ประเทศญี่ปุ่นเริ่มสนับสนุน “ผู้ประกอบการหญิง” ให้มีบทบาทมากขึ้นในวงการธุรกิจ
Economy

ประเทศญี่ปุ่นเริ่มสนับสนุน “ผู้ประกอบการหญิง” ให้มีบทบาทมากขึ้นในวงการธุรกิจ

25 ต.ค. 2021
<อัปเดต> ประเทศญี่ปุ่นเริ่มสนับสนุน “ผู้ประกอบการหญิง” ให้มีบทบาทมากขึ้นในวงการธุรกิจ
ล่าสุด ประเทศญี่ปุ่นทั้งภาครัฐและเอกชน ได้เริ่มโครงการสนับสนุนบทบาทของผู้ประกอบการหญิงมากขึ้น ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจพลังผู้หญิง (Womenomics)” เพื่อช่วยขับเคลื่อนสังคมผ่านความหลากหลาย และช่วยฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจผ่านมุมมองผู้ประกอบการหญิง
โดยที่ผ่านมาประเทศญี่ปุ่น นับเป็นอีกประเทศที่ “ผู้หญิง” ต้องเผชิญความท้าทายอย่างมากในการทำธุรกิจ
ซึ่งหากถามว่า บทบาทของผู้ประกอบการหญิงในญี่ปุ่นที่ผ่านมานั้น น้อยแค่ไหน ?
มีข้อมูลจากผลสำรวจของ Mastercard ปี 2020 เรื่องสภาพแวดล้อมการทำงานสำหรับผู้หญิง และการสนับสนุนเพื่อสร้างความก้าวหน้าในการเป็นผู้ประกอบการหญิง
โดยจากการประเมินทั้งหมด 58 ประเทศ พบว่าประเทศญี่ปุ่นอยู่อันดับที่ 47 เลยทีเดียว
เรียกได้ว่า อยู่ในอันดับที่ต่ำกว่า ประเทศในเอเชียด้วยกัน อย่าง ประเทศไทย และไต้หวัน ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 11 และ 12 ตามลำดับ
ซึ่งดัชนีนี้สะท้อนถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น วัฒนธรรมเกี่ยวกับการยอมรับผู้ประกอบการหญิงที่เริ่มต้นธุรกิจ, เงื่อนไขในการสนับสนุนการสร้างธุรกิจ และการนำเสนอเรื่องราวของผู้หญิง ที่สามารถเป็นต้นแบบให้กับผู้ประกอบการอื่น
อย่างไรก็ตาม จากปัญหาดังกล่าว จึงทำให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้กันมากขึ้น เพื่อสร้างความหลากหลายที่มากขึ้น ในสังคมญี่ปุ่น
โดยมีหลาย ๆ บริษัท ที่แสดงความต้องการจะลงทุนในบริษัท ที่มีผู้หญิงเป็นผู้ก่อตั้ง
อย่าง Coly บริษัทเกมออนไลน์ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 ซึ่งจับกลุ่มผู้ใช้งานผู้หญิงเป็นหลัก รวมถึงยังมีพนักงานผู้หญิงมากกว่า 70% ของพนักงานทั้งหมด ก็ได้เปิดตัวโครงการที่จะให้เงินลงทุนหลายสิบล้านเยน เพื่อสนับสนุนกิจการที่มีผู้หญิงเป็นผู้ก่อตั้ง
ซึ่งถ้าถามว่า ทำไมบริษัท Coly จึงเลือกลงทุนในกิจการของผู้หญิงในญี่ปุ่น ?
