Thingtesting แพลตฟอร์มรีวิวสินค้า ที่เริ่มต้นจากการโพสต์ ในอินสตาแกรม
InspirationBusiness

Thingtesting แพลตฟอร์มรีวิวสินค้า ที่เริ่มต้นจากการโพสต์ ในอินสตาแกรม

10 เม.ย. 2021
Thingtesting แพลตฟอร์มรีวิวสินค้า ที่เริ่มต้นจากการโพสต์ ในอินสตาแกรม /โดย ลงทุนเกิร์ล
การตลาดในยุคนี้กำลังเปลี่ยนไป จากเดิมที่เน้นไปที่คนดังระดับท็อป
ก็เริ่มมีการใช้ “อินฟลูเอนเซอร์” เข้ามาช่วยในการรีวิว และโปรโมตสินค้า
เนื่องจากการทำแบบนี้ จะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า เป็นการใช้เองจริง ๆ มากกว่า
แต่เมื่อมันเกิดบ่อยขึ้น ๆ ลูกค้าก็จะเริ่มไม่เชื่อถือ
ว่าอินฟลูเอนเซอร์เหล่านั้นใช้เองจริง ๆ หรือถูกว่าจ้าง
ซึ่งคำถามนี้ กลับเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดแพลตฟอร์ม ชื่อว่า Thingtesting
ที่เกิดขึ้นจากการตั้งคำถามในทำนองเดียวกันนี้ว่า “มีใครทดลองสินค้านี้แล้วหรือยัง ?”
โดยก่อนจะมาเป็นแพลตฟอร์มอย่างทุกวันนี้ Thingtesting
เริ่มต้นจากการเป็นเพียงแค่บัญชีในอินสตาแกรมเท่านั้น
แล้ว Thingtesting น่าสนใจอย่างไร ?
ทำอย่างไรจึงมีกว่า 1,600 แบรนด์ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในแพลตฟอร์มนี้ ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
Thingtesting ก่อตั้งโดยคุณ Jenny Gyllander ในปี 2018
โดยในตอนแรกเธอทำงานอยู่ที่บริษัท Backed VC ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้เงินลงทุนในสตาร์ตอัปเกิดใหม่
ทำให้เธอได้เจอกับแบรนด์ที่เกิดขึ้นมาใหม่ในท้องตลาดมากมาย
แน่นอนว่าเวลาที่สตาร์ตอัปเหล่านี้มานำเสนอ สินค้าย่อมดูน่าสนใจ
แต่ลึก ๆ แล้ว คุณ Jenny Gyllander ก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่าสินค้าเหล่านั้น “ใช้แล้วดีหรือไม่ ?”
ซึ่งเธอก็รู้สึกว่า เรื่องนี้น่าจะเป็นคำถามที่เกิดขึ้นกับใครหลาย ๆ คนเช่นเดียวกัน
เธอจึงตัดสินใจสร้างบัญชีในอินสตาแกรม ชื่อว่า Thingtesting
เพื่อโพสต์รีวิวสินค้าที่เธอใช้แล้วชอบ หรือสนใจลงไปบนบัญชีนี้
โดยจุดเด่นอย่างแรกของ Thingtesting ก็คือ แนวการถ่ายภาพแบบสไตล์มินิมัลที่ดูดี และคุมโทนสีไปในลักษณะเดียวกัน
นอกจากนั้นการรีวิวก็ไม่ได้บอกเพียงแค่สรรพคุณของสินค้าเท่านั้น
แต่ครอบคลุมไปถึงประวัติ ที่มาของแบรนด์ และผู้ก่อตั้งของแบรนด์เหล่านั้นด้วย
หลังจากนั้นคุณ Jenny Gyllander ก็เริ่มสังเกตเห็นพฤติกรรมของผู้ติดตาม Thingtesting
ว่าคนกลุ่มนี้มักให้ความสนใจกับคอนเทนต์ที่ไม่ได้ถูกแบรนด์ว่าจ้างมา
และเมื่อ Thingtesting มีผู้ติดตามได้ประมาณ 27,000 คน
เธอจึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่ทำอยู่
และผันตัวมาทำแพลตฟอร์ม Thingtesting อย่างเต็มตัวในปี 2018
โดยจุดประสงค์ของเธอก็เพื่อที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รู้จักกับแบรนด์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์
รวมถึงเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่จริงใจอย่างตรงไปตรงมาอีกด้วย
โมเดลธุรกิจของ Thingtesting เป็นอย่างไร ?
