กรณีศึกษา AMOR ร้านเค้กร้อยล้าน ที่เกิดจาก “โชคชะตา”
Business

กรณีศึกษา AMOR ร้านเค้กร้อยล้าน ที่เกิดจาก “โชคชะตา”

28 ธ.ค. 2020
กรณีศึกษา AMOR ร้านเค้กร้อยล้าน ที่เกิดจาก “โชคชะตา” /โดย ลงทุนเกิร์ล
ลองจินตนาการว่า เราเพิ่งเรียนจบมาได้ไม่นาน 
ได้ก้าวเข้าสู่สายอาชีพที่อนาคตไกล จนถึงขั้นได้ไปทำงานไกลถึงต่างประเทศ
แต่ขณะที่กำลังไปได้ดี กลับต้องเจออุบัติเหตุที่ทำให้ทุกอย่างต้องสะดุด
ถ้าเป็นตัวเรา จะตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตอย่างไรต่อ?
เรื่องนี้เกิดขึ้นมาแล้วกับคุณมล หรือคุณพักตร์พิมล วรรณเจริญ
ซึ่งตอนนั้นเธอเป็นเพียงคนอายุ 24 ปี เพิ่งจบจากคณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ 
และได้ทำงานเป็นวิศวกรประจำแท่นขุดเจาะน้ำมันในประเทศโอมาน 
แต่แล้วเธอกลับประสบอุบัติเหตุทำให้กระดูกหักจนต้องหยุดงาน และกลับมาพักฟื้นร่างกาย
อย่างไรก็ตามเรื่องนี้กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ AMOR 
ร้านขนมคนไทย ที่มีรายได้ทะลุร้อยล้าน.. 
คุณมลมองว่า ในอีกมุมหนึ่งอุบัติเหตุในครั้งนั้น ก็ถือเป็นความโชคดี 
เพราะทำให้เธอค้นพบว่าตัวเองชอบอะไร และได้ลองทำตั้งแต่อายุยังน้อย
โดยในระหว่างที่คุณมลกลับมาพักฟื้นร่างกายที่ไทย เธอและพี่สาวก็เกิดความคิด ที่จะเปิดร้านขายขนม
เนื่องจากคุณมล และพี่สาว เป็นคนที่ชอบทานขนมด้วยกันทั้งคู่อยู่แล้ว
และในตอนนั้น แม้จะเริ่มมีร้านขนมราคาแพงๆ 
แต่ทั้งสองกลับรู้สึกว่ารสชาติมันยังไม่ได้เข้มข้นในแบบที่เธอชอบ
ซึ่งถ้าสามารถทำเค้กรสชาติดี และขายในระดับราคาที่จับต้องได้ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ลูกค้า และที่สำคัญขนมหวาน ยังเป็นสิ่งที่ทานแล้วมีความสุข 
คุณมลจึงปรึกษากับพี่สาว และตัดสินใจเปิดร้านด้วยกัน
ที่น่าสนใจคือ ตอนคิดที่จะเปิดร้าน คุณมลและพี่สาวก็ทำขนมไม่เป็น 
ทั้งสองจึงเริ่มจากการเปิดสูตรในอินเทอร์เน็ต 
และนำมาปรับอยู่หลายครั้ง กว่าจะได้รสชาติที่ต้องการจริงๆ
คอนเซปต์การทำธุรกิจของคุณมล ค่อนข้างง่ายไม่ซับซ้อน คือ ชอบอะไรก็ขายอย่างนั้น
เพราะเธอมองว่าความอร่อยของแต่ละคนแตกต่างกัน 
ดังนั้นเธอและพี่สาว จึงตัดสินใจด้วยตัวเองเป็นหลัก ว่ารสชาติที่ดีควรจะเป็นอย่างไร
AMOR จึงกลายเป็นธุรกิจที่เกิดจากความชอบ 
ทานอะไรแล้วมีความสุข ก็เลยขายสิ่งนั้น
หลังจากที่สูตรขนมเริ่มคงที่ พี่สาวของคุณมลก็เริ่มนำไปให้คนรู้จักชิมก่อน
ซึ่งก็มีคนชอบ และสั่งซื้อเข้ามาบ้าง
ก่อนจะได้ไปออกบูท ที่บริษัทของพี่สาวโดยบังเอิญ
แม้จะไปออกร้านเพียงครึ่งวัน แต่ก็ทำให้เห็นว่ามีลูกค้าให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก
และเมื่อเห็นว่าธุรกิจไปต่อได้ ทั้งสองจึงตัดสินใจที่จะเต็มที่กับมัน
แม้แต่พี่สาวของคุณมล ที่ตอนนั้นทำงานในบริษัทกองทุนต่างประเทศ 
ก็ลาออกมาหลังจาก AMOR เปิดร้านสาขาแรกได้ไม่นาน เพื่อมาทำธุรกิจด้วยกันอย่างเต็มตัว
AMOR เริ่มเปิดหน้าร้านสาขาแรกในช่วงปลายปี 2551 โดยตั้งอยู่ที่เซ็นทรัล พระราม 3 
ซึ่งหลังจากเปิด ก็ได้รับเสียงตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี
จนมีศูนย์การค้าอื่นๆ ติดต่อมาเสนอพื้นที่ให้เช่าภายในเวลาไม่กี่เดือน 
โดยปัจจุบัน AMOR สามารถขยายร้านไปได้ถึง 30 สาขาแล้ว
เคล็ดลับความสำเร็จของ AMOR คืออะไร?
