กรณีศึกษา Bchu Runway ธุรกิจเช่าชุดแบรนด์เนม สัญชาติไทย ที่น่าจับตามอง
FashionBusiness

กรณีศึกษา Bchu Runway ธุรกิจเช่าชุดแบรนด์เนม สัญชาติไทย ที่น่าจับตามอง

9 ก.พ. 2021
กรณีศึกษา Bchu Runway ธุรกิจเช่าชุดแบรนด์เนม สัญชาติไทย ที่น่าจับตามอง /โดย ลงทุนเกิร์ล 
ต่อให้ไม่มีรถเป็นของตัวเอง หรือขับรถไม่เป็น 
ทุกคนก็สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวกสบาย ด้วย Grab 
ไม่ได้เป็นเจ้าของโรงแรมหรือ ไม่มีนายหน้า
แต่ไม่ว่าใคร ก็สามารถปล่อยห้องพักให้เช่ารายวันได้ ผ่าน Airbnb
แล้วถ้าวันหนึ่ง อยากใส่เสื้อผ้าแบรนด์เนมไปงานแต่งเพื่อน 3 งานแบบไม่ซ้ำ 
จำเป็นหรือไม่ ที่ต้องควักเงินหลักหมื่น หลักแสน เพื่อเป็นเจ้าของเสื้อผ้าแบรนด์เนมด้วยตัวเอง
คำตอบ คือ ไม่จำเป็นอีกต่อไป..
เพราะตอนนี้ในเมืองไทย มีแพลตฟอร์มให้เช่าชุดแบรนด์เนมตั้งแต่หัวจรดเท้า อย่าง “Bchu Runway” (บีชูรันเวย์) 
ที่เสมือนเป็นตู้เสื้อผ้าออนไลน์ ที่พร้อมตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้หญิงอย่างไม่จำกัด ตลอด 365 วัน​ 
ที่น่าสนใจคือ เราจะเสียค่าเช่าเฉลี่ยเพียง 10% ของราคาชุดแบรนด์เนมที่หมายตา ก็จะได้ชุดสวยและหรู มาเชยชม​​
ไอเดียธุรกิจเช่าชุดแบรนด์เนมที่ว่านี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร?
แตกต่างจากร้านเช่าชุดที่หลายคนคุ้นเคยตรงไหน? 
แล้วในช่วงโควิด 19 ที่คนล็อกดาวน์ตัวเอง ไม่ออกจากบ้าน ธุรกิจมีวิธีรับมืออย่างไร?  
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟังค่ะ
คุณศิตา ชุติภาวรกานต์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Bchu Runway ได้ฉายภาพให้เห็นคอนเซปต์ของธุรกิจ ซึ่งเธอกล้านิยามว่าเป็น Cloud Closet ของผู้หญิงทุกคนว่า
Bchu Runway ไม่ได้ใช้โมเดลเช่าชุด ที่เห็นกันดาษดื่นในบ้านเรา  
เพราะร้านเช่าชุดส่วนใหญ่ จะเน้นชุดราตรี ชุดออกงาน 
ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ Bchu Runway เท่านั้น
แต่ตู้เสื้อผ้าในชีวิตจริงของสาวๆ ไม่ได้มีแค่ชุดออกงาน แต่ยังต้องมีชุดทำงาน, ชุดสำหรับไปทะเล, ไปงานวันเกิดเพื่อน ฯลฯ 
Bchu Runway จึงพรั่งพร้อมไปด้วยเสื้อผ้าที่สามารถตอบโจทย์คอนเซปต์สวมใส่ได้ทุกวัน แบ่งตามประเภทการใช้งาน มีตั้งแต่ชุดสำหรับไปงานแต่งงาน, ชุดเพื่อนเจ้าสาว, งานปาร์ตี้, งานกาลาดินเนอร์, ชุดสำหรับไปร่วมพิธีที่เป็นทางการ ไปจนถึงชุดลำลองที่สามารถใส่ไปทำงาน, ไปเที่ยวทะเล
นับรวมๆ แล้ว มีกว่า 700 แบรนด์ และ 50,000 ชุด ให้สาวๆ เลือกแต่งตัวได้ไม่ต่างจากตุ๊กตาบาร์บี้ 
