กรณีศึกษา ธุรกิจแฟชั่น เริ่มรุกเข้าสู่ตลาด NFT
Fashion

กรณีศึกษา ธุรกิจแฟชั่น เริ่มรุกเข้าสู่ตลาด NFT

30 ก.ย. 2021
กรณีศึกษา ธุรกิจแฟชั่น เริ่มรุกเข้าสู่ตลาด NFT /โดย ลงทุนเกิร์ล
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายคนให้ความสนใจใน “คริปโทเคอร์เรนซี”
โดยเฉพาะ สิ่งที่เรียกว่า NFT ซึ่งเราน่าจะเริ่มเห็นได้ว่า มีศิลปินหลายคน ทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทยเอง หันมาออกผลงานศิลปะในรูปแบบนี้กันบ้าง
ล่าสุด NFT กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมแฟชั่น
อย่างวงการออกแบบที่ได้ยกระดับความเอกซ์คลูซิฟของแบรนด์หรู
ด้วยการประยุกต์ใช้ NFT ในงานออกแบบคอลเลกชันใหม่ จนกลายเป็นกระแสน่าจับตามองในตอนนี้
NFT คืออะไร ?
แล้วธุรกิจแฟชั่น เข้ามาทำอะไรในตลาดนี้ ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
NFT หรือ Non-Fungible Token คือสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่ง แต่ความพิเศษของมันคือ “มีลักษณะเฉพาะตัว” และ “ไม่สามารถทดแทนกันได้”
โดยข้อมูลเจ้าของกรรมสิทธิ์ NFT จะถูกบันทึกลงใน “Blockchain” ทำให้รู้ได้ทันทีว่าใครเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้น และยังสามารถตรวจสอบได้ว่า เป็นของจริงหรือของปลอม
ในปัจจุบัน NFT ได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ดิจิทัล ที่กำลังมาแรงและได้รับความสนใจจากทั้งฝั่งนักลงทุน และฝั่งผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ
อย่างที่ได้เกริ่นไปในตอนต้น อุตสาหกรรมแฟชั่นเอง เริ่มเดินเข้าสู่ตลาด NFT
หนึ่งในตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัดเจนก็คือ “Vogue Singapore” นิตยสารแฟชั่นและความงาม ที่ได้ก้าวสู่วงการคริปโทเคอร์เรนซีอย่างเป็นทางการ
ด้วยการเปิดตัวคอลเลกชัน NFT ชุดแรกในชื่อว่า “Mystery Box”
โดยกล่องปริศนาที่ว่านั้น แต่ละกล่องจะบรรจุการ์ด NFT ซึ่งจำลองบรรยากาศยามพระอาทิตย์ขึ้น พร้อมด้วยนักบินอวกาศ ที่กำลังออกสำรวจในเมืองท่องเที่ยวชั้นนำ 10 แห่งบนโลก ได้แก่ โซล, ฮ่องกง, โตเกียว, ซิดนีย์, รีโอเดจาเนโร, เซี่ยงไฮ้, มิลาน, ปารีส, นิวยอร์ก และลอนดอน
ทำการซื้อขายอยู่บน Binance NFT Marketplace ซึ่งเป็นแหล่งซื้อขายงานศิลปะและของสะสมดิจิทัลในเครือของ Binance กระดานซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีที่ใหญ่สุดในโลก
อีกทั้ง Vogue ได้ปิดท้ายด้วยการปล่อย NFT ที่เป็นภาพจำลองของสิงคโปร์ บนแพลตฟอร์มที่ชื่อ RARA NFT
ซึ่งทั้งหมดนี้ทางทีม Vogue ต้องการจะสื่อถึงแพสชันในเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ และชวนให้ผู้ซื้อ NFT หวนนึกถึงความฝันในวัยเด็ก
เรียกได้ว่าประเทศสิงคโปร์ ถือเป็นสาขาแรกของ Vogue ที่ได้มีการเปิดตัวผลงานในรูปแบบ NFT
ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพร้อมมากกว่าประเทศอื่น ในการประยุกต์ใช้งานคริปโทเคอร์เรนซี
นอกจากธุรกิจนิตยสารแฟชั่นอย่าง Vogue แล้ว เหล่าแบรนด์หรูเอง ได้รุกเข้าสู่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเช่นกัน