คำตอบของคุณมล ก็ยังคงไม่ซับซ้อนอีกเช่นเคย 
นั่นคือ “ใช้ของดี การให้บริการดี ราคาจับต้องได้” 
และเมื่อประสบการณ์ที่ลูกค้าได้ คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป สุดท้ายลูกค้าก็จะกลับมาซื้อซ้ำเอง
ด้วยหลักการนี้แม้ว่าจะทำให้อัตรากำไรของ AMOR ค่อนข้างต่ำ
แต่คุณมลก็พอใจ เพราะถือว่าได้ส่งมอบสิ่งดีๆ ให้กับลูกค้า 
ในขณะที่เธอเองก็อยู่ได้ โดยเน้นไปที่การขายในปริมาณมากๆ แทน
นอกจากนั้นอาจจะด้วยความที่คุณมล และพี่สาว 
เรียนจบจากด้านวิศวกรรมศาสตร์มาทั้งคู่
จึงทำให้ทั้งสองถูกปลูกฝังวิธีคิดอย่างเป็นระบบมาโดยตลอด
เวลาจะคิดทำอะไร จึงต้องพิจารณาว่าวิธีไหนทำแล้วจะให้ประสิทธิภาพสูงสุด
ทำอย่างไร เพื่อให้ทำงานได้ง่ายขึ้น และมีการนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ตั้งแต่ต้น 
อย่างเรื่องการจัดสต็อกสินค้า ก็มีการเก็บข้อมูลการขายสินค้าแต่ละชนิด
แล้วมาประมาณการจำนวนการผลิต เพื่อให้มีของเสียน้อยที่สุด
หรือในเรื่องของการควบคุมคุณภาพสินค้า AMOR ก็เลือกที่จะผลิตจากครัวกลาง 
ซึ่งปัจจุบันขนมทุกชิ้น ยังต้องผลิตด้วยมือเป็นส่วนใหญ่
จึงไม่สามารถทำให้ขนมแต่ละชิ้นเหมือนกันแบบ 100% ในทุกๆ ครั้งได้
แต่จะมีการกำหนดเป็นเกณฑ์มาตรฐาน ที่สามารถยอมรับได้แทน
ซึ่งเรื่องนี้นอกจากฝ่ายผลิตแล้ว ฝั่งพนักงานหน้าร้านก็มีส่วนร่วมด้วย
โดยจะเป็นคนที่ดูว่าสินค้า ตรงตามคุณภาพก่อนที่จะส่งต่อให้กับลูกค้าหรือไม่
และถ้าลูกค้าไม่พอใจ ก็มีการมอบอำนาจการตัดสินใจในการจัดการ เช่น การเปลี่ยนสินค้า ให้กับลูกค้า เพื่อการแก้ปัญหาที่รวดเร็วและทันท่วงที
สิ่งสำคัญคือการรู้ว่า “หัวใจ” ของธุรกิจเราคืออะไร 
อย่างคุณมลให้ความสำคัญกับ “คุณภาพสินค้าและบริการ” มากที่สุด
เพราะเป็นสิ่งที่ลูกค้ายอมจ่ายเงินมา 
ดังนั้นถ้าเกิดปัญหาทำให้คุณภาพสินค้าไม่ได้ตามที่กำหนด 
เธอก็เลือกที่จะไม่ขายเสียเลยดีกว่า
แล้ว AMOR ขายดีแค่ไหน?
