รู้จัก Tessa Wijaya ผู้หญิงไม่กี่คนในวงการฟินเทค ที่บริหารสตาร์ตอัปมูลค่า 3 หมื่นล้าน
Business

รู้จัก Tessa Wijaya ผู้หญิงไม่กี่คนในวงการฟินเทค ที่บริหารสตาร์ตอัปมูลค่า 3 หมื่นล้าน

25 ต.ค. 2021
รู้จัก Tessa Wijaya ผู้หญิงไม่กี่คนในวงการฟินเทค ที่บริหารสตาร์ตอัปมูลค่า 3 หมื่นล้าน /โดย ลงทุนเกิร์ล
“ฟินเทค” ธุรกิจด้านการเงินดิจิทัล โลกที่ดูเหมือนว่าผู้ชายกำลังครองพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะความได้เปรียบ ที่จะก้าวหน้าในอาชีพการงาน
แตกต่างจากผู้หญิงที่มีเพียงแค่ 7% เท่านั้น ที่สามารถก้าวไปสู่ตำแหน่งสูง ๆ ได้
แม้เปอร์เซ็นต์ข้างต้นนี้จะดูเป็นจำนวนที่น้อย แต่ในหนทางที่ริบหรี่ ก็ยังมีหญิงสาวชาวอินโดนีเซีย ที่ยังส่องแสงอยู่ท่ามกลางชายหนุ่ม
เธอคนนั้นก็คือคุณ Tessa Wijaya ที่เป็นผู้ขับเคลื่อน Xendit สตาร์ตอัปด้านธุรกรรมดิจิทัล ที่เพิ่งขึ้นแท่นเป็นยูนิคอร์นเมื่อปี 2021
คุณ Tessa Wijaya ทำอย่างไรถึงได้ก้าวมาสู่จุดนี้ได้ ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
คุณ Tessa Wijaya เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง และดำรงตำแหน่ง COO ของ Xendit สตาร์ตอัปด้านธุรกรรมทางการเงินรายใหญ่ในประเทศอินโดนีเซีย ที่เพิ่งกลายเป็นยูนิคอร์น หรือบริษัทที่มีมูลค่ามากกว่า 30,000 ล้านบาท ไปหมาด ๆ ในเดือนกันยายน ปี 2021
ซึ่งจุดเริ่มต้นของ Xendit เริ่มต้นให้บริการในปี 2015 หลังจากที่คุณ Wijaya และคุณ Moses Lo ผู้ร่วมก่อตั้ง เล็งเห็นว่าการชำระเงินดิจิทัลในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความซับซ้อน และถูกแยกส่วนยิบย่อย
ตั้งแต่กระเป๋าเงินดิจิทัล, ชำระเงินภายหลัง, บัญชีดิจิทัล, บัตรเดบิตและบัตรเครดิตแบบดั้งเดิม
ดังนั้น Xendit จึงเข้ามารวบรวมกระบวนการชำระเงินทั้งหมดนี้ ให้อยู่ในแพลตฟอร์มเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยในการชำระเงินบนโลกดิจิทัล
โดยหลังจากเปิดตัวไป ก็ให้บริการครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจ SMBs (ธุรกิจขนาดเล็กไปจนขนาดกลาง), บริษัทสตาร์ตอัปอีคอมเมิร์ซ ไปจนถึงบริษัทใหญ่ ๆ มีตัวอย่างลูกค้า เช่น Grab, Wise และ Traveloka
ที่สำคัญ ปัจจุบัน Xendit ก็ไม่ได้ให้บริการแค่ภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเปิดให้บริการในอีกหลายประเทศ ทางแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, มาเลเซีย และเวียดนาม
โดยในช่วงปลายปี 2020 Xendit เข้าไปตีตลาดในฟิลิปปินส์เป็นประเทศแรก และสามารถเอาชนะใจคนฟิลิปปินส์ได้ จนปัจจุบันกลายเป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมการชำระเงิน ของประเทศนี้ไปแล้ว
ซึ่งเหตุผลที่ทำให้ Xendit ประสบความสำเร็จในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็คือ กลยุทธ์ ปรับรูปแบบการตลาดให้เข้ากับคนในท้องถิ่น (Hyper-localized)
และด้วยการเข้าไปแก้ปัญหาเฉพาะจุดในแต่ละประเทศนี่เอง ที่ทำให้ Xendit สามารถเติบโตได้รวดเร็ว
ปัจจุบันเดินทางมาได้ 6 ปีแล้ว โดยต่อปีมีจำนวนธุรกรรมเกิดขึ้นกว่า 65 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่ามากถึง 216 ล้านบาท
