หุ่นยนต์ทำเล็บ Nimble ไอเดียที่เกิดขึ้นเพราะคู่เดตมาสาย
Business

หุ่นยนต์ทำเล็บ Nimble ไอเดียที่เกิดขึ้นเพราะคู่เดตมาสาย

29 ก.ค. 2021
หุ่นยนต์ทำเล็บ Nimble ไอเดียที่เกิดขึ้นเพราะคู่เดตมาสาย /โดย ลงทุนเกิร์ล
สาว ๆ เวลาไปเดต เตรียมตัวกันนานหรือไม่คะ ไม่ว่าจะเสื้อผ้า หน้า ผม ทุกส่วนล้วนต้องเป๊ะให้ได้มากที่สุด
รวมถึงเล็บมือเอง ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สาว ๆ หลายคนให้ความสำคัญ
จนบางครั้งก็กลายเป็นว่า เพราะความเพอร์เฟกต์เหล่านี้ ก็ทำให้ไปเดตสายในบางครั้ง
ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้หนุ่ม ๆ ต้องนั่งรอสาว ๆ ในการแต่งสวยเกือบทุกครั้งไป
และการรอคอยนี้เอง ก็ทำให้คุณ Omri Moran หนุ่มจากประเทศอิสราเอล เกิดไอเดียธุรกิจ “Nimble”
ที่ทำให้เขาสามารถระดมทุนได้มากถึง 300 ล้านบาท
แล้ว Nimble ทำธุรกิจอะไร และน่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มต้นของ Nimble เกิดขึ้นในปี 2016
เรื่องราวนี้ได้เริ่มมาจากคู่เดตของคุณ Omri Moran มาสาย ซึ่งวันนั้นเขาต้องนั่งรอคู่เดตของเขาอยู่นานมาก ๆ จนเมื่อเธอมาถึง เธอก็เริ่มต้นขอโทษเขายกใหญ่
โดยเหตุผลที่เธอมาสาย ก็เป็นเพราะว่า เธอรีบออกจากร้านทำเล็บมาหาเขา แต่ในขณะที่รีบร้อนออกมานั้น กลายเป็นว่าเล็บของเธอยังไม่แห้งดี และส่งผลให้เล็บของเธอไม่สวยอย่างที่ควรจะเป็น
สาวคู่เดตคนนั้นจึงพยายามจะแก้ไขให้เล็บของเธอสวยที่สุดก่อนจะมาเดต แต่หลังจากเสียเวลาอยู่นาน เธอก็ยอมแพ้แล้วมาพบกับคุณ Omri Moran ในที่สุด
คุณ Omri Moran ที่ได้ยินแบบนั้นจึงเริ่มคิดว่า มันจะดีกว่านี้หรือไม่ ถ้ามีเทคโนโลยีที่ทำให้การทาเล็บนั้น สะดวกสบายมากขึ้น รวมถึงรวดเร็วกว่าเดิม
และเรื่องนี้จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Nimble นั่นเอง
แล้วเครื่อง Nimble แตกต่างจากเครื่องพิมพ์ลายเล็บทั่ว ๆ ไปอย่างไร ? ทำไมถึงสามารถระดมทุนไปได้ถึง 300 ล้าน ?
