Wakingbee แบรนด์ชุดออกกำลังกายคนไทย ที่ฝันใหญ่จะเทียบชั้นแบรนด์ระดับโลก
BusinessUncategorized

Wakingbee แบรนด์ชุดออกกำลังกายคนไทย ที่ฝันใหญ่จะเทียบชั้นแบรนด์ระดับโลก

25 มี.ค. 2021
Wakingbee แบรนด์ชุดออกกำลังกายคนไทย ที่ฝันใหญ่จะเทียบชั้นแบรนด์ระดับโลก​ /โดย ลงทุนเกิร์ล
ใครจะไปคิดว่า จากพนักงานประจำที่โลดแล่นอยู่ในสายงานที่ปรึกษาธุรกิจ
วันหนึ่งจะตัดสินใจลาออกจากงาน มาทำธุรกิจชุดออกกำลังกาย
ซึ่งเรื่องนี้เริ่มต้นจาก Pain Point ที่เชื่อว่าผู้หญิงหลายคนคงประสบปัญหาเดียวกัน 
นั่นก็คือ อยากใส่ชุดออกกำลังกายสวย ๆ ไปยิม แต่หาไม่ได้
เลยตัดสินใจลุกขึ้นมา​สร้างแบรนด์ชุดออกกำลังกายของตัวเองขึ้นมาเสียเลย โดยตั้งชื่อว่า Wakingbee 
แถมยังฝันใหญ่ว่า จะเป็นอย่าง Nike หรือ Adidas แบรนด์ระดับโลกให้ได้
อะไรทำให้แบรนด์ชุดกีฬาน้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อปี 2015 กล้าฝันใหญ่ขนาดนี้ ? 
และ Wakingbee มีกลยุทธ์อะไร ? ถึงทำให้แบรนด์แจ้งเกิดอย่างรวดเร็ว เป็นแบรนด์ที่โด่งดังในโลกโซเชียล
ลงทุนเกิร์ลได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณอรวัสสา ศยามเศรณี และคุณชลิตา หงสกุล สองผู้ก่อตั้งแบรนด์ Wakingbee ซึ่งได้ส่งเคสธุรกิจนี้เข้ามาทางเพจ
สองสาวเล่าถึงที่มาของการเริ่มต้นธุรกิจอย่างน่าสนใจว่า 
จริง ๆ แล้วทั้งคู่ทำงานเป็นที่ปรึกษาธุรกิจ 
จนวันหนึ่ง รู้สึกว่าอยากลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเอง หันมาดูแลสุขภาพ ด้วยการออกกำลัง
ซึ่งตามสไตล์ผู้หญิง แค่ใจพร้อมไม่พอ เพราะอีกหนึ่งแรงจูงใจที่มีอานุภาพมากกว่า คือ การมีชุดออกกำลังกายที่ใส่แล้วสวย ดูดี 
แต่หากย้อนไปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว จะพบว่า ตลาดชุดออกกำลังกายของผู้หญิงไม่ได้มีทางเลือกมากนัก
ส่วนใหญ่ถ้าไม่คุมโทนสีทึม ๆ ก็เป็นโทนสีสะท้อนแสง ดูแล้วเหมือนเป็นชุดออกกำลังกายเวอร์ชันผู้ชายแต่ย่อส่วนให้เป็นไซซ์ผู้หญิง
จาก Pain Point นี้เอง ทำให้ทั้งคู่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจ ว่าน่าจะมีผู้หญิงอีกจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหานี้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่มั่นคง เพื่อมาเริ่มธุรกิจของตัวเอง
ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องยอมทิ้งเงินเดือนก้อนโต มาเริ่มต้นกับสิ่งที่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง
เรื่องนี้ทำให้ทั้งสองต้อง “คิดใหญ่” เอาไว้ก่อน เพื่อให้ผลตอบแทนที่ได้ สามารถชดเชยรายได้ที่หายไป 
ส่วนในเรื่องความเสี่ยงที่ธุรกิจอาจจะไปไม่รอดจริง ๆ 
ทั้งสองก็มองว่าด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมา 
อย่างไรก็ยังสามารถกลับไปโลดแล่นในสายอาชีพเดิมได้
แต่ถ้าไม่ได้เริ่มต้นตอนนี้ อาจจะต้องเสียใจที่ไม่ได้ลงมือทำ
