กรณีศึกษา “ดอร่าสาวน้อยนักผจญภัย” การ์ตูนเด็กเล็กที่มีรายได้ 4 แสนล้าน
LifestyleEntertainmentBusiness

กรณีศึกษา “ดอร่าสาวน้อยนักผจญภัย” การ์ตูนเด็กเล็กที่มีรายได้ 4 แสนล้าน

11 ธ.ค. 2020
กรณีศึกษา “ดอร่าสาวน้อยนักผจญภัย” การ์ตูนเด็กเล็กที่มีรายได้ 4 แสนล้าน /โดย ลงทุนเกิร์ล
รู้หรือไม่ว่าซีรีส์การ์ตูนเรื่อง “ดอร่าสาวน้อยนักผจญภัย” ที่เราอาจไม่คุ้นชื่อนี้ 
กวาดรายได้ไปถึง 4 แสนล้าน ภายในเวลา 20 ปี
แล้วตัวเลขนี้ถือว่าเยอะขนาดไหน เราอาจจะลองมาเทียบกับซีรีส์หรือการ์ตูนที่เรารู้จักดี

รายได้มากกว่า 3 เท่าของ ซีรีส์และหนังสือชุด Game of Thrones ที่เปิดตัวมาก่อน 4 ปี 
รายได้เท่ากับ ซีรีส์การ์ตูน Doraemon และ Digimon ที่เปิดตัวมาก่อนมากถึง 31 ปี รวมกัน
รายได้เท่ากับ ซีรีส์การ์ตูนและหนัง Avengers ที่เปิดตัวมาก่อน 37 ปี 
รายได้เท่ากับ ซีรีส์การ์ตูนเดอะซิมป์สัน ที่เปิดตัวมาก่อน 6 ปี 

แล้วอะไรที่ทำให้ ดอร่าสาวน้อยนักผจญภัย ประสบความสำเร็จขนาดนี้? 
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟังค่ะ

“ดอร่าสาวน้อยนักผจญภัย” เป็นการ์ตูนสำหรับเด็กปฐมวัย
ซึ่งจะดำเนินเรื่องด้วยการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม

บางคนอาจจะเคยดูคลิปไวรัล ที่มีคนทดลองพูดคุยโต้ตอบกับตัวละครดอร่า
รวมถึงยังกลายเป็นสิ่งที่คนเอามาล้อเลียนกันอยู่ช่วงหนึ่ง อย่างบทสนทนานี้

ดอร่า: ช่วยเปิดกระเป๋าเป้ให้ฉันหน่อย ฉันจะได้อ่านหนังสือเล่มใหญ่สีแดงให้บูทส์ฟัง เวลาเปิด เธอต้องพูดว่า Backpack
ผู้ชม: Backpack 
ดอร่า: ดังขึ้นอีก
ผู้ชม: BACKPACKKK!

ซึ่งสิ่งที่คนพูดถึงส่วนใหญ่ ก็เป็นการหยิบมุมมองในเรื่องของลักษณะนิสัยตัวการ์ตูน “ดอร่า” ในแบบฉบับการ์ตูนสำหรับเด็ก มาสร้างเสียงหัวเราะกัน 
เช่น การถามคำถามที่ย้ำคิดย้ำทำ และการทำเรื่องง่ายๆ ให้ดูเป็นเรื่องที่ยากของดอร่าและบูทส์

ลงทุนเกิร์ลเลยอยากชวนมาคิดกันต่อ
ว่าทำไมผู้จัดทำการ์ตูนเรื่องนี้ถึงสร้างตัวละคร “ดอร่า” ให้ออกมาในลักษณะแบบนี้?  

เรื่องราวของดอร่า เริ่มมาจากบุคคล 3 คน จากช่องนิคคาโลเดียน
วาเลรี วอลช์ วาล์ดส์, คริส กิฟฟอร์ด, และเอริก เวนเนอร์
ซึ่งต้องการสร้างการ์ตูน ที่ตัวละครมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม โดยเฉพาะเด็กวัยก่อนเข้าเรียนหนังสือ

พวกเขาจึงสร้างตัวละครที่ชื่อว่า “ดอร่า มาร์เกซ” ขึ้นมา
เธอเป็นเด็กน้อยชาวลาตินอเมริกา ที่มีอายุเพียงแค่ 7 ขวบเท่านั้น

