รู้จัก Monsoon Tea ร้านชาป่าแบบยั่งยืน จากภาคเหนือของไทย ที่ก่อตั้งโดยชาวสวีเดน
Business

รู้จัก Monsoon Tea ร้านชาป่าแบบยั่งยืน จากภาคเหนือของไทย ที่ก่อตั้งโดยชาวสวีเดน

17 ก.ย. 2021
รู้จัก Monsoon Tea ร้านชาป่าแบบยั่งยืน จากภาคเหนือของไทย ที่ก่อตั้งโดยชาวสวีเดน /โดย ลงทุนเกิร์ล
“ใบเมี่ยง” เป็นภาษาถิ่นของภาคเหนือ ที่แปลว่า “ใบชา”
แต่ส่วนใหญ่เราน่าจะคุ้นเคยกับใบเมี่ยง ที่นำมาประกอบอาหารในเมนูต่าง ๆ กันมากกว่า
อย่างไรก็ตาม เมื่อชายชาวสวีเดน ได้บังเอิญมาพบกับใบเมี่ยงนี้ ก็กลายเป็นความประทับใจให้เขาหันมาก่อตั้งร้านชา “Monsoon Tea” ที่มีชามากกว่า 100 ชนิด ซึ่งทั้งหมดมาจากผืนป่า บนภูเขาทางภาคเหนือของประเทศไทย..
แล้วเรื่องราวของ Monsoon Tea น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน
เรื่องราวของ Monsoon Tea ได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อชายชาวสวีเดนที่ชื่อว่า “เคนเน็ท ริมดาห์ล”
ได้เดินทางมายังภาคเหนือของประเทศไทย เพื่อหาซื้อ กาน้ำชาเซรามิก ให้กับบริษัทชาในสเปน ที่เขากำลังทำงานอยู่ในขณะนั้น
และคุณริมดาห์ลก็ได้พบกับคุณวรการณ์ วงศ์ฟู หรือ คุณเอก ที่ได้แนะนำให้เขารู้จักกับ “เมี่ยง” หรือใบชาหมัก จากต้นชาป่า สายพันธุ์อัสสัม
เรื่องนี้ทำให้คุณริมดาห์ลรู้สึกแปลกใจอย่างมาก
เพราะเขาไม่เคยรู้มาก่อนว่า ประเทศไทยสามารถปลูกชาได้
แถมเมี่ยง ก็ยังเป็นใบชาแบบเดียวกับที่เขาเคยขายอยู่ที่สเปน
หลังจากนั้น คุณริมดาห์ลก็ได้เดินทางขึ้นไปบนดอย และพบว่า ต้นชาเหล่านั้น สามารถเติบโตอยู่ท่ามกลางป่าไม้และพืชพรรณชนิดต่าง ๆ ได้อย่างดี ซึ่งแตกต่างจากการปลูกชา ในพื้นที่อื่น ๆ ที่มักจะถางป่า เพื่อนำมาทำเป็นไร่ชาโล่ง ๆ
หลังจากความประทับใจในครั้งนั้น คุณริมดาห์ลก็ได้เดินทางกลับมาประเทศไทยอีกหลายครั้ง
จนในที่สุด เขาก็ตัดสินใจลาออกจากบริษัทสเปน และมุ่งหน้ามาก่อตั้ง Monsoon Tea (มอนซูน ที) ขึ้นในปี 2013
คุณริมดาห์ล มีความตั้งใจที่จะทำให้ Monsoon Tea ไม่เหมือนร้านชาทั่ว ๆ ไป
โดย Monsoon Tea จะไม่สร้างไร่ชาเป็นของตัวเอง
แต่จะใช้ชาที่ขึ้นตามธรรมชาติ ในป่า และให้ความรู้กับเกษตรกรในการเก็บและดูแลต้นชาในป่า
เพราะคุณริมดาห์ลอยากให้ใบชาทุกใบที่วางขายในร้านของเขา จะต้องเป็น “ใบชาที่เป็นมิตรต่อผืนป่า” เท่านั้น
ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเพราะว่า ปกติแล้วหากมีการทำไร่ชา ในเชิงอุตสาหกรรม ก็มักจะมีการตัดต้นไม้ หรือถางป่า เพื่อเปลี่ยนพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้กลายเป็นไร่ชา
ในขณะเดียวกัน การทำไร่ชาในบางแห่ง ยังมีการใช้ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลง
ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้บริโภคได้
ดังนั้น คุณริมดาห์ล จึงเลือกมองหาวิธีที่ต่างออกไป ด้วยการใช้ใบชา จากต้นชาที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือเพาะปลูกต้นชารวมกับพืชพรรณชนิดอื่น ๆ ปราศจากการใช้ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี ไปจนถึงไม่พึ่งพาระบบจ่ายน้ำ ที่ทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรน้ำ
แม้ว่าแนวคิดของคุณริมดาห์ล ที่ดูเหมือนจะเป็นแนวคิดในอุดมคติ และยากจะทำให้เป็นไปได้จริง
