YETI ขาย “กระติกน้ำ” จนกลายเป็นบริษัทมูลค่า 2 แสนล้าน
Business

YETI ขาย “กระติกน้ำ” จนกลายเป็นบริษัทมูลค่า 2 แสนล้าน

28 เม.ย. 2021
YETI ขาย “กระติกน้ำ” จนกลายเป็นบริษัทมูลค่า 2 แสนล้าน /โดย ลงทุนเกิร์ล
ภาพรถยนต์ที่ไฟลุกท่วม แต่ยังมีซากของกระติกน้ำใส่น้ำแข็งที่ยังไม่ละลาย
เป็นไวรัล ที่ทำให้ YETI กลายเป็นกระแส ที่คนพูดถึงอยู่ช่วงหนึ่งเลยทีเดียว
ซึ่งไม่ว่ามันจะเป็นการตลาดหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
ก็เรียกได้ว่า “สำเร็จ” เพราะทำให้คนรู้จักและทึ่งกับคุณสมบัติของกระติกน้ำแบรนด์นี้
แต่ใครจะไปคิดว่า บริษัทที่แค่ขาย “กระติกน้ำเก็บความเย็น”
สินค้าธรรมดาที่ดูไม่ได้ใช้เทคโนโลยีล้ำยุค
จะกลายเป็นธุรกิจใหญ่โตที่สามารถ IPO ได้ในปี 2018
และที่น่าสนใจคือ ผ่านมาประมาณ 2 ปีกว่า ราคาหุ้นยังเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า
กลายเป็นบริษัทมูลค่ากว่า 230,000 ล้านบาท
เรื่องราวของ YETI น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
YETI เป็นแบรนด์อุปกรณ์เอาต์ดอร์สัญชาติอเมริกัน
ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการทำภาชนะที่ใช้กักเก็บอุณหภูมิ เช่น ถังน้ำแข็ง กระติกน้ำ
เรื่องราวของ YETI เริ่มต้นจากพี่น้องตระกูล Seiders คุณ Ryan และคุณ Roy
ทั้งสองมักจะใช้เวลาวัยเด็ก หมดไปกับกิจกรรมนอกบ้าน อย่างเช่นการล่าสัตว์หรือตกปลา
โดยคุณพ่อของพวกเขา ได้ลาออกจากงานประจำออกมาทำธุรกิจของตัวเอง
เริ่มจากธุรกิจเล็ก ๆ ในโรงรถ จนออกมาเป็นกาวสำหรับซ่อมเบ็ดตกปลา
ที่ก็ยังดำเนินธุรกิจอยู่จนถึงทุกวันนี้
เรื่องนี้ทำให้พี่น้อง Seiders ได้เห็นการปลุกปั้นและมองดูธุรกิจเติบโตอย่างใกล้ชิด
สุดท้ายหลังจากเรียนจบ ทั้งคู่จึงได้เดินตามรอยพ่อ และสร้างธุรกิจของตนเอง
คุณ Ryan ทำธุรกิจเบ็ดตกปลาแบบสั่งทำ
ส่วนคุณ Roy ทำธุรกิจขายเรืออะลูมิเนียมสำหรับตกปลาน้ำตื้น
ระหว่างนั้นเอง คุณ Ryan ก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานแสดงสินค้า
และได้ไปพบกับ ถังเก็บความเย็นของประเทศไทย
จึงได้เริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ ด้วยการนำเข้าถังเก็บความเย็นนี้มาขาย
ในขณะที่ทุกอย่างดูเหมือนจะลงตัวแล้ว ปัญหาเล็ก ๆ ก็เริ่มเกิดขึ้น
เนื่องจากพี่น้อง Seiders ไม่ชอบหน้าตาของสินค้า ประกอบกับคุณภาพก็ยังไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ
สุดท้ายพวกเขาจึงออกแบบด้วยตัวเอง จากประสบการณ์และความต้องการ ของคนที่ทำกิจกรรมเอาต์ดอร์จริง ๆ โดยไม่ได้อาศัยงานวิจัยตลาดใด ๆ
พี่น้อง Seiders ตั้งใจว่า อยากให้ถังเก็บความเย็นนี้มีความแข็งแรง ทนทาน และที่สำคัญคือ เก็บความเย็นได้ดี เพราะต้องทนอากาศร้อน ๆ ในเท็กซัส ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพวกเขาได้
ดังนั้นพวกเขาจึงได้ใช้กระบวนการขึ้นรูปแบบหมุนด้วยความเร็วสูง หรือ Rotational Molding
ที่ทำให้เม็ดพลาสติกเชื่อมกันอย่างไร้ช่องว่าง จึงคงทนและเก็บความเย็นได้เป็นอย่างดี
ซึ่งเทคนิคนี้ เป็นกระบวนการผลิตเดียวกับแบร์ริเออร์สีส้ม ที่เราเห็นกันอยู่ตามถนนเลยทีเดียว
และในปี 2006 ถังเก็บความเย็นของพี่น้อง Seiders ก็เป็นรูปเป็นร่าง
โดยพวกเขาตั้งใจว่าจะตั้งราคา 300 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบหนึ่งหมื่นบาทไทย เพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนการผลิต
แต่เมื่อเทียบกับถังเก็บความเย็นที่ขายตามซูเปอร์มาร์เกตแล้ว
ก็เรียกได้ว่าแพงกว่าเป็น 10 เท่า
อย่างไรก็ตามหลังจากวางขาย เสียงตอบรับกลับค่อนข้างดี
แล้วสงสัยหรือไม่ว่า ทำไม YETI ตั้งราคาสูง แต่ยังขายได้ ?
