สรุป เทรนด์ใส่เสื้อผ้าซ้ำ แก้ปัญหาเสื้อผ้าล้นโลก
Fashion

สรุป เทรนด์ใส่เสื้อผ้าซ้ำ แก้ปัญหาเสื้อผ้าล้นโลก

13 ต.ค. 2021
สรุป เทรนด์ใส่เสื้อผ้าซ้ำ แก้ปัญหาเสื้อผ้าล้นโลก /โดย ลงทุนเกิร์ล
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ใครที่เล่นโซเชียลอาจจะได้เห็นเทรนด์หนึ่ง
ที่มีคนออกมารณรงค์ให้ ทุกคนหันมาใส่เสื้อผ้าตัวเดิม ๆ ในตู้ เพื่อลดการซื้อเสื้อผ้าตัวใหม่ ๆ ลง
เนื่องจากปัจจุบันเทรนด์สินค้าแบบ Fast Fashion เป็นสิ่งที่กำลังมาแรง
ไม่ว่าจะเสื้อผ้าแบรนด์ไหน ก็ผลัดกันออกคอลเลกชันใหม่ ๆ อยู่ตลอด
ซึ่งบางแบรนด์ก็มีการออกคอลเลกชันใหม่ ๆ บ่อยถึงสัปดาห์ละครั้งเลยทีเดียว
ที่สำคัญยังมาในราคาที่ “เข้าถึงได้” เนื่องจากไม่ได้เน้นคุณภาพมาก แต่มุ่งไปที่การผลิตอันรวดเร็วและทันต่อกระแสที่มีอยู่ในขณะนั้นมากกว่า
พอเรื่องเป็นแบบนี้ มาประกอบกับ ยุคโซเชียลมีเดีย จึงกลายเป็น “ลงล็อก” พอดี
เพราะผู้คนต่างแชร์ไลฟ์สไตล์ชีวิตของตัวเองลงบนโลกออนไลน์ และแน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ย่อมต้องการสร้างภาพลักษณ์ดี ๆ ของตัวเอง
ทำให้หลายครั้ง ก็อยากที่จะได้ภาพสวย ๆ ด้วยการใส่เสื้อผ้าใหม่ ๆ อยู่เสมอ
ซึ่งถ้ามองแค่ผิวเผิน ปัญหานี้อาจจะดูเป็นแค่ปัญหาเสื้อผ้าล้นตู้
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาเสื้อผ้าล้นตู้ กลับส่งผลต่อโลกมากกว่านั้น
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาด้านแรงงาน และปัญหาในสังคม
ที่ในวันนี้ลงทุนเกิร์ลอยากจะหยิบมาพูดคุยกับทุกคนค่ะ
รู้หรือไม่ว่า อุตสาหกรรม Fast Fashion ผลิตเสื้อผ้าประมาณ 80,000 ล้านตันต่อปี
ซึ่งเมื่อพูดถึงจำนวนการผลิตที่มากมายขนาดนี้ ก็หมายความว่าต้องใช้กำลังการผลิตสูง
ทั้งด้านโรงงาน และกำลังคนในการผลิต
โดยโรงงานผลิตเสื้อผ้าเหล่านี้ ก็นับว่าสร้างมลพิษมหาศาล ทั้งควันที่มาจากโรงงาน และการปล่อยน้ำเสีย
ยังไม่รวมถึงขยะที่เกิดขึ้นจากการผลิตอย่างเศษผ้า ที่แต่ละประเภทก็มีระยะเวลา
การย่อยสลายแตกต่างกันออกไป บางชนิดก็เป็นเดือน แต่บางชนิดก็หลายสิบปี
นอกจากนี้ เราคงสังเกตได้ว่าเสื้อผ้าหลายแบรนด์ มีราคาสินค้าที่ถูกจนน่าตกใจ อย่างเสื้อบางตัวก็ราคาเพียงแค่หลักสิบบาทเท่านั้น
ซึ่งสาเหตุของราคาสินค้าที่ถูกขนาดนี้ ก็มาจากการใช้วัสดุที่ไม่มีคุณภาพ รวมถึงการกดขี่แรงงาน
โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ Fashion Checker ปี 2020 ก็ได้เปิดเผยข้อมูลน่าตกใจ
ว่าจากผลสำรวจ 250 แบรนด์เสื้อผ้านั้น กว่า 93% จ่ายค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม และไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ
