มินนะมาเมะ แบรนด์ถั่วแระญี่ปุ่น แต่ปลูกที่ไทย รายได้ 1,500 ล้านบาท
FoodBusiness

มินนะมาเมะ แบรนด์ถั่วแระญี่ปุ่น แต่ปลูกที่ไทย รายได้ 1,500 ล้านบาท

14 เม.ย. 2021
มินนะมาเมะ แบรนด์ถั่วแระญี่ปุ่น แต่ปลูกที่ไทย รายได้ 1,500 ล้านบาท /โดย ลงทุนเกิร์ล
คนส่วนใหญ่มักคิดว่า การปลูกพืชผักอะไรสักอย่างขาย
น่าจะเป็นอาชีพที่ไม่มีวันเติบโต และยากที่จะประสบความสำเร็จ
แต่สำหรับในวันนี้ ลงทุนเกิร์ลอยากให้ทุกคนลองอ่านเรื่องราวของ MINNAMAME (มินนะมาเมะ)
แบรนด์ถั่วแระญี่ปุ่น ที่มีเจ้าของกิจการเป็นคนไทย และปลูกในประเทศไทย
ซึ่งมีรายได้กว่า 1,500 ล้านบาทต่อปี
และยังสามารถส่งออกไปขายต่างประเทศได้ถึง 15 แห่ง
แล้วเรื่องราวของมินนะมาเมะ น่าสนใจอย่างไร ?
พวกเขาทำอย่างไร ถึงมีรายได้หลักพันล้านบาท ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
มินนะมาเมะ เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่อยู่ภายใต้บริษัท ลานนาเกษตรอุตสาหกรรม หรือ LACO
ซึ่งบริษัท LACO ก่อตั้งขึ้นมานานถึง 28 ปี โดยครอบครัววงศ์วรรณ
ในช่วงแรก ๆ บริษัท LACO จะเน้นไปที่ผลิตถั่วแระญี่ปุ่น
เพื่อ “ขายส่ง” ไปยังญี่ปุ่นเป็นหลัก
ซึ่งสาเหตุที่ LACO เลือกส่งออกไปญี่ปุ่น 
ก็เนื่องจาก ก่อนหน้าที่จะมีบริษัท LACO ครอบครัววงศ์วรรณ เคยทำธุรกิจเป็นการปลูกต้นยาสูบ 
และหนึ่งในลูกค้าหลักของพวกเขา ก็คือ ชาวญี่ปุ่น นั่นเอง
แต่ต่อมาชาวญี่ปุ่นที่เป็นคู่ค้าของบริษัท LACO ในตอนนั้น ก็ได้มาชักชวนให้พวกเขาหันมาปลูกถั่วแระญี่ปุ่น
เนื่องจากในสมัยนั้น ประเทศญี่ปุ่นไม่สามารถผลิตถั่วแระญี่ปุ่น ให้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศได้ 
ทำให้ถั่วแระญี่ปุ่นกลายเป็นสินค้าที่เริ่มมีราคาสูงขึ้น
ซึ่งผลปรากฏว่า การตัดสินใจหันมาปลูกถั่วแระญี่ปุ่นในวันนั้น
ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกทาง เพราะหลังจากนั้นรายได้ของบริษัทก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ
จนในปี 2557 บริษัทก็สามารถทำรายได้แตะระดับ 1,000 ล้านบาท
และในปัจจุบันก็ยังคงทำรายได้เพิ่มสูงขึ้นทุก ๆ ปี
ถ้าหากเราลองพิจารณาจากผลประกอบการของบริษัท LACO จะเห็นว่า
ปี 2557 รายได้ 1,006 ล้านบาท
ปี 2558 รายได้ 1,223 ล้านบาท
ปี 2559 รายได้ 1,367 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 1,375 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 1,517 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 1,552 ล้านบาท
นี่หมายความว่า ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมานี้
บริษัทเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 9.1% ต่อปี
แม้จะไม่ใช่การเติบโตอย่างก้าวกระโดด
แต่การรักษารายได้เดิมที่สูงอยู่แล้วให้เติบโตขึ้นตลอด ก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเช่นกัน
แล้ว LACO จะทำอย่างไร ให้รายได้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ
หนึ่งในคำตอบนั้น ก็คือ “แบรนด์มินนะมาเมะ”
เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา LACO จะเน้นไปที่การขายส่งเป็นหลัก โดยไม่ได้มีแบรนด์เป็นของตัวเอง
ทำให้ไม่ว่าจะผลิตสินค้าได้ดี หรือมากแค่ไหน
ก็ไม่มีตัวตนในสายตาลูกค้าอยู่ดี
ดังนั้นพวกเขาจึงกลับมาทบทวนหาทางออกในเรื่องนี้
และสุดท้ายการสร้างแบรนด์ของตัวเอง ก็คือ วิธีที่จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืนจริง ๆ
ในปี 2558 มินนะมาเมะ แบรนด์ถั่วแระญี่ปุ่น โดย LACO จึงได้เกิดขึ้น
แต่เส้นทางของ มินนะมาเมะ ก็ไม่ได้ราบรื่นมากเท่าไรนัก
เพราะในตอนแรก ที่ LACO นำไปเสนอขายให้กับห้างต่าง ๆ
