เรียนรู้ วิธีสร้างคอนเทนต์ทำอาหาร ให้กลายเป็นไวรัล จาก Tasty
FoodBusiness

เรียนรู้ วิธีสร้างคอนเทนต์ทำอาหาร ให้กลายเป็นไวรัล จาก Tasty

31 พ.ค. 2021
เรียนรู้ วิธีสร้างคอนเทนต์ทำอาหาร ให้กลายเป็นไวรัล จาก Tasty /โดย ลงทุนเกิร์ล
การนั่งเลื่อนดูวิดีโอตามฟีดบนโซเชียล กลายเป็นงานอดิเรกยามว่างของคนยุคนี้
ซึ่งถ้าพูดถึงคลิปดัง ๆ ทั่วโลกออนไลน์ด้านการทำอาหาร
ก็คงจะเคยผ่านตากับ Tasty คลิปสอนทำอาหารสั้น ๆ ที่เห็นแค่มือคนมาปรุงอาหาร
แต่สามารถเป็นไวรัลไปทั่วโลก และทำรายได้ถึงหลักหลายพันล้านบาท 
ภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี หลังจากที่เริ่มเปิดตัวในโลกออนไลน์
แล้วคลิปวิดีโอสอนทำอาหาร ที่ไม่มีแม้แต่เสียงคนสอน 
กลายเป็นไวรัลร้อยล้านวิวได้อย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง 
Tasty คือ วิดีโอคอนเทนต์เกี่ยวกับอาหาร ความยาวไม่เกิน 60 วินาที
ที่มีการดำเนินเรื่องแบบกระชับ ภาพสวย ดูน่าทาน 
และที่สำคัญคือทุกเมนูดูแล้ว มีขั้นตอนการทำที่ง่าย ใคร ๆ ก็สามารถทำตามได้
โดยปัจจุบัน Tasty มีผู้ติดตามกว่า 20 ล้านบัญชีบนยูทูบ
90 ล้านบัญชีบนเฟซบุ๊ก และอีกหลายสิบล้านบัญชี บนแพลตฟอร์มออนไลน์อื่น ๆ
จริง ๆ แล้ว Tasty เป็นส่วนหนึ่งของ BuzzFeed 
เว็บไซต์และบริษัทผลิตคอนเทนต์ชื่อดังในสหรัฐอเมริกา 
ก่อตั้งโดยคุณ Jonah Peretti ในปี 2006
ซึ่งก่อนที่บริษัท BuzzFeed จะผลิตคอนเทนต์อย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ 
คุณ Peretti มักจะเน้นนำเสนอข่าวแบบ “Clickbait” 
หรือการพาดหัวข่าวให้น่าสนใจ จนอยากกดเข้าไปดู แต่ข้างในเนื้อหามักไม่มีอะไรน่าสนใจ
แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป คนเริ่มหันมาเสพคอนเทนต์ที่มีสาระ
คุณ Peretti จึงเปลี่ยนมาผลิตคอนเทนต์รูปแบบใหม่ 
ที่มีเนื้อหาที่น่าเชื่อถือมากขึ้น อย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ 
แล้วทำไมบริษัท BuzzFeed ถึงเลือกทำคลิปวิดีโอคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับอาหาร ? 
ย้อนกลับไปเมื่อ 6 ปีก่อน ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ตลาดวิดีโอออนไลน์กำลังเติบโตอย่างมาก
และมีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาทเลยทีเดียว
ซึ่งนั่นทำให้คุณ Peretti เห็นโอกาสทางธุรกิจ ในการผลิตวิดีโอคอนเทนต์
และสิ่งที่จะเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายที่สุด ก็คงจะหนีไม่พ้น “อาหาร”
ทำให้ในปี 2015 วิดีโอของ Tasty ก็ถือกำเนิดขึ้น 
โดยเป็นส่วนหนึ่งของเว็บไซต์ BuzzFeed 
ผลลัพธ์ก็เป็นไปตามคาด Tasty ได้รับความนิยมในเวลาอันรวดเร็ว
เพียงแค่ 15 เดือนแรก Tasty อัปโหลดวิดีโอไปแล้วกว่า 2,000 คลิป 
และทุก ๆ คลิป มีผู้ชมไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านคนต่อเดือน ภายในระยะเวลา 2 ปี 
โดยในปี 2016 Tasty ก็กลายเป็นอีกหนึ่งรายได้หลักของ BuzzFeed
คิดเป็น 50% ของรายได้ทั้งบริษัท 7,800 ล้านบาท
เท่ากับว่า Tasty สามารถทำรายได้ถึง 3,900 ล้านบาทเลยทีเดียว
และความสำเร็จนี้เอง ทำให้ Tasty มีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง
แยกออกมาจากเว็บไซต์หลักอย่าง BuzzFeed 
ซึ่งใครจะไปคิดว่าคลิปวิดีโอที่มีนักแสดงหลัก คือ “มือ” ในการรังสรรค์เมนู จะได้รับความสนใจมากมายขนาดนี้
แล้วอะไรคือปัจจัยที่ทำให้ Tasty ประสบความสำเร็จขนาดนี้ ?
