กรณีศึกษา การบริหารงานของ JYP ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของเกาหลี
LifestyleEntertainmentBusiness

กรณีศึกษา การบริหารงานของ JYP ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของเกาหลี

12 ม.ค. 2021
กรณีศึกษา การบริหารงานของ JYP ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของเกาหลี /โดย ลงทุนเกิร์ล
เมื่อไม่กี่วันก่อน ถ้าพูดถึงข่าวฮิตติดเทรนด์ในโลกโซเชียล
หนึ่งในนั้นจะต้องมีเรื่องที่ สมาชิกวง GOT7 ทุกคน
ตัดสินใจไม่ต่อสัญญากับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้อย่าง JYP Entertainment
ทั้งๆ ที่การเป็นศิลปินอยู่ในค่ายดัง น่าจะเป็นความใฝ่ฝัน
และเป็นสิ่งที่หลายๆ คนต้องฝ่าฟันกว่าจะก้าวขึ้นไปถึงจุดนั้นได้
เรามาทำความรู้จักกับ JYP ค่ายเพลงรายใหญ่ของเกาหลี
และมาลองดูกันว่า ทำไมในขณะที่คนนอกอยากเข้า คนในจึงอยากออกกัน?
ลงทุนเกิร์ลจะวิเคราะห์ให้ฟังค่ะ
ถ้าวัดจากมูลค่าของบริษัท ปัจจุบัน JYP Entertainment จะเป็นค่ายเพลงที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศเกาหลีใต้ ด้วยมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นรองเพียง Big Hit Entertainment ต้นสังกัดของวง BTS เท่านั้น
JYP ก่อตั้งในปี 1997 โดยปาร์ก จินยอง ที่เคยผ่านงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังของวงการเพลง จนสามารถผันตัวขึ้นมามีค่ายเพลงเป็นของตัวเอง
ซึ่งที่ผ่านมา JYP ก็ได้ปั้นนักร้องชื่อดังหลายคน ที่โด่งดังไปทั่วโลก
ไม่ว่าจะเป็นนักร้องรุ่นใหญ่อย่าง Rain, Wonder Girls, Miss A และ 2PM ที่มีสมาชิกชาวไทยอย่างนิชคุณ
หรือถ้าสมัยใหม่ขึ้นมาหน่อย ก็มี GOT7, TWICE, Day6, รวมถึงวงน้องใหม่อย่าง Stray Kids และ ITZY
และถ้าดูในส่วนของผลประกอบการบริษัท JYP Entertainment
ปี 2017 มีรายได้ 2,804 ล้านบาท กำไร 444 ล้านบาท
ปี 2018 มีรายได้ 3,424 ล้านบาท กำไร 654 ล้านบาท
ปี 2019 มีรายได้ 4,264 ล้านบาท กำไร 859 ล้านบาท
จากตัวเลขเหล่านี้ เรียกได้ว่าบริษัทมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นทุกปี
แต่ในอีกด้านหนึ่ง กลับมีศิลปินหลายคนที่ตัดสินใจเดินออกจากค่ายหลังหมดสัญญา
อย่างเช่น นักแสดงหญิงซูจี แทคยอนวง 2PM ปาร์ก จีมิน และซอนมี Wonder Girls ที่อยู่ตั้งแต่รุ่นยุคบุกเบิกบริษัท
รวมถึงกรณีล่าสุด ก็คือ GOT7 ที่สมาชิกทั้ง 7 คน เลือกไม่ต่อสัญญากับทางค่าย
ซึ่งเรื่องนี้ก็น่าจะมีส่วนทำให้ราคาหุ้นของบริษัทลดลง 4.23% ในวันต่อมา
คิดเป็นมูลค่าบริษัทที่หายไปเพียงวันเดียวถึง 1,557 ล้านบาท
สาเหตุของเรื่องนี้เป็นเพราะ แม้วง GOT7 จะไม่ได้อยู่กับค่าย JYP มาตั้งแต่ยุคบุกเบิก
แต่ก็เป็นวงที่สามารถเพิ่มฐานแฟนคลับชาวต่างชาติให้กับบริษัทได้เป็นอย่างดี
เนื่องจากมีสมาชิกวง 3 คนจาก 7 คน ที่เป็นชาวต่างชาติ
คือ แจ็คสันที่เป็นคนฮ่องกง แบมแบมที่เป็นคนไทย และมาร์ก ที่มีสัญชาติไต้หวัน-อเมริกัน
ประกอบกับสมาชิกคนอื่น ก็มีคนที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี
จึงช่วยให้แฟนคลับในต่างประเทศ เข้าถึงตัวศิลปินได้ง่ายขึ้น
ถ้านับจนถึงปัจจุบัน วง GOT7 เดบิวต์มาเป็นเวลาเกือบ 7 ปีแล้ว
ซึ่งตอนออกอัลบั้มล่าสุดที่ชื่อว่า “Breath of Love: Last Piece”
ก็มีรายงานออกมาว่า ขายหมดตั้งแต่ตอนยังไม่ได้วางจำหน่ายอย่างจริงจังด้วยซ้ำ
