การรับมือกับคำถามของญาติๆ ในช่วงปีใหม่
Lifestyle

การรับมือกับคำถามของญาติๆ ในช่วงปีใหม่

20 ธ.ค. 2020
การรับมือกับคำถามของญาติๆ ในช่วงปีใหม่ /โดย ลงทุนเกิร์ล
สิ้นปีนี้ใครหลายคนคงจะมีโอกาสได้กลับบ้าน ไปใช้เวลาร่วมกับครอบครัว
แต่สำหรับลูกหลานชาวไทย คงเคยได้รับคำถามจากผู้ใหญ่
ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ก็มักจะเป็นคำถามที่เราไม่อยากตอบ เช่น
“ไปทำอะไรมาลูก อ้วนขึ้นหรือเปล่า?”
“ทำงานมีเงินเดือนแล้ว ได้เงินเท่าไร ส่งเงินให้พ่อให้แม่เท่าไร?”
“มีแฟนรึยัง เมื่อไรจะแต่งงาน จะมีลูกเมื่อไร?”
ซึ่งใครถูกถามด้วยคำถามเหล่านี้ ก็คงรู้สึกไม่ดี บั่นทอนจิตใจ
ซ้ำร้ายบางคำถามยังส่อไปในทาง Body Shaming อีกด้วย
แล้วเราจะหาทางรับมือกับคำพูดเหล่านั้นได้อย่างไร?
วันนี้ลงทุนเกิร์ลจะมาช่วยทุกคนหาทางออกกันค่ะ
เริ่มต้นจากทำความเข้าใจกับเหล่าญาติๆ ของเรากันก่อนนะคะ
เนื่องจากบางครั้งการเติบโตกันมาคนละยุคสมัย ก็ทำให้แต่ละฝ่ายเข้าใจไม่ตรงกัน
คำถามที่ผู้ใหญ่คิดว่าเป็น “ความห่วงใย” จริงๆ แล้วอาจทำร้ายจิตใจคนได้โดยไม่รู้ตัว
ดังนั้นถ้าเรารู้สึกไม่ดี ก็ให้ลองพูดกับผู้ใหญ่ตามตรง
ว่าเรารู้สึกอย่างไรกับคำถามเหล่านั้น
เพราะในหลายๆ ความสัมพันธ์ หากเราไม่เริ่มต้นพูดก่อน ก็คงไม่มีทางเข้าใจกัน
ความสัมพันธ์ในครอบครัวก็เช่นกัน เมื่อเราไม่ชอบใจกับคำถามเหล่านั้น
ลองบอกพวกเขาไปตรงๆ ว่าเรารู้สึกอย่างไร เหตุผลคืออะไร ด้วยน้ำเสียงใจเย็น
หากผู้ใหญ่ยอมฟัง ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี และอาจนำไปสู่การพบปะที่ดีขึ้นกว่าเดิม
อย่างไรก็ตามถ้าพูดกันตรงๆ แล้วไม่ช่วยอะไร
และการสนทนาก็ยังดำเนินต่อไปในรูปแบบเดิม
ลองขีดเส้นให้ชัดเจน และตรงไปตรงมา ถึงสิ่งที่เราเผชิญอยู่
เพื่อให้ผู้ใหญ่ตระหนักได้มากขึ้น เช่น
“ตั้งแต่ร่วมกินข้าว สนทนากันมา เอ (นามสมมติ) ถูกอาแปะ Body Shaming มาแล้ว 3 ครั้ง
และยังมีการถามคำถามส่วนตัวอีก 5 ครั้ง ซึ่งเอรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่โอเคสำหรับเอ
ถ้าไม่คิดจะถามคำถามที่สร้างสรรค์กว่านี้ เอก็คงจะไม่มากินข้าวในช่วงปีใหม่อีกแล้ว”
อาจจะดูเป็นวิธีที่ก้าวร้าวในมุมมองผู้ใหญ่คนไทย
แต่ก็เป็นอีกทางเลือก ที่แสดงให้เห็นถึงความจริงจังและชัดเจนของเรา
อย่างไรก็ตาม ลงทุนเกิร์ล ก็มีอีกหนึ่งวิธีที่ดูซอฟต์ลงมาหน่อย
