“Stay-at-Home Son” เมื่อเด็กอเมริกันจบใหม่ไม่ถูกจ้างงาน กลับมาอยู่บ้านพ่อแม่ ตอบโจทย์กว่า
Economy

“Stay-at-Home Son” เมื่อเด็กอเมริกันจบใหม่ไม่ถูกจ้างงาน กลับมาอยู่บ้านพ่อแม่ ตอบโจทย์กว่า

13 ก.ค. 2025
“Stay-at-Home Son” เมื่อเด็กอเมริกันจบใหม่ไม่ถูกจ้างงาน กลับมาอยู่บ้านพ่อแม่ ตอบโจทย์กว่า /โดย ลงทุนเกิร์ล
ในวัฒนธรรมอเมริกัน พ่อแม่ส่วนใหญ่จะสอนให้ลูกพึ่งพาตนเอง หลังจากอายุ 18 ปี พ่อแม่มักจะไม่เข้าไปซัปพอร์ตด้านการเงินใด ๆ แต่ปล่อยให้ลูกใช้ชีวิตด้วยตัวเอง
แต่ปัจจุบัน เรากลับเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสังคมอเมริกัน ตัวเลขในตลาดแรงงานสหรัฐฯ พบว่า อัตราการว่างงานโดยรวมอยู่ที่ 4.2%
ซึ่งในกลุ่มคนอายุ 20-24 ปี กลับมีอัตราการว่างงานที่สูงถึง 8.2% และที่น่าสนใจคือในช่วงวัยดังกล่าวคิดเป็นกลุ่มคนเพศชายถึง 9.6%
เมื่อเด็กจบใหม่หางานได้ยากขึ้นกลายเป็นว่า พวกเขาเลือกที่จะกลับไปอาศัยอยู่บ้านกับพ่อแม่ แทนที่จะออกไปเริ่มต้นชีวิตทำงานเต็มตัว และทำให้ “Stay-at-Home Son” กลายเป็นวลีที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงนี้
เรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
วลี Stay-at-Home Son แปลตรงตัวว่า “ลูกผู้ชายที่อยู่กับบ้าน” ถูกบัญญัติในพจนานุกรม Urban Dictionary ในปี 2007 โดยมีความหมายในเชิงลบ ดูหมิ่นผู้ชายที่ขาดแรงจูงใจในการใช้ชีวิต
โดยมักจะเป็นผู้ชายหลังเรียนจบมหาวิทยาลัยแต่ยังหางานไม่ได้ จนตกอยู่ในสถานะว่างงาน
ซึ่งส่วนใหญ่สังคมมักมองว่าเป็นกลุ่มผู้ชายที่ใช้ชีวิตว่างไปวัน ๆ หรือกระทั่งอาจเป็นภาระให้กับครอบครัว
แต่ในอีกแง่มุมที่ต่างกัน การที่ลูกกลับมาอาศัยอยู่บ้านกับพ่อแม่ สามารถตอบโจทย์เรื่องค่าใช้จ่ายที่ราคาสูง เมื่อต้องออกไปใช้ชีวิตคนเดียว เช่น ค่าเช่าห้องและค่าสาธารณูปโภคอื่น ๆ
และไม่ใช่ว่า Stay-at-Home Son ทุกคน จะต้องเป็นคนไม่เอาไหนเสมอไป เพราะมีตัวอย่างที่น่าสนใจของชายว่างงานในสหรัฐฯ ที่แม้จะอยู่บ้านเฉย ๆ ก็หาช่องทางทำเงินได้
อย่างเช่น คุณ Brendan Liaw ชายอายุ 27 ปี ที่มีปริญญาโทสาขารัฐศาสตร์ และกำลังเตรียมสอบ LSAT ซึ่งเป็นการทดสอบเพื่อศึกษาต่อด้านกฎหมาย
แม้จะเป็นชายว่างงานที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่ แต่ในแต่ละวัน คุณ Liaw ก็ใช้เวลาไปกับการฝึกทักษะต่าง ๆ เช่น การฝึกตอบคำถามเพิ่มความรู้ จากรายการเกมโชว์ที่เขาชื่นชอบอย่าง Jeopardy
จนกระทั่งวันหนึ่ง เขาได้เป็นผู้เข้าแข่งขันในรายการ ด้วยความที่คุณ Liaw มีความรู้กว้างขวาง ทำให้เขาสามารถคว้าเงินรางวัลเกือบ 2 ล้านบาท ซึ่งเปรียบเทียบกับคนอเมริกันทำงานหาเงินได้ใน 1 ปี
