Social Media Detox ห่างจากโซเชียลสักพัก เพื่อโฟกัสความสุขให้ชัดขึ้น
TechnologyInspiration

Social Media Detox ห่างจากโซเชียลสักพัก เพื่อโฟกัสความสุขให้ชัดขึ้น

9 พ.ค. 2021
Social Media Detox ห่างจากโซเชียลสักพัก เพื่อโฟกัสความสุขให้ชัดขึ้น /โดย ลงทุนเกิร์ล
เรารู้กันดีว่า โซเชียลมีเดียมีประโยชน์หลายด้าน แต่ในอีกด้านหนึ่ง โซเชียลมีเดียก็ทำให้เกิดผลกระทบแง่ลบ ทั้งด้านร่างกาย เช่น อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือดวงตา จากการจดจ่อกับหน้าจอเป็นระยะเวลานาน ๆ
ยิ่งไปกว่านั้น มันยังส่งผลกระทบทางด้านจิตใจอย่างมาก โดยเฉพาะการทำให้ผู้ใช้เกิด “การเปรียบเทียบ” กับบุคคลต่าง ๆ ในสังคมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งนำไปสู่การเกิดโรคซึมเศร้านั่นเอง
โดย Harvard Business School ได้มีการศึกษาถึง 
AI (Artificial Intelligence) และอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดีย 
พบว่าผู้คนมีแนวโน้มที่จะ ทำตามคำแนะนำจากอัลกอริทึม มากกว่ามนุษย์ด้วยกันเอง
เนื่องจากอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดีย จะเรียนรู้ว่าเราชอบอะไร 
จากนั้นก็จะแสดงผลในสิ่งที่มันคิดว่า ตรงและมีแนวโน้มว่าจะตรงกับความชอบของเรา
ซึ่งเมื่ออัลกอริทึมควบคุมสิ่งที่คุณอ่าน หรือสิ่งที่คุณไถเจอในหน้าฟีด 
นั่นเท่ากับว่าอัลกอริทึม มีความสามารถในการ “ควบคุมความคิดของคุณ” ได้ 
นอกจากนั้น ยังมีการยืนยันจากหลายองค์กรว่า โซเชียลมีเดียคือตัวแปรหลัก ที่ทำให้สถิติการฆ่าตัวตาย ในกลุ่มวัยรุ่นเพิ่มขึ้นทั่วโลก หลังจากปี ค.ศ. 2013 เป็นต้นมา 
จากความน่ากลัวของโซเชียลมีเดียที่กล่าวมา 
ปัจจุบัน จึงเริ่มมีหลายคนหันมาให้ความสนใจกับ “Social Media Detox” 
ซึ่งเป็นวิธีการบำบัด การเสพติดโซเชียลที่มากเกินไป ให้เข้าสู่ภาวะสมดุล ลดความเครียด ส่งเสริมให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข และอยู่ในโลกของความเป็นจริงมากขึ้น
แล้วถ้าสนใจอยากลองทำ Social Media Detox นี้ จะมีวิธีการอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะอธิบายให้ฟังค่ะ 
การดีท็อกซ์ คือการเอาสารพิษออกจากร่างกาย ดังนั้น โซเชียลมีเดีย ดีท็อกซ์ (Social Media Detox) จึงเป็นการบำบัดอาการเสพติดโซเชียลมีเดีย ที่มากเกินไปจนก่อให้เกิดความทุกข์ 
หรือพูดง่าย ๆ คือการพาตัวเองออกห่างจากสมาร์ตโฟนและโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ในช่วงระยะเวลาหนึ่งนั่นเอง
ซึ่งในปัจจุบันไม่ว่าจะเพศไหน หรืออายุเท่าไร 
ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรค Socialism หรือโรคติดโซเชียล “ขั้นโคม่า” กันทั้งนั้น 