ในตอนที่เริ่มทำตลาดใหม่ ๆ พี่น้อง Seiders มองว่าการนำสินค้าเข้าไปขายตามร้านค้าปลีก
ไม่น่าจะเป็นทางที่เหมาะ เพราะนอกจากจะสู้ราคาไม่ได้แล้ว ยังต้องแบ่งกำไรเป็นค่าฝากขายอีกด้วย
พวกเขาจึงหันไปออกร้านตามงานแสดงสินค้าแทน
และเริ่มจากกลุ่มลูกค้าที่พวกเขาคุ้นเคย ซึ่งก็คือบรรดานักจับปลามือโปร
ดังนั้น YETI จึงกลายเป็นอุปกรณ์สำหรับมืออาชีพ
ที่ถึงแม้จะราคาสูง แต่ถ้าคุณภาพดีจริง ๆ พวกเขาย่อมยอมจ่าย
ซึ่งแน่นอนว่า เรื่องคุณภาพ ไม่ใช่ปัญหาของ YETI อยู่แล้ว
โดยเฉพาะในเรื่องความทนทาน เพราะได้รับการการันตีจาก Interagency Grizzly Bear Committee ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่แม้แต่หมีกริซลีก็ทำลายไม่ได้
หลังจากนั้น YETI จึงค่อย ๆ ขยายฐานสู่ลูกค้าที่ทำกิจกรรมนอกบ้านกลุ่มอื่นมากขึ้น
จนกลายเป็นสินค้าที่สามารถจับกลุ่มคนทั่วไปได้ในที่สุด
และแม้ว่าจุดเริ่มต้นของ YETI จะมาจากถังเก็บความเย็น
แต่ปัจจุบัน YETI มีสินค้าหลากหลาย ตั้งแต่อุปกรณ์เอาต์ดอร์อื่น เครื่องแต่งกาย ไปจนถึงภาชนะสำหรับสัตว์เลี้ยง
ซึ่งสินค้าที่ขายดีที่สุดในปัจจุบันก็คือ “กระติกน้ำเก็บความเย็น” นั่นเอง
โดยถ้าดูสัดส่วนรายได้ในปี 2020 ของ YETI Holdings จะมาจาก
ภาชนะสำหรับดื่ม 58%
ถังน้ำแข็งและอุปกรณ์เอาต์ดอร์ 41%
สินค้าอื่น ๆ อีก 1%
แล้ว YETI ขายดีแค่ไหน ?
ผลประกอบการของ YETI Holdings
ปี 2018 รายได้ 23,645 ล้านบาท กำไร 1,754 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 27,741 ล้านบาท กำไร 1,531 ล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 33,145 ล้านบาท กำไร 4,730 ล้านบาท
และถ้าย้อนกลับไปตอนที่เริ่มตั้งบริษัทใหม่ ๆ
YETI เคยรายงานยอดขายในปี 2008 ไว้เพียง 90 ล้านบาท
เรียกได้ว่าจากตอนนั้นถึงปัจจุบัน บริษัทมีรายได้เติบโตเฉลี่ยเกือบ 60% ต่อปีเลยทีเดียว
ซึ่งแม้ว่าธุรกิจของพี่น้อง Seiders จะไม่ใช่การสร้างสรรค์เทคโนโลยีล้ำยุค
แต่ก็เป็นการทำสิ่งที่มาตอบโจทย์ความจำเป็นในชีวิตของคนได้ไม่แพ้กัน
ที่สำคัญการสร้างธุรกิจของพี่น้อง Seiders ยังถือว่าเกิดจากความหลงใหลอย่างแท้จริง
โดยพวกเขามักจะพูดคุยและถกเถียงกันทุกรายละเอียด เพื่อให้ได้สินค้าที่ดีที่สุด
และมีการคิดเกี่ยวกับธุรกิจอยู่ในหัวแทบจะตลอดเวลา
เพราะอย่างชื่อ YETI ซึ่งเป็นชื่อของปีศาจมนุษย์หิมะ
ก็เป็นคุณ Roy ที่คิดได้ขณะกำลังนอนอยู่บนเตียง
หลังจากนี้ก็น่าติดตามว่า เจ้าปีศาจมนุษย์หิมะ YETI ที่เกิดจากความทุ่มเทนี้
จะพาคุณ Ryan และ คุณ Roy ไปถึงยอดเขาแห่งความสำเร็จที่สูงขนาดไหน..
References:
-https://finance.yahoo.com/quote/YETI/financials?p=YETI
-https://www.texasmonthly.com/articles/the-rise-of-yeti-coolers/
-https://www.inc.com/magazine/201602/bill-saporito/yeti-coolers-founders-roy-ryan-seiders.html
-https://www.brittonmdg.com/blog/the-secrets-to-yetis-success/
-งบการเงิน YETI Holdings 2020
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.