รู้จัก ชนัญญารักษ์ อดีต CEO แม็คกรุ๊ป ที่ทำให้ ดร.นิเวศน์ เชื่อมั่นจนยอมลงทุน
Business

รู้จัก ชนัญญารักษ์ อดีต CEO แม็คกรุ๊ป ที่ทำให้ ดร.นิเวศน์ เชื่อมั่นจนยอมลงทุน

27 พ.ค. 2021
รู้จัก ชนัญญารักษ์ อดีต CEO แม็คกรุ๊ป ที่ทำให้ ดร.นิเวศน์ เชื่อมั่นจนยอมลงทุน /โดย ลงทุนเกิร์ล
เมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้ มีข่าวคุณชนัญญารักษ์ เพ็ชร์รัตน์ 
ประกาศลาออกจากตำแหน่ง CEO บริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
ซึ่งเรื่องนี้ ส่งผลให้ราคาหุ้น MC ลดลงไปกว่า 10% ทันที
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เธอจะเข้ามารับตำแหน่งนี้ 
ก็มีข่าวที่ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investing)
เข้าลงทุนในหุ้นของแม็คกรุ๊ป จำนวน 10 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1.25% 
เนื่องจากเล็งเห็นว่าบริษัทมีพื้นฐานดี ประกอบกับการที่คุณชนัญญารักษ์จะเข้ามาบริหารงาน
ก็น่าจะทำให้แม็คกรุ๊ป มีแนวโน้มเติบโตไปได้อีก
แล้วคุณชนัญญารักษ์ เป็นใคร ? 
มีหลักแนวคิดในการบริหารงานอย่างไร ?
และทำไมถึงสามารถสร้างผลกระทบได้มากขนาดนี้ ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง 
สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงธุรกิจ อาจจะไม่เคยได้ยินชื่อของ คุณชนัญญารักษ์
แต่จริง ๆ แล้วเธอได้รับการขนานนามว่าเป็น “ซีอีโอมือทอง” ผู้พลิกฟื้นมาแล้วหลายต่อหลายธุรกิจ
โดยคุณชนัญญารักษ์เรียนจบปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจ เอกบัญชี จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
ก่อนจะไปศึกษาต่อปริญญาโท สาขา Management Information System
หรือการบริหารจัดการระบบข้อมูลสารสนเทศ ที่มหาวิทยาลัยเวสต์เวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
หลังจากเรียนจบ เธอก็ทำงานอยู่ที่สหรัฐอเมริกา และได้ถูกซื้อตัวมาอยู่ที่ Oracle ประเทศไทย
บริษัทที่ให้บริการด้านระบบซอฟต์แวร์วางแผนข้อมูลและทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กร
หรือที่เรียกกันว่า ERP (Enterprise Resource Planning)
คุณชนัญญารักษ์ ทำงานกับ Oracle นานกว่า 10 ปี จนก้าวสู่ระดับผู้บริหาร 
ซึ่งผลงานของเธอก็คือ การนำบริษัทบุกตลาดระบบบัญชีและการตลาด 
พาให้ Oracle ก้าวสู่เบอร์ 1 ของประเทศไทย 
และเรื่องนี้ก็ถือเป็นเหตุการณ์ที่ “แจ้งเกิด” ให้กับคุณชนัญญารักษ์ เลยก็ว่าได้ 
หลังจากนั้น เธอก็ถูกซื้อตัวอีกครั้ง ให้ไปทำงานที่ Motorola ประเทศไทย
ซึ่งถ้าใครจำได้ ตอนนั้นเป็นช่วงที่ มือถือรุ่นฝาพับบาง ๆ ของแบรนด์ Motorola กำลังเป็นที่นิยมเลยทีเดียว
