Roast Runner โรงคั่วกาแฟ ที่เปลี่ยน “ความหลงใหล” ให้เป็น “ธุรกิจ”
LifestyleInspirationBusiness

Roast Runner โรงคั่วกาแฟ ที่เปลี่ยน “ความหลงใหล” ให้เป็น “ธุรกิจ”

10 ม.ค. 2021
Roast Runner โรงคั่วกาแฟ ที่เปลี่ยน “ความหลงใหล” ให้เป็น “ธุรกิจ” /โดย ลงทุนเกิร์ล 
คงไม่น่าแปลกใจนัก ถ้าคนที่ชอบดื่มกาแฟ จะมีความฝันอยากเป็นเจ้าของร้านกาแฟ 
และในปัจจุบัน ภาพนั้นก็เกิดขึ้นแล้ว เพราะเราสามารถเห็นร้านกาแฟได้ทั่วทุกหัวมุมถนน
ซึ่งส่วนใหญ่ ก็จะใช้จุดขายเป็นร้านหรือเมนูสวยๆ ที่ถ่ายรูปได้
แต่ไม่ใช่กับ Roast Runner ร้านกาแฟที่ไม่ได้เปิดอยู่ในเมือง 
ไม่ได้เน้นการตกแต่งร้าน หรือเมนูที่หน้าตาหวือหวา
อย่างไรก็ตามภายในร้านที่ดูธรรมดานี้ จริงๆ แล้วทำหน้าที่เป็นเหมือนสถานที่สำหรับแสดงสินค้าเท่านั้น
เพราะธุรกิจหลักของ Roast Runner ไม่ใช่ร้านกาแฟ แต่เป็น “โรงคั่วกาแฟ”
ซึ่งก็ไม่ใช่เมล็ดกาแฟธรรมดา เพราะมีดีกรีอยู่ในระดับ “Specialty Coffee”
Specialty Coffee คืออะไร? 
และเรื่องราวของ Roast Runner น่าสนใจอย่างไร? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟังค่ะ
โรงคั่วกาแฟ Roast Runner เริ่มขึ้นจากการรวมตัวของ 3 เพื่อนสนิท ในปี 2559 
คุณ-แชมป์ วรุตม์ ตั้งสุริยาไพศาล ผู้เป็นบาริสต้าและนักชิมกาแฟ
คุณแท๊ป-ธนทัต สมบัติพานิช ผู้ควบคุมด้านการคั่วกาแฟ
และคุณกร-ปกรณ์ สุนทรญาณกิจ ที่ดูแลทางด้านการผลิต 
ถึงแม้ทั้ง 3 คนจะมีความถนัดที่แตกต่างกัน แต่กลับมีความชอบที่คล้ายกันนั่นก็คือ “การดื่มกาแฟ”
โรงคั่วกาแฟแห่งนี้จึงเริ่มต้นจากความชอบ จากนั้นจึงค่อยๆ พัฒนาสู่ธุรกิจอย่างจริงจัง
ย้อนกลับไปสมัยที่พวกเขาเพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยใหม่ๆ 
ต่างคนก็ต่างออกไปทดลองทำอาชีพอื่นๆ และทิ้งให้กาแฟเป็นเพียงงานอดิเรก
แต่สุดท้ายพวกเขาก็ค้นพบว่า ความชอบกาแฟไม่ลดน้อยลงเลย
อย่างทางด้านคุณแชมป์เอง หลังเรียนจบก็ได้เริ่มศึกษาวิธีชงกาแฟอย่างจริงจัง 
ทั้งเรียนรู้ด้วยตัวเอง และเริ่มทดลองเป็นบาริสต้าตามร้านกาแฟ
เรียนรู้กับผู้นำด้านกาแฟของไทย หรือแม้แต่ไปตามโรงคั่วกาแฟต่างๆ
และนั่นก็ทำให้เขารู้ว่า การเปิดร้านกาแฟคืออาชีพที่พวกเขาอยากทำ  
พวกเขาจึงกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง 
แม้ว่าจุดเริ่มต้นของ “Roast Runner” จะไม่ต่างจากร้านทั่วไป ที่มาจากคนที่ชอบดื่มกาแฟ 
แต่ความแตกต่างอยู่ที่ Roast Runner มุ่งมั่นที่จะทำร้านกาแฟแบบ “Specialty Coffee”
ซึ่งในสมัยนั้น กาแฟแบบนี้ ยังไม่เป็นที่นิยม และคนส่วนใหญ่ก็แทบไม่รู้จัก
แล้ว Specialty Coffee คืออะไร? 