เริ่มจาก Gucci ที่ได้มีการเปิดประมูล NFT ชิ้นแรก ในรูปแบบของภาพยนตร์สั้นเรื่อง “Proof of Sovereignty: A Curated NFT Sale by Lady PheOnix” ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากคอลเลกชันล่าสุด “Gucci Aria”
ถือเป็นความสำเร็จอย่างมาก ในการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของ Gucci แบรนด์เก่าแก่กว่า 100 ปี ให้ดูทันสมัย
โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกตั้งราคาประมูลเริ่มต้นอยู่ที่ 667,600 บาท และปิดราคาขายไปที่ 837,000 บาท ซึ่งรายได้หลังจากการประมูลจะนำไปบริจาคให้กับองค์กร UNICEF เพื่อช่วยเหลือประชาชนทั่วโลกให้เข้าถึงวัคซีนโควิด 19
ตามมาด้วย Louis Vuitton แบรนด์หรูจากฝรั่งเศส ได้ปล่อย “เกม” บนสมาร์ตโฟน ชื่อ “Louis The Game” ซึ่งผู้เล่นสามารถเก็บ NFT จากศิลปินชื่อดังได้ ขณะที่ปฏิบัติตามคำสั่งของแมสคอตของแบรนด์อย่าง Vivienne
การเปิดตัวเกมของแบรนด์ในครั้งนี้ นับว่าเป็นก้าวแรกของ Louis Vuitton ที่เข้าสู่ NFT โดยตรง
อย่างไรก็ตาม Louis The Game ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อการค้า แต่เป็นเพียงแค่การฉลองครบรอบ 200 ปี เนื่องในวันคล้ายวันเกิดของผู้ก่อตั้งแบรนด์เท่านั้น
นอกจากนี้ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทางบริษัทแม่ LVMH ยังได้พัฒนา “The Aura Blockchain Consortium” ร่วมกับสองแบรนด์หรูอย่าง Prada และ Cartier เพื่อใช้ในการจัดการกับปัญหาสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ผ่านเทคโนโลยี Blockchain ด้วย
ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว ก็นับว่าเป็นการร่วมงานของวงการแบรนด์หรู อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
มาต่อกันที่ แบรนด์หรูจากทางฝั่งอังกฤษอย่าง Burberry กันบ้าง ซึ่งได้เข้าสู่ตลาด NFT ด้วยรูปแบบเกมเช่นเดียวกัน
ทางบริษัทได้ร่วมงานกับค่ายเกม Mythical Games เพื่อเปิดตัวเกม NFT ที่ชื่อว่า “Blankos Block Party” ในเดือนสิงหาคม ปี 2021
ซึ่งภายในเกม มีตัวละครหลักเป็นฉลาม ชื่อว่า “Sharky B” โดยที่ผู้เล่นสามารถซื้อขาย และอัปเกรดเสื้อผ้าและเครื่องประดับของแบรนด์ ให้พวกตัวละครในเกมได้
ต่อมา Dolce & Gabbana ได้มีการเปิดตัวคอลเลกชันใหม่ “Collezione Genesi” ซึ่งมีสินค้าอยู่ด้วยกัน 9 ชิ้น ประกอบด้วยเสื้อผ้าและมงกุฎ ที่ออกแบบโดยคุณ Domenico Dolce และ Stefano Gabbana สองผู้ก่อตั้งแบรนด์
แต่สิ่งที่น่าสนใจในคอลเลกชันนี้คือ เสื้อผ้าและเครื่องประดับออกมาใน 2 รูปแบบ
ประกอบด้วย ชุดของจริงที่จับต้องได้ ซึ่งมีแผนว่าจะนำไปแสดงในพิพิธภัณฑ์
และแบบดิจิทัล ที่จะนำไปประมูลบนตลาดดิจิทัล UNXD ในปลายเดือนกันยายนนี้
อ่านถึงตรงนี้ เราจะเห็นได้ว่าวงการแฟชั่น ได้เริ่มเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนผ่าน และเริ่มปฏิวัติตัวเองด้วยการหันมาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีร่วมกับตัวตนของแบรนด์
แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่ใช่การออกสินค้าเพื่อหากำไรโดยตรง แต่สามารถแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความสร้างสรรค์ของแบรนด์ ที่ใช้ NFT ในการออกแบบงานศิลปะยุคใหม่ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์และดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.