ถอดวิธีคิด SOUR Bangkok ผลิตคอนเทนต์อย่างไร ให้ตรงใจสายเฟมินิสต์
EntertainmentBusiness

ถอดวิธีคิด SOUR Bangkok ผลิตคอนเทนต์อย่างไร ให้ตรงใจสายเฟมินิสต์

19 พ.ค. 2021
ถอดวิธีคิด SOUR Bangkok ผลิตคอนเทนต์อย่างไร ให้ตรงใจสายเฟมินิสต์ /โดย ลงทุนเกิร์ล 
ซีรีส์เด็กใหม่ ที่สร้างกระแส “แนนโน๊ะ” จนเต็มฟีดข่าวของโซเชียลมีเดีย
แถมยังติดอันดับ 10 ยอดนิยมบน Netflix ใน 7 ประเทศแถบเอเชีย
รวมถึงการตลาดพลิกโฉมแบรนด์ “แม่ประนอม” ในปีที่ 60
ที่ทำให้แครักเตอร์ของแม่ประนอม กลายเป็นผู้หญิงที่ทันสมัยมากขึ้น
และอีกหลายโฆษณาที่สร้างออกมา ได้แสนจะเข้าใจหัวอกผู้หญิง
ผลงานที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ล้วนสร้างสรรค์โดย SOUR Bangkok บริษัทโฆษณา ที่มุ่งเน้นการผลิตคอนเทนต์สำหรับผู้หญิงให้ครบทุกมิติ
วันนี้ลงทุนเกิร์ลมีโอกาสพูดคุยกับคุณดมิสาฐ์ องค์ศิริวัฒนา หรือคุณเล็ก 
และคุณพิมพ์มาศ ลีนุตพงษ์ หรือคุณบี สองสาวผู้ก่อตั้งบริษัท SOUR Bangkok (เซาเออร์ บางกอก)
ที่เปิดตัวได้เพียง 4 ปีเท่านั้น แต่กลับคว้ารางวัลระดับเอเชียได้ถึง 2 สมัย
SOUR Bangkok แตกต่างจากบริษัทโฆษณาอื่นอย่างไร ? 
และมีวิธีคิดอย่างไร ถึงผลิตคอนเทนต์ได้ตรงใจกลุ่มเฟมินิสต์ ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
7 ปีที่ผ่านมา กระแสขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยผู้หญิง กำลังเริ่มเป็นที่รู้จักในตลาดโลก
แต่สำหรับประเทศไทย เรื่องนี้ยังไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก
เพราะคิดว่าตลาดนี้เฉพาะกลุ่มเกินไป และอาจจะตีกรอบความคิดสร้างสรรค์
ทำให้ตลาดโฆษณาไม่ค่อยมีเนื้อหาตรงใจกลุ่มเฟมินิสต์เท่าที่ควร
แต่สำหรับบริษัท SOUR Bangkok กลับไม่คิดอย่างนั้น และได้จับกระแสนี้มาเป็นไอเดียในการต่อยอดธุรกิจ
โดยผันตัวเป็นบริษัทโฆษณา ที่มุ่งเน้นสร้างคอนเทนต์ ซึ่งให้ความสำคัญกับผู้หญิงโดยเฉพาะ
จนปัจจุบันสามารถติดอยู่ใน 10 อันดับเอเจนซี ที่น่าจับตามองที่สุดในประเทศไทย
ซึ่งคำกล่าวอ้างทั้งหมดนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องเกินจริงเลย 
เนื่องจากประวัติการทำงานของทั้ง 2 ผู้ก่อตั้งไม่ธรรมดาเลยทีเดียว 
คุณเล็กเคยเป็น Creative Director บริษัท Ogilvy & Mather และ J. Walter Thompson
และเคยเป็นถึงกรรมการบนเวทีระดับโลกอย่าง Cannes Lions อีกด้วย
ส่วนคุณบีเองก็เคยดูแลลูกค้าในบริษัท J. Walter Thompson และเป็น Marketing Manager ที่ LINE Thailand ซึ่งทำให้เธอผ่านประสบการณ์ประสานงานกับเอเจนซีดัง ๆ มาอย่างโชกโชน 
แต่อะไรเป็นจุดเปลี่ยนให้พวกเธอ หันหลังให้กับการงานที่มั่นคง 
และเปลี่ยนสู่การเริ่มต้นสร้างธุรกิจ ที่ค่อนข้างใหม่ในประเทศไทย ?
