ผู้หญิงที่อายุน้อยสุดในโลก ที่ปั้นยูนิคอร์นสำเร็จ ทำธุรกิจอะไร ?
Business

ผู้หญิงที่อายุน้อยสุดในโลก ที่ปั้นยูนิคอร์นสำเร็จ ทำธุรกิจอะไร ?

15 ต.ค. 2021
ผู้หญิงที่อายุน้อยสุดในโลก ที่ปั้นยูนิคอร์นสำเร็จ ทำธุรกิจอะไร ? /โดย ลงทุนเกิร์ล
ปัจจุบันบริษัทมีสตาร์ตอัปยูนิคอร์นทั้งหมดจำนวน 842 บริษัท
โดยสหรัฐอเมริกา คือ ประเทศที่มียูนิคอร์น 228 บริษัท หรือมากเป็นอันดับ 2 ของโลก
แต่ซีอีโอหญิงที่อายุน้อยสุดในโลก ซึ่งสามารถปั้นบริษัทสตาร์ตอัป ให้กลายเป็นยูนิคอร์นมีเพียงคนเดียวเท่านั้น
นั่นก็คือ คุณ April Koh ที่อายุเพียง 29 ปี แต่กลับสร้างบริษัทสตาร์ตอัปที่มีมูลค่าเกือบ 7 หมื่นล้านบาท และยังมีลูกค้าเป็นองค์กรใหญ่ ๆ อย่าง Pfizer, Cisco และ Whole Foods
คุณ April Koh ทำธุรกิจอะไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ธุรกิจที่คุณ Koh ปลุกปั้นมีชื่อว่า “Spring Health” เป็นแพลตฟอร์มด้านสุขภาพทางจิต ที่สร้างมาเพื่อ “จับคู่” วิธีการแก้ปัญหาสุขภาพจิตให้พนักงานอย่างแม่นยำผ่านระบบ Machine Learning
Spring Health ก่อตั้งโดย คุณ Koh และผู้ร่วมก่อตั้งอีก 2 คน
นั่นก็คือ คุณ Adam Chekroud แฟนหนุ่มของเธอ และคุณ Abhishek Chandra
ซึ่งปัจจุบันทั้ง 3 คน ก็ได้รับการจัดอันดับใน “Forbes 30 Under 30 List” หรือผู้ประสบความสำเร็จที่อายุไม่เกิน 30 ปี ในปี 2018
สำหรับจุดเริ่มต้น Spring Health เกิดขึ้นจาก “Pain Point” ของคุณ Koh ที่รู้สึกว่าการหาที่ปรึกษาด้านสุขภาพ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากลำบาก
ย้อนกลับไปช่วงที่คุณ Koh ยังเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัย Yale รูมเมตของเธอประสบปัญหากับพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ ทำให้ต้องเข้ารับการปรึกษากับหมอจิตเวชหลายต่อหลายคน รวมทั้งเปลี่ยนที่รักษาไม่ต่ำกว่า 5 แห่ง และเข้ารับการรักษาบ่อยจนต้องพักการเรียนไปในที่สุด
ซึ่งในเวลาเดียวกันนี้ คุณ Koh เอง ก็มีปัญหาด้านสุขภาพจิตรุมเร้าด้วยเช่นกัน และเธอก็ประสบกับปัญหาการบำบัด ที่ไม่ได้เหมาะสมกับสภาพจิตใจของเธอ
เรื่องนี้จึงทำให้คุณ Koh เข้าใจถึงต้นตอปัญหาของบริการสุขภาพจิตเป็นอย่างดี
เธอบอกว่าปัญหาหลัก ๆ ของการบริการสุขภาพจิตเหล่านี้ ก็คือ “การต้องมาลองผิดลองถูกเอง”
เพราะวิธีการบำบัดส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยมีข้อมูลการรักษา ไม่มีการแนะนำ ทำให้ผู้ป่วยต้องมาคาดเดาเอาเอง สุดท้ายจึงเสียเวลาไปกับการหานักบำบัดที่เหมาะสม
ซึ่งจุดบกพร่องนี้ ก็ทำให้คุณ Koh สงสัยว่า ทำไมถึงไม่มีใครสนใจที่จะสร้างบริการสุขภาพจิตบำบัด ที่เข้ามาร่นระยะเวลาคาดเดาเหล่านี้ให้สั้นลง
จนกระทั่งในปี 2016 คุณ Koh ได้พบกับบทความ “วารสารจิตเวช” ของคุณ Chekroud ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงที่ทำดุษฎีนิพนธ์ หรือวิทยานิพนธ์ชั้นปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัย Yale
โดยงานวิจัยของคุณ Chekroud นั้น เกี่ยวข้องกับการนำ Machine Learning มาใช้เป็นตัวช่วยในการจับคู่ “ผู้ป่วย” ให้ตรงกับ “การรักษา” ที่พวกเขาต้องการ เพื่อให้คนไข้ได้รับการรักษาที่ดีที่สุด
และ Machine Learning นี้เองที่จุดประกายการสร้างแพลตฟอร์มให้กับคุณ Koh โดยนำหลักการจับคู่นี้ มาใช้กับผู้ป่วยด้าน “สุขภาพจิต”
เมื่อเรื่องราวเป็นอย่างนี้ คุณ Koh จึงตัดสินใจติดต่อคุณ Chekroud เพื่อนำ Machine Learning ของเขา มาต่อยอดเป็นธุรกิจบริการด้านสุขภาพจิต และก่อตั้ง Spring Health ในปี 2016
