แต่ละแอปพลิเคชันอีคอมเมิร์ซก็มักจะมี ระบบหลังบ้านที่ช่วยให้เราซื้อมากขึ้น
ทั้งการนำเสนอสินค้าที่ตรงกับความสนใจของเรา รวมทั้งดึงดูดให้เห็นว่า ถ้าซื้อตอนนี้จะคุ้มค่าขนาดไหน เพราะเห็นชัด ๆ เลยว่าจะได้ส่วนลดเท่าไร หรือได้ของแถมอะไรพิเศษบ้าง
ซึ่งการจัดโปรโมชันเหล่านี้ หลาย ๆ ครั้ง ก็จะเป็นการที่แพลตฟอร์มมีการดูแล และแนะนำร้านค้า ว่าควรจะทำอย่างไร ให้สามารถขายดิบขายดียิ่งขึ้น
และด้วยการผนึกกำลังอย่างสามัคคีนี้เอง ก็ทำให้บางครั้งเราไม่ได้ต้องการอะไร แต่พอไถแอปพลิเคชันไปได้ไม่นาน รู้ตัวอีกทีเงินก็ลอยออกจากกระเป๋าไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม กระบวนการที่ทำให้เราเสียทรัพย์ก็ยังไม่จบเพียงเท่านี้
เพราะหากใครเดินทางไปถึงหน้าสุดท้ายก็จะพบว่า ก่อนที่จะเป็นปุ่ม “ชำระเงิน” ทางแพลตฟอร์ม ก็มักจะแยกส่วนลดออกมาให้เราเห็นอย่างชัดเจน เพื่อให้เราเกิดความภูมิใจ
และตามมาด้วยข้อความที่ว่า หากซื้อเพิ่มอีกนิด ก็จะได้ส่วนลดเพิ่มนะ
เรื่องนี้คงทำให้บางคนที่จิตใจไม่เข้มแข็งพอ ต้องกดกลับไปยังร้านค้าเพื่อหาซื้อสินค้าเพิ่มเติม อย่างอดไม่ได้
แล้วเมื่อสั่งซื้อและชำระเงินเรียบร้อย เหตุการณ์ต่อมาที่เกิดขึ้นก็คงจะเป็น “การแชร์ความสำเร็จ” นี้ออกไป ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย หรือการพูดคุยกับเพื่อน ว่าสิ่งที่เราได้มามันคุ้มค่าขนาดไหน
กลายเป็นหัวข้อการสนทนา ทั้งถามว่าเพื่อนได้อะไรมาบ้างในวันนี้ หรือเราเสียหายไปทั้งหมดเท่าไร
ซึ่งการพูดคุยนี้ บางครั้งอาจไปกระตุ้นความอยากของกันและกัน จนสุดท้ายก็ทำให้เราต้องวนไปเปิดแอปพลิเคชันใหม่อีกครั้ง เพื่อซื้อตาม ๆ กัน
และที่สำคัญก่อนจะซื้อ ก็ต้องเช็กกันก่อนด้วย ว่าได้ส่วนลดเท่าเพื่อนหรือไม่ ถ้าไม่เท่าแล้วเราพลาดไปตรงไหน
เรียกได้ว่ากว่าจะผ่านพ้นวันนี้ไปได้ ก็ถือเป็นการออกศึกที่หนักหน่วง สำหรับใครหลาย ๆ คนเลยทีเดียว
แล้วเพื่อน ๆ ชาวลงทุนเกิร์ล มีใครบ้างที่เสียหายหลายแสนกับเทศกาลนี้กันบ้าง หรือมีทริกดี ๆ ในการกดส่วนลดให้คุ้มค่าที่สุด สามารถแชร์เรื่องราวได้ในคอมเมนต์เลยนะคะ