เนื่องจากทั้ง 2 คนผ่านประสบการณ์ทำงานกับบริษัทดัง ๆ หลายแห่งเป็นเวลานาน 
ทำให้มักเจอกับปัญหาเดิม ๆ นั่นก็คือ ทุกที่มักขาดคอนเทนต์ที่เข้าใจผู้หญิงอย่างแท้จริง
โดยเฉพาะสินค้าแบรนด์สำหรับผู้หญิง ก็มักจะเลือกทำงานกับครีเอทีฟที่เป็นผู้หญิง
ด้วยเหตุผลที่ว่าผู้หญิงสามารถเข้าใจแบรนด์และสินค้าได้ดีกว่าผู้ชาย
ซึ่งจริง ๆ แล้ว การที่ทุกแบรนด์จะได้ร่วมงานกับครีเอทีฟผู้หญิง ถือเป็นเรื่องที่ยากมาก
เพราะสัดส่วนครีเอทีฟผู้ชายในอุตสาหกรรมโฆษณา มีจำนวนมากกว่าหลายเท่าตัว
และนั่นคือสาเหตุที่ว่า ทำไมโฆษณาสินค้าสำหรับผู้หญิงบางตัว ถึงไม่โดนใจกลุ่มลูกค้าสาว ๆ 
ประจวบกับ “กลุ่มลูกค้าผู้หญิง” กำลังเติบโตและจะเป็นกำลังซื้อสำคัญในอนาคต 
ซึ่งไม่ใช่แค่ในผลิตภัณฑ์ความงาม แต่ยังรวมถึงของใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ชาย ก็มักจะต้องผ่านการตัดสินใจของ “ผู้หญิง” ทั้งสิ้น 
โดยช่องโหว่เล็ก ๆ นี้เอง ที่ทำให้พวกเธอเห็นโอกาสในการทำธุรกิจ
และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัท SOUR Bangkok ในปี 2017 
ที่มุ่งเน้นตลาดสินค้าสำหรับผู้หญิง ผ่านการผลิตคอนเทนต์และแคมเปนที่เข้าใจผู้หญิงเป็นอย่างดี
นอกจากคอนเซปต์จะน่าสนใจแล้ว  
วิธีคิดและขั้นตอนการทำงานของ SOUR Bangkok ก็สำคัญไม่แพ้กัน
1. ทลายแนวคิดเอเจนซียุคเก่า
รูปแบบของเอเจนซีสมัยก่อนคือ “One Stop Service” หรือการให้บริการแบบครบวงจร โดยที่ไม่ว่าลูกค้าโยนไอเดียอะไรมา บริษัทก็สามารถเนรมิตขึ้นมาให้ได้ทั้งนั้น 
ซึ่งยึด “รูปแบบ” การสื่อสารเป็นหลัก เช่น ทำภาพยนตร์ วิดีโอสั้น จัดอีเวนต์ หรือลงในหน้านิตยสาร
และค่อยหาแนวคิดไปใส่ลงในขอบเขตงานเหล่านั้น 
แต่สำหรับ SOUR Bangkok จะไม่ตีกรอบเรื่องรูปแบบ และใช้ “ไอเดีย” เป็นจุดเริ่มต้น
เพราะเชื่อว่า “ไอเดียที่แข็งแรง สามารถนำเสนอผลงานในรูปแบบไหนก็ได้”
เช่น โฆษณาของททท. ที่มักจะทำออกมาเป็นรูปแบบภาพยนตร์
โชว์สถานที่ต่าง ๆ เพื่อทำให้คนดูรู้สึกอยากออกไปท่องเที่ยว
แต่ SOUR Bangkok กลับเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสีสันของประเทศไทย
เป็นตัวดึงดูดชวนให้ผู้หญิงรู้สึกอยากออกไปเที่ยวแทน
2. “ข้อมูลเชิงลึก” ถึงแก่นของผู้หญิง 
โดยผลงานถูกชี้นำด้วยข้อมูลเชิงลึกที่ถูกต้อง และเข้าใจถึงความคิดของผู้หญิงจริง ๆ 