ซึ่งปัจจุบัน Spring Health เดินทางมาถึงปีที่ 5 เป็นที่เรียบร้อย แต่กลับเพิ่งเริ่มต้นให้บริการความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตในช่วง 3 ปีที่แล้ว
เนื่องจากคุณ Koh ใช้เวลาใน 2 ปีแรก โฟกัสไปที่การศึกษา “งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์” และ “การสร้างแผนธุรกิจ” เพื่อพัฒนาอัลกอริทึมการจับคู่ให้มีประสิทธิภาพ
หลังจากนั้น ในปี 2018 คุณ Koh จึงได้เริ่มตีพิมพ์งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์กว่า 15 ฉบับ และเริ่มส่งให้กับ “แผนกทรัพยากรบุคคล” ของบริษัทใหญ่ ๆ
เพราะเธอมองว่า วิธีที่จะทำให้คนจำนวนมากเข้าถึงบริการนี้ ก็คือ การเข้าไปในฐานะ “สิทธิประโยชน์ของพนักงาน” นั่นเอง
ซึ่งผลตอบรับก็เป็นไปตามสมมติฐานของคุณ Koh เนื่องจากบริษัทใหญ่ อย่าง Pfizer, MongoDB, Cisco, Whole Foods, Equinox และ Gap ตัดสินใจเซ็นสัญญา และกลายมาเป็นลูกค้าของ Spring Health
ประจวบกับปี 2020 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติโรคระบาด ซึ่งเป็นวิกฤติที่ส่งผลกระทบกับสภาพจิตใจของเหล่าพนักงาน
ดังนั้นวิกฤติในครั้งนี้ จึงเป็นเหมือนโอกาสในการโชว์ศักยภาพของแพลตฟอร์ม Spring Health จนเปล่งประกายจนสะดุดตานักระดมทุนหลาย ๆ ราย
อย่างในช่วงต้นปี 2020 ในรอบ Series A บริษัท Spring Health สามารถระดมทุนไปได้ 745 ล้านบาท ตามมาด้วยการระดมทุนกว่า 2,572 ล้านบาทในรอบ Series B ช่วงเดือนพฤศจิกายนในปีเดียวกัน
และล่าสุด ในรอบ Series C ก็ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนรายใหญ่ ๆ อย่าง Kinnevik และ Insurer Guardian Life ทำให้สามารถระดมทุนเพิ่มได้อีก 6,429 ล้านบาท
ซึ่งการระดมทุนในครั้งนี้เอง ที่ทำให้บริษัทมีมูลค่าสูงถึง 6.8 หมื่นล้านบาท และกลายเป็นยูนิคอร์นตัวใหม่ในวงการสุขภาพ และคาดว่าจะ IPO เข้าตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกาในอนาคตอันใกล้นี้
แล้วอะไรทำให้ Spring Health กลายเป็นที่สนใจในระยะเวลาอันรวดเร็วขนาดนี้ ?
Rethink Impact นักลงทุนที่เข้าร่วมการระดมทุนในแพลตฟอร์มทั้งรอบ Series A, B และ C ได้ออกมาเปิดเผยว่า การดูแลพนักงานส่งผลต่อ “ผลกำไร” อย่างมีนัยสำคัญ
โดยพวกเขาพบว่าประมาณ 7% ของพนักงาน ต้องเข้าไปรับการรักษา เนื่องจากปัญหาความเครียดจากที่ทำงาน นอกจากนั้นความเครียดยังส่งผลให้ 50% ของพนักงาน ทำงานไม่มีประสิทธิภาพอีกด้วย
“ปัญหาสุขภาพจิต” จึงถือเป็นเรื่องใหญ่ และควรได้รับการดูแล
ซึ่งนอกจากการปรึกษาสภาพจิตของพนักงานบริษัทแล้ว บริการของ Spring Health ยังครอบคลุมไปถึง “ครอบครัว” ของพนักงานอีกด้วย เช่น การให้คำปรึกษาด้านความสัมพันธ์, การดูแลสุขภาพจิตในเด็ก และการอบรมวิธีการเลี้ยงดูเด็ก ๆ อีกด้วย
เรียกได้ว่าเป็นการสร้างแพลตฟอร์ม ที่เกิดมาเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างตรงเป้า เข้าหาลูกค้าได้ตรงกลุ่ม และเปิดตัวในช่วงเวลาที่พอเหมาะพอดี
เรื่องราวการปั้นธุรกิจสตาร์ตอัปของคุณ Koh จึงน่าจะเป็นเครื่องยืนยันแล้วว่า “อายุ” ไม่ใช่อุปสรรคในการประสบความสำเร็จ หากเราตั้งใจพัฒนาสินค้าและบริการของเราอย่างแท้จริง
เหมือนกับเรื่องราวของ Spring Health ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาสุขภาพจิตของผู้คน
ซึ่งถ้าเราสามารถคิดวิธีแก้ปัญหาให้คนที่ต้องการเป็นจำนวนมากได้ มันก็จะสำเร็จได้เหมือนเรื่องนี้..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.