Samyang รามยอน ที่เกิดขึ้นจาก วิกฤติขาดแคลนอาหาร
Business

Samyang รามยอน ที่เกิดขึ้นจาก วิกฤติขาดแคลนอาหาร

4 เม.ย. 2021
Samyang รามยอน ที่เกิดขึ้นจาก วิกฤติขาดแคลนอาหาร /โดย ลงทุนเกิร์ล
Samyang คือบริษัทเกาหลี “แห่งแรก” ที่เริ่มผลิตรามยอน
และยังเป็นผู้บุกเบิกที่ทำให้รามยอน กลายเป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยมของชาวเกาหลี จนถึงปัจจุบัน
ที่น่าสนใจคือ จากการสำรวจของ World Instant Noodles Association ในปี 2019 พบว่า
ใน 1 ปี คนเกาหลีใต้จะบริโภครามยอนหรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เฉลี่ยอยู่ที่ 76 ซองต่อคน
หากลองคำนวณง่าย ๆ ว่า ชาวเกาหลีใต้ 1 คน บริโภครามยอน 1 ซองต่อวัน
แปลว่า คนเกาหลีจะบริโภครามยอนในทุก ๆ 5 วันนั่นเอง
ซึ่งด้วยปริมาณการบริโภคนี้ ทำให้เกาหลีใต้
กลายเป็นประเทศที่มีการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต่อประชากร ที่ “มากสุดในโลก” อีกด้วย
แล้วเรื่องราวของ Samyang เกี่ยวข้องกับการบริโภครามยอนของชาวเกาหลีใต้อย่างไร ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจกับคำว่า “รามยอน” กันสักเล็กน้อย
รามยอน มาจากภาษาเกาหลี ที่หมายถึง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
ซึ่งคนไทยอาจเรียกกันติดปากว่า “มาม่าเกาหลี”
แต่ความน่าสนใจของเรื่องนี้ คือ จุดเริ่มต้นของรามยอนนั้น
เกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับบริษัทที่ชื่อว่า Samyang หรือที่มีชื่อเต็ม ๆ ว่า Samyang Foods
โดยเมื่อปี 1961 หรือเมื่อประมาณ 60 ปีที่แล้ว
Samyang ได้เริ่มก่อตั้งบริษัทขึ้นอย่างเป็นทางการ
ซึ่งในขณะนั้นเป็นช่วงหลังจากสงครามเกาหลีสิ้นสุดได้เพียง 8 ปี
และเกาหลีใต้กำลังอยู่ในช่วงที่ต้องรัดเข็มขัด
เนื่องจากเกาหลีใต้ ต้องเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจ และยังขาดแคลนอาหารหลัก อย่างเช่นข้าวและธัญพืช
ดังนั้น Samyang ที่มองเห็นปัญหาตรงนี้
จึงเริ่มกลับมาทบทวนว่าพอจะมีสินค้าอะไร ที่จะมาแก้ปัญหานี้ได้บ้าง
และในที่สุด ปี 1963 Samyang ก็ได้ผลิตสินค้า ที่สามารถเข้ามาช่วยเติมเต็มช่องว่างการขาดแคลนอาหารในประเทศได้สำเร็จ
ซึ่งก็คือ “Samyang Ramen” และถือเป็น “รามยอนแบรนด์แรก” ของเกาหลีใต้
ด้วยความที่รามยอนเป็นสินค้าราคาถูก เก็บได้นาน และสามารถทานได้ง่าย
จึงได้รับความนิยมจากชาวเกาหลีอย่างรวดเร็ว
และรามยอนยังกลายเป็น “อาหารหลัก อันดับที่สอง” ของชาวเกาหลีใต้ในสมัยนั้นอีกด้วย
ซึ่งหลังจากที่เกาหลีใต้หลุดพ้นจากปัญหาความอดอยากแล้ว เศรษฐกิจก็กำลังเติบโตไปได้ดี
และเกาหลีใต้เริ่มกลายเป็นประเทศที่สามารถพึ่งพาตัวเองในการผลิตอาหารได้แล้วบางส่วน