จึงสามารถทำให้เกิดกระแสการพูดต่อ และถูกแชร์บนโลกโซเชียลได้ 
อย่างผลงานการรีแบรนด์กว่า 60 ปีของแม่ประนอม ให้กลายเป็นสาวยุค 2020
และสลัดภาพลักษณ์เดิม ๆ ที่ถูกตีกรอบโดยผู้ชายทิ้งไป
3. ความคิดสร้างสรรค์
ผู้หญิงในมุมมองของ SOUR Bangkok คือ “ผู้หญิงที่มีหลายมิติ” 
และเป็นผู้หญิงยุคใหม่กล้าที่จะพูดและลงมือทำ 
ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากขาดทีมงานที่มีความเชื่อในทิศทางเดียวกัน ช่วยหลอมรวมมันขึ้นมา
และเสียงตอบรับจากลูกค้า ก็เป็นเครื่องยืนยันแล้วว่า คุณบีและคุณเล็กเดินมาถูกทาง
โดยเฉพาะจากจุดยืนที่ชัดเจน จึงทำให้ SOUR Bangkok 
คว้ารางวัล Agency of the Year บนเวทีในระดับเอเชีย ได้ถึง 2 ปีซ้อน 
ซึ่งอีกหนึ่งผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้ SOUR Bangkok ที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย
นั่นก็คือ ซีรีส์ “เด็กใหม่” ทั้ง 2 ซีซัน ที่มีเนื้อหาเสียดสีสังคม ผ่านตัวละครหลักที่เป็นผู้หญิง
แม้ว่าการที่ซีรีส์จะประสบความสำเร็จก็ต้องมาจากหลาย ๆ ปัจจัย 
เช่น นักแสดง บทซีรีส์ และทีมงานเบื้องหลังที่มีคุณภาพ
แต่อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย ก็คือ แผนการตลาด ที่สามารถจัดการปัญหาอย่างถูกวิธี เป็นตัวช่วยผลักดันให้แบรนด์ติดอยู่บนกระแสโซเชียล
อย่างแอดมินเพจ เด็กใหม่ ที่โต้ตอบตามแครักเตอร์ “แนนโน๊ะ” 
ในการสื่อสารกับแฟนซีรีส์ และโต้ตอบอย่างเจ็บแสบกับเพจที่นำซีรีส์ไปฉายอย่างไม่ถูกต้อง
ก็ยิ่งเป็นเหมือนการสร้างสีสัน และยังคงทำให้เป็นกระแส แม้ว่าซีรีส์จะฉายมาได้สักพักแล้ว
และสิ่งเหล่านี้เอง ที่เป็นเหมือนดีเอ็นเอ ในการสร้างสรรค์งานของ SOUR Bangkok 
ที่มักจะดึงเอาแครักเตอร์แต่ละแบรนด์ออกมาอย่างชัดเจน และใช้เป็นตัวกลางในการสื่อสารกับลูกค้า 
สุดท้ายคุณเล็กยังได้ฝากแนวคิด ที่ได้มาจากคุณภาวิต จิตรกร CEO ของ GMM Grammy
ซึ่งเธอยึดมั่นและนำมาใช้ในการสร้างผลงานทุกชิ้น
แม้โฆษณาจะจบเพียง 30 วินาที แต่การสร้างโฆษณาที่ดีจะเริ่มต้นวินาทีที่ 31
ซึ่งวินาทีที่ 31 ก็คือ วินาทีที่คนนำโฆษณาไปพูดต่อ จนเกิดกระแสนั่นเอง..
References:
-สัมภาษณ์ตรงกับคุณดมิสาฐ์ องค์ศิริวัฒนา และคุณพิมพ์มาศ ลีนุตพงษ์ ผู้ก่อตั้งและบริหาร SOUR Bangkok 
-https://www.sourbangkok.com/about
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.