กรณีศึกษา ทำไม “ร่างทรง” ภาพยนตร์ที่กำกับโดยคนไทย ถึงไปฮิตที่เกาหลีใต้ ?
Entertainment

กรณีศึกษา ทำไม “ร่างทรง” ภาพยนตร์ที่กำกับโดยคนไทย ถึงไปฮิตที่เกาหลีใต้ ?

22 ก.ค. 2021
กรณีศึกษา ทำไม “ร่างทรง” ภาพยนตร์ที่กำกับโดยคนไทย ถึงไปฮิตที่เกาหลีใต้ ? /โดย ลงทุนเกิร์ล
“ถ้าเจอผีที่ต่างประเทศ เราต้องสวดมนต์ภาษาอะไร ?” แม้นี่อาจจะเป็นคำถามเชิงขบขัน แต่ก็คงมีคนไม่น้อยที่ต้องการคำตอบ เพราะทั้งภาษาและสัญชาติก็แตกต่างกัน แล้วจะเจรจากันรู้เรื่องได้อย่างไร ?
แต่สำหรับ “ร่างทรง” หรือ “THE MEDIUM” ภาพยนตร์สยองขวัญสัญชาติไทย กลับกำลังสร้างความหลอนขีดสุดให้กับคนเกาหลีใต้
และยังประสบความสำเร็จอย่างมากจนขึ้นแท่นอันดับ 1 รายได้แตะ 36 ล้านบาท รวมยอดจำหน่ายตั๋ว 1.29 แสนใบหลังจากที่หนังเข้าฉายวันแรก
แล้วทำไมคนเกาหลีใต้ ถึงให้ความสนใจภาพยนตร์เรื่องร่างทรงมากขนาดนี้ ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่นเลยเรามาไขข้อข้องใจกันก่อนว่าทำไม “ร่างทรง” ที่เป็นหนังผีสัญชาติไทย ถึงได้ไปแลนดิงฉายที่ประเทศเกาหลีใต้ ก่อนประเทศบ้านเกิดของตัวเองเสียอีก
จริง ๆ แล้วภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้มาจากฝีมือของคนไทย 100% แต่เป็นการจับมือร่วมกันระหว่างค่าย GDH และ Showbox บริษัทผลิตภาพยนตร์ของเกาหลีใต้ โดยที่ทุนการสร้างหลักก็มาจากประเทศเกาหลีใต้
ประกอบกับสถานการณ์โรคระบาดในประเทศไทยยังคงรุนแรง ทำให้โรงภาพยนตร์ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ จึงอาจเป็นสาเหตุที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ไปฉายที่ประเทศเกาหลีใต้ก่อน
อย่างไรก็ตามภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการการันตีความหลอนจาก 2 ผู้กำกับ ผู้มากประสบการณ์ในภาพยนตร์สยองขวัญ
นั่นก็คือ คุณบรรจง ปิสัญธนะกูล หรือคุณโต้งที่ทำคนไทยขนหัวลุกและรู้สึกปวดบ่ากันมาแล้วกับ “ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ” รวมถึงภาพยนตร์ผีอีกหลายเรื่อง เช่น แฝด, สี่แพร่ง หรือห้าแพร่ง
และทวีคูณความหลอนขึ้นไปอีกขั้น ด้วยฝีมือของคุณนาฮงจิน โปรดิวเซอร์ชาวเกาหลีใต้ ผู้สร้าง The Wailing ภาพยนตร์ผีสยองขวัญน้ำดี ที่ทำรายได้ในเกาหลีใต้ไปมากกว่า 1,684 ล้านบาท
ดังนั้นการที่ภาพยนตร์เรื่องร่างทรง มีกระแสตอบรับที่ดีตั้งแต่ยังไม่เข้าฉายจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
และถ้าถามว่าภาพยนตร์เรื่องร่างทรงนั้นน่ากลัวขนาดไหน ก็ตอบได้เลยว่าถึงขนาดที่โรงภาพยนตร์ของเกาหลีต้องเปิดรอบฉายภาพยนตร์แบบ “เปิดไฟ” พร้อมแจกที่อุดหู เพื่อให้คนขี้กลัวแต่ยังอยากสัมผัสประสบการณ์สยองขวัญ ยังสามารถเข้าชมได้อยู่