ก็คงตอบได้ว่า เพราะบริษัท Coly ก่อตั้งโดย 2 หญิงสาวพี่น้องเช่นกัน
และด้วยความที่เธอทั้งคู่เป็นผู้หญิง ทำให้พวกเธอรับรู้ถึงความท้าทาย ในการเป็นผู้ประกอบการหญิงในประเทศญี่ปุ่น ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ Coly วางแผนจะสนับสนุน 10 ธุรกิจที่มีผู้หญิงเป็นผู้ก่อตั้ง
ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องเงินทุนแล้ว ทางบริษัทยังจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการ, การฝึกอบรมพนักงาน รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะสมอีกด้วย
นอกจาก Coly แล้ว ก็ยังมีบริษัทบริหารเงินทุนรายใหญ่อย่าง ANRI ที่ได้ประกาศในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ว่าจะเพิ่มสัดส่วนของการลงทุนไปยังบริษัทที่ “ผู้หญิงก่อตั้ง” ขึ้นเป็นมากกว่า 20% ของการลงทุน
รวมถึง MPower Partners Fund ซึ่งเป็นบริษัทบริหารเงินทุนที่ก่อตั้งโดยผู้หญิง 3 คน ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง ก็ได้รับความสนใจในฐานะผู้สนับสนุนผู้ประกอบการหญิง เช่นกัน
โดยหนึ่งในผู้ก่อตั้ง คือคุณ Kathy Matsui อดีตรองประธานของ Goldman Sachs Japan
ที่เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนแนวคิด “เศรษฐกิจพลังผู้หญิง (Womenomics)” หรือแนวคิดที่ว่าการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของผู้หญิงมีส่วนสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมด้วย
ซึ่งก็มีการคาดว่า เงินลงทุนของบริษัทนี้ จะเพิ่มขึ้นจนแตะ 16,000 ล้านเยน หรือประมาณ 4,635 ล้านบาท
หลังจากที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทใหญ่ ๆ เช่น บริษัทประกันชีวิต ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม, สังคม และธรรมาภิบาล
นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของการสนับสนุน “Femtech” หรือบริษัทที่นำเสนอสินค้าและบริการ ที่ช่วยแก้ปัญหาด้านสุขภาพของผู้หญิง ด้วยเทคโนโลยี
และไม่ใช่แค่บริษัทหรือองค์กรเอกชนเท่านั้นที่ออกมาสนับสนุนเรื่องนี้
เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นเอง ก็ออกมาแสดงความสนใจกับ “Femtech” เช่นกัน
ด้วยความหวังที่จะสนับสนุนบทบาทของผู้หญิงให้มีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในสังคม
โดยในปีนี้ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ได้จัดตั้งกองทุนสำหรับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ “Femtech” ซึ่งมี 20 กว่าโครงการ ที่ได้รับการสนับสนุน
อาทิ โครงการพัฒนาแผ่นบราแบบพิเศษสำหรับผู้หญิงที่ตรวจพบมะเร็งเต้านม,
บริการการแพทย์ทางไกลสำหรับผู้หญิงที่เข้ารับการรักษาภาวะมีบุตรยาก
และบริการให้คำปรึกษาทางนรีเวชสำหรับสตรีวัยทำงาน
ทั้งหมดนี้ ก็คือความเคลื่อนไหวดี ๆ ล่าสุดของประเทศญี่ปุ่น ต่อบทบาทของผู้ประกอบการหญิง
ซึ่งจริง ๆ แล้วหลายท่านอาจไม่ทราบว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ผู้หญิง ถูกจำกัดบทบาทในฐานะ “แม่บ้าน” พอสมควร แต่พอยุคสมัยได้เปลี่ยนแปลงไป ก็ทำให้ผู้หญิงมีบทบาทเพิ่มขึ้นในหลากหลายมิติ
ส่วนในประเทศไทยเอง นับว่าผู้หญิงมีบทบาทเพิ่มขึ้นสูงมากในวงการธุรกิจทุกวันนี้
โดยเราอาจเห็นได้จากธุรกิจใหญ่ ๆ ที่มีผู้หญิง เป็นผู้บริหาร เช่น คุณปลา Iberry, คุณเฟิร์น สุกี้ตี๋น้อย หรือคุณเป้ ชาตยา ประธานบริหารฟู้ดแพชชั่น เจ้าของบาร์บีคิว พลาซ่า เป็นต้น
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.