Specialty Coffee ถ้าแปลตรงตัวก็คือ “กาแฟสุดพิเศษ”
ซึ่งกาแฟประเภทนี้ก็พิเศษจริงๆ ตามชื่อของมัน
ทั้งการคัดสรรเมล็ดกาแฟ และวิธีการนำเสนอกาแฟให้กับลูกค้า
ที่ต้องผ่านกระบวนการผลิตที่พิถีพิถัน และได้รับการทดสอบกลิ่นและรสชาติจากนักชิมกาแฟผู้เชี่ยวชาญ
อย่างไรก็การเปิดโรงคั่วกาแฟ Specialty ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย 
เพราะกาแฟที่มีความเฉพาะตัวมากๆ อย่าง Specialty Coffee เป็นเรื่องแปลกใหม่มากในสมัยนั้น
ดังนั้นการที่จะทำให้ลูกค้าเข้าใจถึงกาแฟประเภทนี้ ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก
ถึงแม้คุณแชมป์จะสั่งสมประสบการณ์ในวงการกาแฟมานานพอสมควร 
แต่ตอนที่เริ่มเปิดร้านใหม่ๆ พวกเขาก็มีอายุเพียงแค่ 23 ปี ทำให้ยังคงเป็นหน้าใหม่ในวงการธุรกิจกาแฟ 
รวมทั้งหากพูดถึงโรงคั่วกาแฟในสมัยนั้น ผู้คนมักจะนึกถึงแต่โรงคั่วกาแฟขนาดใหญ่ซะมากกว่า
ทำให้บางคนอาจไม่ยอมเปิดใจที่ลองชิมกาแฟของพวกเขา
แล้วอะไรทำให้ Roast Runner ตัดสินใจเปิดร้านแบบ Specialty Coffee?
โดยความตั้งใจหลักของร้าน Roast Runner คือ การสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า
ด้วยความที่ทั้ง 3 คนผ่านประสบการณ์ดื่มกาแฟจากหลายประเทศ 
และได้ค้นพบว่ากาแฟแต่ละประเทศมีจุดเด่นรวมถึงรสชาติที่แปลกใหม่แตกต่างกัน  
เขาจึงอยากเปิดโอกาสให้คนไทย ได้สัมผัสกับกาแฟที่ดีจากทั่วทุกมุมโลก
และได้เริ่มสืบเสาะหาเมล็ดกาแฟสายพันธ์ุแปลกๆ มาขายให้กับลูกค้า 
แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่จะทำให้คนไทยหันมาดื่มกาแฟ ที่ค่อนข้างแฟนซีในสมัยนั้น
เพราะราคาที่ค่อนข้างสูง บวกกับไม่ตรงรสนิยมการดื่มของคนไทย
อย่างครั้งแรกที่พวกเขาไปออกบูทขายกาแฟที่งาน Thailand Coffee Fest 
พวกเขาก็ต้องใช้เวลานานในการอธิบายเอกลักษณ์ของกาแฟ Specialty 
ที่มีองค์ประกอบยิบย่อยให้ลูกค้าเข้าใจ
ซึ่งพวกเขาก็รู้อยู่แล้วว่าการนำเสนอกาแฟประเภทนี้ คนส่วนมากอาจไม่เข้าใจ
จึงต้องคิดรูปแบบการนำเสนอสินค้าให้ดูน่าสนใจกว่าร้านอื่นๆ
อย่างเช่น การอธิบายเมล็ดกาแฟที่มีให้เลือกมากกว่า 10 สายพันธุ์  
หรือแม้แต่สอนวิธีการชงกาแฟให้ลูกค้าเข้าใจ ว่าหากซื้อสินค้าของเขาไปแล้วจะได้รับอะไรบ้าง
แม้ว่าการที่จะทำให้ลูกค้าเข้าใจถึงกาแฟ Specialty เป็นเรื่องยาก
แต่ทั้ง 3 คนก็ยังไม่ละทิ้งความพยายาม ที่จะคอยให้ความรู้เกี่ยวกับกาแฟ Specialty อย่างไม่รีบร้อน โดยมีความเชื่อมั่นว่ากาแฟสุดพิเศษนี้จะสามารถขายได้
และแล้วความพยายามของพวกเขาก็ไม่ไร้ความหมาย.. 
