ถ้าชาในโลกนี้คือภูเขา Peace จะเป็น “บันได” ให้คุณไปถึงยอดเขาของใบชา
FoodBusiness

ถ้าชาในโลกนี้คือภูเขา Peace จะเป็น “บันได” ให้คุณไปถึงยอดเขาของใบชา

26 ก.พ. 2021
ถ้าชาในโลกนี้คือภูเขา Peace จะเป็น “บันได” ให้คุณไปถึงยอดเขาของใบชา /โดย ลงทุนเกิร์ล
รู้หรือไม่ ร้าน Peace Oriental Teahouse เคยวางขายชาชนิดหนึ่ง ที่มีราคาสูงถึง 3,000 บาท
แต่กลับมีคนจำนวนไม่น้อย ที่อยากจะจ่ายเงิน เพื่อลองชิมชาแก้วนี้ดูสักครั้ง
ซึ่งลงทุนเกิร์ลได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณธีรชัย ลิมป์ไพฑูรย์ หรือคุณธี
เจ้าของและผู้ก่อตั้ง Peace Oriental Teahouse ซึ่งได้ส่งเคสธุรกิจนี้เข้ามาทางเพจ
แล้วเรื่องราวของ Peace Oriental Teahouse น่าสนใจอย่างไร?
และร้านแห่งนี้ทำอย่างไรให้กลายเป็นที่รักของลูกค้าได้ตลอดหลายปี? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
Peace Oriental Teahouse คือ ร้านชาที่นำเสนอ ทั้ง “ใบชา” และ “วัฒนธรรมการดื่มชา” 
ในสไตล์ตะวันออก แบบร่วมสมัย
คุณธี ได้เริ่มก่อตั้งร้าน Peace Oriental Teahouse ขึ้นเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว
โดยช่วงแรกๆ ของการเปิดร้าน Peace Oriental Teahouse 
คุณธีตั้งใจนำเสนอ ชา ที่มีคุณภาพดี ชนิดที่ว่าเคยชนะรางวัลระดับโลกมาแล้ว
หากจะพูดให้เห็นภาพก็คือ ถ้าชาทั้งหมดในโลกนี้ คือ ภูเขา 
ใบชาที่คุณธีนำมาขายก็คือ “ยอดเขา” ของใบชาทั้งหมด
โดยในสมัยที่คุณธีเปิดร้านเมื่อช่วง 6 ปีที่แล้ว คอนเซปต์การนำเสนอชาคุณภาพชั้นยอดแบบนี้ ยังไม่ค่อยมีให้เห็นในไทยมากนัก
ทำให้หลังจากเปิดร้านในช่วงแรก ลูกค้าต่างมาใช้บริการจนเต็มร้าน
และมีเหล่าอินฟลูเอนเซอร์เดินทางมาถ่ายรีวิวกันไม่ขาดสาย
จนดูเหมือนว่ากิจการ Peace Oriental Teahouse น่าจะต้องไปได้ดี
แต่ในความเป็นจริง กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น..
เพราะการนำเสนอแต่ชาคุณภาพที่สูงมาก จะมีกลิ่นและรสชาติที่ซับซ้อน
แต่กลับไม่ใช่รสชาติในแบบที่หลายคนคุ้นเคย จนทำให้ลูกค้าหลายคนไม่เข้าใจ และอาจไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องจ่ายเงินจำนวนมากไปกับชาประเภทนี้
ซึ่งผลที่ตามมาคือ ลูกค้าส่วนใหญ่มาแค่ครั้งเดียว
และไม่ได้กลับมาอีก..
เมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ คุณธีจึงเห็นว่าถ้าปล่อยให้ธุรกิจเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ธุรกิจจะไม่รอดแน่นอน
ดังนั้นคุณธีจึงพยายามคิดหาทางออกให้กับเรื่องนี้ 
และคำตอบที่ได้ก็คือ การปรับให้สินค้ามีความหลากหลายมากขึ้น
จากเดิมที่จะขายแค่ชาที่มีคุณภาพสูงที่สุดเท่านั้น ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นการขายชาหลายๆ ระดับ
โดยชาที่วางขายมีตั้งแต่ชาสำหรับนักดื่มชาเริ่มต้น ไปจนถึงชาคุณภาพระดับโลก
ซึ่งวิธีนี้เหมือนกับว่าคุณธีต้องการที่จะสร้าง “ขั้นบันได” ให้กับทุกคนที่ต้องการดื่มชา
ไม่ว่าคุณจะเคยดื่มชาแบบไหนมาก่อน หรือไม่เคยดื่มชามาเลย 
ก็สามารถเข้าใจ และสนุกไปกับการดื่มชาที่นี่ได้
ซึ่งผลปรากฏว่า ร้านเริ่มกลับมาได้รับความนิยม 
และมีลูกค้าที่กลับมาใช้บริการซ้ำ จนกลายเป็นลูกค้าประจำของ Peace Oriental Teahouse
ในขณะเดียวกัน Peace Oriental Teahouse ยังได้ให้ความสำคัญกับ 2 ประเด็นหลักๆ คือ
เรื่องแรก “ไม่สร้างสตอรี หรือ กิมมิก แต่ ทุกเมนูได้ผ่านการคิดที่มีเหตุและผล”
หากเราเดินเข้าไปในร้าน Peace Oriental Teahouse เราจะพบกับเมนูชา และขนมที่ถูกนำเสนออย่างน่าตื่นตา ทั้งไอศกรีม ที่ถูกเคลือบด้วย “ผงถ่าน” เนื้อสัมผัสกรุบกรอบ และต้องทานโดยการใช้ตะเกียบคีบเนื้อไอศกรีมพร้อมกับแผ่นผงถ่านขึ้นมาทีละคำ
ซึ่งบางคนอาจคิดว่า การใช้ผงถ่าน และตะเกียบ อาจเป็นแค่กิมมิก ที่ช่วยสร้างสตอรีให้กับทางร้านเฉยๆ
แต่ความจริงแล้ว เบื้องหลังของเมนูนี้ กลับมีรายละเอียดมากมายที่ซ่อนอยู่
เพราะไอศกรีมชาเขียว ต้องใส่ผงชาเขียวลงไปจำนวนมาก เพื่อให้มีรสชาติที่อร่อยเข้มข้น
แต่ข้อเสียก็คือ ผงชาเขียวที่มีปริมาณมากเกินไปทำให้คนทานนอนไม่หลับ เนื่องจากได้รับกาเฟอีนที่สูงเกินไป
ดังนั้น เขาจึงหาวิธีที่จะทำให้คนทาน รู้สึกอร่อย และไม่รบกวนสุขภาพของลูกค้า
ซึ่งเขาก็ได้พบว่า การแพทย์ทั่วโลก มักจะนิยมใช้ผงถ่าน เพื่อดูดซับสารพิษในร่างกาย
คุณธีจึงลองนำผงถ่านมาเคลือบบนไอศกรีมชาเขียว ทำให้ช่วยลดปริมาณกาเฟอีนที่ร่างกายจะดูดซึมเข้าไปได้ โดยที่รสชาติของไอศกรีมจะยังอร่อยและเข้มข้นเหมือนเดิม
นอกจากนี้เหตุผลที่ต้องใช้ตะเกียบคีบ ก็เพื่อให้ลูกค้าค่อยๆ ทาน และลิ้มรสชาติ
อีกเรื่องที่น่าสนใจ ไม่แพ้กันก็คือ การให้ความเคารพกับวัตถุดิบ 
โดยทางร้านจะไม่แต่งเติมรสชาติ จนสูญเสียความเป็นตัวตนของวัตถุดิบนั้นๆ ไป
ซึ่งนี่ถือเป็นหนึ่งสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไป นับตั้งแต่ก่อตั้งร้าน Peace Oriental Teahouse มาตลอด 6 ปี
โดยเครื่องดื่มทุกเมนูจะไม่ใส่ไซรัป หรือสารสังเคราะห์ต่างๆ ลงไปปรุงแต่ง
และการชงชาทุกแก้วจะต้องคำนึงถึง อุณหภูมิ เวลา และประเภทของน้ำที่ใช้
เพราะชาบางประเภท เหมาะจะชงด้วย “น้ำที่มีความกระด้างต่ำ” แต่บางประเภทก็เหมาะกับ “น้ำแร่”
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่เป็นเหมือนกับหัวใจของ Peace Oriental Teahouse ก็คือ การผลิตสินค้าด้วยความรัก 
เพราะถ้าเราตั้งใจทำมันอย่างเต็มที่ สุดท้ายแล้วสินค้าเหล่านั้นก็จะมีคุณภาพ
จนทำให้มันกลายเป็นที่รัก ที่ไม่ใช่แค่การสร้างเรื่องราวให้คนเห่อเพียงชั่วครั้งชั่วคราว
โดยที่สินค้าทุกตัวของทางร้าน จะผ่านการคิดเสมอว่า ถ้าหากพวกเขาไม่รู้สึกภูมิใจ สินค้าเหล่านั้นก็จะไม่ถูกปล่อยออกมาให้ลูกค้าได้ชิมแน่นอน
ถัดมาอีกเรื่องที่ Peace Oriental Teahouse ให้ความสำคัญกับ “คน” ในองค์กร
คุณธี มองว่าการชงชาให้ออกมาดี นอกเหนือจากเรื่ององค์ประกอบของวัตถุดิบแล้ว
“คนชงชา” ก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน
เพราะต่อให้มีชาที่คุณภาพดีแค่ไหน แต่ถ้าชงชาแบบไม่ใส่ใจ ชานั้นจะไม่มีทางออกมาดี
ดังนั้น คุณธีจึงต้องให้ความสำคัญตั้งแต่การคัดเลือกคน 
ที่ต้องเป็นคนละเอียดอ่อน ใจเย็น และเห็นความสำคัญของชา
ซึ่งหลังจากที่รับพนักงานเข้ามาแล้วก็จะต้องผ่านการฝึกฝน และการสอบ
ก่อนที่จะได้รับหน้าที่อยู่หน้าบาร์ชงชา
นอกจากนี้ คุณธียังพยายามสร้างบรรยากาศในที่ทำงานให้ทุกคน “มีความสุข”
และสามารถทำงานออกมาได้ดี พร้อมทั้งรู้สึก “รักงาน” และ “บริษัท” ของพวกเขา
ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า การสร้างวัฒนธรรมองค์กรแบบนี้ จะส่งผลอย่างดีเมื่อวิกฤติเข้ามาเยือน..
