กรณีศึกษา Subway กับความสำเร็จในซีรีส์เกาหลี
Business

กรณีศึกษา Subway กับความสำเร็จในซีรีส์เกาหลี

24 ก.ค. 2021
กรณีศึกษา Subway กับความสำเร็จในซีรีส์เกาหลี /โดย ลงทุนเกิร์ล
เมื่อพูดถึงฉากในซีรีส์เกาหลีที่น่าจดจำ ทุกคนนึกถึงอะไรคะ ?
สำหรับหลาย ๆ คนคงจะพูดเป็นเสียงเดียวกัน คือ ฉากการรับประทานอาหาร
ไม่ว่าจะเป็นไก่ทอด ต็อกโบกี รามยอน ก็ล้วนสร้างความหิวให้กับเราทั้งนั้น
แต่นอกเหนือจากอาหารเกาหลีต่าง ๆ แล้ว ก็ยังมีร้านอาหารอยู่แห่งหนึ่ง
ที่ช่วงหลัง ๆ ได้มาปรากฏตัวอยู่ในซีรีส์เกาหลีหลาย ๆ เรื่อง
ซึ่งเรามักจะได้เห็นฉากที่ตัวละครต้องมานัดเจอ และนั่งกินแซนด์วิช Subway ด้วยกันอยู่บ่อยครั้ง
แล้วทำไม Subway ร้านแซนด์วิช สัญชาติอเมริกัน
ถึงเลือกใช้การโปรโมตผ่านซีรีส์เกาหลี ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับร้านแซนด์วิช Subway สักเล็กน้อย
จุดเริ่มต้นของร้านแซนด์วิช Subway นั้นเกิดขึ้นในปี 1965
โดยมีคุณ Fred DeLuca และคุณ Peter Buck เป็นผู้ก่อตั้ง
ทั้งคู่ได้รวมตัวกันเพื่อเปิดร้านแซนด์วิชชื่อ Pete’s Super Submarines
ซึ่งเมนูขึ้นชื่อของร้านแซนด์วิชแห่งนี้ก็คือ Submarine Sandwich
หรือก็คือแซนด์วิชรูปร่างยาวคล้าย ๆ กับเรือดำน้ำ ที่ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากลูกค้า
เนื่องจากความสดใหม่ของอาหาร รวมถึงลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าอยากใส่อะไรลงไป
ทำให้ลูกค้ามั่นใจในคุณภาพ และรสชาติของอาหาร
ส่วนเหตุผลที่ทางร้านเปลี่ยนชื่อร้านกลายเป็น Subway ก็เป็นเพราะความสับสนในชื่อร้าน
เนื่องจากลูกค้ามักได้ยินชื่อร้านเป็น Pizza Marine และเข้าใจผิดว่าเป็นร้านพิซซา
สุดท้ายจึงมาจบที่ชื่อร้าน Subway นั่นเอง
ซึ่ง Subway ก็มีการขยายสาขาต่อเนื่อง จนผู้ก่อตั้งทั้งสองได้ตัดสินใจ
เปลี่ยนโมเดลธุรกิจมาเป็นรูปแบบแฟรนไชส์
ทำให้ปัจจุบัน Subway มีสาขากว่า 45,000 แห่ง ใน 112 ประเทศทั่วโลก
และ Subway ก็ยังเป็น “เชนฟาสต์ฟูดที่มีสาขามากสุดในโลก” อีกด้วย
สำหรับในประเทศเกาหลีใต้ Subway ได้เปิดตัวเป็นครั้งแรกในปี 1997
และในปี 2007 ก็ได้คุณ Colin Clark มาเป็น Country Director ของ Subway ประเทศเกาหลีใต้
ซึ่งเขาคนนี้ ยังเป็นผู้ที่ผลักดันให้เกิดการโปรโมต Subway ผ่านทางซีรีส์เกาหลี
จนทำให้ปัจจุบัน Subway ได้รับความนิยม และมีจำนวนกว่า 430 สาขาทั่วเกาหลีใต้
แต่คำถามสำคัญของเรื่องนี้ ก็คือ ทำไมคุณ Colin Clark ถึงเลือกที่จะโปรโมต Subway ผ่านซีรีส์ ?
