ClassPass จ่ายที่เดียวเล่นฟิตเนสที่ไหนก็ได้ ยูนิคอร์นตัวแรกของทศวรรษ 2020
Business

ClassPass จ่ายที่เดียวเล่นฟิตเนสที่ไหนก็ได้ ยูนิคอร์นตัวแรกของทศวรรษ 2020

7 ก.ย. 2021
ClassPass จ่ายที่เดียวเล่นฟิตเนสที่ไหนก็ได้ ยูนิคอร์นตัวแรกของทศวรรษ 2020 /โดย ลงทุนเกิร์ล
รู้หรือไม่ว่าในปี 2015 Crunchbase เว็บไซต์ฐานข้อมูลสตาร์ตอัปที่ใหญ่สุด
กล่าวถึง ClassPass ไว้ว่า “อาจเป็นสตาร์ตอัปยูนิคอร์นตัวถัดไปจาก Uber”
และในปี 2016 Forbes นิตยสารธุรกิจการเงินชั้นนำได้นำเสนอ ClassPass
ในรายชื่อ “บริษัทสตาร์ตอัปมูลค่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐรายต่อไป”
จนกระทั่งปีที่แล้ว ClassPass เพิ่งได้รับการประเมินมูลค่าของบริษัท ว่าสูงกว่า 33,000 ล้านบาท ทำให้บริษัทขึ้นแท่นสตาร์ตอัปยูนิคอร์นตัวแรกของทศวรรษ 2020 เป็นที่เรียบร้อย
ClassPass มีโมเดลธุรกิจเป็นอย่างไร และทำไมถึงน่าสนใจ ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ClassPass (คลาสพาส) คือ แพลตฟอร์มให้บริการสมาชิกฟิตเนสที่มีเครือข่ายมากที่สุดในโลก
โดยผู้ใช้บริการต้องสมัครสมาชิกบริการ Subscription รายเดือน เพื่อรับเครดิตในแอปพลิเคชันตามราคาแพ็กเกจที่สมัคร สำหรับใช้ในการจองคลาสออกกำลังกายที่มีให้เลือกหลากหลาย ตั้งแต่ปั่นจักรยาน ชกมวย โยคะ พิลาทิส ครอสฟิต แทรมโพลีน โพลแดนซ์ ไปจนถึงออกกำลังกายใต้น้ำ
ที่น่าสนใจคือ คลาสทั้งหมดนี้ไม่ได้สอนโดย ClassPass
แต่เป็นคลาสจากสตูดิโอที่ ClassPass เข้าไปจับมือด้วย
ทำให้สมาชิกของ ClassPass สามารถเข้าไปใช้งานสตูดิโอออกกำลังกายหลาย ๆ แห่ง โดยจ่ายเงินค่าสมาชิกให้กับ ClassPass ที่เดียว
นอกจากนั้นการกำหนดราคาสมาชิกของ ClassPass จะใช้ระบบเครดิตแบบครอบคลุมที่ใช้ได้ทั่วโลก
อธิบายง่าย ๆ ก็คือ ถึงแม้เราจะสมัครที่ประเทศไทย แต่ถ้าเราเดินทางไปต่างประเทศ ที่ ClassPass ให้บริการ เราก็สามารถเข้าไปใช้งานสตูดิโอพาร์ตเนอร์ได้โดยไม่ต้องสมัครอะไรเพิ่ม
โดยราคาเครดิตของแต่ละคลาสจะปรับตามปริมาณความต้องการ และความหนาแน่นของการจอง
ซึ่งปัจจุบัน ClassPass ยังขยายสู่บริการอื่น ๆ เช่น บริการทำเล็บ การนวด และการบำรุงผิวหน้า เพื่อการเป็นแพลตฟอร์มเพื่อสุขภาพอย่างเต็มรูปแบบ
ClassPass ได้เปิดตัวครั้งแรกในปี 2013 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
มีผู้ก่อตั้ง คือคุณ Payal Kadakia ลูกสาวของครอบครัวที่อพยพมาจากอินเดีย แต่มาเกิดและเติบโตในนิวเจอร์ซีย์