หลังจากเกิดวิกฤติโรคระบาดในปีที่ผ่านมา จนรัฐบาลต้องมีคำสั่งล็อกดาวน์
และทำให้ยอดขายของร้าน หายไปอย่างรวดเร็ว จนเหลือเพียง 35% เท่านั้น
แต่ทว่าบริษัทกลับผ่านจุดวิกฤตินั้นมาได้ โดยได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากคนทั้งองค์กร
เริ่มแรก คือ คุณธีและผู้บริหารคนอื่นๆ ตัดสินใจที่จะไม่รับเงินเดือน
เพื่อประคองค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้บริษัทอยู่รอด
ซึ่งหลังจากนั้น พนักงานคนอื่นๆ ก็ตัดสินใจลดเงินเดือนของตัวเองเช่นกัน
เพราะว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา บริษัทดูแลพวกเขาเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว
ทำให้ทุกคนรู้สึกรับผิดชอบในความอยู่รอดของบริษัทร่วมกัน
นอกจากนี้ ทาง Peace Oriental Teahouse ยังได้ปรับตัวจากเดิมที่เน้นการขายชา ที่ต้องมาทานที่ร้านเท่านั้น เป็นการนำสินค้าที่สามารถส่งดิลิเวอรีได้
โดยสินค้าพระเอกที่ทางร้านเลือกนำมาโปรโมตก็คือ Yuzu Mocheezu หรือ โมจิชีสยูสึ นั่นเอง
ซึ่งปกติแล้วจะไม่ขายแยก แต่จะเสิร์ฟมาพร้อมกับไอศกรีมเท่านั้น
โดยหลังจากที่เกิดวิกฤติ ทางร้านก็ปรับมาขายแยก ที่สามารถส่งดิลิเวอรีได้
และยังเป็นสินค้าพร้อมทาน ที่ลูกค้าไม่ต้องมาปรุงเองให้ยุ่งยาก
ซึ่งก็ได้ผลตอบรับที่ดีมากจนสามารถขายไปได้กว่า 10,000 ลูกต่อเดือน
หากเราลองคำนวณง่ายๆ จากราคาโมจิชีสยูสึ ที่ชุดหนึ่งมี 6 ลูกจะราคา 395 บาท
นี่หมายความว่า ในหนึ่งเดือนร้านจะมียอดขายในส่วนนี้มากกว่า 658,000 บาทเลยทีเดียว..
เรื่องราวของ Peace Oriental Teahouse ก็เหมือนกับการชงชาเช่นกัน
เพราะชาจะมีรสชาติที่ดีได้ ก็ต้องมีองค์ประกอบที่เหมาะสมทั้ง ใบชา, น้ำ และอุณหภูมิ
ในทางกลับกัน ธุรกิจจะเดินไปข้างหน้าได้ดี
ก็ต้องอาศัยทั้งผู้บริหาร และพนักงานที่พร้อมจะเดินร่วมทางกันไปให้ถึงฝั่งฝัน
ถ้าหาก Peace Oriental Teahouse ละเลยรายละเอียดเหล่านี้ไปแม้แต่นิดเดียว
เราอาจไม่ได้เห็นร้านชาคุณภาพอันดับต้นๆ ของไทย 
ที่ชื่อว่า Peace Oriental Teahouse ก็เป็นได้..
Reference:
- สัมภาษณ์ตรงกับคุณธี ผู้ร่วมก่อตั้ง Peace Oriental Teahouse
สำหรับใครที่สนใจ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/peace.t.house/?ref=page_internal
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.