Vermont Curry แบรนด์แกงกะหรี่ก้อนจากญี่ปุ่น แต่ใช้ชื่อฝรั่ง
FoodBusiness

Vermont Curry แบรนด์แกงกะหรี่ก้อนจากญี่ปุ่น แต่ใช้ชื่อฝรั่ง

14 ก.ค. 2021
Vermont Curry แบรนด์แกงกะหรี่ก้อนจากญี่ปุ่น แต่ใช้ชื่อฝรั่ง /โดย ลงทุนเกิร์ล
ถ้าหากพูดถึง “แกงกะหรี่ญี่ปุ่น” ทุกคนคงจะนึกถึงแกงสีน้ำตาลอ่อน
ที่มีผัก มันฝรั่ง พร้อมแคร์รอตสีส้ม ราดอยู่บนข้าวสวยร้อน ๆ ในจานสีขาว
เป็นภาพจำของแกงกะหรี่ญี่ปุ่นทั้งเวลาไปทานที่ร้าน ในภาพยนตร์ หรือการ์ตูน
แต่กว่าจะมาเป็นแกงกะหรี่แบบที่เราเห็นในปัจจุบันนั้น
แกงกะหรี่ญี่ปุ่นก็มีประวัติยาวนานกว่า 100 ปีเลยทีเดียว
วันนี้ลงทุนเกิร์ลจะขอพาทุกคน ย้อนเวลาไปทำความรู้จักกับแกงกะหรี่ญี่ปุ่นแบบสั้น ๆ
รวมถึงหยิบเอาแบรนด์แกงกะหรี่ที่คนไทยส่วนใหญ่น่าจะคุ้นเคยอย่าง Vermont Curry
หรือแกงกะหรี่กล่องสีเหลือง โลโกสีออกแดง พร้อมรูปแอปเปิลบนกล่องมาเล่าให้ฟังกันค่ะ
จริง ๆ แล้ว ประเทศที่ริเริ่มทำแกงกะหรี่ ก็คือ ประเทศอินเดีย
โดยในตอนนั้นแกงกะหรี่ดั้งเดิมจะมีส่วนผสม ได้แก่ ขิง กระเทียม และขมิ้น
ถึงแม้ว่าประเทศที่ริเริ่มแกงกะหรี่จะเป็นอินเดีย แต่ผู้ที่ทำให้แกงกะหรี่เป็นที่รู้จักในญี่ปุ่นกลับเป็นประเทศอังกฤษ
เนื่องจากประเทศอินเดีย เคยตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษในสมัยก่อน ทำให้ในยุคนั้นประเทศอังกฤษ จึงได้เอาวัฒนธรรมอาหารของคนอินเดียกลับมาด้วย
จนเวลาผ่านมาถึงช่วงปี 1869 ถึง 1913 เป็นยุคที่ญี่ปุ่นเริ่มเปิดประเทศ ทำให้ญี่ปุ่นได้รับวัฒนธรรมต่าง ๆ เข้ามามากมาย รวมถึงวัฒนธรรมด้านอาหาร
ที่น่าสนใจคือ สิ่งที่เราคิดว่าเป็นอาหารประจำชาติหลาย ๆ อย่างของญี่ปุ่น ก็ได้รับวัฒนธรรมมาจากชาติตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นแกงกะหรี่ หรือแม้แต่ทงคัตสึ
โดยแกงกะหรี่ค่อย ๆ เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ จากเดิมที่เป็นอาหารชั้นสูง ก็เริ่มแพร่หลายไปสู่คนทั่ว ๆ ไป จนกลายเป็นกระแสไปทั่วญี่ปุ่น
นอกจากนี้ด้านการทหารของญี่ปุ่นเอง ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้แกงกะหรี่กลายเป็นที่นิยมมากขึ้น
โดยเป็นอาหารที่พวกทหารทำกินกันในระหว่างทำสงคราม จนเมื่อสงครามจบลง พวกเขาก็กลับไปทำแกงกะหรี่ที่บ้าน จนทำให้ทุก ๆ บ้านเริ่มรู้จักแกงกะหรี่มากขึ้น
