ถอดรหัสสมการแห่งความยั่งยืน เมื่อ “วิถีสยามพิวรรธน์” = แพลตฟอร์มแห่งโอกาส
Business

ถอดรหัสสมการแห่งความยั่งยืน เมื่อ “วิถีสยามพิวรรธน์” = แพลตฟอร์มแห่งโอกาส

7 ก.ค. 2025
สยามพิวรรธน์ x ลงทุนเกิร์ล
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “ความยั่งยืน” (Sustainability) กลายเป็นส่วนหนึ่งในวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ขององค์กรทั่วโลก 
ภายใต้มิติแห่งความยั่งยืนนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในมุมสิ่งแวดล้อม (Environmental)
แต่ครอบคลุมถึงมิติทางสังคม (Social) และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance)

แต่ที่ผ่านมา การสร้างความยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อม มักเป็นมุมที่ถูกพูดถึงมากที่สุด
อาจเพราะเป็นมิติที่จับต้องได้ง่ายและสร้างอิมแพกต์ใหญ่ ส่งผลกระทบต่อโลกใบนี้โดยตรง 

ทว่า กลับมีหนึ่งในองค์กรไทย ที่มีแนวคิดในการขับเคลื่อนทั้งสังคมและโลกที่ยั่งยืนไปพร้อมกันอย่างน่าสนใจ ผ่านแนวคิดที่เรียกว่า “วิถีสยามพิวรรธน์”
ที่มีหมุดหมายสำคัญคือ การเป็นแพลตฟอร์มแห่งโอกาส ที่นำไปสู่ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” แบบจับต้องได้
แล้วภายใต้ “วิถีสยามพิวรรธน์” คืออะไร ?
ทำไม ถึงนิยามตัวเองเป็นแพลตฟอร์มแห่งโอกาส ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
เฉลยก่อนว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังแนวคิด “วิถีสยามพิวรรธน์” ก็คือ กลุ่มสยามพิวรรธน์ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจค้าปลีกชั้นนำ เป็นเจ้าของและผู้บริหารโครงการที่มีชื่อเสียงระดับโลก อาทิ สยามพารากอน, สยามเซ็นเตอร์, สยามดิสคัฟเวอรี่ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ 
แต่สิ่งที่หลายคนไม่ค่อยรู้ คือ สยามพิวรรธน์ ยังเป็นองค์กรแรก ๆ ที่บูรณาการแนวคิด “การพัฒนาที่ยั่งยืน” เข้าสู่ทุกกระบวนการธุรกิจ เพื่อสร้างแพลตฟอร์มแห่งโอกาส
ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย ส่งเสริมเศรษฐกิจชาติ และสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย 
คุณสุทธิรัตน์ ภาณววัฒน์ ผู้บริหารสายงาน Corporate Branding and Communications บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เล่าว่า แนวคิดสำคัญของ “วิถีสยามพิวรรธน์” คือ “การทำให้พื้นที่ของทุกโครงการภายใต้การบริหารของกลุ่มสยามพิวรรธน์ เป็นเวทีแสดงสินค้าและบริการและเรียนรู้ธุรกิจอย่างครบวงจร พร้อมสืบสานภูมิปัญญาไทยและยกระดับสู่เวทีโลก” 
หรือ พูดง่าย ๆ ว่า เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างและพร้อมเป็นประตูแห่งโอกาสบานสำคัญให้กับทุกคนที่มีไอเดีย
แรงบันดาลใจสำคัญที่ผลักดันให้กลุ่มสยามพิวรรธน์ทำแบบนี้ เพราะไม่ได้นิยามตัวเองว่า เป็นเพียงสถานที่ให้ผู้คนได้มาช็อปปิง หรือ พักผ่อนหย่อนใจ
แต่เป็นพื้นที่จุดประกายความคิดสร้างสรรค์และแนวทางใหม่ในการพัฒนาธุรกิจต่าง ๆ
ที่จะกลายเป็นต้นแบบในการเติมเต็มชีวิตและมอบประสบการณ์เหนือความคาดหมายให้แก่ผู้คนทั้งในประเทศและจากทั่วโลก พร้อมทั้งสร้างสรรค์และพัฒนาธุรกิจที่มีคุณค่าและมีความหมายต่อทุกคน   
อย่างไรก็ตาม การจะสร้างอิมแพกต์ระดับประเทศนี้ สยามพิวรรธน์ ไม่ได้ทำเพียงลำพัง
แต่อาศัยการผนึกกำลังกับภาครัฐ เอกชน และชุมชน เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ ดิไซเนอร์ เยาวชน ผู้พิการ เด็กพิเศษ และผู้ด้อยโอกาส มาเป็นพลังสำคัญในการทลายทุกขีดจำกัด สร้างบรรทัดฐานใหม่ของความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่า