เพราะร้าน Roast Runner ได้เติบโตไปพร้อมกับกระแสความนิยมของกาแฟ
จึงใช้เวลาเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น แบรนด์ก็เป็นที่รู้จักในวงกว้าง 
และเริ่มเห็นได้ชัดว่าธุรกิจนี้สามารถไปต่อได้
โมเดลธุรกิจของพวกเขา เน้นไปที่การขายส่งเมล็ดกาแฟ
โดยมีการใช้หน้าร้านกาแฟเล็กๆ เป็นเหมือนที่แสดงสินค้า 
เพื่อให้ลูกค้าสามารถแวะเวียนมาชิมกาแฟจากเมล็ดที่มาจากโรงคั่วของตัวเองได้
นอกจากนั้นในปี 2018 คุณแชมป์ได้ชนะการแข่งขัน Thailand National Cup Tasters Championship 
ซึ่งนอกจากจะเป็นการการันตีคุณภาพกาแฟของที่ร้านแล้ว
ยังเป็นส่วนช่วยให้การพรีเซนต์กาแฟของเขาดูมีน้ำหนักและน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นด้วย 
อ่านมาถึงตรงนี้ เริ่มสงสัยกันหรือไม่คะว่า “เมล็ดกาแฟ” ของพวกเขามีความพิเศษอย่างไร?
ด้วยความที่คุณแชมป์สั่งสมประสบการณ์ในวงการกาแฟมานาน
ทำให้เขามีคอนเนกชันกับผู้นำเข้ากาแฟคุณภาพดีจากหลายประเทศ
รวมทั้งยังสามารถติดต่อซื้อขายโดยตรงกับฟาร์มชื่อดัง ที่ผลิตเมล็ดกาแฟที่เคยใช้ในการแข่งขันระดับโลก
เมล็ดกาแฟของ Roast Runner จึงนำเข้ามาจากทั่วทุกมุมโลก 
มีทั้งเมล็ดกาแฟจากประเทศแปลกๆ ที่คนแทบไม่รู้จัก เช่น ประเทศมาลาวี
และถึงแม้ว่าจะมีเมล็ดกาแฟ ที่ปลูกโดยประเทศไทยเองก็ตาม 
พวกเขาก็สืบเสาะถึงแหล่งเพาะปลูกที่มีมาตรฐานดี
ทำให้สินค้าบางตัวของ Roast Runner มีจำนวนจำกัด
เพราะตัวเมล็ดกาแฟจะถูกคัดสรรมาอย่างพิเศษตามแต่ละฤดูกาล
และมักจะถูกขายออกหมดภายในไม่กี่สัปดาห์
ซึ่งก็ทำให้เหล่าลูกค้าประจำต้องคอยติดตามว่าทางร้านจะมีสินค้าอะไรใหม่ๆ 
เพราะไม่แน่ว่า เมล็ดกาแฟเหล่านั้นจะกลับมาขายอีกครั้งเมื่อไร
นอกจากตัวเมล็ดกาแฟแล้ว ทางร้านก็ยังมี จุดเด่นอื่นๆ ที่น่าสนใจ 
อย่างแรกคือ “แพ็กเกจจิง” ที่ถูกออกแบบได้สะดุดตา 
ซึ่งทางร้านเน้นการออกแบบฉลากด้วยรูปภาพ และสีสันของฟอนต์ในการสื่อสาร
เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจว่าเมล็ดกาแฟถูกผลิตจากไหน แม้ไม่ได้อ่านรายละเอียดเลยก็ตาม
จึงทำให้ลูกค้าเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของทางร้านได้ง่าย