และจุดพลิกผันของยุคแกงกะหรี่ญี่ปุ่นก็มาถึง
โดยในปี 1950 ได้มีการเปิดตัว “ก้อนแกงกะหรี่ออกมาเป็นครั้งแรก” โดยใช้กระบวนการที่เรียกว่า Roux
คำจากภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่า ส่วนผสมของแป้งที่นำไปทอดในไขมัน
ซึ่งพวกเขาก็ได้นำเอาแป้ง ไขมันต่าง ๆ เครื่องเทศ และเครื่องปรุงมาผสมรวมกัน
ก่อนจะถูกทำให้ร้อน และปล่อยให้เย็นเพื่อให้ส่วนผสมแข็งกลายเป็นก้อน
ส่งผลให้ผู้คนสามารถทำแกงกะหรี่เองที่บ้านได้ง่ายขึ้น และกลายเป็นก้อนแกงกะหรี่ที่เราคุ้นเคยกันอย่างในยุคปัจจุบัน
ซึ่งหนึ่งในยี่ห้อแกงกะหรี่ที่หลายคนรู้จักก็คือแบรนด์ “Vermont Curry” ผลิตภัณฑ์จากบริษัท House Foods ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1913
โดยจุดเริ่มต้นของบริษัทนี้ ก็ไม่ได้เริ่มมาจากการเป็นบริษัทด้านอาหารมาก่อน
แต่เนื่องจากผู้ก่อตั้งอย่างคุณ Seisuke Urakami ซึ่งตอนแรกเปิดร้านขายยา ได้เห็นถึงความนิยมของแกงกะหรี่ ที่เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในญี่ปุ่นมากขึ้น
เขาจึงริเริ่มทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
โดยเขาเริ่มต้นจากการขายผงแกงกะหรี่ก่อนเป็นอย่างแรก จากนั้นจึงค่อย ๆ ศึกษาและพัฒนาสินค้าจนกลายมาเป็น “Vermont Curry” ที่เปิดตัวในปี 1963 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์แกงกะหรี่ก้อนแบรนด์แรกของบริษัท
Vermont Curry เป็นแกงกะหรี่ก้อนที่พิเศษกว่าแบรนด์อื่นตรงที่ “มีส่วนผสมของแอปเปิลและน้ำผึ้ง” ทำให้มีรสชาติที่ทานง่าย แม้แต่เด็กก็สามารถทานได้ ต่างจากแกงกะหรี่เจ้าอื่น ๆ ที่ทำออกมาในรสชาติที่เผ็ดร้อน จนทำให้มีแต่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่ทานได้
โดยชื่อแบรนด์ Vermont นั้นก็มีอิทธิพลมาจากเทรนด์สุขภาพที่นิยมในช่วงนั้น
ซึ่งก็คือหนังสือ Folk Medicine: A Vermont Doctor's Guide to Good Health ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศญี่ปุ่นสมัยนั้น และได้พูดถึงการใช้ประโยชน์จากส่วนผสมอย่างน้ำผึ้งและแอปเปิลไซเดอร์
และถ้าถามว่าแกงกะหรี่ของ Vermont Curry เป็นที่นิยมแค่ไหน ?