ซึ่งนอกเหนือจากฝีมือของผู้กำกับทั้ง 2 คนแล้ว ก็ยังมีอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญ ที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จ นั่นก็คือ “ความเชื่อ”
เพราะแม้ว่าคนไทยและคนเกาหลีใต้จะมีภาษา, วัฒนธรรม และศาสนาที่แตกต่างกัน แต่รู้หรือไม่ว่าความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติของทั้งสองประเทศกลับสอดคล้องกันมาก ๆ
อย่างความเชื่อทั่ว ๆ ไป เช่น ห้ามใช้ “หมึกสีแดง” เขียนชื่อเพราะจะแสดงถึงลางไม่ดี
หรือแม้แต่การขานรับ “เสียงกระซิบ” เรียกตอนกลางคืน อาจหมายถึงวิญญาณจะมาเอาตัวไป
รวมถึงความเชื่อเรื่องคนทรง, วิญญาณ, อาถรรพ์และเรื่องลี้ลับ ที่เรายังคงพบเห็นข่าวการไล่ผีตามต่างจังหวัดและชนบทอยู่บ่อย ๆ ซึ่งก็ไม่ต่างกับความเชื่อของคนเกาหลีใต้ ที่ยังคงมีร่างทรงและหมอดูให้พบได้ทั่วไปในสังคมเช่นกัน
ดังนั้นการที่ทั้ง 2 ประเทศมีความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติที่คล้าย ๆ กัน
จึงทำให้คนดูเข้าใจเนื้อหาและรู้สึกไปกับภาพยนตร์ได้ง่าย
ในขณะเดียวกันหากเราเอาความสยองขวัญเหล่านี้ไปฉายทางแถบตะวันตก คนดูก็อาจจะเข้าไม่ถึงความน่ากลัวของภาพยนตร์ก็ได้เนื่องจากความเชื่อที่แตกต่างกัน
อย่างไรก็ตามเราก็คงต้องมารอลุ้นกับเสียงตอบรับของแฟน ๆ จากทั่วโลกกันอีกที เพราะร่างทรงไม่ได้ฉายแค่ที่ประเทศเกาหลีใต้และประเทศไทยเท่านั้น
แต่ยังมีโอกาสไปโด่งดังบนเวทีสากลเนื่องจากจะถูกจัดจำหน่ายโดย The Jokers Films
บริษัทที่พา The Handmaiden และ Parasite ภาพยนตร์ของเกาหลีใต้ไปสู่ระดับนานาชาติมาแล้ว
ดังนั้นการร่วมทุนสร้างระหว่างไทยและเกาหลีใต้ในครั้งนี้ อาจเป็นใบเบิกทางให้ภาพยนตร์ไทยไปสู่เวทีโลกด้วยก็เป็นได้
แต่นอกจากการโกอินเตอร์สู่ต่างแดนแล้ว การร่วมทุนสร้างภาพยนตร์ครั้งนี้ยังสะท้อนอะไรให้เราเห็นบ้าง ?
ฝีมือนักแสดงไทย ที่เป็นดั่ง “เพชรในตม”
หากใครได้ดูตัวอย่างภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว คงสังเกตได้ว่านักแสดงหลักของเรื่องไม่ใช่นักแสดงดัง ๆ แต่กลับเป็นนักแสดงที่เราไม่คุ้นตามาก่อน ซึ่งถ้าหากอยู่ในแวดวงภาพยนตร์จริง ๆ ก็จะทราบดีว่าโปรไฟล์ของนักแสดงเหล่านี้ไม่ธรรมดา
อย่างคุณสวนีย์ อุทุมมา หรือคุณเอี้ยง นักแสดงอิสระและแอ็กติงโค้ช ที่รับบทบาทเป็นนักแสดงสมทบอยู่หลายเรื่อง และยังเป็นบุคคลสำคัญในวงการละครเวทีไทยอีกด้วย
หรือคุณธนัชพร บุญแสง นักแสดงหน้าใหม่ที่โลดแล่นในสายประกวดนางงามมาก่อน
ก็ได้รับเลือกให้แสดงในเรื่องนี้เช่นกัน
ซึ่งหากภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างโดยคนไทยทั้งหมด
เราอาจจะไม่มีโอกาสเห็นนักแสดงหน้าใหม่เป็นตัวละครเด่น ๆ ก็ได้
พฤติกรรมการเสพภาพยนตร์ของคนไทย
ภาพยนตร์สยองขวัญส่วนใหญ่ในไทยมักจะเน้นการใส่ “Jump Scare” หรือฉากที่ทำให้คนดูสะดุ้งตกใจจากการที่ผีโผล่ออกมาอยู่บ่อย ๆ หรือความสยองขวัญผสมกับตลก มากกว่าเน้นเค้าโครงเรื่องที่ซับซ้อน องค์ประกอบภาพสวยงาม