สำหรับผู้บริโภค Thingtesting จะเปรียบเสมือนห้างสรรพสินค้าที่รวบรวมสินค้าในโลกออนไลน์
ที่ให้ผู้บริโภคสามารถหาความรู้และรีวิว เกี่ยวกับสินค้าที่ตนเองสนใจได้
และยังสามารถลงทะเบียนเพื่อรับข้อมูลแบรนด์ใหม่ ๆ ที่เพิ่งเข้าร่วมกับ Thingtesting ได้อีกด้วย
ซึ่งการที่แบรนด์จะเข้ามาปรากฏบน Thingtesting ได้ จะต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์
และจะต้องผ่านการคัดเลือกจากทาง Thingtesting เท่านั้น
โดยมีเกณฑ์การคัดเลือกว่า จะต้องเป็นแบรนด์ที่นำเสนอสิ่งใหม่ มีจุดยืนที่โดดเด่น แตกต่างจากสินค้าที่มีในท้องตลาด รวมถึงมีเรื่องราวและมุมมองที่แปลกใหม่
เพื่อที่ Thingtesting จะได้นำเรื่องราวเหล่านั้น มานำเสนอให้ผู้บริโภคได้รับรู้
ซึ่ง Thingtesting จะไม่รับเงินจากแบรนด์เหล่านี้ เพื่อให้สามารถนำเสนอข้อมูลที่เป็นกลาง
แต่รายได้ของแพลตฟอร์มจะมาจากผู้อ่าน ซึ่งจ่ายเงินมาเป็นสมาชิกกับทางเว็บไซต์
ที่น่าสนใจคือ หลังจากออกมาสร้างธุรกิจอย่างจริงจังได้เพียง 1 ปี
คุณ Jenny Gyllander ก็สามารถระดมเงินไปได้ 9 ล้านบาท
จากผู้ลงทุน 3 คนอย่าง Hunter Walk และ Shakil Khan ผู้ลงทุนให้ Spotify ในช่วงแรก
รวมถึง Tina Sharkey ผู้ก่อตั้ง Brandless
แล้วทำไม Thingtesting ถึงน่าสนใจ จนมีคนยอมให้เงินลงทุน ?
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเทรนด์การทำธุรกิจแบบ DTC หรือ Direct to Consumer
เพราะตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นบริษัทรายใหญ่ หรือรายย่อยก็ต้องย้ายตัวตนมาอยู่บนออนไลน์กันทั้งนั้น
ทำให้จากที่สินค้าบางตัวอาจเคยขายผ่านคนกลาง ตอนนี้ก็กลายเป็นการขายกับผู้บริโภคโดยตรง
อย่างเช่น Adidas ก็มีการตั้งเป้าหมายว่าจะทำธุรกิจแบบ DTC โดยมีเป้าหมายให้
ยอดขายจากรายได้ส่วนนี้เป็น 50% ภายในปี 2025
และการที่ธุรกิจแบบ DTC กำลังเติบโต ก็เป็นเพราะปัจจุบันการเปิดตัวสินค้าหรือแบรนด์ใหม่ ๆ สามารถทำได้ง่ายกว่าในสมัยก่อนมาก
โดยสาเหตุหลักก็มาจากอินเทอร์เน็ต ที่ทำให้เราสามารถติดต่อ ซื้อขายได้สะดวกง่ายดายขึ้น
รวมถึงระบบการขนส่งที่ปัจจุบัน ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนโลก เราก็สามารถสั่งสินค้าได้
เรื่องนี้ยังส่งผลให้ผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน เริ่มเปิดใจให้กับแบรนด์ขนาดเล็กมากขึ้น
เพราะแบรนด์เหล่านี้ไม่ได้ถูกวางขายผ่านคนกลาง
ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าได้ใกล้ชิดกับแบรนด์มากขึ้นด้วย
นอกจากนั้นสินค้าที่ถูกผลิตออกมาเหล่านี้
ก็มักจะแตกต่างจากในท้องตลาดที่ทำสินค้าออกมาคล้าย ๆ กัน
ที่สำคัญแบรนด์เหล่านี้ไม่ได้ทำสินค้าออกมาเพื่อขายของอย่างเดียว
แต่เป็นแบรนด์ที่มีจุดยืนชัดเจนอีกด้วย
ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ Public Goods
ซึ่งเป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัวหรือ Personal Care
Public Goods พบว่าผู้บริโภคบางกลุ่มต้องการให้ผลิตภัณฑ์ ที่วางในห้องน้ำนั้นเป็นสีขาวและดูมินิมัล
มากกว่าที่จะมีขวดแชมพูและสบู่หลากสี ดูแล้วไม่เข้ากันวางอยู่ในห้องน้ำ
สินค้าของ Public Goods จึงถูกออกแบบมาให้เรียบ ๆ ไม่ได้โดดเด่นจากสินค้าอื่นในท้องตลาดมากนัก
แต่ออกแบบมาเพื่อให้นำไปวางที่ห้องน้ำแล้วดูสวยงาม
ดังนั้นการเกิดขึ้นของ Thingtesting จึงเข้ามารองรับและส่งเสริมเทรนด์ของ DTC นี้พอดี
เพราะเป็นการยืนยันความน่าเชื่อถือของแบรนด์เกิดใหม่ ที่นับวันจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
รวมถึงเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภค ในการสรรหาสินค้าใหม่ ๆ ที่จะมาตอบโจทย์พวกเขาได้มากกว่าเดิม
ซึ่งใครจะไปคิดว่าจากบัญชีรีวิวสินค้าในอินสตาแกรม
จะกลายมาเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถระดมเงินทุนได้
และมีแบรนด์สินค้าให้ความสนใจ มากกว่า 1,600 แบรนด์..
References:
-https://thingtesting.com/
-https://www.voguebusiness.com/consumers/trusted-reviewers-fight-pay-to-play-on-instagram
-https://www.forbes.com/profile/jenny-gyllander/?sh=6ac0c602359f
-https://medium.com/forerunner-insights/empowering-consumers-to-find-the-best-possible-brands-with-an-investment-in-thingtesting-f8c373ee027
-https://co/-matter.com/work/jenny-gyllander-thingtesting-direct-to-consumer-brands
-https://www.crunchbase.com/organization/thingtesting/company_financials
-https://www.statista.com/chart/24457/direct-to-consumer-sales-in-the-sportswear-industry/
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.