โดยไอเดียการก่อตั้ง ClassPass เกิดขึ้นมาหลังจากที่คุณ Payal Kadakia ได้ค้นคว้าเกี่ยวกับคลาสเรียนบัลเลต์ทางออนไลน์มานานกว่าหนึ่งชั่วโมง แต่กลับต้องผิดหวังกับระบบการค้นหา และจองคลาสเรียนที่ใช้งานยาก
ดังนั้นเธอจึงเกิดแนวคิดในการเริ่มต้นธุรกิจ ที่จะสร้างระบบค้นหาและจองคลาสออกกำลังกายที่ดีกว่าขึ้นมา
ซึ่งก่อนหน้าที่จะก่อตั้ง ClassPass คุณ Payal Kadakia ก็ได้ก่อตั้งแพลตฟอร์มชื่อ Classtivity ขึ้นมาในปี 2010 โดยมีจุดประสงค์เพื่อขายระบบการลงทะเบียนที่ดีขึ้นให้กับสตูดิโอฟิตเนส แต่กลับไม่ได้รับความสนใจเท่าไรนัก
คุณ Payal Kadakia จึงได้ปรับรูปแบบธุรกิจ สู่การเป็นแพลตฟอร์ม ที่อนุญาตให้ผู้เป็นสมาชิก สามารถจองคลาสออกกำลังกายที่เป็นพาร์ตเนอร์ ผ่านระบบของ Classtivity แทน
หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เปลี่ยนกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จากสตูดิโอฟิตเนส มาเป็นลูกค้าที่มาออกกำลังกายแทน
หลังจากนั้น จึงเปลี่ยนชื่อเป็น ClassPass
ซึ่งก็เรียกได้ว่า เป็นการปรับเปลี่ยน ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
โดยปัจจุบัน ClassPass มีพาร์ตเนอร์เป็นผู้ให้บริการบูติกสตูดิโอ, บูติกยิม และบูติกเวลล์เนส มากกว่า 30,000 แห่ง ใน 28 ประเทศ รวมถึงมีพนักงานมากกว่า 650 คน ใน 5 ทวีป
และสำหรับประเทศไทย ClassPass ได้เปิดตัวไปเมื่อปี 2018 โดยมีสตูดิโอฟิตเนสเป็นพาร์ตเนอร์กว่า 150 แห่ง ตัวอย่างเช่น Absolute You, Physique 57, Pilates Plus, RYDE และ The LAB
ซึ่งโมเดลธุรกิจของ ClassPass นั้นคล้ายกับ GuavaPass แพลตฟอร์มรวมการให้บริการคลาสฟิตเนสที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ซึ่งได้เข้ามาทำตลาดในไทยก่อนแล้วตั้งแต่ปี 2016
แต่จะแตกต่างกันที่ ClassPass ใช้ระบบเครดิตไปแลกซื้อคลาส ซึ่งแต่ละคลาสก็มีราคาเครดิตต่างกัน เช่น ซื้อแพ็กเกจ 1,190 บาท ได้ 20 เครดิต ที่อาจจะเข้าได้ประมาณ 6 คลาส
ในขณะที่ GuavaPass จะคิดราคาเป็นคลาสไปเลย เช่น ซื้อแพ็กเกจ 4 คลาส ในราคา 1,399 บาท
อย่างไรก็ตาม ClassPass ก็ได้เข้าซื้อกิจการ GuavaPass บริษัทคู่แข่งจากสิงคโปร์
ด้วยเงิน 137 ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อยในปี 2019 ซึ่งดีลนี้เกิดขึ้นเพียง 5 เดือน
หลังจาก ClassPass ประกาศกลยุทธ์การขยายธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงสงสัยแล้วว่า
ทำไม ClassPass ถึงเติบโตอย่างรวดเร็ว ?
มีความเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมฟิตเนสแนวบูติก ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน
โดยฟิตเนสประเภทนี้จะเป็นคลาสเฉพาะกลุ่มอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น โยคะฟลาย บูตแคมป์เข้าใจ Customer Mindset ที่หลายคนต้องจ่ายเงินค่าสมาชิกรายเดือนให้ฟิตเนส โดยที่สุดท้ายแล้วอาจจะไม่ว่างไปใช้บริการ จนเหมือนจ่ายเงินไปฟรี
สำหรับ ClassPass ถึงแม้ว่าจะเป็นการจ่ายค่าสมาชิกแบบรายเดือนเหมือนกัน แต่สิ่งที่ได้คือ “เครดิต” ที่ใช้จ่ายเข้าคลาส ไม่ใช่การเข้าใช้งานฟรีตลอดเดือน
ดังนั้นเราจึงจะเห็นว่าแต่ละเดือนยังเหลือเครดิตอยู่เท่าไร ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นให้เราออกไปออกกำลังกายเพื่อใช้เครดิตที่เรามีอยู่ให้หมด แทนที่จะปล่อยให้มันหมดอายุโดยเสียเปล่า
แต่ถ้าหากเดือนนั้นไม่มีเวลาจริง ๆ ระบบของ ClassPass ก็มีการอนุญาตให้โอนเครดิตที่ใช้ไม่หมดทบไปในเดือนต่อไปได้ แต่จะมีจำนวนเครดิตสูงสุดที่กำหนดเอาไว้อยู่
ราคาแพ็กเกจของ ClassPass มีราคาเฉลี่ยถูกกว่า เมื่อเทียบกับการสมัครสมาชิกประจำในแต่ละสตูดิโอ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ผู้บริโภคได้พิจารณาเพื่อความคุ้มค่าในการใช้งาน
เหมาะกับคนที่ต้องการความยืดหยุ่น ไม่ได้อยากออกกำลังกายอยู่เพียงที่สตูดิโอแห่งเดียว หรือกำลังอยู่ในช่วงพิจารณาว่าจะเข้าเป็นสมาชิกของสตูดิโอไหนเป็นการถาวร
เพราะโดยปกติแล้ว หากเราใช้บริการสตูดิโอเดิม ๆ เกินจำนวนครั้งที่ ClassPass กำหนดไว้ต่อเดือน ระบบก็จะมีอัตราการคิดเครดิตที่สูงขึ้น
แล้วรายได้ของ ClassPass มาจากไหน ?
ClassPass มีโมเดลธุรกิจทั้งที่เป็น B2B (Business to Business) หรือธุรกิจที่ขายสินค้าหรือบริการแก่ผู้ประกอบการด้วยกันอย่างสตูดิโอฟิตเนส และ B2C (Business to Consumer) หรือธุรกิจที่ขายสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้าหรือผู้บริโภค
โดยรายได้หลักของ ClassPass มาจากค่าบริการแบบสมาชิกรายเดือน หรือ Subscription สำหรับราคาในสกุลเงินบาท มีแพ็กเกจให้เลือกตั้งแต่ราคา 690 บาท สำหรับ 10 เครดิต ไปจนถึง 3,510 บาทต่อเดือน สำหรับ 65 เครดิต
ทั้งหมดนี้ ก็คือเรื่องราวของ ClassPass ที่ถือว่าเป็นรูปแบบธุรกิจที่น่าสนใจเลยทีเดียว
นอกจากจะนำ Pain Point ของอุตสาหกรรมฟิตเนสมาใช้ในการทำธุรกิจแล้ว
ClassPass ยังตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่ชอบความยืดหยุ่น ได้มีอิสระในการเลือกคลาสฟิตเนสที่หลากหลาย หรืออยากทดลองออกกำลังกายในรูปแบบใหม่ ๆ
และยังสามารถเข้าถึงฟิตเนสสตูดิโอโดยไม่ต้องจ่ายค่าสมาชิกอยู่กับที่ใดที่หนึ่ง
รวมถึงความสะดวกสบายที่เพียงแค่เข้าแอปพลิเคชันและกดจองคลาสเท่านั้น..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.