ผลประกอบการของ บริษัท โมทนา ควอลิตี้ ฟู้ด จำกัด
ปี 2560 รายได้ 154,572,870 บาท
ปี 2561 รายได้ 159,262,778 บาท
ปี 2562 รายได้ 157,275,029 บาท
แม้ว่าถ้าดูจากยอดขายของ AMOR ในตอนนี้ ก็จะเห็นว่าเริ่มคงที่แล้ว
รวมถึงไม่ค่อยได้มีการขยายสาขาเพิ่มเติม แต่ก็ยังสามารถรักษายอดขายให้อยู่ในระดับ 150 ล้านบาทได้
และ เรื่องนี้กลับเป็นความต้องการของคุณมลเอง 
เพราะแม้จะไม่ได้ขยับขยาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า AMOR จะหยุดพัฒนา
เพราะคุณมลก็มองว่า ธุรกิจยังมีมุมอื่นให้พัฒนาอีกมาก
อย่างสินค้า บริการ หรือความสุขของพนักงาน
จริงๆ แล้วคุณมล บอกว่า มีโอกาสทางธุรกิจที่เข้ามาเรื่อยๆ 
แต่เนื่องจากเป้าหมายของเธอไม่ใช่เรื่องยอดขายเป็นหลัก 
เธอจึงรู้สึกพอใจแล้วกับขนาดของ AMOR ในวันนี้ 
เป้าหมายของคุณมล จึงไม่ได้อยู่ที่จะขยายธุรกิจจนใหญ่โต 
เพราะเท่าที่เป็นอยู่นี้ก็ทำให้เธอเพียงพอต่อการดำเนินชีวิตแล้ว
และ AMOR ไม่จำเป็นต้องเป็นร้านขนมที่ใหญ่ที่สุด
แต่เป็นร้านขนมที่ดีที่สุดในใจของลูกค้าต่างหาก
ก่อนจบคุณมล ยังฝากข้อคิดถึงคนที่ฝันอยากจะมีธุรกิจของตัวเองด้วยนะคะ
ข้อแรกคือต้องมี “ความชอบ ความตั้งใจ และความเชื่อ” 
อย่างตอนแรกที่คุณมลและพี่สาวตัดสินใจลาออกมาทำธุรกิจอย่างเต็มตัว 
คุณแม่ ก็ไม่เห็นด้วยเพราะมองว่ามีความเสี่ยงสูง กว่าการทำงานประจำ
แต่เมื่อทั้งสองเห็นว่าเป็นโอกาส ก็ไม่อยากจะปล่อยให้มันหลุดมือ
ซึ่งสมมติว่าล้มเหลว พวกเธอก็แค่กลับไปทำในสายอาชีพเดิมก็เท่านั้น
สิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจในเรื่องต่อมา ก็คือ
ความต่างของการเป็นพนักงานประจำ กับเจ้าของธุรกิจ 
งานของพนักงานประจำเมื่อเลิกงานหรือทำเสร็จแล้วก็คือจบ
แต่สำหรับเจ้าของธุรกิจ งานกลับเป็นเหมือนทุกลมหายใจของเธอ
พอเห็นอะไร ก็ต้องคอยคิดว่าจะสามารถนำมาปรับใช้กับร้านของตัวเองได้หรือไม่
ซึ่งแม้ว่าวันนี้ธุรกิจจะเริ่มอยู่ตัวจนคุณมลไม่ต้องลงแรงมากเท่าเมื่อก่อน
แต่ก็ยังต้องลงสมอง และลงใจเท่าเดิม เพราะเธอมองว่า AMOR เป็นเหมือนลูก 
เวลาเห็นอะไรดีๆ ก็ยังทำให้คิดถึงลูกคนนี้อยู่เสมอ
ที่สำคัญ คือ “อย่าเพิ่งท้อ” เพราะการทำธุรกิจ เป็นเรื่องปกติที่จะมีปัญหาเข้ามาตลอด 
และหน้าที่ของเรา ก็คือการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น 
ซึ่งถ้าเราทำดีที่สุดแล้วและยังแก้ไขไม่ได้ ก็ต้องยอมรับผล เพราะเราไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้
ดังนั้นแม้จะผิดหวัง แต่เราต้องเดินหน้าต่อไป เพราะยังมีปัญหาอยู่อีกมาก ที่รอเราไปแก้ไข
การเริ่มธุรกิจไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่ทำของออกมาและตั้งราคา 
สิ่งที่ยากคือ เราจะขายต่อไปได้หรือไม่ 
หรือขายแล้ว เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้หรือไม่
ซึ่งสุดท้ายแล้วคำตอบที่เราต้องค้นหาคือ 
ประโยชน์ที่จะทำให้กับลูกค้าคืออะไร และเราทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร  
เพราะหากเราหาคุณค่าในงานของเราเจอ เราก็จะมีความสุข
และสิ่งนี้เอง คือสิ่งที่ทำให้เราอยากจะตื่นมาทำงานทุกวัน..
References:
-สัมภาษณ์ตรงกับคุณพักตร์พิมล วรรณเจริญ เจ้าของร้าน AMOR
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.