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็คงเห็นภาพได้ชัดแล้วว่า Xendit เติบโตมากแค่ไหนในระยะเวลาสั้น ๆ
แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือคุณ Wijaya หนึ่งในกำลังสำคัญ ผู้อยู่เบื้องหลังธุรกิจนี้ กลับไม่ได้เดินทางสายฟินเทคมาตั้งแต่ต้น และไม่ได้เรียนด้านนี้มาโดยตรง
ซึ่งเรื่องราวในวงการฟินเทคเริ่มต้นขึ้นเมื่อ คุณ Wijaya ในวัย 20 ต้น ๆ ได้เข้าทำงานที่บริษัทเกี่ยวกับการลงทุน ในตำแหน่งนักวิเคราะห์ ทั้ง ๆ ที่เธอไม่มีความรู้พื้นฐานด้วยซ้ำ
แต่ผู้สัมภาษณ์กลับเห็นว่าคุณ Wijaya มีพรสวรรค์ด้านการคิดวิเคราะห์ และการตัดสินใจที่น่าประทับใจ จึงทำให้เธอผ่านเข้ารอบและได้รับการบรรจุเข้าทำงาน
อย่างไรก็ตาม เมื่อเธอก้าวมาสู่วงการฟินเทค การที่ไม่มีใบปริญญาจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง ก็ทำให้เธอต้องเผชิญกับความยากลำบาก ในการเจรจากับบริษัทระดมทุนหลาย ๆ แห่ง อยู่เช่นกัน
และอีกหนึ่งสิ่งที่น่าประหลาดใจมากกว่าคือ คุณ Wijaya มักถูกตัดสิน เพียงเพราะเธอเป็น “ผู้หญิง” ในวงการเทค
ดังนั้นคุณ Wijaya จึงต้องทำงานหนักกว่าคนอื่นเป็นพิเศษ โดยเธอใช้เวลาหลังเลิกงานทุก ๆ วันในการ ศึกษาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการเงินเพิ่มเติม เพื่อให้ตามทันเพื่อนร่วมงาน
ซึ่งจากความเพียรพยายามเหล่านั้น เธอก็ได้ดำรงตำแหน่ง COO บริษัท Xendit ได้อย่างมั่นคง ในทุกวันนี้
นอกจาก Xendit จะเป็นผู้นำด้านธุรกรรมในหลายประเทศของทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว
ยังเป็นบริษัทที่ขึ้นชื่อเรื่อง “การสนับสนุนผู้หญิงในวงการเทค” อีกด้วย
เนื่องจากคุณ Wijaya เคยผ่านประสบการณ์ที่เคยไม่ได้รับการยอมรับในวงการฟินเทคมาแล้ว ทำให้เธอเข้าใจถึงความยากลำบากของเพศหญิงในวงการฟินเทค
ดังนั้นคุณ Wijaya จึงเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันประเด็นเรื่อง “เพศ” ในวงการฟินเทค ในประเทศอินโดนีเซีย
โดยเริ่มต้นจากให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ที่บริษัทของเธอก่อน ซึ่งปัจจุบันทีมงานในบริษัท Xendit กว่า 40% เป็นเพศหญิง
นอกจากนั้นบริษัทยังได้ออกนโยบายสนับสนุน เพื่อให้ผู้หญิงมีโอกาสเจริญก้าวหน้าในวงการฟินเทคมากขึ้น
เช่น มีโปรแกรมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับฟินเทคสำหรับสาว ๆ รุ่นใหม่, ช่วยวางแผนให้กับพนักงานที่เป็นคุณแม่มือใหม่ รวมทั้งในช่วงโรคระบาดที่ผ่านมา บริษัทยังส่งอาหารสนับสนุนไปยังบ้านพนักงานที่เป็นผู้ปกครอง
ซึ่งคุณ Wijaya ก็หวังว่าการสนับสนุนนี้ของเธอ อาจจะเป็นแรงจูงใจให้สาว ๆ รุ่นใหม่ มีความมั่นใจที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านฟินเทค และก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำได้เช่นกัน
หวังว่าเรื่องราวของคุณ Wijaya จะผลักดันให้เรามีความกล้าที่จะก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัย และกล้าไปยืนในจุดที่ใคร ๆ อาจจะมองว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้
ไม่แน่ว่าอนาคตจาก 7% ของผู้หญิงในวงการฟินเทค
อาจจะเปลี่ยนเป็น 50% ทัดเทียมกับเพศชาย ก็เป็นได้..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.