และยังสร้าง “แครักเตอร์” ให้กับสินค้าอีกด้วย
ซึ่งสินค้าแต่ละตัวของทางร้านจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป
โดยจะผ่านการตั้งคำถามเสมอว่า “จะทำอย่างไรให้คนจดจำสินค้า และกลับมาซื้ออีกครั้ง”
ยกตัวอย่างเช่น “Marathon” สินค้าหลักของทางร้าน
ที่สื่อความหมายถึงเส้นชัยที่ทุกคนอยากวิ่งเข้าใส่
ก็จะเป็นเมล็ดกาแฟที่ถูกปรับเปลี่ยนไปตามแต่ละฤดู 
แต่ยังคงรักษาซิกเนเชอร์ของรสชาติไว้ตามแครักเตอร์ของมัน
ที่สำคัญชื่อ Marathon ยังสอดคล้องกับชื่อร้าน Roast Runner
ที่มาจาก We Run The Roastery ซึ่งหมายถึง การคั่วที่ไม่หยุดนิ่ง
พร้อมทั้งเน้นการทำการตลาดในออนไลน์อย่างจริงจัง 
เช่นการทำ Artwork ที่ทันสมัย และการโพสต์ที่ค่อนข้างบ่อย
เพื่อช่วยให้ลูกค้าไม่เบื่อที่จะติดตามความเคลื่อนไหวของทางร้าน 
อย่างสุดท้ายคือ การพัฒนาธุรกิจที่ชอบ “อย่างจริงจัง” 
และเมื่อการทำร้านกาแฟไม่ได้อาศัยความชอบแค่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น 
แต่ต้องคิดถึงความต้องการของผู้บริโภค มากกว่าการที่ใส่ความเป็นตัวเองลงไปทั้งหมดในสินค้า
มีการพัฒนาเมนูใหม่เสมอ เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด
หมั่นติดตาม “เทรนด์โลก” เสมอ เพื่อนำมาพัฒนาสินค้า
รวมถึงไม่หยุดพัฒนาตัวเอง ทั้งด้านการหาความรู้และเก็บประสบการณ์จากการแข่งขัน
โดยมีการเข้าร่วมการแข่งขัน และก็ได้รับชัยชนะมาหลายต่อหลายรายการ  
อย่างการแข่งขัน Thailand National Cup Tasters Championship 2020 ล่าสุดในปีนี้ 
คุณแชมป์ก็คว้ารางวัลที่ 1 และยังได้เป็นตัวแทนคนไทยไปแข่งระดับโลกอีกด้วย 
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นแรงบันดาลใจ
ให้กับคนที่กำลังจะเริ่มธุรกิจที่ตัวเองชอบ แม้ว่าตอนนี้จะเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่มก็ตาม
แต่หากเรามีความตั้งใจที่จะทำมันอย่างแน่วแน่ 
ก็คงจะประสบความสำเร็จเหมือนกับโรงคั่ว Roast Runner ได้ไม่ยาก
References:
-สัมภาษณ์โดยตรงกับคุณ แชมป์-วรุตม์ ตั้งสุริยาไพศาล หุ้นส่วน Roast Runner
-https://www.facebook.com/roastrunner
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.