Samyang ก็เริ่มพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพมากขึ้น
จากเดิมที่มีเป้าหมาย เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนอาหาร
ตอนนี้ได้เปลี่ยนเป็นการ “เพิ่มคุณภาพ” ในอาหารแทน
เริ่มจากการสร้างฟาร์ม Samyang Daegwallyeong
สำหรับการเลี้ยงโคเนื้อ เพื่อนำมาทำน้ำซุปรามยอน
และเลี้ยงโคนมที่เหมาะกับการนำมาผลิตสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีส, โยเกิร์ต, นมสด
ต่อมาในปี 2016 ชื่อของ Samyang ก็ได้กลับมาโด่งดังอีกครั้ง
จากสินค้าในกลุ่ม “Buldak Ramen” หรือ “รามยอนไก่เผ็ด”
ที่ขึ้นชื่อเรื่องความเผ็ด ชนิดที่ว่า ทั้งแสบทั้งร้อน จนต้องปาดเหงื่อ
ซึ่งจริง ๆ แล้ว รามยอนไก่เผ็ด เริ่มผลิตและวางขายตั้งแต่ในปี 2012
โดยตอนแรก แผนของบริษัทก็คือ การผลิตรามยอนรสเผ็ดจัดจ้านนี้
เพื่อให้กับกลุ่มลูกค้าในเกาหลี ที่ชื่นชอบรสเผ็ดแบบสุดโต่ง
ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ค่อนข้างเล็กมาก
แต่อยู่ดี ๆ ในปี 2016 รามยอนไก่เผ็ด กลายเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก
โดยเฉพาะในประเทศจีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สาเหตุก็เพราะว่า รามยอนไก่เผ็ด ได้กลายเป็นกระแสไวรัลในโลกออนไลน์
เนื่องจากเหล่ายูทูบเบอร์ พากันทำคลิปท้าพิสูจน์ความเผ็ด
ที่เมื่อทานไปแล้วเหงื่อตก ปากเจ่อไปตาม ๆ กัน
เรื่องนี้ทำให้ผู้ชมหลาย ๆ คน อยากจะซื้อมาลองทานเองบ้าง ว่าจะเผ็ดสมคำร่ำลือแค่ไหน
ซึ่งนี่ได้กลายเป็นการโฆษณาอย่างดีให้กับบริษัท
และจากกระแสที่ร้อนแรงนี้ ส่งผลให้ในปี 2017 เพียงปีเดียว
Samyang สามารถขายรามยอนไก่เผ็ด ไปได้กว่า 400 ล้านซองเลยทีเดียว
แล้วที่ผ่านมา ผลประกอบการของ Samyang เป็นอย่างไรบ้าง?
ปี 2018 มีรายได้ 12,921 ล้านบาท กำไร 940 ล้านบาท
ปี 2019 มีรายได้ 14,677 ล้านบาท กำไร 1,608 ล้านบาท
ปี 2020 มีรายได้ 17,853 ล้านบาท กำไร 1,815 ล้านบาท
นี่หมายความว่า 3 ปีที่ผ่านมา รายได้ของ Samyang เติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 17.6%
และกำไรเติบโตเฉลี่ย 39.0%
ซึ่งปัจจุบันบริษัท Samyang มีมูลค่าอยู่ที่ 18,600 ล้านบาท
เมื่ออ่านมาจนถึงตรงนี้ เราคงจะเห็นแล้วว่า
ความสำเร็จของบริษัท Samyang คือ การมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศ
แล้วจึงผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการนั้น
ซึ่งใครจะคิดว่า สินค้าธรรมดา ๆ อย่างรามยอน
จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกาหลี จวบจนถึงทุกวันนี้..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.