แต่ปัจจุบัน Monsoon Tea ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ธุรกิจกับความยั่งยืน สามารถเติบโตไปพร้อม ๆ กันได้
โดย Monsoon Tea สามารถทำรายได้ระดับหลักล้านบาท และมีรายได้เติบโตขึ้นทุก ๆ ปี
ยกเว้นแค่ในปี 2020 ที่บริษัทได้รับผลกระทบจากวิกฤติโรคระบาด ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่หลาย ๆ ธุรกิจต้องพบเจอ
ปัจจุบัน Monsoon Tea สามารถขยายสาขาในไทยไปได้ทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่
Another Story, EmQuartier กรุงเทพฯอโศก กรุงเทพฯวัดเกต เชียงใหม่วัน นิมมาน เชียงใหม่
และที่น่าสนใจคือ เมื่อไม่นานมานี้ Monsoon Tea ยังได้เปิด Pop-up Store แห่งใหม่ที่ “สตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน” บ้านเกิดของคุณริมดาห์ล
ซึ่งทาง Monsoon Tea ก็กำลังวางแผนที่จะหาพื้นที่เปิดสาขาใหม่ ๆ อย่างจริงจังที่สวีเดน เนื่องจาก Monsoon Tea กำลังได้รับความนิยมจากลูกค้าชาวยุโรปเพิ่มขึ้น
นอกจาก Monsoon Tea จะประสบความสำเร็จในแง่ของรายได้และการขยายสาขาแล้ว
ในแง่ของคุณภาพสินค้า Monsoon Tea ก็ยังได้รับการยอมรับ จนถูกนำไปเสิร์ฟตามร้านอาหารระดับ Michelin Star และโรงแรม 5 ดาวต่าง ๆ อีกด้วย
สำหรับในแง่มุมด้านสิ่งแวดล้อม ที่คุณริมดาห์ล ยึดให้เป็นหัวใจของแบรนด์ Monsoon Tea ก็ดูจะไปได้ดีเช่นกัน
เพราะนอกจากพวกเขาจะเก็บใบชาจากป่ามาขายแล้ว
Monsoon Tea กับเกษตรกรในเครือข่ายยังเข้ามาช่วยกันปลูกป่า และปกป้องผืนป่าให้ไม่ถูกทำลาย จากการตักตวงทรัพยากรธรรมชาติแบบผิดวิธี
รวมทั้ง Monsoon Tea ยังให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางชีวภาพ
ด้วยการนำต้นไม้กว่า 50 สายพันธุ์ ขึ้นไปปลูกบนบริเวณภูเขาทางภาคเหนือของประเทศไทยอีกด้วย
โดยเราสามารถสรุปหัวใจหลักของ Monsoon Tea ออกมาได้ดังนี้
รับซื้อใบชาจากเกษตรกรหรือชาวบ้านที่เก็บใบชาในป่า
โดย Monsoon Tea จะให้ “เกษตรกรเป็นผู้เสนอราคามาเอง” ว่าอยากจะขายราคาเท่าไร และ Monsoon Tea ก็จะรับซื้อในราคานั้น และแม้ว่าเกษตรกรจะเก็บใบชามาได้จำนวนมากแค่ไหน ทาง Monsoon Tea ก็จะไม่ขอลดราคา
ลูกค้าได้รับสินค้าดีมีคุณภาพ
นำใบชาธรรมชาติคุณภาพดีที่เก็บจากในป่า มาผลิตเป็นสินค้าและวางขายในร้าน Monsoon Tea ซึ่งนอกจากลูกค้าจะได้รับใบชาคุณภาพที่ปราศจากการปลูกด้วยสารเคมีแล้ว ลูกค้ายังได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการสร้างความยั่งยืนให้ป่าอีกด้วย
ยิ่งขายสินค้าได้เยอะ ก็ยิ่งมีกำลังในการส่งเสริมความยั่งยืน
รายได้จากการขายสินค้า ก็จะวนกลับมาสู่การช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
และเมื่อเกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงจากการทำอาชีพนี้ เกษตรกรหรือชาวบ้าน ก็จะมีแรงที่จะช่วย “ดูแลรักษาให้ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ อย่างยั่งยืน”
ซึ่งทั้งหมดนี้ ก็ได้กลายเป็นวงจร ที่ทำให้ Monsoon Tea ไม่ได้ตระหนักแค่การขายสินค้าให้ได้จำนวนมาก ๆ เท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงเกษตรกร, ลูกค้า และป่าไม้ ที่วงจรนี้จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้เลย..
Reference:
-สัมภาษณ์โดยตรงกับคุณเคนเน็ท ริมดาห์ล ผู้ก่อตั้ง Monsoon Tea
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.