ดังนั้นสิ่งแรกที่ควรทำเลยคือ เช็กอาการของตัวเอง ว่าเข้าข่ายสิ่งเหล่านี้หรือไม่ เช่น
1) รู้สึกเครียด จิตตก กับการเสพข้อมูลข่าวสาร หรือคอมเมนต์ต่าง ๆ ที่มากเกินไป
2) รู้สึกกระหาย อยากได้รับการยอมรับจากโลกออนไลน์ เช่น ยอดไลก์ คอมเมนต์ หรือยอดแชร์
3) รู้สึกกระวนกระวาย หงุดหงิด เมื่อไม่ได้เล่นโซเชียล หรือเล่นโซเชียลมีเดียหนักเกินไป ติดต่อกันหลายชั่วโมง
4) เล่นโซเชียลมีเดียแล้วไม่มีความสุข รู้สึกเบื่อหน่าย รู้สึกว่าคุณค่าของตัวเองลดลง และเริ่มเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นในโซเชียล
เมื่อเช็กอาการเบื้องต้น แล้วพบว่าเข้าเกณฑ์ที่กล่าวมา 
ลำดับถัดไปคือ การยอมรับตัวเองว่า เรามีอาการเสพติดโซเชียลจริง ๆ และทุกอย่างสามารถแก้ไขได้
เมื่อยอมรับตัวเองแล้ว หลังจากนั้นคือการริเริ่มวางแผนการทำโซเชียลมีเดีย ดีท็อกซ์ อย่างเป็นระบบ
เริ่มจากการค่อย ๆ ปรับพฤติกรรมการใช้โซเชียล จากเดิมที่ไม่ได้จำกัดเวลาการใช้งาน ก็ควรเริ่มจำกัดเวลาการใช้งานให้มากขึ้นทีละนิด เช่น 
ในสัปดาห์แรก งดการเล่นโซเชียลหลังจากตื่นนอนและก่อนเข้านอน เป็นเวลา 1 ชั่วโมง
พอเข้าสัปดาห์ที่ 2 ก็ให้เพิ่มระยะเวลาการงดเล่นโซเชียลให้มากขึ้น โดยงดการเล่นโซเชียล หลังจากตื่นนอนและก่อนเข้านอน เป็นเวลา 2 ชั่วโมง 
พอเข้าสัปดาห์ที่ 3 ก็เพิ่มระยะเวลาการงดเล่นโซเชียล โดยงดการเล่นโซเชียล หลังจากตื่นนอนและก่อนเข้านอน เป็นเวลา 3 ชั่วโมง 
หลังจากเข้าสัปดาห์ที่ 4 เมื่อพฤติกรรมการใช้โซเชียลของเราลดลง เราอาจตัดสินใจลบบางแอปพลิเคชันที่ไม่จำเป็นทิ้ง เพื่อให้เรามีเวลาไปใช้ชีวิตมากขึ้น 
ทั้งนี้ วิธีการลดพฤติกรรมการใช้โซเชียลนั้น สามารถทำได้หลากหลาย 
บางคนอาจใช้วิธีหักดิบ ลบแอปพลิเคชันทิ้งไปเลย 
หรืออาจจะทดลองปิดระบบการแจ้งเตือน เพื่อไม่ให้เราต้องคอยกังวลจนต้องกดเข้าไปดูว่ามีอะไรเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาด้วยว่าแอปพลิเคชันนั้น ๆ 
ยังคงต้องใช้ในการติดต่อสื่อสาร หรือการทำงานหรือไม่
ที่สำคัญคือ ระยะเวลาของการงดเล่นโซเชียลที่เพิ่มขึ้น จะต้องมีกิจกรรมมาทดแทน 
เช่น การออกกำลังกาย การวิ่งจ็อกกิง เล่นโยคะ นั่งสมาธิ อ่านหนังสือ เขียนไดอารี ดูหนัง ดูซีรีส์ หรือฟังเพลง เพื่อให้จิตใจไม่กลับไปนึกถึงโซเชียลมีเดียอีก
สุดท้ายนี้ลงทุนเกิร์ลอยากฝากเอาไว้ว่า โซเชียลมีเดียมีประโยชน์มากมายกับเราก็จริง แต่เราต้องใช้อย่างระมัดระวัง มีสติ และอย่าให้โซเชียลมีเดียมีอำนาจควบคุมเหนือเรา
เพราะมิเช่นนั้นแล้ว โซเชียลมีเดียอาจพรากทั้งเวลา ความสัมพันธ์ รวมถึงความสุข ที่พอเรารู้สึกตัวอีกทีก็สายไปเสียแล้ว.. 
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.