สำหรับเครื่องพิมพ์ลายเล็บตามร้านทั่ว ๆ ไปนั้นส่วนใหญ่ฟังก์ชันหลัก ๆ ก็คือการพิมพ์ลวดลายต่าง ๆ ลงไปบนเล็บ ฉะนั้นก่อนที่จะพิมพ์ลายลงไปได้นั้น เบื้องต้นผู้ใช้งานก็ต้องทำการเตรียมหน้าเล็บ เตรียมสีเล็บให้พร้อมก่อนที่จะเอาเล็บเข้าไปพิมพ์ลายในเครื่อง
แต่สำหรับ Nimble จะเป็นการ “ทาเล็บ” ที่ไม่ต่างจากการที่มีคนทาให้เลย
ถึงแม้ว่า Nimble จะไม่สามารถพิมพ์ลวดลายต่าง ๆ บนเล็บได้ แต่ Nimble จะใช้คอมพิวเตอร์ในการสแกนพื้นที่หน้าเล็บที่จะทา แล้วหลังจากนั้นมือหุ่นยนต์จิ๋วในเครื่อง จะทำการเตรียมหน้าเล็บก่อนทาด้วยการลงเบสบนหน้าเล็บ ก่อนจะลงสีเล็บ และตามด้วย Top Coat ได้เลย
โดยภายในตัวเครื่องก็จะมีพัดลมที่ช่วยทำให้เล็บแห้งในทันที และจะใช้เวลาประมาณ 10 นาทีต่อมือ 1 ข้าง
ส่วนน้ำยาที่ใช้ในเครื่อง Nimble จะเป็นสูตรเฉพาะของ Nimble ซึ่งก็สามารถล้างออกได้ด้วยน้ำยาทาเล็บทั่ว ๆ ไป ฉะนั้นทุกขั้นตอนจึงทำเองได้ที่บ้าน โดยที่ไม่ต้องออกไปใช้บริการที่ร้านเลย
ที่น่าสนใจคือ คุณ Omri Moran ใช้เวลาในการพัฒนาสินค้ากว่า 4 ปี และได้ทำการเปิดระดมทุนบน Kickstarter แพลตฟอร์ม Crowdfunding
ตอนแรกคุณ Omri Moran ตั้งเป้าหมายในการระดมทุนอย่างน้อย 8 แสนบาทในการเริ่มต้นผลิต แต่ผลปรากฏว่าผ่านไปเพียง 12 วัน Nimble กลับสามารถระดมทุนสูงถึง 50 ล้านบาท จากผู้ที่สนใจกว่า 5,800 คน
นอกจากความนิยมของ Nimble ที่มีให้เห็นตั้งแต่ยังระดมทุนผ่าน Kickstarter แล้ว ในการระดมทุนรอบ Seed เองบริษัทก็สามารถระดมทุนได้อีก 300 ล้านบาทอีกด้วย
ซึ่งในปี 2021 นี้ Nimble ก็จะเริ่มต้นขายเครื่องอย่างเป็นทางการผ่านช่องทางของตัวเองแล้ว
สำหรับผู้ที่สนใจเครื่อง Nimble ก็อาจจะต้องเป็นคนที่ชื่นชอบการทาเล็บพอสมควร เพราะตัวเครื่องนั้นมีราคาอยู่ที่ประมาณ 13,000 บาท และค่าเซตน้ำยา 3 ขวดอีก 900 บาท
เรียกได้ว่าการมาถึงของ Nimble ที่แม้จะมีแนวคิดมาตั้งแต่ปี 2016 แต่กลับเข้ามาตอบโจทย์คนในยุคนี้ได้อย่างพอดิบพอดี
โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโรคระบาดที่เกิดขึ้น ก็น่าจะยิ่งส่งเสริมให้ Nimble สามารถเติบโตไปได้อีกในอนาคต เพราะแนวโน้มผู้คนในอนาคต จะเริ่มหันมาทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่างภายในบ้านมากขึ้น
ไม่ว่าจะช็อปปิง ออกกำลังกาย หรือแม้แต่ทาเล็บ เพื่อลดโอกาสในการเจอคนแปลกหน้า และทำให้การไปพบหน้าครอบครัวเป็นเรื่องที่ปลอดภัยมากขึ้นนั่นเอง
และสุดท้ายนี้สำหรับคนที่สงสัยว่า แล้วบทสรุปคุณ Omri Moran กับคู่เดตคนนั้นลงเอยกันอย่างไร ก็ต้องขอแสดงความยินดีด้วย เพราะปัจจุบันทั้งคู่ได้แต่งงานกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และสาวผู้โชคดีคนนั้นก็กลายเป็นแฟนพันธุ์แท้ของเครื่อง Nimble ไปโดยปริยาย..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.