จึงทำให้เราสามารถพูดได้อีกว่า Fast Fashion ไม่ใช่แค่ส่งผลต่อโลก
แต่ส่งผลถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนอีกด้วย
ซึ่งถึงแม้ว่าผลกระทบต่อโลกและประเด็นสิทธิมนุษยชน จะเป็นเรื่องที่คนพยายามออกมาพูดกันหลายปี
แต่ด้วยค่านิยมด้านแฟชั่นที่ผู้คนหลายคนยังเป็นอยู่ ก็ทำให้ปัญหาเหล่านี้ยังไม่หมดไป
และค่านิยมที่ว่าก็คือ “การไม่ใส่เสื้อผ้าซ้ำ”
โดยข้อมูลจาก The Guardian ปี 2019 ได้เปิดเผยว่า 1 ใน 3 ของเด็กวัยรุ่นผู้หญิง
จะใส่เสื้อผ้า 1 ตัวเพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น เพราะรู้สึกว่าเสื้อมันเก่าแล้ว
และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดค่านิยมแบบนี้ก็คือ “อินเทอร์เน็ต”
ที่ทำให้หลายคนอยากโชว์ภาพลักษณ์ที่ดี หรือไลฟ์สไตล์ที่ดูดีอยู่ตลอดเวลา
ซึ่งเมื่อแนวคิดนี้มาเจอกับราคาเสื้อผ้าที่เข้าถึงได้ง่ายมาก ๆ ของ Fast Fashion
ก็ยิ่งทำให้คนคิดน้อยลงเวลาจะซื้อเสื้อผ้าตัวใหม่มาใส่
วนลูปสู่วงจรเดิม ๆ จนทำให้อุตสาหกรรม Fast Fashion ยังคงเติบโตต่อไปไม่มีหยุด
และเมื่อเป็นคำว่า แฟชั่น ก็ไม่ได้มีแค่เสื้อผ้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเครื่องประดับอื่น
เช่น กระเป๋าหนัง ก็นับเป็นสินค้าที่นอกจากกระบวนการผลิตจะทำลายสิ่งแวดล้อมแล้ว
ด้านปศุสัตว์ที่เป็นแหล่งที่มาของวัตถุดิบ ก็ทำร้ายสัตว์และสร้างมลพิษเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง ก็มีคนอีกกลุ่มที่พยายามหาทางออกจากเรื่องเหล่านี้ จนก่อเกิดเป็นธุรกิจแฟชั่นอีกมากมายหลายแบรนด์ ที่พยายามจะมาแก้ปัญหาความเลวร้ายจากอุตสาหกรรมแฟชั่น
เช่น แบรนด์เสื้อผ้า PANGAIA แบรนด์แฟชั่นที่ออกแบบในห้องแล็บวิทยาศาสตร์
เป็นหนึ่งในแบรนด์แฟชั่นที่มีจุดยืนด้าน ความยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย
อย่างเทคโนโลยีที่มีชื่อว่า C-FIBER ผลิตเสื้อยืดเส้นใยสาหร่ายแทนเส้นใยฝ้าย
และใช้สาหร่ายที่ปลูกเองใต้ทะเล ทำให้ไม่ต้องใช้น้ำจืดดูแล เพื่อแก้ไขปัญหา
การใช้ทรัพยากรน้ำจำนวนมหาศาลในการปลูกฝ้าย
แบรนด์ Girlfriend Collective ก็เป็นแบรนด์เสื้อผ้าสำหรับออกกำลังกาย
ที่ได้หยิบเอาขวดพลาสติกที่ใช้แล้ว นำกลับมาถักทอเป็นเส้นใยเสื้อผ้า
รวมถึงยังใช้กระบวนการผลิตมาตรฐาน SA8000 เป็นมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม
ที่มีการออกใบรับรองโดย Social Accountability International (SAI) ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะแรงงาน ไม่ให้ถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ
หรือ Freitag แบรนด์ที่ได้ใช้ผ้าใบรถบรรทุกและสายรัดนิรภัย มาทำเป็นกระเป๋า ก็เป็นอีกหนึ่งแบรนด์สตรีตแฟชั่น ที่พยายามนำเอาของที่ใช้แล้วมารีไซเคิล และจุดนี้ยังกลายเป็นจุดเด่น ที่ทำให้กระเป๋าแต่ละใบแตกต่างกัน เสมือนมีใบเดียวในโลก