ที่สำคัญไม่ต้องกังวลว่า เช่าชุดแล้วจะได้ของเลียนแบบ ใส่ไปออกงานแล้วไม่มั่นใจ เพราะเสื้อผ้าทั้งหมดเป็นของใหม่ที่ส่งตรงจากแบรนด์ดีไซเนอร์ จากทั้งไทยและต่างประเทศ 
ซึ่งมีทั้งที่คุณศิตา เดินทางไปติดต่อเอง และส่งอีเมลไปแนะนำตัวเพื่อเป็นพาร์ตเนอร์ด้วย
ซึ่งบรรดาแบรนด์ ก็ไม่ได้มองว่า ธุรกิจเช่าจะมาชิงส่วนแบ่งการขาย 
แต่เป็นการช่วยโปรโมต และสร้างตลาดใหม่ๆ ให้กับแบรนด์​ทางอ้อม​ แบบไม่ต้องลงทุนเอง 
โดยในช่วงแรกๆ ของการทำธุรกิจ 
แบรนด์ที่คุณศิตา ติดต่อไปจะเน้นแบรนด์ที่ไม่เคยมาทำตลาดในไทย
แต่พอหลังๆ ธุรกิจเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น เลยเริ่มมีแบรนด์ที่ทำตลาดในไทย ติดต่อเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์โดยตรง
ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ต่างประเทศ เช่น Balmain KENDALL + KYLIE Kenzo COS ไปจนถึงแบรนด์ไทยอย่าง Asava, Disaya, Milin
สำหรับราคาในการเช่าชุดแบรนด์เนม ก็ไม่ได้เกินเอื้อมอย่างที่คิด
เฉลี่ยประมาณ 10% จากราคาจริง สำหรับระยะเวลาการเช่า 4 วัน (มีให้เลือกเช่าแบบ 4 วัน และ 8 วัน)
หมายความว่า ถ้าต้องการเช่าชุด ราคาประมาณ 20,000 บาท ก็จ่ายเพียง 2,000 บาท ต่อการยืม 1 ครั้ง 
โดยราคานี้เหมารวม บริการรับ-ส่งเสื้อผ้าถึงที่ 
เช่าแล้ว ใส่เสร็จแล้วไม่ต้องซัก เพราะทางร้านมีบริการทำความสะอาดไว้ให้
แล้วถ้าถามว่า ทำไมธุรกิจให้เช่าแบรนด์เนมของ Bchu Runway ถึงเติบโตได้ขนาดนี้
ก็คงมีหลายปัจจัย แต่ปัจจัยหลักๆ ก็จะเป็น
1. ตั้งต้นจาก Pain Point ของผู้หญิง
ในยุคที่โซเชียลมีเดีย กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต 
ลองคิดดูว่า ถ้าต้องไปงานแต่งงานเพื่อนสนิทสมัยมัธยม กับมหาวิทยาลัย ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน
ต่อให้มีชุดสวย ใส่แล้วดูมีออร่า ถ่ายรูปลงโซเชียลแล้วได้ไลก์กระหน่ำแค่ไหน 
แต่เราก็คงไม่อยากใส่ชุดเดิมไปงานอยู่ดี เพราะกลัวเพื่อน (ในโลกโซเชียลจำได้)
จึงต้อง (จำยอม) ชอปชุดใหม่ตลอด 
กลายเป็นว่า ต้องยอมเสียเงินเพื่อซื้อเสื้อผ้าใหม่ เพื่อใส่ไปครั้งเดียว
บวกลบคูณหารแล้วอาจจะไม่คุ้ม แถมสุดท้ายเสื้อผ้าล้นตู้
ถ้าอย่างนั้นสู้เอาเงินหลักหมื่น หลักแสนเก็บไว้ ไปจ่ายหลักพัน เพื่อเช่าชุดแบรนด์เนม อาจตอบโจทย์กว่า
2. ยิงปืนนัดเดียว ได้นกสองตัว 
ตอบโจทย์กระแส Sharing Economy หรือ เศรษฐกิจแบ่งปัน 
ที่มองว่า การครอบครองไม่ใช่คำตอบอีกต่อไปได้
ไม่พอ ยังโดนใจสายรักษ์โลก ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์มาแรง 
เพราะนอกจากธุรกิจนี้จะเข้าทางสายแฟ(ชั่น) ที่ไม่ชอบความจำเจ ยังเข้าทางสายกรีน ที่มองถึงความคุ้มค่า ในแง่การใช้ทรัพยากรบนโลก 