โดยเนื้อเรื่องในแต่ละตอนจะเล่าถึงการออกเดินทางผจญภัยและสำรวจ ของหนูน้อยดอร่าในชุดสีชมพูกับกระเป๋าเป้สีม่วง พร้อมกับเพื่อนสนิทที่เป็นลิงน้อยชื่อว่าบูทส์ 

ซึ่งระหว่างการเดินทางของดอร่าในแต่ละตอน 
ดอร่าและบูทส์ ก็พบเจอกับอุปสรรคมากมาย 

ไม่ว่าจะเป็นสะพานที่ขาดจนเดินต่อไม่ได้ 
น้องหมีสีน้ำตาลที่พลัดหลงกับพ่อแม่ การตามหาสิ่งของที่ทำหายไป
หรือการที่ต้องคอยระวัง เจ้าหมาจิ้งจอกจอมป่วนที่ชื่อว่า “สไวเปอร์”

ถ้าเราอ้างอิงจากต้นกำเนิดของการ์ตูนดอร่านั้น 
จะมีการใช้ภาษาสเปนในการดำเนินเรื่องเป็นหลัก 
แต่ต่อมาได้มีการให้เสียงพากย์ในภาษาอื่นๆ มากถึง 32 ภาษา รวมถึงภาษาไทยด้วยเช่นกัน

เนื่องจากการ์ตูนเรื่องนี้เป็นที่นิยมอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีเด็กเล็ก
จนทำให้ปัจจุบันค่ายผลิตแอนิเมชันอย่างนิคคาโลเดียน 
ได้พัฒนาการ์ตูนดอร่าไปมากถึง 8 ซีซัน หรือ 178 ตอนแล้ว 
รวมถึงภาคแยกที่เป็นภาพยนตร์อีก 1 เรื่อง

คำถามคือ ทำไมการ์ตูนเรื่องนี้ ถึงประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้?

อ้างอิงงานวิจัยของ British Journal of Developmental Psychology ได้ระบุไว้ว่า เด็กปฐมวัยจะมีการพัฒนาในเชิงซับซ้อนที่ค่อนข้างรวดเร็ว โดยเฉพาะช่วงอายุ 2-5 ปี โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดในช่วงนี้คือการจัดระเบียบ และเพิ่มการรับรู้ของเด็กอย่างเป็นระบบ

ซึ่งกลุ่มผู้ชมหลักของช่องนิคคาโลเดียน ก็คือ “เด็กปฐมวัย”

การ์ตูนเรื่องดอร่า จึงถูกสร้างให้สอดแทรกจิตวิทยาการพัฒนาการของเด็กปฐมวัย อยู่ตลอดทั้งเรื่อง
ผ่านการปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวละครกับผู้ชม

เราลองมาวิเคราะห์ให้ลึกลงไปกับตัวละครดอร่ากันบ้าง

จุดที่ทำให้ผู้ชมในวัยผู้ใหญ่อาจรู้สึกหงุดหงิด คือความย้ำคิดย้ำทำของดอร่า
และนี่แสดงให้เห็นถึงความเสมือนจริงของจินตนาการของเด็ก 
รวมถึงเป็นการสอนวิธีการไขปริศนาไปได้อย่างแนบเนียน

การพูดทีละคำ ที่เป็นไปอย่างเชื่องช้าของดอร่านั้น เป็นความตั้งใจของนิคคาโลเดียน 
ซึ่งเข้าใจในเรื่องของกระบวนการรับรู้ของเด็กวัยปฐมวัย 
ที่สามารถรับรู้เป็นคำสั้นๆ และต้องมีการย้ำฝังลงในความคิด
และยังช่วยกระตุ้นให้เด็กเล็กได้เริ่มสนทนาโต้ตอบกลับ ระหว่างชมการ์ตูนดอร่าไปด้วย

ลักษณะนิสัยของดอร่าและบูทส์ ที่พวกเธอมักจะไม่เห็นสิ่งของต่างๆ ที่โผล่อยู่รอบตัว 
และบ่อยครั้งที่ถูกสไวเปอร์ เจ้าหมาจิ้งจอกคอยขโมยของอยู่เรื่อยๆ 

นั่นก็เป็นเพราะว่าผู้ผลิตการ์ตูนต้องการสื่อให้เห็นว่า สภาวะจิตใจของเด็กเล็กนั้นไม่สามารถที่จะจดจำรายละเอียดของทุกอย่างได้หมด 