เนื่องจากประเทศเกาหลีใต้นั้นมีกฎหมายเกี่ยวกับการจำกัดการโฆษณาเมื่อออกอากาศรายการภาคค่ำ
ซึ่งแน่นอนว่าในยุคนี้โอกาสที่คนจะดูโทรทัศน์นั้นมีน้อยมาก ถ้าไม่ใช่มาเพื่อดูรายการที่ชอบหรือซีรีส์
พอเรื่องเป็นแบบนี้ การโฆษณาต่าง ๆ ผ่านทางโทรทัศน์จึงอาจไม่ใช่ไอเดียที่ดีนัก
และไม่ใช่แค่แบรนด์ต่าง ๆ ที่ประสบปัญหากับการไม่สามารถโฆษณาคั่นระหว่างรายการได้
เพราะตัวรายการที่ฉายตามโทรทัศน์เอง ก็ต้องหาทางหารายได้ทางอื่นมาทดแทน นอกเหนือจากการโฆษณาระหว่างรายการ
และคำตอบนั้นก็คือ “Product Placement” หรือการวางผลิตภัณฑ์ประกอบฉาก ที่บางคนก็รู้จักกันในชื่อการ “Tie-in” นั่นเอง
โดยการทำ Product Placement ในเกาหลีใต้เริ่มมีให้เห็นมากขึ้นตั้งแต่ปี 2010
ซึ่งอีกหนึ่งความน่าสนใจของวิธีการนี้ก็คือ ค่าใช้จ่ายที่มีราคาถูกกว่า การทำภาพยนตร์โฆษณาสำหรับโทรทัศน์โดยเฉพาะ
รวมถึงกลุ่มเป้าหมายของ Subway เอง ก็เล็งเป้าไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุ 15-25 ปี
ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็คงไม่ใช่กลุ่มคนที่จะเสพสื่อผ่านโทรทัศน์เท่าไรนัก
ดังนั้น “สื่อ” ที่กลุ่มเป้าหมายนี้จะเสพ จึงมักจะเป็นคอนเทนต์ที่ฉายผ่านแพลตฟอร์ม
ที่สามารถรับชมเมื่อไรก็ได้อย่าง “ซีรีส์เกาหลี” เป็นต้น
และที่สำคัญ คือ ซีรีส์เกาหลียังเป็นสื่อที่ไม่ใช่เพียงแค่คนเกาหลีเท่านั้นที่ให้ความสนใจ
แต่คนทั่วโลกเองก็ให้ความสนใจกับซีรีส์เกาหลีเช่นกัน
แล้วการทำ Product Placement ของ Subway นั้นประสบความสำเร็จหรือไม่ ?
ถึงแม้จะไม่ได้มีการเปิดเผยอย่างชัดเจนว่า Subway นั้นไปโผล่ในซีรีส์กี่เรื่อง
แต่ข้อมูลจาก The New York Times เผยว่า พวกเขานับได้ทั้งหมด 17 รายการ
โดยส่วนใหญ่จะเป็นซีรีส์ที่ฉายผ่านทาง Netflix ควบคู่ไปด้วย
ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสตรีมหนังที่มีสมาชิกกว่า 200 ล้านคนทั่วโลก
หากลองสมมติง่าย ๆ ว่าใน 200 ล้านคนนี้ มี 10% ที่ชอบเสพซีรีส์เกาหลี
หมายความว่า มีคนกว่า 20 ล้านคนได้เห็น Product Placement ที่อยู่ในซีรีส์เหล่านั้น
และแม้จะไม่มีข้อมูลตัวเลขอย่างชัดเจน แต่คุณ Colin Clark ก็ได้ออกมายืนยันว่า
การทำ Product Placement ของ Subway นั้นส่งผลให้ยอดขายของ Subway ดีขึ้น
โดยเฉพาะในตอนที่ซีรีส์เรื่อง Descendants of the Sun ออกฉาย ซึ่งไม่ใช่แค่ในประเทศเกาหลีใต้
แต่ยังรวมถึงประเทศอื่น ๆ อย่าง จีน ไต้หวัน และสิงคโปร์
อย่างไรก็ตาม การทำ Product Placement เองก็ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก
เนื่องจากต้องหาฉากที่สามารถวางสินค้าเข้าไปให้แนบเนียน และไม่ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่า
มันคือการโฆษณาที่ยัดเยียดให้กับผู้ชมที่ต้องการรับชมซีรีส์
อย่างภาพลักษณ์ของ Subway ที่ปรากฏอยู่ในซีรีส์เกาหลีนั้น
ก็มักจะมาในภาพลักษณ์สดใส และอยู่ตามสถานที่ที่ตัวละครในซีรีส์
มักจะใช้นัดพบกัน, ออกเดตกัน หรือทำงาน
และไม่ใช่เพียงแค่ Subway เท่านั้นที่เลือกใช้การทำ Product Placement ในซีรีส์
เพราะแบรนด์ระดับโลกอื่น ๆ เองก็เลือกใช้วิธีนี้ในการตีตลาดเช่นกัน
อย่างแบรนด์ Swarovski ที่ไปโผล่ในซีรีส์อย่าง Crash Landing on You และ Hotel Del Luna
หรือ Baskin-Robbins ที่กลายเป็นอีกหนึ่งสถานที่นัดเดตของพระนางในซีรีส์เช่นกัน
จากเรื่องนี้ สามารถสรุปออกมาเป็นบทเรียนได้ว่า
การจะทำธุรกิจ เราต้องรู้ว่า “กลุ่มเป้าหมาย” ของเราอยู่ที่ไหน
จากนั้นจึงค่อยหาวิธีการโปรโมตสินค้าที่เหมาะสมมาใช้
เหมือนกับ Subway ที่รู้ว่ากลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ คือคนที่ดูซีรีส์
ก็เลยนำสินค้าของตัวเอง เอาไปวางไว้ในซีรีส์เสียเลย
ผลที่ได้นอกจากจะประหยัดค่าโฆษณาได้แล้ว
ลูกค้าก็ยังจดจำ ซึ่งส่งผลดีต่อยอดขายได้อีกด้วย
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.