ในปี 2013 ซึ่งเป็นปีที่ฉลองครบรอบ 50 ปีตั้งแต่ Vermont Curry ผลิตออกมา
โดยบริษัทได้ออกมาเปิดเผยว่า พวกเขาสามารถขายแกงกะหรี่ได้มากถึง 2,000 ล้านกล่องต่อปี รวมถึงหากนำแกงกะหรี่ที่ House Foods ผลิตออกมานำมาวางต่อ ๆ กัน จะมีความสูง สูงกว่าภูเขาฟูจิถึง 700 เท่าเลยทีเดียว
ปัจจุบัน House Foods บริษัทที่เป็นเจ้าของแบรนด์ Vermont Curry ได้กลายเป็นหนึ่งในบริษัทอาหาร
ที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของญี่ปุ่น โดยมีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 99,944 ล้านบาท
และไม่ได้ขายแค่เพียงแกงกะหรี่เท่านั้น แต่ยังมีผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ อีก ได้แก่ เครื่องปรุง, อาหารแบบพร้อมทานต่าง ๆ และอาหารเพื่อสุขภาพ
เรามาลองดูรายได้ของบริษัท House Foods
ปี 2019 รายได้ 87,436 ล้านบาท กำไร 4,057 ล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 85,578 ล้านบาท กำไร 3,377 ล้านบาท
ปี 2021 รายได้ 83,622 ล้านบาท กำไร 2,574 ล้านบาท
ที่น่าสนใจคือ 50% ของรายได้ก็มาจากการขายสินค้า เกี่ยวกับเครื่องปรุง, เครื่องเทศ และอาหารแปรรูป
ซึ่งหากย้อนกลับไปในช่วงที่สินค้า Vermont Curry เปิดตัวมาใหม่ ๆ นั้น
สินค้ากลุ่มนี้กลับไม่ได้ขายดีเลย ผิดกับปัจจุบันที่แกงกะหรี่เป็นหนึ่งในสินค้าที่ขายดีของบริษัท
แล้วบริษัท House Foods ทำอย่างไร จึงทำให้แบรนด์แกงกะหรี่ของตนเองขายได้ ?
ในอดีตนั้นแกงกะหรี่เป็นแกงที่ขึ้นชื่อเรื่องความเผ็ดร้อนจากเครื่องแกง
ฉะนั้นสำหรับ Vermont Curry ซึ่งเป็นแกงกะหรี่ที่มีรสชาติอ่อน จึงไม่เป็นที่นิยม เพราะมันขาดจุดเด่นของแกงกะหรี่ไปนั่นเอง
ซึ่ง House Foods ก็แก้ปัญหานี้ด้วยการทำโฆษณาผ่านทางโทรทัศน์ รวมถึงทำแคมเปนตามร้านค้าต่าง ๆ โดยเปิดโอกาสให้ผู้คนได้ชิมรสชาติของแกงกะหรี่ และยังเป็นเจ้าแรก ๆ ที่เปิดให้มีการชิมสินค้า จนยอดขายพุ่งสูงขึ้นในไม่กี่เดือนหลังจากนั้น
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ Vermont Curry ขายดีก็คือ การช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภค เพราะ Vermont Curry เป็นหนึ่งแบรนด์แกงกะหรี่ไม่กี่แบรนด์ที่ทำรสชาติสำหรับเด็กออกมา
ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาสำหรับเด็กที่อยากกินแกงกะหรี่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ใหญ่อีกหลายคน ที่มีปัญหาในการทานเผ็ดอีกด้วย
และในปัจจุบันเองด้วยผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้นของ House Foods ไม่ว่าจะ Java Curry ซึ่งเป็นแกงกะหรี่ก้อนที่มีรสชาติเข้มข้นขึ้นกว่าแบบเดิม หรืออาหารแบบพร้อมทานที่มีให้เลือกหลากหลายมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน ก็ทำให้บริษัท House Foods นั้นค่อย ๆ เติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ จนมาถึงปัจจุบัน..
ฉะนั้นอาจสรุปได้ว่า การที่ทำให้บริษัท House Foods สามารถอยู่มาได้กว่า 100 ปี ก็คือการที่บริษัทออกผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้า และการทำโฆษณาที่ตรงใจลูกค้า
รวมถึงการไม่ยึดติดกับผลิตภัณฑ์รูปแบบเดิม ๆ ที่ตนเองเคยทำสำเร็จ แต่ออกสินค้าอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกัน เพื่อให้ได้กลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้นนั่นเอง..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ นอกเหนือจากธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอาหารแล้ว
House Foods ยังเป็นเจ้าของร้านแกงกะหรี่ Coco Ichibanya ด้วยการเข้าซื้อในปี 2016 ที่ผ่านมาอีกด้วย
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.