ในขณะที่บางแบรนด์เลือกหยิบนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหา
บางแบรนด์ก็เลือกที่จะใช้วิธีลดการซื้อของผู้บริโภคแทน เช่น Style Theory สตาร์ตอัปที่ให้บริการเช่าชุดแบบ Subscription ก็พยายามจะให้ลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรมจากที่ซื้อชุดบ่อย ๆ เป็นเช่าชุดแทน เพื่อลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมที่อยากใส่ชุดแค่ครั้งเดียวต่อชุดเท่านั้น
นอกจากนั้น การที่ผู้บริโภคเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาของอุตสาหกรรมแฟชั่น ก็ยังส่งผลให้ตลาดสินค้ามือสอง เติบโตขึ้นด้วย
เนื่องจาก “สินค้ามือสอง” นอกจากจะเข้ามาตอบโจทย์เรื่องสินค้าราคาประหยัดแล้ว
ยังสามารถเข้ามาช่วยให้สินค้าถูกใช้งานจนคุ้มค่าที่สุด
โดยข้อมูลจาก Statista เปิดเผยว่า ตลาดมือสองทั่วโลกมีมูลค่าอยู่ที่ 900 ล้านบาทในปี 2020 และมีแนวโน้มที่จะเติบโตเป็น 7,000 ล้านบาทในปี 2025
ตัวอย่างธุรกิจในอุตสาหกรรมสินค้ามือสอง
The RealReal บริษัทที่ให้บริการซื้อขายของแฟชั่นมือสองอันดับต้น ๆ ของสหรัฐอเมริกา
ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดี ด้วยมูลค่าบริษัทกว่า 33,455 ล้านบาท ก็เป็นอีกตัวบ่งชี้ได้
ว่าธุรกิจสินค้ามือสองเอง ก็กำลังได้รับความสนใจจากผู้บริโภค
ฉะนั้น แม้ว่าปัจจุบันอุตสาหกรรม Fast Fashion จะยังคงดำเนินต่อไป และยังคงเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ
ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องหลงไปกับการกระตุ้น และเดินตามแฟชั่นอยู่ตลอดเวลา ตามแคมเปญการตลาดของแบรนด์
หรือถ้าหากเลี่ยงไม่ได้ที่จะซื้อจริง ๆ ก็อาจลองหาวิธีอย่างการขายต่อ หรือบริจาค
เพื่อให้สิ่งที่เราอุตส่าห์ซื้อมานั้นเกิดประโยชน์สูงสุดเท่าที่จะทำได้
สุดท้ายนี้ลงทุนเกิร์ลก็อยากจะเป็นอีกกระบอกเสียง ให้ทุกคนนึกไว้เสมอว่า
เสื้อผ้าทุก ๆ ตัวที่เราใส่อยู่นั้น มันผ่านกระบวนการมามากมายกว่าจะมาถึงมือของเรา ซึ่งในกระบวนการเหล่านั้น อาจเป็นทั้งหยาดเหงื่อและหยาดน้ำตาของทั้งวัตถุดิบและแรงงานที่ถูกใช้ไป
ที่สำคัญ การใส่เสื้อผ้าตัวเดิม ๆ นั้นไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เป็นเรื่องสนุก
เพราะไม่แน่ว่า ชุดเดิม ๆ ที่เรามีอยู่ อาจนำมาดัดแปลงให้กลายเป็นสไตล์ใหม่ ๆ ได้
และถึงแม้ว่าจะเป็นการใส่ที่ไม่ได้ต่างจากเดิม “การใส่เสื้อซ้ำ” ไม่ใช่เรื่องผิดเช่นกัน
เพราะถ้ามันผิด ก็คงไม่มีการคิดค้นสิ่งที่เรียกว่า “เครื่องซักผ้า” ขึ้นมาบนโลก..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.