เราจะมาเรียนรู้จากคุณ Alvin Zhou หนึ่งในเจ้าของมือ ผู้อยู่เบื้องหลังวิดีโอไวรัล
และโปรดิวเซอร์หนุ่ม ที่ในขณะนั้นมีอายุเพียง 21 ปี เท่านั้น
คุณ Zhou บอกว่า กุญแจสำคัญที่เขาใช้ในการสร้างคลิปวิดีโอ 
ก็คือ “ความสั้นกระชับ เข้าใจง่าย และน่าสนใจ” 
โดยคุณ Zhou มักจะโฟกัสที่สูตรอาหารง่าย ๆ หาซื้อวัตถุดิบได้ทั่วไป
และเน้นวิธีการทำ ที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าเขาสามารถทำตามได้
นอกจากนั้น คุณ Zhou ยังต้องวางแผนการถ่ายทำอย่างรอบคอบทุกครั้ง
เพราะเมื่อคลิปวิดีโอยิ่งสั้น การตัดต่อจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก 
ซึ่งการวางแผนที่ดี จะช่วยให้การถ่ายซ้ำเกิดน้อยที่สุด 
รวมทั้งยังช่วยลดปริมาณของเสียจากอาหารอีกด้วย
โดยระหว่างการถ่ายทำ ก็จะต้องใส่ใจแสง และองค์ประกอบภาพเสมอ
พยายามตัดต่อให้เข้าใจง่ายที่สุด เป็นขั้น ๆ อย่างชัดเจน เพื่อให้คนดูทำตามได้ง่าย
เพราะยิ่งภาพสวย ลำดับภาพดี เปอร์เซ็นต์การถูกแชร์ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย 
และหลังจากวิดีโอโพสต์ลงไปแล้ว คุณ Zhou ก็จะคอยดู Feedback 
เพื่อนำมาพัฒนาคอนเทนต์อื่น ๆ ต่อไป 
ปัจจุบัน Tasty ก็เริ่มทำคลิปที่มีความยาวมากขึ้น
แต่หัวใจหลักของการทำคอนเทนต์ ก็ยังอยู่ที่ การสร้างเรื่องราวให้น่าสนใจ 
เช่น คลิปวิดีโอ “ทำลาซัญญา 100 ชั้น” ที่ถึงแม้จะมีความยาว 3 นาที 
มากกว่าคลิปปกติของ Tasty ถึง 3 เท่าตัว ก็ยังคงได้รับการตอบรับที่ดี
เนื่องจากการตัดต่อที่ไม่น่าเบื่อ รวมทั้งผู้ชมก็ต้องการที่จะรอดูผลลัพธ์ในตอนจบ
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีเนื้อหาที่ดีแล้ว กลยุทธ์การจัดการและขยายตลาด ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน 
โดยสำหรับ Tasty ก็มีการสร้างคอนเทนต์ที่หลากหลาย เพื่อจับแต่ละกลุ่มผู้ชมอย่างเฉพาะเจาะจง
เช่น Tasty Junior, Proper Tasty, Tasty Presents และ Tasty Vegetarian 
รวมทั้งสร้างคอนเทนต์พิเศษเพิ่มขึ้น ในชื่อ Tasty Shows 
ที่จะแบ่งออกแยกย่อยอีก เช่น เบื้องหลังการผลิตหนึ่งวิดีโอ การทำอาหารร่วมกับคนดัง หรือคอนเทนต์ให้ความรู้พื้นฐานต่าง ๆ
นอกจากนั้น ยังมีการ Localized คอนเทนต์ เพื่อจับกลุ่มผู้ชมในแต่ละประเทศ
อย่าง Tasty Japan ก็จะใช้ภาษาญี่ปุ่น และวิธีการปรุงอาหารแบบคนญี่ปุ่น เพื่อให้เข้าใจถึงวัฒนธรรมในประเทศนั้นจริง ๆ 
อ่านมาถึงตรงนี้สงสัยหรือไม่ว่า ในเมื่อคลิปส่วนใหญ่ของ Tasty ก็ปล่อยให้ชมฟรี 
แล้วมีรายได้มาจากช่องทางไหน ? 
รายได้ส่วนหนึ่งของ Tasty ได้รับมาจากสปอนเซอร์
และอีกส่วนจะมาจากพรีเมียมคอนเทนต์ ที่ผู้ชมจะต้องจ่ายเงินเพื่อรับชม
ในช่อง YouTube, Amazon Prime Video และ Hula 
นอกจากนั้น ยังมีสินค้าที่ทำออกมาขาย 
เช่น ตำราอาหาร, เครื่องครัวที่ทำร่วมกับ Walmart, ไอศกรีมที่ร่วมกับ Nestlé
และล่าสุดก็ได้ออกผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง
ซึ่งสินค้าเหล่านี้ ก็มักจะได้รับผลตอบรับที่ดี 
โดยปี 2018 มียอดขายสินค้าทั้งหมดอยู่ที่ 4,058 ล้านบาท
และปี 2019 ตำราอาหารของ Tasty ทำยอดขายไปกว่า 1 ล้านเล่ม
เรียกได้ว่า Tasty ก็เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจเลยทีเดียว 
จากการหยิบเมนูที่ดูธรรมดาและใกล้ตัว มานำเสนอในรูปแบบที่น่าสนใจและสร้างสรรค์ 
จนกลายเป็นไวรัลที่โด่งดังไปทั่วโลก.. 
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.