สิ่งที่ผู้ผลิตต้องการจะสื่อสารเพิ่มเติมคือเรื่องของทฤษฎี Reward and Recognition และ Positive Reinforcers ซึ่งก็คือ การชื่นชมเวลาที่ทำได้ดี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการทำสิ่งนั้นต่อไปเรื่อยๆ 
โดยเราจะเห็นได้ว่า เวลาที่ดอร่าพูดคุยกับผู้ชม เธอจะปิดท้ายด้วยคำชมตามมาเสมอ

รวมถึงการใส่ตัวละครบูทส์ เข้ามาร่วมผจญภัยไปกับดอร่า
ก็เป็นการสื่อสารว่า ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไร เราก็ไม่ได้โดดเดี่ยว
แต่ยังมีเพื่อนคู่หู ที่คอยช่วยเหลือในยามลำบาก ในทุกๆ ครั้ง

ด้วยเรื่องราวที่เป็นประโยชน์กับพัฒนาการของเด็กปฐมวัยนี้
จึงทำให้ดอร่า ได้รับความนิยมจากผู้ปกครองอย่างมาก

ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ตั้งแต่ที่สร้าง “ดอร่าสาวน้อยนักผจญภัย” ขึ้นมาจนถึงปี 2019
ช่องนิคคาโลเดียน มีรายได้จากการ์ตูนและภาพยนตร์ที่มีตัวละครเรื่องนี้ มากถึง 400,000 ล้านบาท

โดยมีสัดส่วนจากการขายลิขสิทธิ์การ์ตูน สินค้า และวิดีโอเกม 97%
และจากการขายแผ่นดีวีดี และภาพยนตร์ 3% 

รายได้ที่สูงขนาดนี้ เป็นเพราะนิคคาโลเดียนมีการเลือกจับกลุ่มตลาดที่ชัดเจน
โดยเน้นไปที่เด็กวัยปฐมวัยและผู้ปกครอง รวมถึงการศึกษาผลกระทบต่อการพัฒนาของเด็กมาอย่างดี

และการที่กลุ่มผู้ใหญ่นำความไร้เดียงสาของดอร่า มาเป็นเสียงหัวเราะนั้น
ก็ถือว่าเป็นผลประโยชน์ทางอ้อม เพราะเป็นการเพิ่มการรับรู้เกี่ยวกับตัวละครนี้ได้ดียิ่งขึ้น

ขอปิดท้ายกับคำถามที่น่าสนใจนี้
เคยลองคิดเล่นๆ กันหรือไม่คะ ถ้าดอร่ามีตัวตนจริงๆ ปัจจุบันนี้เธอจะมีอายุเท่าไรแล้ว? 

อ้างอิงจากการ์ตูนตอนแรกของดอร่านั้น ได้ทำการฉายในวันที่ 14 สิงหาคม ปี 2000  
ซึ่งถ้าเรานับเป็นอายุในปัจจุบัน ดอร่าอาจจะโตเป็นผู้ใหญ่อายุ 27 ปี ไปแล้ว

แต่ถ้าเราลองนึกถึงเด็กๆ ที่โตมาพร้อมกับการ์ตูนเรื่องดอร่า 
อนาคตของเด็กในวันนั้น ก็กำลังจะเป็นผู้ใหญ่อย่างเต็มตัวในอนาคตอันใกล้นี้เช่นกัน

ซึ่งถ้าย้อนกลับไป การ์ตูนเพื่อการเรียนรู้ 
สำหรับวัยเด็กของยุคเจนเอ็กซ์ ก็อาจเป็น “เซซามีสตรีต”
ของยุคเจนวาย อาจเป็น “เทเลทับบีส์”
ส่วนของยุคมิลเลนเนียม อาจเป็น “ดอร่าสาวน้อยนักผจญภัย”

ก็น่าคิดว่า แล้วในอนาคตความทรงจำของการ์ตูนเพื่อการเรียนรู้ในวัยเด็กยุคอัลฟ่า 
จะเป็นเรื่องอะไร..

References:
-https://youaremom.com/children/dora-the-explorer-popularity-kids/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Dora_the_Explorer
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_highest-gross
-http://mediaforchildren.weebly.com/dora-the-explorer.html
-https://www.cp24.com/dora-the-explorer-a-multibillion-dollar-franchise-has-created-a-decade-ofmulticulturalism
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.