คุณสุทธิรัตน์ เผยว่า ด้วยวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นนี้เอง ที่ผ่านมา จะเห็นว่าสยามพิวรรธน์ ได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและประเทศสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นแพลตฟอร์มแห่งโอกาสที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมบนเส้นทางสู่ความสำเร็จที่มั่นคง อย่างเป็นรูปธรรมมากมาย
หนึ่งในผลงานที่โดดเด่น คือ สุขสยามและไอคอนคราฟต์ ที่ได้สร้างประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain)  
ครอบคลุมกว่า 21,000 แบรนด์และชุมชน สร้างรายได้มากกว่า 14,500 ล้านบาท ส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทย
เฉพาะในปีที่ผ่านมา ได้เปิดตลาดในประเทศเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น  สร้างโอกาสให้คนไทยได้ไปขยายธุรกิจและเติบโตในเวทีโลก  
ใครที่สงสัยว่า สุขสยามและไอคอนคราฟต์ทำอย่างไร ?
ต้องบอกว่า ทั้งสุขสยามและไอคอนคราฟต์ ล้วนตั้งอยู่ในไอคอนสยาม
โดยสุขสยามเป็นผลงานการทำงานร่วมกับกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เพื่อเปิดเวทีที่สร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อยระดับท้องถิ่นจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย  
ด้วยการรวบรวมสิ่งดีงามจากทั่วประเทศไทยมานำเสนอสู่สายตาชาวโลก การสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem Business Model) ที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ 
ปัจจุบันสุขสยามกลายเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่ดึงดูดผู้มาเยือนวันละกว่า 60,000 คน สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการนับถึงวันนี้ได้กว่า 5,000 ราย สร้างรายได้กว่า 4,000 ล้านบาท 
ขณะที่ไอคอนคราฟต์ ทำงานร่วมกับหลายองค์กร อาทิ กระทรวงพาณิชย์, สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ SACIT, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ในการบ่มเพาะผู้ประกอบการ และสถาบันการศึกษา อย่าง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สร้างพื้นที่แห่งแรงบันดาลใจที่รวบรวมงานนวัตศิลป์และงานคราฟต์ แบบร่วมสมัยหลากหลายประเภทไว้ในที่เดียว เปิดโอกาสให้ช่างฝีมือไทย ดิไซเนอร์ และผู้ประกอบการ SME เข้ามาค้าขายในไอคอนคราฟต์ 
สุขสยามและไอคอนคราฟต์ ถือว่าเป็นอีกบทพิสูจน์ความสำเร็จในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าที่เป็นงานฝีมือและภูมิปัญญาไทย และเป็นการช่วยอนุรักษ์ช่างฝีมือไทยและศิลปิน กว่าหลายพันคน 
นอกจากสุขสยามและไอคอนคราฟต์ ถ้าแวะมาที่สยามดิสคัฟเวอรี่ จะพบกับ O.D.S. หรือ Objects of Desire Store ร้านมัลติแบรนด์ที่เป็นแหล่งรวมสินค้าตกแต่งบ้านที่ได้รางวัล
ส่วนที่สยามเซ็นเตอร์ ยังมี ABSOLUTE SIAM STORE ร้านมัลติแบรนด์แฟชั่นที่รวมแบรนด์ไทยดิไซเนอร์ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ 
โดยคัดเลือกสินค้าจากโครงการ DEmark, Talent Thai และอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์และงานออกแบบที่โดดเด่นของดิไซเนอร์ไทยที่สะท้อนภาพลักษณ์ของความเป็นไทย เพื่อให้ทั่วโลกได้มาสัมผัสและเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าไปยังต่างประเทศ 
รวมทั้งร่วมมือกับหอการค้าไทยในโครงการ Big Brother เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ SME ผ่านกระบวนการ Coaching & Mentoring แบบตัวต่อตัว  