และด้วยความสามารถของคุณชนัญญารักษ์ ก็ทำให้ Motorola ที่ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 4 อยู่ 
กลายเป็นแบรนด์โทรศัพท์มือถืออันดับ 2 ของประเทศไทยได้
ต่อมาคุณชนัญญารักษ์ ก็ได้ย้ายไปทำงานกับ DHL อีกกว่า 10 ปี
โดยตำแหน่งสูงสุดของเธอคือ กรรมการผู้จัดการ DHL Express International ประเทศไทย
แต่การรับงานครั้งนี้ ก็ถือเป็นความท้าทายไม่ใช่น้อย 
เพราะด้วยความที่ DHL เป็นผู้นำด้านโลจิสติกส์มาโดยตลอด ทำให้บริษัทไม่คิดจะปรับตัวอะไรมากนัก
ดังนั้นพอมาเจอกับวิกฤติการเงินครั้งใหญ่ในปี 2008 บริษัทจึงได้รับผลกระทบไปไม่น้อย
ซึ่งตอนนั้นเอง ก็เป็นช่วงที่คุณชนัญญารักษ์ เข้ามารับตำแหน่งใหม่ ๆ
โดยเธอต้องเผชิญสถานการณ์บริษัทที่เริ่มเติบโตช้าลง และความสัมพันธ์กับลูกค้าไม่ค่อยจะดี
ที่สำคัญ นอกจากแรงกดดันจากภายนอกแล้ว ภายในบริษัทเองก็ไม่ใช่ว่าจะดีไปกว่ากัน
เพราะความสัมพันธ์กับพนักงาน ซึ่งวัดจาก Employee Opinion Survey 
ก็ออกมาในระดับต่ำอยู่แค่ประมาณ 60 คะแนน 
แต่หลังจากที่คุณชนัญญารักษ์ เข้ามาบริหาร ผลประกอบการของบริษัทก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
มากไปกว่านั้น Employee Opinion Survey ก็สูงถึง 99 คะแนน 
รวมทั้งยังได้รับรางวัลเกี่ยวกับพนักงาน รวมไปถึงรางวัลด้านอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก
ซึ่งแม้ว่าคุณชนัญญารักษ์ จะเริ่มเข้าใกล้สู่วัยเกษียณแล้ว แต่เธอก็ยังคงวิ่งเข้าหาความท้าทายครั้งใหม่ 
โดยช่วงปลายปี 2562 เธอได้ตกปากรับคำชวนของเพื่อน 
ในการเข้ารับตำแหน่ง CEO ของแม็คกรุ๊ป ธุรกิจกลุ่มแฟชั่น ที่โดดเด่นในเรื่องของกางเกงยีน
จริง ๆ แล้วตอนที่ตกปากรับคำ คุณชนัญญารักษ์เอง ก็มีความลังเลอยู่เล็กน้อย
เพราะเป็นธุรกิจในอุตสาหกรรม ที่เธอไม่มีความคุ้นเคย 
แต่ด้วยความที่ว่า ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ชีวิตการทำงาน เธอก็ไม่ค่อยจะทำงานตรงสายอยู่แล้ว 
สุดท้ายจึงได้ตัดสินใจเข้ามาร่วมงานกับแม็คกรุ๊ป
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ตอนนั้นของแม็คกรุ๊ป ก็ดูเหมือนจะสะดุดเล็กน้อย
โดยราคาหุ้นของบริษัทตกลงไปถึงจุดต่ำสุดที่ 6.20 บาท 
แต่เมื่อดูในส่วนของสภาพการเงินกลับพบว่า มีสภาพคล่องดี 
ที่สำคัญยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะติดเรื่องการก้าวเข้าสู่ตลาดออนไลน์เล็กน้อย
ซึ่งภายใต้การบริหารของคุณชนัญญารักษ์ ก็ดูจะสร้างผลลัพธ์และความมั่นใจให้กับนักลงทุนไปไม่น้อย 
จนทำให้ราคาหุ้นกลับไปสูงสุดถึง 12.40 บาท เพิ่มขึ้นมา 100% ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี
อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะเริ่มสงสัยกันแล้ว 
ว่าคุณชนัญญารักษ์มีวิธีการบริหารจัดการองค์กรอย่างไร ?