ถ้าการพูดคุยไม่ช่วยอะไร และผู้ใหญ่เรียกการให้เหตุผลของเราว่าเป็นการเถียง
เราอาจเปลี่ยนเป็นการหลีกเลี่ยงบทสนทนาเหล่านั้น หรือไม่ตอบคำถามนั้นไปเลย
ลองหาจุดภายในบ้านที่จะไม่เป็นจุดสนใจ และปลีกตัวออกจากวงสนทนา
กรณีที่เลี่ยงไม่ได้ ก็พยายามอย่าไปสนใจคำพูดเหล่านั้น ให้ทำเป็นไม่ได้ยินอะไร
หรือถ้าต้องตอบคำถามเหล่านั้นจริงๆ ก็เก็บคำพูดเหล่านั้นมาใส่ใจ
คิดซะว่าเป็นเพียงคำถามแย่ๆ ที่แค่ผ่านเข้ามา แล้วผ่านไป
หรือหากไม่สามารถตัดคำเหล่านั้นออกไปได้
ก็ให้นำคำเหล่านั้น มาเป็นพลังในการพัฒนาตัวเอง
ทำให้ผู้ใหญ่เหล่านั้นไม่สามารถตั้งคำถามกับเราได้อีกต่อไป
พยายามทำความเข้าใจถึงพื้นเพของคนที่ชอบถามคำถามเหล่านั้น
บางครั้งอาจจะเกิดจากความไม่ตั้งใจ บางครั้งอาจเป็นความไม่รู้
นอกจากนั้น บางทีคนเหล่านั้น ก็อาจเคยถูกพูดจาไม่ดีใส่มาก่อน
เขาจึงเลือกที่จะสร้างเกราะให้ตัวเอง
และเป็นฝ่ายที่ทำร้ายคนอื่นก่อน จะได้ไม่ต้องเป็นคนที่ถูกทำร้ายเสียแทน
ซึ่งถ้าเป็นกรณีหลังสุด เราก็ยิ่งไม่ควรจะไปให้ความสำคัญ
เก็บเอาเวลาและความรู้สึก มาใช้กับคนที่เรารักและรักเราดีกว่า
หากเราสามารถเข้าใจได้ถึงจุดนี้ ก็จะทำให้คำพูดเหล่านั้น ไม่สามารถทำร้ายเราได้อีก
ทั้งนี้วิธีการรับมือกับคำพูดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับพื้นเพของครอบครัวเช่นกัน
ว่าสามารถรับได้มากน้อยแค่ไหน
ถ้าเราสามารถสื่อสารกันได้ ก็ควรพูดคุยกันเสียก่อน
แต่หากไม่สามารถปรับความเข้าใจกันได้จริงๆ ก็ควรหลีกเลี่ยง และอย่าไปต่อล้อต่อเถียง
เพราะมีแต่จะทำให้บรรยากาศแย่ลง และอาจจะกลายเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่ไม่ดีนัก
สุดท้ายลงทุนเกิร์ลขอเป็นกำลังใจให้ลูกหลานทุกคน
และหวังว่าทุกคนจะมีช่วงเวลาที่ดีกับคนที่เรารักนะคะ
References:
-https://www.bypichawee.co/single-post/how-to-deal-with-bad-words-from-others
-https://www.insider.com/what-to-do-if-family-friends-are-body-shaming-you-2017-10
-https://www.bustle.com/articles/121288-7-things-to-remember-when-confronted-with-body-shaming
-https://www.themix.org.uk/mental-health/body-image-and-self-esteem/how-to-handle-body-shaming-32324.html
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.