3. เดินเกมการตลาดแบบออนไลน์ แต่ไม่ทิ้งออฟไลน์
Bchu Runway เติบโตมาจากการทำตลาดออนไลน์ แถมยังได้อานิสงส์จากกลุ่มคนมีชื่อเสียงและอินฟลูอินเซอร์ ที่มาใช้บริการ 
โดยเฉพาะช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ที่แม้ผู้คนไม่ได้ออกไปไหนมาไหน ไม่ได้ไปร่วมงานสังคม 
แต่กลุ่มคนมีชื่อเสียงและอินฟลูอินเซอร์ ก็ยังต้องผลิตคอนเทนต์ จากที่บ้านและต้องใช้บริการของ Bchu Runway อยู่ดี 
นอกจากนี้ Bchu Runway ยังเจาะตลาดออฟไลน์ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่อาจจะยังไม่แม่นเรื่องไซซ์ หรือ อยากมาเห็นชุดกับตา
Bchu Runway เลยเปิดหน้าร้านถึง 4 สาขา ได้แก่ สาขาหมู่บ้านดิสทริค ศรีวรา ซึ่งเหมาะสำหรับกลุ่มลูกค้าผู้ใหญ่ที่ต้องการความเป็นส่วนตัว 
สาขา สยามสแควร์ ซอย 3, สาขา สยาม ดิสคัฟเวอรี่ และสาขา เอ็มโพเรียม 
เหมาะสำหรับกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน เพื่อเป็นอีกช่องทางให้ลูกค้ามาชม มาลอง และ มารับสินค้า
4. เจาะตลาดใหญ่ 
นอกจากจะตอบโจทย์ผู้หญิง Bchu Runway ยังขยายไปยังกลุ่มผู้ชาย 
โดยเริ่มจากชุดสูทของแบรนด์ Mr. Tux 
และยังเปิดตลาดชุดเช่าออกงานสำหรับเด็กตั้งแต่อายุ 2-3 ปี ขึ้นไป เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าแบบครอบครัวด้วย 
อย่างไรก็ตาม แม้จะวางกลยุทธ์มาอย่างดี 
แต่การมาเยือนของโควิด 19 เมื่อปีที่แล้ว ก็ทำให้ทุกธุรกิจต้องสะดุด
การที่ผู้คนไม่ได้ออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านเหมือนเก่า อย่าว่าแต่การแต่งตัวไปร่วมงานอีเวนต์ใหญ่ๆ 
งานสำคัญของครอบครัว อย่างงานบวช งานแต่ง งานรับปริญญา ก็ต้องถูกเลื่อน หรือยกเลิกไป
รวมถึงความกดดันด้านเศรษฐกิจ ที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้คน 
ทำให้ตัวเลขรายได้ของ Bchu Runway หายไป 50-60% ตั้งแต่มีการล็อกดาวน์ในครั้งก่อน 
ซึ่งธุรกิจยังไม่ทันจะฟื้นกลับมาได้เต็มร้อย ก็ต้องโชคร้ายซ้ำซ้อน มาเจอการระบาดระลอกใหม่..
อย่างไรก็ตาม คุณศิตา เชื่อว่า แม้ตอนนี้จะทำได้แค่ประคองตัว 
แต่ถ้าหมดโควิด 19 เมื่อไร ธุรกิจจะกลับมาสดใสแน่นอน 
สุดท้ายแล้ว วิกฤติครั้งนี้ อาจเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้คนยิ่งตระหนักถึงเรื่องของความยั่งยืน 
และสนใจเรื่อง Sharing Economy มากขึ้น เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าแบบเต็มราคา
ใครจะไปรู้ว่าต่อไปในอนาคต 
หนึ่งกิจกรรมที่เราทำเป็นประจำ อาจเป็นการจองชุดแบรนด์เนม 
เพื่อใส่ไปทำงาน หรือ ไปทริปกับเพื่อนๆ ก็เป็นได้.. 
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.