แม้จะไม่มีความรู้ด้านแฟชั่นและการออกแบบ แต่ทั้งคู่ไม่ได้มองว่าเป็นอุปสรรค 
พวกเธอตั้งต้นจากความถนัด นั่นคือ การทำ Business Plan ที่ชัดเจน
กำหนดว่า Wakingbee จะมีกลยุทธ์อย่างไร ที่ไม่ใช่แค่ทำให้แบรนด์มีรายได้ แต่ยังต้องขยายต่อไปได้ในระยะยาวด้วย
แต่ถึงจะมีแผนธุรกิจที่ชัดเจนตั้งแต่วันแรก เมื่อถึงเวลาลงมือจริงกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด
เพราะ ทุกอย่างเริ่มต้นจากศูนย์ ตั้งแต่การหาโรงงานที่จะมารับผลิตชุดออกกำลังกาย
ซึ่งตอนนั้นมี 2 ทางเลือกคือ 
1. สั่งสินค้ามาจากจีน แล้วใส่ชื่อแบรนด์เข้าไป 
ข้อดี คือ ทำได้ง่าย แต่ข้อเสีย คือ สินค้าไม่มีความแตกต่าง ทั้งในเรื่องแบบและคุณภาพ 
แถมสินค้ายังอาจถูกลอกเลียนแบบได้ง่าย 
2. หาโรงงานผลิตในไทย​ ซึ่งยุ่งยากกว่า 
เพราะต้องหาดีไซเนอร์มาออกแบบเอง ต้องไปเจรจากับโรงงานขอแบ่งสัดส่วนผลิต ที่ปกติก็จะรับผลิตให้แต่แบรนด์ระดับโลก อย่าง Nike, Adidas, Under Armour
ดังนั้นแม้เรื่องคุณภาพจะไม่ต้องกังวล แต่ก็ต้องมีปริมาณขั้นต่ำในการสั่ง อย่างน้อย คือ 800-1000 ชิ้นต่อแบบ
ซึ่งทั้งสองก็ตัดสินใจเดินตามทางเลือกที่ 2 เพราะเป้าหมายของการสร้าง Wakingbee
คือ การออกแบบสินค้าให้ได้ทั้งดีไซน์และฟังก์ชันที่แตกต่าง และตอบโจทย์อินไซต์ของผู้หญิง
โดยคอลเลกชันแรกใช้เวลาเตรียมการอยู่ร่วม 8-9 เดือน 
และมาพร้อมกับสต็อกมหาศาลถึง 6,000 ชิ้น
เริ่มแรก Wakingbee เน้นขายผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก 
ซึ่งผลตอบรับที่ได้ ก็ถือว่าค่อนข้างดีเลยทีเดียว 
เพราะ Wakingbee ชูความแตกต่างด้วยการนำสีพาสเทล มาใช้กับชุดออกกำลังกายเป็นแบรนด์แรก ๆ 
และยังใส่ใจรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เสริมฟองน้ำแบบ Push Up เข้าไปในสปอร์ตบรา หรือ กางเกงขาสั้นที่มีซับในกันโป๊
นอกจากนั้น หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ Wakingbee แจ้งเกิดและครองใจลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว คือ พลังของโลกโซเชียลมีเดีย
โดยจะเห็นว่า Wakingbee เป็นแบรนด์ที่เหล่าอินฟลูเอนเซอร์เลือกสวมใส่ 
ซึ่งทั้งคู่บอกเลยว่า อาศัยคอนเนกชันที่มีบวกกับความมั่นใจในตัวสินค้า 
ทำให้กล้าส่งสินค้าไปให้เหล่าคนดังช่วยรีวิว ถ้าไม่ชอบก็ไม่ต้องใส่
แต่ปรากฏว่า แทบทุกคนก็ชื่นชอบในสินค้า และถ่ายรูปลงอินสตาแกรมพร้อมแท็กชื่อแบรนด์ 
อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ทำให้ลูกค้ามั่นใจในแบรนด์ คือ ช่วงแรกที่ยังไม่มีหน้าร้านของตัวเอง จะเข้าไปวางขายในห้างก็ยาก
Wakingbee จึงไปจับมือกับสตูดิโอออกกำลังกาย 
เพื่อขอนำสินค้าเข้าไปวางขาย แล้วแบ่งค่าคอมมิชชันให้
ซึ่งก็วิน-วิน ทั้งสองฝ่าย เพราะ Wakingbee ได้ที่แสดงสินค้า 
ให้ลูกค้ามีสามารถสัมผัสเนื้อผ้า และลองสวมใส่ ส่วนสตูดิโอออกกำลังกายก็มีโอกาสขยายฐานลูกค้าใหม่ ๆ 