ซึ่งนั่นก็มาจากแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่ชอบเสพภาพยนตร์สยองขวัญที่น่ากลัวแต่ไม่มีเนื้อหาหนัก
ดังนั้นนายทุนจึงสนับสนุนการสร้างภาพยนตร์ประเภทนี้มากกว่า เพราะมองว่ามีตลาดรองรับอยู่แล้ว
เรื่องนี้จึงเป็นสาเหตุให้คนที่สร้างภาพยนตร์ต้องผลิตสื่อที่ตอบโจทย์ทั้ง “นายทุน” และ “คนเสพสื่อ” เป็นส่วนใหญ่
ดังนั้นการร่วมสร้างภาพยนตร์กับต่างชาติ จึงทำให้ผู้สร้างมองฐานผู้บริโภคที่กว้างขึ้นไปด้วย จึงทำให้ผู้ผลิตมีโอกาสสร้างสรรค์งานศิลปะได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดเดิม ๆ
ศักยภาพของ “บุคลากร” ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย
ความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็สามารถแสดงถึงศักยภาพของทีมงานเบื้องหลังได้เป็นอย่างดี
ซึ่งผลงานเรื่องนี้ยังทำให้คุณโต้ง ได้รับรางวัล “Best of Bucheon” จากเทศกาล Bucheon International Fantastic Film Festival ครั้งที่ 25 ในประเทศเกาหลีใต้อีกด้วย
และนอกจากคุณโต้งแล้ว ก็ยังมีผู้กำกับไทยอีกหลายคนที่สามารถไปยืนอยู่บนเวทีระดับนานาชาติในปีนี้
อย่างคุณบาส นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ที่ชนะรางวัล “Creative Vision” บนเวที Sundance Film Festival 2021 จากเรื่อง “One for the Road” ซึ่งได้รับทุนการสร้างจากบริษัทฮ่องกง Jet Tone Films และ Block 2 Pictures
รวมถึงคุณเจ้ย อภิชาติพงศ์ อีกหนึ่งผู้กำกับที่เพิ่งคว้ารางวัล “Jury Prize” จากเรื่อง “Memoria” ที่ไปฉายหนังที่เมืองคานส์ในปีนี้ และยังได้รับเสียงตบมือดังทั่วโรงภาพยนตร์ยาวนานถึง 14 นาที
ซึ่งการที่เราเห็นคนไทยหลาย ๆ คน ได้ไปยืนอยู่บนเวทีภาพยนตร์สากลแล้ว ก็คงไม่ต้องสงสัยถึงศักยภาพและการสร้างสรรค์ผลงานของคนไทยเลย
แต่ทำไมการพัฒนาวงการภาพยนตร์ของไทยยังคงอยู่กับที่กัน ?
และหากปราศจากพันธมิตร และเงินทุนจากต่างชาติ ภาพยนตร์ของไทยจะสามารถไปสู่ระดับโลกได้หรือไม่ ?
ซึ่งหนึ่งในคำตอบของคำถามเหล่านี้ ก็คือ “ขาดการสนับสนุนของภาครัฐ” ที่เป็นปัญหาเรื้อรังมาอย่างยาวนาน
โดยสิ่งที่คนไทยขาดใหญ่ ๆ คือ “เงินทุน” ในการสร้างหนังสเกลใหญ่ ๆ ไปเทียบชั้นกับต่างชาติ
และปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มี “กองทุนภาพยนตร์ไทย” อย่างจริงจังเลยด้วยซ้ำ
ที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ ในการขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
ดังนั้นหากภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ไม่แน่ภาพยนตร์ที่สร้างสรรค์ด้วยฝีมือคนไทยแบบเต็มขั้น อาจจะสามารถเดินทางไกลด้วยตัวเองไปจนถึงบนเวทีโลกก็เป็นได้..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.