Air Up สตาร์ตอัปขวดน้ำจากเยอรมนี ที่ PepsiCo ร่วมลงทุน
Business

Air Up สตาร์ตอัปขวดน้ำจากเยอรมนี ที่ PepsiCo ร่วมลงทุน

28 ต.ค. 2021
Air Up สตาร์ตอัปขวดน้ำจากเยอรมนี ที่ PepsiCo ร่วมลงทุน /โดย ลงทุนเกิร์ล
รู้หรือไม่ว่ามูลค่าตลาดขวดน้ำดื่มแบบพรีเมียมทั่วโลกในปี 2020 มีมูลค่าอยู่ที่ 300,000 ล้านบาท และยังคงมีแนวโน้มที่เติบโตขึ้นอีกเรื่อย ๆ
แม้ว่าปัจจุบัน ผู้คนจะเริ่มหันมาให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อม
แต่ถ้าหากว่าเราเป็นคนที่ติดน้ำอัดลม ชอบดื่มน้ำหวาน ๆ เป็นชีวิตจิตใจ
การจะรักษ์โลกก็อาจเป็นเรื่องยาก เพราะการดื่มน้ำอัดลมส่วนใหญ่ยังเป็นขวดพลาสติก
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้มีสตาร์ตอัปจากเยอรมนีแห่งหนึ่ง ได้เกิดไอเดียผลิตขวดน้ำ ที่ไม่เพียงแค่ช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นอีกทางเลือกเพื่อสุขภาพสำหรับคนติดน้ำหวาน
ซึ่งบริษัทนี้มีชื่อว่า Air Up ก่อตั้งโดยนักศึกษาชาวเยอรมันทั้ง 5 คน
โดยแม้แต่บริษัทน้ำอัดลมระดับโลกอย่าง PepsiCo เอง ก็ยังมาร่วมลงทุนในบริษัท Air Up นี้ด้วย
แล้วเรื่องราวของ Air Up น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ผู้เริ่มต้นปลุกปั้นสตาร์ตอัปขวดน้ำ Air Up คือคุณ Lena Jungst และเพื่อน ๆ อีก 4 คน
คุณ Lena Jungst เรียนจบในสาขาด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์มาโดยตรง ซึ่งในตอนนั้น “ขวดน้ำ” ก็เป็นสิ่งที่เธอออกแบบมา เพื่อทำเป็นวิทยานิพนธ์ตอนเรียนจบ
โดยหัวข้อวิทยานิพนธ์ในตอนนั้น คือเรื่องของการนำเอาประสาทวิทยาศาสตร์ มารวมเข้ากับงานดีไซน์
ซึ่งไอเดียของการทำ Air Up ก็เกิดขึ้นในตอนที่คุณ Lena Jungst และหนึ่งในผู้ก่อตั้งอีกคน
ได้ฟังรายการ Ted Talks เกี่ยวกับเรื่องรสชาติต่าง ๆ ที่สามารถถ่ายทอดผ่าน “กลิ่น” ได้
ทั้งคู่จึงเริ่มทำวิทยานิพนธ์ ด้วยแนวคิดที่ต้องการจะออกแบบขวดน้ำดื่ม ที่สามารถปรุงรสน้ำได้ด้วยกลิ่น
พอได้ฟังอย่างนี้แล้ว คนรอบตัวก็ให้ความสนใจกับสิ่งที่เธอออกแบบเป็นอย่างมาก และพูดถึงความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาต่อให้เป็นธุรกิจ
ดังนั้น จากเดิมที่ Air Up เป็นเพียงโปรเจกต์จบ จึงกลายมาเป็นธุรกิจจริง ๆ ในที่สุด
หลังจากนั้นในปี 2017 คุณ Lena Jungst และเพื่อน ๆ อีก 4 คน จึงได้นำ Air Up
ไปแข่งขันในงาน Exist Startup Grant ซึ่งจัดโดยรัฐบาลเยอรมนี จนได้รับทุนและเปิดตัวบริษัท Air Up และเริ่มขายสินค้าอย่างเป็นทางการในปี 2019
ที่น่าสนใจคือ หลังจากที่เปิดตัวไป จนถึงปัจจุบัน หรือนับเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี Air Up ก็สามารถระดมเงินจากนักลงทุนไปได้แล้วกว่า 2,000 ล้านบาท
โดยหนึ่งในบรรดานักลงทุน ก็มีบริษัทเครื่องดื่มและขนมรายใหญ่อย่าง PepsiCo ที่เข้าร่วมด้วย
แล้วขวดน้ำของ Air Up พิเศษกว่าขวดน้ำทั่วไปอย่างไร ? ทำไมถึงได้รับความสนใจขนาดนี้ ?