อย่างไรก็ตาม ผลงานทั้งหมดนี้ ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งมาเริ่มลงมือทำ แต่สยามพิวรรธน์ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนแนวคิดเรื่องความยั่งยืนมายาวนาน
ยกตัวอย่างสยามเซ็นเตอร์ นับตั้งแต่เริ่มต้นก็มีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนไทยดิไซเนอร์และธุรกิจออกแบบแฟชั่นของไทย 
จึงริเริ่มให้มีการจัดประกวด Young Designer จนแจ้งเกิดในฐานะนักออกแบบแฟชั่นชั้นแนวหน้าของเมืองไทยที่ดังไปไกลทั่วโลก 
ปัจจุบันยังกลายเป็นศูนย์รวม Soft Power ที่ผนึกกำลังแบรนด์ชั้นนำ พันธมิตรทั้งไทยและต่างประเทศ มาร่วมกันสร้างสรรค์แฟชั่น ศิลปะ และวัฒนธรรมไทยในรูปแบบร่วมสมัย
อีกทั้งยังเปิดเวทีให้นักออกแบบรุ่นใหม่ เยาวชน และกลุ่ม LGBTQ+ ได้เปล่งประกาย ร่วมผลักดัน “ไทยสร้างสรรค์” หรือ Creative Thai ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลอีกด้วย
นอกจากการเป็นแพลตฟอร์มแห่งโอกาส ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ช่างฝีมือไทย
สยามพิวรรธน์ ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความเจริญให้กับชุมชนโดยรอบโครงการ
ด้วยความเชื่อที่ว่า เมื่อสยามพิวรรธน์ได้เข้าไปพัฒนาธุรกิจในพื้นที่ใดจะต้องนำความเจริญ และความสะดวกสบายเข้าไปช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชนหรือสังคมนั้น 
นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม ในทุกพื้นที่โดยรวมของโครงการที่สยามพิวรรธน์เข้าไปดำเนินธุรกิจ จะไม่ได้มองแค่ผลประโยชน์ในมุมธุรกิจ แต่จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาและสร้างคุณค่าให้กับชุมชนที่อยู่รายล้อม
เริ่มต้นจากการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน
ขณะเดียวกันยังคำนึงถึงการสร้างความเท่าเทียมในสังคม เริ่มจากเรื่องใกล้ตัว อย่างการสร้างพื้นที่ด้วยแนวคิดอารยสถาปัตย์ (Universal Design) ในอาคารอย่างครบวงจรเป็นรายแรกในวงการอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีก เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทุกคน โดยเฉพาะผู้พิการและผู้ทุพพลภาพรวมถึงผู้สูงอายุ 
นอกเหนือจากการดำเนินการในมิติสังคมอย่างเข้มข้น สยามพิวรรธน์ยังมุ่งมั่นสร้างโลกที่น่าอยู่
ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ ให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 
โดยมีการวางโรดแม็ปที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม เห็นได้จาก การออกแบบสยามดิสคัฟเวอรี่ให้เป็นต้นแบบของแนวคิดของโครงการที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม
พร้อมสร้างแบรนด์ Ecotopia ให้เป็นพื้นที่แห่งแรงบันดาลใจ เพื่อคนที่ใส่ใจในการรักษ์โลก และใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม   
มาถึงตรงนี้ คงหายข้องใจแล้วว่า ทำไม “วิถีสยามพิวรรธน์” ถึงไม่ได้เป็นแค่แนวคิดในการสร้างความยั่งยืน
แต่ลงลึกไปถึงการเป็นแพลตฟอร์มแห่งโอกาส ที่พร้อมเปิดกว้างและเป็นผู้ส่งต่อแรงบันดาลใจ และผู้นำในการขับเคลื่อนธุรกิจที่สร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้กับสังคม ประเทศ และโลกใบนี้​ 
ที่สำคัญ คือ ไม่ได้ตอบโจทย์แค่วันนี้ แต่พร้อมตอบโจทย์อนาคต ได้อย่างแท้จริง
จากนี้ ก็น่าติดตามว่า หลังจากนี้ ภายใต้ “วิถีสยามพิวรรธน์” จะต่อยอดแพลตฟอร์มแห่งโอกาสให้ไม่สิ้นสุดอย่างไร..
© 2025 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.