สรุปไฮไลต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจความงามไม่ควรพลาด จากงาน Cosmoprof CBE ASEAN Bangkok 2025
Health & Beauty

สรุปไฮไลต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจความงามไม่ควรพลาด จากงาน Cosmoprof CBE ASEAN Bangkok 2025

1 ก.ค. 2025
Cosmoprof CBE ASEAN x ลงทุนเกิร์ล
หากพูดถึงงานใหญ่แห่งปี ที่สามารถรวบรวมธุรกิจความงามได้อย่างครบเครื่อง คงหนีไม่พ้นงาน “Cosmoprof CBE ASEAN Bangkok 2025” 
เนื่องจากงานนี้เปรียบเสมือนศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนมุมมองธุรกิจความงาม ที่เคยสร้างชื่อเสียงจากเวทีระดับโลกมาแล้วทั้งในอิตาลี, สหรัฐอเมริกา, ฮ่องกง และอินเดีย 
ซึ่งครั้งนี้ Cosmoprof ได้เลือก กรุงเทพฯ ให้เป็นจุดหมายปลายทางแห่งที่ 5
ภายในงานมีผู้จัดแสดงสินค้ามากกว่า 650 บริษัท และอีกกว่า 2,000 แบรนด์ จาก 15 ประเทศทั่วโลก ที่สำคัญคือ เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการ, ผู้จัดจำหน่าย, นักลงทุน หรือคนที่อยากเริ่มต้นหาไอเดียทำธุรกิจความงาม
ทั้งนี้ลงทุนเกิร์ลมีโอกาสได้เข้าร่วมงานในวันที่ 25 มิถุนายน 2025 ที่ผ่านมา ในโซนเวที CosmoTalks สัมมนาความรู้เรื่องเทรนด์ และธุรกิจความงาม จากผู้เชี่ยวชาญระดับแนวหน้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศ 
และได้สรุปไฮไลต์สำคัญจาก 2 หัวข้อที่น่าสนใจ และอาจเป็นประโยชน์สำหรับคนที่อยู่ในแวดวงธุรกิจความงาม ได้นำไปปรับใช้
หัวข้อแรกคือ Strategies for Retail Success in Beauty: Navigating the Evolving Landscape กลยุทธ์ความสำเร็จในธุรกิจค้าปลีกความงาม ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในตลาดระดับโลก
โดยมีสปีกเกอร์จาก 3 บริษัทดัง ได้แก่ คุณ Corrado Giaquinto จากแบรนด์ Rojukiss International, คุณ Nattapon Chujitarom จากร้านค้าปลีก found & found และคุณ Shelly Lee จากแบรนด์ Kocostar 
ทั้ง 3 ท่านได้แชร์มุมมองที่น่าสนใจกับคำถามที่ว่า ทำอย่างไรให้ Brand Identity แข็งแกร่ง เมื่อธุรกิจเริ่มขยายตลาดไปต่างประเทศ ?
คุณ Corrado ใช้หลักการ Brand Pyramid เป็นเฟรมเวิร์กที่ใช้กำหนดตำแหน่งแบรนด์ในเชิงการตลาด 
โดยเครื่องมือนี้สามารถใช้เป็นแนวทางการสื่อสารเรื่องเอกลักษณ์ของแบรนด์ และช่วยให้แบรนด์มั่นใจได้ว่าทุกโฆษณา ทุกเนื้อหาจะสอดคล้องกับตัวตนของแบรนด์ 
อย่างไรก็ตาม การสื่อสารให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายในประเทศนั้น ๆ เข้าใจ ก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นสโลแกนแบบเดิมที่แบรนด์เคยใช้มา 
หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ในประเทศไทย Rojukiss เป็นผู้นำเฟซมาสก์นวัตกรรมเกาหลีที่เหมาะกับคนไทย แต่ในประเทศเวียดนาม แบรนด์เลือกใช้คำว่า เฟซมาสก์อันดับ 1 ในประเทศไทย เพื่อให้คนเวียดนามมองเห็นภาพชัดเจน และเข้าถึงได้มากขึ้น 
ทั้งนี้คุณ Nattapon เสริมว่า การสื่อสารกับลูกค้าของแบรนด์เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการบาลานซ์ระหว่าง ความสม่ำเสมอของการสื่อสาร และการปรับให้เข้ากับท้องถิ่น โดยเฉพาะวิธีที่แบรนด์ทำแคมเปญการตลาด และวิธีที่แบรนด์ต้องการนำเสนอสินค้า 
ขณะที่คุณ Shelly มองว่านอกจากการปรับรูปแบบการสื่อสารให้เข้ากับคนในท้องถิ่นนั้น ๆ แล้ว การมี Brand Identity ที่แสดงออกถึงอารมณ์ เช่น ความรู้สึกสนุกสนาน เหมือนแบรนด์ Kocostar ที่มีจุดยืนด้านการนำเสนอช่วงเวลาแห่งความสุขผ่านการมาสก์ ทำให้ข้อความแบบนี้เข้าใจได้ในทุก ๆ ภาษา 
จากตรงนี้จะเห็นว่า การขยายตลาดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายไปยังต่างประเทศ ไม่จำเป็นต้องใช้การสื่อสารเพื่อย้ำเรื่องเอกลักษณ์ของแบรนด์เพียงอย่างเดียว แต่คือการปรับตัว และหาวิธีสื่อสารกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายตามพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดนั้น ๆ 
หัวข้อถัดมาคือ The Future of Skincare 2025: Precision is the new premium 