จริง ๆ แล้ว หน้าตาขวดน้ำของ Air Up นั้น แทบจะไม่ต่างจากขวดน้ำแบบอื่น ๆ เลย
แต่ใกล้ ๆ บริเวณที่เอาไว้ดื่มน้ำ จะมีส่วนที่เอาไว้ให้เราใส่ “กลิ่น” ได้
ซึ่งตรงนี้เอง ที่ทำให้ Air Up พิเศษกว่าขวดน้ำแบรนด์อื่น ๆ
แต่ก่อนจะไปต่อ เรามาทำความเข้าใจกันสักเล็กน้อยว่าทำไมกลิ่น จึงให้รสชาติได้
โดยปกติแล้วอวัยวะที่ใช้ในการรับรสของพวกเราคือ “ลิ้น” ซึ่งแต่ละต่อมในลิ้น
ก็จะมีหน้าที่ในการรับรสชาติที่แตกต่างกันออกไป ทั้งหวาน เปรี้ยว เค็ม
ในขณะเดียวกันนอกเหนือจากรสชาติที่เราจะได้จากการกินอาหารทางปากแล้ว
ร่างกายยังสามารถรับรสจากสิ่งที่เรียกว่า กลิ่นรส (Flavor) ได้อีกด้วย
จึงไม่แปลกที่เวลาเราเป็นหวัดแล้วจมูกตัน จะทำให้เราได้รับรสชาติอาหารน้อยลง
เพราะประสาทสัมผัสในส่วนของ “กลิ่นรส” ทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพนั่นเอง
ขวดน้ำ Air Up จึงอาศัย “กลิ่นรส” นี้ เพื่อ “หลอกสมอง” ว่าน้ำที่ดื่มเข้าไปนั้นมี “รสชาติ” ไม่ใช่แค่น้ำเปล่าธรรมดา ๆ
อย่างไรก็ตาม การระดมทุนได้เป็นหลักพันล้าน ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี Air Up ก็ไม่ได้มีดีที่แค่เรื่อง เทคโนโลยีที่น่าสนใจ
เพราะสินค้าของ Air Up ยังออกมาแล้วตอบโจทย์ลูกค้า รวมถึงตรงกับเทรนด์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่เริ่มหันมาให้ความสนใจกับสินค้าเพื่อสุขภาพกำลังมาแรงด้วย
โดยเฉพาะทั้งเด็กรุ่นใหม่ และผู้ใหญ่เอง ที่ก็หันมาสนใจสุขภาพมากขึ้น
นอกจากนั้น Air Up ยังตอบโจทย์เรื่องเทรนด์รักษ์โลกด้วย ซึ่งเป็นอีกสิ่งที่ผู้คนกำลังให้ความสนใจกัน
เพราะการใช้ขวดน้ำแบบใช้ซ้ำได้ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งสำหรับคนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
ซึ่งหากเราเป็นคนที่ชื่นชอบการดื่มน้ำหวาน และอยากรักษ์โลกไปพร้อม ๆ กัน
การจ่ายเงินเพิ่มอีกเล็กน้อย เพื่อให้ได้ขวดน้ำที่มีฟังก์ชันเรื่องกลิ่นเพิ่มขึ้นมา ก็ดูเป็นทางเลือกที่ไม่ได้แย่เท่าไรนัก
โดยราคาของขวด Air Up อยู่ที่ขวดละ 1,100 บาท ซึ่งเป็นราคาที่รวมมากับตัวส่งกลิ่นแล้ว
เมื่อลองเปรียบเทียบกับราคาของขวดน้ำพรีเมียมแบบใช้ซ้ำแบรนด์อื่น ๆ
ที่มีราคาอยู่ประมาณ 1,000-2,000 บาทต่อขวด ก็ถือว่าไม่ได้แตกต่างกันมาก
ในขณะเดียวกันตัวให้กลิ่นของ Air Up เองก็มีราคาอยู่ที่ห่อละ 260 บาท สามารถใช้ได้ทั้งหมด 23 ครั้ง
เท่ากับว่าการดื่มน้ำ 1 ครั้งจะมีราคาอยู่ที่ 11 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับราคาน้ำอัดลมที่เราต้องจ่ายในปริมาณเท่ากันแล้ว แม้จะไม่ได้ต่างกัน แต่ก็ดีต่อสุขภาพมากกว่า
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยของคนที่รักของหวาน ให้ตัดน้ำหวานอย่างไม่ทรมาน
กรณีของ Air Up จึงเป็นอีกหนึ่งสตาร์ตอัปที่น่าสนใจ เพราะทั้งเทรนด์น้ำดื่ม และขวดน้ำแบบใช้ซ้ำ ก็กำลังมาแรงในตอนนี้
ในขณะเดียวกัน การที่ได้ผู้ลงทุนอย่างบริษัท PepsiCo ที่มีสินค้าเด่นเป็นน้ำอัดลม ก็อาจจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าศักยภาพของ Air Up นั้นสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างแน่นอน..
© 2025 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.