Givaudan บริษัทขาย “กลิ่น” ร้อยปี ที่มีมูลค่าล้านล้าน
Business

Givaudan บริษัทขาย “กลิ่น” ร้อยปี ที่มีมูลค่าล้านล้าน

19 ต.ค. 2021
Givaudan บริษัทขาย “กลิ่น” ร้อยปี ที่มีมูลค่าล้านล้าน /โดย ลงทุนเกิร์ล
ถ้าพูดถึงบริษัทที่มีมูลค่า “ล้านล้าน” บาท คิดว่าบริษัทนั้นทำธุรกิจอะไร ?
หากเรานึกภาพไม่ออก อาจจะลองดูตัวอย่างใกล้ตัว อย่างบริษัทในบ้านเรา
หากเป็น ประเทศไทย มีเพียงบริษัทเดียวในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีมูลค่าเกินล้านล้านบาท
นั่นก็คือ ปตท. ซึ่งเราก็คงรู้ดีว่า ทำธุรกิจน้ำมันและปิโตรเลียม
แต่สำหรับบริษัทที่เรากำลังจะพูดถึงในวันนี้ กลับขายสินค้าที่ “ไม่สามารถจับต้องได้” อย่าง “กลิ่น” และสามารถดำเนินธุรกิจมาได้มากกว่า 120 ปี โดยที่ปัจจุบันมีมูลค่าบริษัทกว่า 1.4 ล้านล้านบาท
บริษัทนี้ชื่อว่าอะไร และน่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
บริษัทที่เราจะพูดถึงคือ Givaudan (อ่านว่า จีวอฎัน) ซึ่งเห็นแล้วเราอาจจะไม่คุ้นเคยกับชื่อนี้สักเท่าไร แต่รับรองว่า เราน่าจะเคยได้ “กลิ่น” สินค้าที่ใช้บริการของ Givaudan แน่นอน
เพราะ Givaudan เป็นบริษัทที่ครองส่วนแบ่งตลาดในอุตสาหกรรมกลิ่นมากที่สุดในโลก หรือคิดเป็นประมาณ 17%
ครอบคลุมตั้งแต่น้ำหอมแบรนด์ดัง ไปจนถึงผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค ไม่ว่าจะเป็นสบู่ แชมพู น้ำยาปรับผ้านุ่ม เครื่องสำอาง เครื่องดื่ม ไปจนถึงขนมนมเนย รวมถึงเนื้อที่ไม่ได้ทำจากเนื้อสัตว์
โดยมีลูกค้าเป็นถึงแบรนด์หรูระดับโลก เช่น Gucci, Christian Dior และน้ำหอมในตำนานอย่าง Opium ของ Yves Saint Laurent
ซึ่งถ้าไปดูในท้องตลาดน้ำหอมหรู ๆ ของผู้หญิง 10 ขวด จะมีกลิ่นที่มาจาก Givaudan 3 ขวดเลยทีเดียว
นอกจากนั้นยังมีเครื่องสำอางในเครือ L'Oréal รวมถึงผู้นำผลิตภัณฑ์อาหารโลกอย่าง Nestlé ที่ก็เป็นลูกค้าของ Givaudan เช่นเดียวกัน
โดยจุดเริ่มต้นของอาณาจักรที่อบอวลไปด้วยกลิ่นหอมนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 1895 โดยสองพี่น้อง Léon และ Xavier Givaudan
พวกเขาได้นำความรู้ด้านการทำน้ำหอมจากฝรั่งเศส มาตั้งเป็นโรงงานสารเคมีอยู่ที่เมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อพัฒนาสารเคมีสำหรับกลบกลิ่นการฟอกหนังในการผลิตถุงมือ
ต่อมาพี่น้องตระกูล Givaudan ก็เริ่มเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ
จากแต่เดิมที่ “น้ำหอม” ถือเป็นสินค้าสำหรับ “คนรวย” เนื่องจากการกลั่นน้ำหอม จำเป็นต้องสกัดจากวัตถุดิบในธรรมชาติเท่านั้น
ซึ่งกว่าจะได้น้ำมันหอมระเหย 1 กรัม อาจต้องใช้ดอกกุหลาบหรือมะลิถึง 8,000 ดอก อีกทั้งยังมีกระบวนการผลิตที่ยุ่งยากและใช้เวลานาน
ดังนั้นเมื่อมีผู้ที่คิดค้น “กลิ่นสังเคราะห์” ขึ้น ซึ่งแม้ว่าในตอนแรก ๆ เหล่าแบรนด์น้ำหอมจะมองว่า มันเป็นการทำน้ำหอมที่ไม่มีศิลปะเอาเสียเลย
แต่สำหรับพี่น้องตระกูล Givaudan แล้ว กลับมองว่าเรื่องนี้เป็นโอกาสที่ดี เพราะเป็นวิธี ที่จะผลิตกลิ่นในต้นทุนที่ต่ำกว่าเดิมมาก
พวกเขาจึงใช้กำไรที่สะสมมา ใช้ในการศึกษาวิจัย จนกลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมกลิ่นสังเคราะห์เชิงพาณิชย์ รวมถึงยังเป็นหนึ่งในบริษัทแรก ๆ ที่ส่งเสริมการใช้น้ำหอมในเครื่องสำอางและสบู่ด้วย
และนับจากวันนั้น Givaudan ก็ยังคงทุ่มเทให้กับการคิดค้นกลิ่นใหม่ ๆ รวมถึงแสวงหากลิ่นแปลก ๆ จากทั่วโลก และนำมาเลียนแบบในห้องทดลอง
ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังถูกส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น และกลายเป็นแนวทางการปฏิบัติของบริษัทในปัจจุบัน
และเมื่อกลิ่นสังเคราะห์ได้รับการยอมรับมากขึ้น ก็ส่งผลให้กิจการของ Givaudan เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามไปด้วย
จนสามารถขยายไปตั้งโรงงานที่ประเทศฝรั่งเศส ดินแดนผู้นำองค์ความรู้ด้านการทำน้ำหอม ในปี 1917 และยังถือเป็นการบุกตลาดต่างประเทศครั้งแรกของบริษัทอีกด้วย
นอกจากนั้น Givaudan ยังมีการตั้งโรงเรียนสอนทำน้ำหอม ในปี 1946 เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความสามารถในด้านนี้ ซึ่งถือเป็นโรงเรียนสอนทำน้ำหอมที่เก่าแก่อันดับต้น ๆ ของโลก
ซึ่งบริษัทยังระบุว่ากลิ่นน้ำหอม 1 ใน 3 ของบนโลกนี้ เกิดขึ้นจากการเรียนการสอนของ Givaudan ด้วย
ส่วนกิจการของ Givaudan ก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง ผ่านกาลเวลาหลายยุคหลายสมัย จนกระทั่งชื่อเสียงของบริษัทก็ไปเข้าตา Roche บริษัทยารายใหญ่สัญชาติสวิส จนถูกเข้าซื้อในปี 1963
และภายใต้การบริหารของ Roche ก็ทำให้อาณาจักรกลิ่นของ Givaudan ยิ่งขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะจากการควบรวมกิจการในอุตสาหกรรมเดียวกัน ทั้งในและต่างประเทศ
และในปี 2000 Roche ก็นำ Givaudan เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ซึ่งถ้าหากดูมูลค่าบริษัทในวันแรก เทียบกับในปัจจุบัน
ผ่านมา 20 ปี มูลค่าของบริษัทก็ขึ้นมาเป็นเกือบ 10 เท่า แสดงถึงการเติบโตได้เป็นอย่างดี
ส่วนในด้านผลประกอบการของ Givaudan ก็ยังมีแนวโน้มที่จะโตขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน
ปี 2018 รายได้ 202,009 ล้านบาท กำไร 24,232 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 226,716 ล้านบาท กำไร 25,658 ล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 231,066 ล้านบาท กำไร 27,156 ล้านบาท
โดยสัดส่วนรายได้ สามารถแบ่งออกเป็น
น้ำหอมและผลิตภัณฑ์ความงาม 46%
รสชาติและเครื่องดื่ม 54%
ที่น่าสนใจคือ ถึงแม้ว่าจะใหญ่โตแค่ไหน แต่ Givaudan ก็ยังใช้จ่ายเงินก้อนโตไปกับการวิจัยและพัฒนา
อย่างในปี 2020 บริษัทใช้งบประมาณในส่วนนี้ไปกว่า 19,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 12% ของรายได้
รวมถึงมีศูนย์วิจัยกว่า 69 แห่งทั่วโลก และนักวิจัยมากกว่า 500 คน และยังเป็นเจ้าของสิทธิบัตรกว่า 3,600 ใบ
เรียกได้ว่า กรณีศึกษาที่น่าเอาเป็นแบบอย่าง
เพราะหากย้อนกลับไปดูที่สภาพภูมิศาสตร์ จะพบว่า
สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล ล้อมรอบไปด้วยภูเขาสูงที่ยากลำบากต่อการขนส่ง และกว่า 70% ของพื้นที่ก็เป็นภูเขา แทบจะไม่เหลือพื้นที่ให้เพาะปลูก
ซึ่งเมื่อมีทรัพยากรธรรมชาติที่จำกัด จึงนำมาสู่ความจำเป็น ที่ต้องผลิตสินค้าที่ขนส่งง่าย มีกรรมวิธีการผลิตที่ซับซ้อน มีนวัตกรรมเฉพาะตัว และมีราคาสูงพอที่จะคุ้มทุน
และหัวใจของการผลิตสินค้าที่มีลักษณะแบบนี้ ก็คือ “ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง”
จึงไม่น่าแปลกใจว่าบริษัทที่ขายสินค้าที่จับต้องไม่ได้อย่าง Givaudan จะยังคงลงทุนกับการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
จนกลายเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม และมีมูลค่าบริษัทมากกว่า ล้านล้านบาท..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.