โดยคุณ Liaw ให้ความเห็นว่าสำหรับเขาแล้ว Stay-at-Home Son เป็นการพูดล้อเล่นแบบขำขัน และฟังดูดีกว่าคำว่า Unemployed หรือ คนว่างงาน เพราะช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจยากลำบาก ผู้คนอาจต้องหาเรื่องขำขันในชีวิตบ้าง
ในระยะยาว เขาใฝ่ฝันที่จะทำงานในรัฐสภา และไม่ขัดข้องที่จะเลื่อนแผนเรียนโรงเรียนกฎหมายไปก่อน ซึ่งเขาก็รู้สึกไม่สบายใจถ้าแค่นอนเฉย ๆ ทั้งวัน คุณ Liaw จึงเลือกทำตัวให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
มาที่อีกหนึ่งตัวอย่างคือ คุณ Abdullah Abbasi ชายอายุ 24 ปี ที่สร้างรายได้จากธุรกิจสินค้าไลฟ์สไตล์ ร่วมกับเพื่อนอีก 2 คน ขายสินค้า เช่น เสื้อยืด, หมวก และเสื้อฮูดดี
ภายใต้ชื่อแบรนด์ที่สื่อความหมายโดยตรงว่า Stay At Home Sons โดยมีกิมมิกอยู่ที่การปักสโลแกนบนสินค้า ด้วยวลีแบบขำขัน เช่น “Doing nothing is hard” และ “Trust the fund”
แต่ต้องบอกว่ากรณีของคุณ Abdullah แตกต่างจากคุณ Liaw ตรงที่เขาเกิดในบ้านที่มีฐานะร่ำรวย บัญชี Instagram ของพวกเขา เต็มไปด้วยรูปเครื่องบินส่วนตัว และรถยนต์เฟอร์รารี พร้อมแฮชแท็กอย่าง #oldmoney #richlife และ #wealth
อย่างไรก็ตามคุณ Abdullah ก็ตั้งใจสร้างแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ของตัวเอง เพื่อให้เป็นแรงบันดาลใจกับผู้คนที่กลับมาอยู่บ้าน เพื่อลบคำสบประมาทจากสังคมที่มักมองว่า การอยู่บ้านกับพ่อแม่เป็นเรื่องน่าอาย
เขามีความคิดเห็นว่า เส้นทางสู่ความสำเร็จไม่จำเป็นต้องหมายถึงการย้ายออกจากบ้านตอนอายุ 18 ปี และใช้ชีวิตอย่างอิสระเสมอไป
เพราะการได้กลับมาใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวเป็นเรื่องที่เขามีความสุขที่สุด และเรื่องนี้ก็ไม่จำเป็นต้องไปขอโทษใคร
นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าเขาจะมีฐานะทางการเงินที่ดี แต่คุณ Abdullah ก็ไม่ได้ใช้ชีวิตแบบผลาญเงินพ่อแม่ไปวัน ๆ เพราะเขาเลือกเรียนออนไลน์แบบพาร์ตไทม์ และช่วยเหลือธุรกิจของครอบครัวในเวลาว่าง ซึ่งถือเป็นอีกตัวอย่างของการใช้ช่วงเวลาที่อยู่บ้านให้เป็นประโยชน์
อ่านมาถึงตรงนี้เราจะเห็นว่า การกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านพ่อแม่ในช่วงว่างงาน อาจไม่ใช่เรื่องเลวร้าย และเสียเวลาชีวิตเสมอไป เพราะเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการยอมรับและการพูดคุยกันภายในครอบครัว
ซึ่งไม่แน่ว่าอาจเป็นช่วงเวลาที่อาจช่วยให้หลายคนได้อยู่กับตัวเอง ได้กลับมาใช้เวลาแบ่งปันความสุขกับคนในครอบครัว หรือใช้ช่วงเวลานี้ในการเตรียมตัว และวางแผนเพื่ออนาคตที่ดีกว่าได้..
References :
Businessinsider, WSJ
© 2025 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.