เธอเล่าว่าด้วยความที่หลังจากเรียนจบ คุณชนัญญารักษ์ก็มีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับ CEO
ทำให้มุมมองการทำงานเป็นแบบผู้บริหารมาโดยตลอด 
โดยสิ่งที่คุณชนัญญารักษ์ เริ่มทำเป็นอย่างแรก หลังจากเข้าสู่องค์กรใหม่ก็คือ “การรับฟัง”
เพราะมองว่า เธอไม่ได้รู้จักอุตสาหกรรมเหล่านี้มาก่อน 
ดังนั้นไม่ว่าเราจะเก่งมาจากที่ไหน ก็ต้องมาฟังผู้ที่มีประสบการณ์ 
เพื่อที่จะได้รู้ว่าบริษัทมีจุดแข็งอะไร หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายมีความสัมพันธ์กันอย่างไร
ก่อนที่จะนำข้อมูลที่ได้รับ มาคิดต่อยอดเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม หน้าที่หลักของ CEO ก็คือการทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปตามแผนที่วางไว้ให้ได้
เพราะจริง ๆ กลยุทธ์ที่ร่างกันขึ้นมา มันมักจะไม่ผิดอยู่แล้ว แต่ปัญหามันอยู่ที่การนำไปปฏิบัติต่างหาก
และการที่จะทำให้สำเร็จตามแผน ก็คงจะอาศัยเพียงตัวคนเดียวไม่ได้ 
ดังนั้นสิ่งที่คุณชนัญญารักษ์ทำ ก็คือ การปรับทีมภายในองค์กร
โดยหนึ่งในวิธีที่คุณชนัญญารักษ์ นำมาใช้ก็คือ การบริหารแบบทีมฟุตบอล
เนื่องจากเธอเคยมีโอกาสเข้าไปสังเกตการณ์ตอนระหว่างช่วงพักของการแข่งขัน 
ที่โค้ชจะมี การปรับเปลี่ยนแผนการและตัวผู้เล่น 
เธอได้ถามโค้ชว่ารู้ได้อย่างไร ว่าปรับแล้วจะดีหรือไม่ 
ซึ่งคำตอบที่คุณชนัญญารักษ์ ได้รับมาก็คือ ไม่รู้ 
แต่เขาทำได้แค่เพียงเปิดรับทุกโอกาสเท่าที่จะทำได้ 
และถ้าไม่สำเร็จก็แค่ปรับเปลี่ยนผู้เล่นคนอื่นลงไป 
ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ สมาชิกทุกคนจะต้องเล่นให้ “เข้าขา” กันก่อน
และผู้นำก็ต้องมีการสื่อสารให้ชัดเจน ทีมจึงจะยอมเดินตาม และเดินไปในทิศทางเดียวกัน
โดยหลังจากฟังปัญหาจากภายนอกแล้ว ก็ต้องเข้ามาดูว่าภายในมีปัญหาอะไรบ้าง
พนักงานติดขัดอะไร หรือมีส่วนไหนที่ทำแล้วไม่สะดวก ก็ต้องเข้าไปช่วยเหลือ
และเมื่อพนักงานทำงานอย่างมีความสุขแล้ว เดี๋ยวมันจะสะท้อนออกมาทางผลประกอบการเอง
ซึ่งเรื่องนี้คุณชนัญญารักษ์ ก็เคยแนะนำเอาไว้ว่า 
ให้ลองนำทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ มาใช้ในการบริหารคน
เริ่มจากให้ความต้องการขั้นพื้นฐาน อย่างมอบเงินเดือนและสวัสดิการที่ดี
รวมถึงจัดให้มีการเลี้ยงสังสรรค์ปาร์ตี แต่ทำให้มีความแตกต่าง สร้างความตื่นเต้นให้กับพนักงาน
ต่อมาก็ทำให้พนักงานมีความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self Esteem)
โดยจัดพื้นที่ให้พวกเขาสามารถแสดงออก หรือโชว์ผลงานได้
สุดท้ายคือการให้ Self Actualization หรือการบรรลุเป้าหมายในชีวิต
ด้วยการผลักดันให้พนักงานทำเรื่องที่ถนัดจริง ๆ และพัฒนาจุดแข็งของพวกเขา
และเมื่อตอบโจทย์ความต้องการของพนักงานได้แล้ว
การจะทำให้พวกเขาเดินไปพร้อมกับองค์กรก็คงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
ปิดท้ายด้วยอีกหนึ่งแนวคิดจากคุณชนัญญารักษ์
Old Mindset + Technology = Old and Expensive Organization 
ซึ่งเรื่องนี้จริง ๆ แล้วก็คล้ายกับคุณมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ หรือคุณนก
CEO คนปัจจุบันของ Sea ประเทศไทย ที่ต้องดูแลพนักงานกว่า 4,000 ชีวิต
โดยคุณนกกล่าวว่า ไม่ว่าบริษัทจะหาเทคโนโลยีล้ำยุคแค่ไหนมาใช้
แต่ถ้าไม่มี “คน” ที่เหมาะสม สิ่งเหล่านั้นก็จะเป็นเพียงอุปกรณ์ที่วางอยู่เฉย ๆ
ดังนั้นสุดท้ายแล้ว หนึ่งในหัวใจของการบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ 
อาจจะต้องเริ่มจากภายใน อย่างการบริหารคน ก็เป็นได้..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.