เพราะหากมีลูกค้าต้องการดูสินค้า ทางแบรนด์ก็จะแนะนำให้ลองไปตามสตูดิโอต่าง ๆ 
นอกจากนี้ เพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้กับแบรนด์ Wakingbee ยังขยันร่วมมือกับหลาย ๆ พาร์ตเนอร์ ตั้งแต่ lookbooklookbook ร้านเสื้อผ้าชื่อดังในอินสตาแกรม 
รวมถึงคุณแต้ว ณฐพร นักแสดงสาวชื่อดังที่ทำงานร่วมกันในฐานะดีไซเนอร์รับเชิญ 
หรือล่าสุดก็ได้ Kloset ไทยดีไซเนอร์ชื่อดังที่มีเอกลักษณ์ คือ ลายพิมพ์ 
โดยนำลายเหล่านั้น มาแปลงเป็นชุดออกกำลังกายและชุดว่ายน้ำในสไตล์ของ Wakingbee 
อย่างไรก็ตาม แม้ดูเหมือนธุรกิจจะเติบโตได้ดี 
แต่พอมาเจอโควิด 19 ก็กระทบต่อยอดขายของแบรนด์เช่นกัน
เนื่องจากในระยะหลัง ๆ ทางแบรนด์ได้มีการเน้นการขายผ่านหน้าร้านมากขึ้น
ดังนั้น เมื่อต้องปิดร้านทั้ง 13 สาขา Wakingbee จึงเริ่มกลับมาโฟกัสที่ช่องทางออนไลน์อีกครั้ง
โดยมีการปรับปรุงเว็บไซต์ เพื่อให้สะดวกกับลูกค้าที่ชอปออนไลน์
และสร้าง Loyalty Program เพื่อรักษาฐานลูกค้าเก่า และทำให้เกิดการซื้อซ้ำ
ขณะเดียวกันยังนำอินไซต์ของลูกค้ามุ่งต่อยอดคุณภาพและนวัตกรรมสินค้า​ 
เช่น การออกแบบชุดออกกำลังกายที่สามารถใส่ลงน้ำได้ ซึ่งก็มาจากคำถามที่ลูกค้าถามเข้ามาบ่อย ๆ จึงเห็นว่าน่าจะมีดีมานด์ตรงนี้อยู่ 
และหากสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายแล้ว Wakingbee 
ก็มีแผนที่จะบุกตลาดต่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบ เริ่มจากในเอเชีย
ซึ่งตอนนี้มีไปเปิดตลาดที่ฮ่องกงและไต้หวันแล้ว 
ส่วนตลาดยุโรปและอเมริกา จริง ๆ แล้ว เคยทดลองไปเปิดตลาดมาแล้ว แต่ยังมีอุปสรรคเรื่องไซซ์ของสินค้า ที่ต่างจากสิ่งที่แบรนด์มีอยู่ จึงต้องทำการบ้านต่อไป ​​
โดยเป้าหมายสูงสุดที่ทั้งคู่อยากไปให้ถึง คือ เป็นแบรนด์ชุดออกกำลังกายสัญชาติไทยที่เทียบชั้น Nike และ Adidas

ปิดท้ายด้วยที่มาของชื่อแบรนด์ Wakingbee มาจากคำว่า Waking ที่แปลว่า ปลุก 
Bee หมายถึง ผึ้ง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความขยัน
รวมกันแล้ว จึงสื่อถือ การปลุกความขยันในตัวเอง ด้วยชุดที่ใส่แล้วอยากไปออกกำลังกาย เพราะใส่แล้วสบายรู้สึกมั่นใจ
นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม เวลาลูกค้าทักมาว่า “ได้ของแล้วอยากใส่ไปยิมวันนี้เลย” 
ทั้งคู่จึงรู้สึกภูมิใจ เพราะได้ส่งต่อแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงอยากลุกขึ้นมาออกกำลังกาย
แล้วมีใครถามว่าภูมิใจกับอะไรมากที่สุด 
สำหรับตอนที่ทั้งคู่ยังเป็นมนุษย์เงินเดือน คงต้องใช้เวลาหาคำตอบ
แต่ถ้าวันนี้ มีคนเดินมาถามประโยคเดียวกัน พวกเธอกลับสามารถตอบได้ทันที
ว่า ความภูมิใจ คือ การที่ได้สร้างธุรกิจของตัวเองที่ได้ต่อยอดแรงบันดาลใจให้คนอื่น..
Reference:
-สัมภาษณ์โดยตรงกับทาง Wakingbee
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.