เทรนด์การดูแลผิวในปี 2025 เมื่อความเฉพาะเจาะจงกลายเป็นมาตรฐานใหม่แห่งความพรีเมียม
โดยมีสปีกเกอร์ 3 ท่านผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดในวงการความงาม ได้แก่ คุณ Sharon Kwek จาก Mintel Beauty & Personal Care, คุณ Yolanda Ching จาก EveLab Insight และคุณ Ayal Pascal จาก Allies of Skin
ทั้ง 3 ท่านได้แชร์ข้อมูลอินไซต์เกี่ยวกับเทรนด์ความงามที่ผู้บริโภคต้องการ และสิ่งที่น่าจับตาในตลาดความงามปี 2025 
เริ่มที่คุณ Sharon ได้ให้คำนิยามของความเฉพาะเจาะจงในวงการความงามว่า เป็นการปรับแต่งเฉพาะบุคคลที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
แม้ในตลาดจะมีกลุ่มผู้บริโภคระดับพรีเมียมอยู่แล้ว แต่สำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หลายธุรกิจความงามจับตา เลือกให้ความสำคัญในเรื่องของการปรับแต่งเฉพาะบุคคล ที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาผิวของแต่ละคนได้ 
จากข้อมูลของ Mintel พบว่า หญิงไทย Gen Z ส่วนมาก ยินยอมที่จะจ่ายเงินเพิ่ม และลงทุนกับการทำทรีตเมนต์ความงาม มากกว่าสินค้าความงาม 
ส่งผลให้พวกเขาเลือกผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นเรื่องข้อมูลส่วนผสม และหาความรู้เรื่องวัตถุดิบที่แบรนด์ใส่เข้ามาในผลิตภัณฑ์ความงามมากขึ้น 
โดยคุณ Ayal เห็นด้วยว่าความลักชัวรีในอดีต มาในรูปแบบของแพ็กเกจจิงที่ดูหรูหรา และมักจะเชื่อมโยงสินค้าความงามกับเซเลบริตีชื่อดัง แต่ปัจจุบันความลักชัวรี มาในรูปแบบของประสิทธิภาพของสินค้า 
นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้บริโภคมากกว่า 50% ทั่วโลก ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และยังส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อเป็นอันดับแรก 
ซึ่งธุรกิจความงามควรปรับตัว และต้องเข้าใจถึงปัญหาเฉพาะเจาะจงของลูกค้าแต่ละกลุ่มมากขึ้น 
ขณะที่คุณ Yolanda กล่าวเสริมว่า เทคโนโลยีเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะทำให้เข้าถึงปัญหาผิวของลูกค้าได้ ยกตัวอย่างจาก EveLab มีแอปพลิเคชันที่ใช้การถ่ายรูปผิวหนังจากแสงต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์ชั้นผิวหนัง อีกทั้งยังสามารถทำนายได้ว่า ในอนาคตหากลูกค้าไม่ใช้สกินแคร์ ผิวจะเป็นอย่างไร 
อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญกว่าเครื่องมือเทคโนโลยีล้ำสมัย คือการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างจริงจัง เช่น การติดตามผลลัพธ์ของผู้ใช้ในช่วงระยะเวลา 3-5 เดือน จะทำให้ลูกค้าเห็นคุณค่าของความใส่ใจ และเพิ่มโอกาสกลับเข้ามาในร้านค้าเพื่อซื้อสินค้า หรือใช้บริการอีกครั้ง 
อ่านมาถึงตรงนี้จะเห็นว่า เทรนด์ธุรกิจความงามสมัยนี้ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงปัญหาของลูกค้าแต่ละรายอย่างแท้จริง 
โดยธุรกิจความงามระดับพรีเมียม ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ราคาสินค้าที่สูงเสมอไป แต่คือการใส่ใจรายละเอียดของลูกค้าตั้งแต่ การสอบถามปัญหา ไปจนถึงการบริการหลังการขาย 
นอกเหนือจากเวที CosmoTalks แล้ว ภายในงานยังมีบูทอื่น ๆ ที่มีการจัดโซนธุรกิจความงามตั้งแต่ต้นน้ำ ไปจนถึงธุรกิจปลายน้ำ เช่น 
- โซนสายการผลิต (Supply Chain) ที่ครอบคลุมตั้งแต่วัตถุดิบ, บรรจุภัณฑ์, เครื่องจักร OEM/ODM และห้องปฏิบัติการ
- โซนผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป (Branded Finished Products Zone) รวมแบรนด์ชั้นนำจากกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม เล็บ น้ำหอม และของใช้ส่วนตัว
รวมไปถึงพาวิลเลียนที่รวมไอเดีย และนวัตกรรมจากประเทศต้นแบบแห่งความงาม 6 ประเทศอย่าง เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, จีน, ไต้หวัน, อิตาลี และไทย พร้อมให้คำปรึกษาธุรกิจความงามแบบอินไซต์
สุดท้ายนี้ สำหรับใครที่ไม่อยากพลาดโอกาสเข้าร่วมงานดี ๆ แบบนี้ ลงทุนเกิร์ลแนะนำให้ติดตามเพจเฟซบุ๊ก Cosmoprof CBE ASEAN เพื่อติดตามข่าวสารการจัดงานในอนาคตค่ะ..
© 2025 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.