เรื่องนี้เราอาจมองว่า เป็นเสียงตอบรับที่ดีของแฟนคลับ
แต่ในอีกมุมหนึ่งกลับเป็นเพราะ บริษัทผลิตอัลบั้มในปริมาณที่น้อยมาก
สุดท้ายจึงไม่เพียงพอต่อความต้องการของเหล่าแฟนๆ
นอกจากนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วอัลบั้มเพลงของศิลปินเกาหลี ก็มักจะถูกวางขายใน Amazon รวมถึงแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่ชาวต่างชาติเข้าถึงได้ง่ายควบคู่ไปด้วย
แต่สำหรับวง GOT7 กลับไม่มีการขายซีดีเพลงผ่านเว็บไซต์เหล่านั้นเลย
ทำให้เป็นอุปสรรคต่อแฟนคลับชาวต่างชาติที่อยากให้การสนับสนุนศิลปิน
นอกจากนั้น JYP ยังถูกมองว่าไม่โปรโมตศิลปินอย่างเต็มที่
อย่างกรณีการปล่อยเพลงล่าสุด หลังจากสมาชิกวงกลับมาร่วมกันทำผลงานอีกครั้ง หรือที่เรียกว่า “การคัมแบ็ก” ก็ได้รับการโปรโมตก่อนหน้าไม่ถึง 1 สัปดาห์เท่านั้น
และยังไม่มีรายละเอียดกำหนดการที่ชัดเจน
จนสุดท้ายกลับต้องเป็นฝ่ายศิลปิน ที่ต้องออกมาโปรโมตด้วยตัวเอง
ทั้งๆ ที่โดยปกติแล้ว เมื่อศิลปินจะปล่อยอัลบั้มใหม่ ทางค่ายมักจะโปรโมตผ่านทางโซเชียลมีเดีย หรือออกรายการเพลง ไม่ต่ำกว่า 1 เดือน ก่อนที่จะปล่อย MV เพลง
ในส่วนของการสนับสนุนความสามารถด้านอื่นๆ ของศิลปินในค่าย
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว กว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นศิลปินของ JYP อย่างเต็มตัว
ต้องผ่านการฝึกซ้อมและการทดสอบหลายต่อหลายครั้ง
จึงไม่น่าแปลกใจว่า ศิลปินส่วนใหญ่ของ JYP จะมีความสามารถมากกว่าแค่การร้องและเต้น
โดยบางคนสามารถแต่งเพลง หรือโปรดิวซ์เพลงได้ด้วยตนเอง
แต่คนเหล่านี้ กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากทางค่ายอย่างเต็มที่
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริษัท JYP มีการกำหนดสไตล์การร้องเพลงที่เป็นเอกลักษณ์
และทางบริษัทเองก็ต้องการผลักดันให้ศิลปินร้องเพลงด้วยแนวทางนี้
แม้ว่าในมุมหนึ่งอาจเป็นการรักษาคุณภาพ
แต่ในอีกมุมก็เหมือนเป็นการจำกัดศักยภาพ และทำให้ศิลปินขาดอิสระในการพัฒนาเพลง
ซึ่งบางครั้งก็ลุกลามไปถึงการไม่โปรโมตศิลปินเหล่านั้นเลย
จนพวกเขาหายจากพื้นที่สื่อเป็นเวลานาน
นอกจากเรื่องของการสนับสนุนศิลปิน
จริงๆ แล้วการจัดการกับกลุ่มแฟนคลับ ก็ควรจะเป็นหนึ่งในหน้าที่ของทางค่ายเพลงเช่นกัน
เนื่องจากบางครั้งความชื่นชอบและอยากใกล้ชิดของเหล่าแฟนคลับ อาจมีมากเกินไป
จนกลายเป็นการล่วงเกินความเป็นส่วนตัวของศิลปิน ซึ่งเราจะเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “ซาแซงแฟน”
ซึ่ง JYP ก็ไม่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้อย่างดีพอ จนกลายเป็นปัญหาที่ตกกลับมาอยู่ที่ตัวศิลปิน
ที่ผ่านมาเราจึงเห็นว่า มีหลายๆ ครั้งที่แฟนคลับต่างออกมาเรียกร้องให้บริษัทดูแลศิลปินในค่ายให้ดีกว่านี้
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในค่าย JYP เท่านั้น
ยังคงมีอีกหลายบริษัทใหญ่ๆ ที่มักจะมองเรื่องของตัวเลขกำไร มากกว่าการดูแลศิลปิน
ทั้งที่จริงๆ แล้วทรัพยากรที่สำคัญ และเป็นผู้นำเม็ดเงินมาสู่บริษัทก็คือ “ศิลปิน” เหล่านี้
และเรื่องนี้ก็อาจเป็นสาเหตุว่า ทำไมเราถึงเห็นศิลปินหลายๆ คน ที่ผันตัวมาเปิดค่ายเพลงของตัวเอง..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.