แม้ว่าห้างจะชื่นชอบสินค้ามาก แต่สุดท้ายก็ถูกปฏิเสธ
เนื่องจากห้างหลาย ๆ แห่ง อยากให้ LACO มาผลิตถั่วแระญี่ปุ่นภายใต้แบรนด์ของห้างเองมากกว่า
หลังจากผิดหวังในครั้งนั้น
พวกเขาก็กลับมาทบทวนว่าปัญหาคืออะไร
และก็พบว่ามาจาก ความใจร้อนที่รีบนำเสนอสินค้าเร็วเกินไป 
ทั้ง ๆ ที่แพ็กเกจจิงยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี  
และพวกเขาก็ได้นำห่อบรรจุภัณฑ์ใส ๆ ใส่ถั่วแระญี่ปุ่นไปเสนอตามห้าง 
ทำให้ภาพของแบรนด์มินนะมาเมะไม่ชัดเจน จึงถูกปฏิเสธกลับมา
แต่หลังจากแพ็กเกจจิง รูปหน้าถั่วยิ้ม เสร็จเรียบร้อยดี
และพวกเขาได้นำสินค้าไปออกงาน THAIFEX 
ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารระดับโลก ที่จัดขึ้นในประเทศไทย
ผลก็ปรากฏว่า แบรนด์มินนะมาเมะ ได้รับความสนใจ
จนสามารถนำสินค้าไปวางขายใน 7-Eleven ได้ ซึ่งถือเป็นโอกาสทางธุรกิจครั้งสำคัญ
นอกจากนี้ ปัจจุบันแบรนด์มินนะมาเมะยังได้ถูกส่งไปขายในต่างประเทศถึง 15 แห่ง
ทั้งญี่ปุ่น, บราซิล, พม่า, เวียดนาม, ลาว, จีน, สิงคโปร์, มาเก๊า, มาเลเซีย, บรูไน, เกาหลีใต้, ฝรั่งเศส, สเปน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ ทาง LACO ยังได้เปิดเผยสัดส่วนรายได้ของบริษัทว่า
แต่ละปีรายได้จากการขายส่ง และรับจ้างผลิตจะอยู่ที่ 90-95%
ส่วนแบรนด์มินนะมาเมะ คิดเป็นแค่ 5-10% ต่อปี
แม้ว่ารายได้ในส่วนนี้ จะเล็กน้อยมาก ๆ ถ้าเทียบกับสัดส่วนรายได้ทั้งหมด
แต่ทาง LACO ก็มองว่า แบรนด์มินนะมาเมะมีศักยภาพในการเติบโตที่ดี
เพราะตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์มา ยอดขายของมินนะมาเมะ ก็เติบโตขึ้นเป็นเท่าตัวทุก ๆ ปี
ในขณะเดียวกัน LACO สามารถผลิตถั่วแระญี่ปุ่นได้ถึง 15,000 ตันต่อปี
และยังใช้พื้นที่สำหรับปลูกถั่วแระญี่ปุ่นรวมกันกว่า 4,000 ไร่
ซึ่งแบ่งออกเป็นพื้นที่ปลูกของ LACO และของเกษตรกรในเครือข่าย
และความน่าสนใจของเรื่องนี้อยู่ที่ ผลผลิตที่ได้จากเกษตรกรในเครือข่าย
จะต้องมีคุณภาพที่เหมือนกับของ LACO
ดังนั้น LACO จะส่งทีมงานไปคอยให้ความรู้และควบคุมคุณภาพอยู่ตลอด
และในขณะเดียวกัน LACO ยังสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกร
ด้วยการใส่ QR Code ไว้หลังซองมินนะมาเมะ
เพื่อให้ลูกค้าสามารถสแกนดูได้ว่า ถั่วแระญี่ปุ่น ที่เราซื้อมา
ใครเป็นคนปลูก และเขาปลูกให้ทาง LACO มานานแค่ไหน
ทำให้ฝั่งของคนที่ปลูก ก็อยากจะปลูกสินค้าให้ดี ไม่เสียชื่อของตัวเอง
และในอีกมุมหนึ่ง ลูกค้าที่ซื้อสินค้าไป
ก็จะได้รับรู้ว่า เงินที่จ่ายไปกระจายไปถึงมือใครบ้าง
นอกจากนี้ สำหรับเกษตรกรที่รักษาคุณภาพ ในการปลูกถั่วแระได้ระดับ A ตลอดทั้งปี
ทาง LACO จะออกค่าใช้จ่ายทุกอย่าง เพื่อพาเขาและครอบครัวไปเที่ยวญี่ปุ่น
ซึ่งเหตุผลที่ต้องทำเช่นนี้ก็เป็นเพราะทาง LACO ต้องการให้เกษตรกรที่ปลูกเขาได้เห็นว่า ถั่วแระที่เขาปลูกมันจะถูกส่งไปขายอยู่ที่ไหนบ้าง
และเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้เอง ที่ทำให้คนปลูกเขามีกำลังใจที่จะผลิตสินค้าดี ๆ ต่อไป
ในขณะที่หลายคน มีมุมมองต่อการทำธุรกิจเกษตรว่าเป็นเส้นทางที่ยากลำบาก
และไม่มีทางประสบความสำเร็จได้
แต่จริง ๆ เราอาจต้องเปลี่ยนมุมมองว่า ไม่มีอาชีพไหนในโลกนี้ที่ไม่ลำบาก
และถ้าหากเราทุ่มเทกับมันอย่างเต็มที่ ความสำเร็จก็อาจอยู่ไม่ไกล 
เหมือนในวันนี้ที่บริษัท LACO และแบรนด์มินนะมาเมะ 
ได้ทำให้เราเห็นแล้วว่า การเกษตรที่สร้างสรรค์ 
ก็สามารถสร้างรายได้เป็นพันล้าน ได้เช่นกัน..
Reference:
-สัมภาษณ์โดยตรงกับ ศุภพงศ์ วงศ์วรรณ ผู้ช่วยรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ลานนาเกษตรอุตสาหกรรม (LACO)
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.