รู้จัก Vintagewknd แบรนด์แฟชั่นที่หยิบเอาเศษผ้า มาทำเป็นเสื้อตัวใหม่
FashionBusiness

รู้จัก Vintagewknd แบรนด์แฟชั่นที่หยิบเอาเศษผ้า มาทำเป็นเสื้อตัวใหม่

9 พ.ย. 2021
รู้จัก Vintagewknd แบรนด์แฟชั่นที่หยิบเอาเศษผ้า มาทำเป็นเสื้อตัวใหม่ /โดย ลงทุนเกิร์ล
รู้หรือไม่ว่ามูลค่าตลาด Fast Fashion ทั่วโลกมีมูลค่าอยู่ที่ 2.2 ล้านล้านบาท
และเมื่อตลาดมีขนาดใหญ่ นั่นก็หมายความว่า เสื้อผ้าที่มีอยู่ในตลาดก็มีจำนวนมากเช่นกัน
ซึ่งไม่ใช่แค่เสื้อผ้าเท่านั้นที่มีอยู่จนล้นตลาด แต่ขยะที่เกิดขึ้นจากการผลิตพวกเศษผ้าเอง ก็นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่มาจากอุตสาหกรรม Fast Fashion
โดยจากการสำรวจก็พบว่า มีแบรนด์เพียงแค่ 11% เท่านั้น
ที่สนใจขยะในส่วนนี้ และนำกลับมาทำให้เกิดประโยชน์
หนึ่งในนั้นก็คือแบรนด์ Vintagewknd ที่ได้พยายามหยิบเอาเศษผ้าตามโรงงาน
นำมาตัดและเย็บจนเกิดเป็นเสื้อผ้าชิ้นใหม่
เรื่องราวของ Vintagewknd น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ผู้ก่อตั้ง Vintagewknd มีอยู่ 2 คน ได้แก่ คุณ Eileen Tan และคุณ Eden Tay
โดยก่อนหน้าที่ทั้งสองจะตัดสินใจมาทำธุรกิจแฟชั่นแบบเต็มตัว คุณ Eileen Tan นั้นทำงานเป็นพนักงานประจำเกี่ยวกับอุตสาหกรรมด้านน้ำมัน
แต่ด้วยความที่เธอมีความชื่นชอบในด้านแฟชั่นแบบวินเทจและชอบแต่งตัวอยู่แล้ว ทำให้ในปี 2015 คุณ Eileen Tan และคุณ Eden Tay จึงได้รวมตัวกัน เพื่อขายเสื้อผ้าวินเทจเป็นงานเสริมบน Carousell
แพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสสำหรับซื้อขายสินค้าทั้งมือหนึ่งและมือสอง
แต่ในช่วงปลายปี 2018 ทั้งคู่ก็ตัดสินใจที่จะทำ Vintagewknd แบบเต็มเวลา
และลาออกจากงาน รวมถึงเปลี่ยนจากที่รับเสื้อผ้ามาขาย เป็นการทำเสื้อผ้าขึ้นเอง
โดยนำเอาเศษผ้าที่เหลือจากโรงงาน มาสร้างเป็นชุดใหม่ หรือที่เรียกว่า “อัปไซเคิล”
แล้วอัปไซเคิล กับรีไซเคิลแตกต่างกันอย่างไร ?
การอัปไซเคิล (Upcycle) คือการใช้วัสดุจากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ถูกใช้งานแล้วมาสร้างสิ่งใหม่ โดยเมื่อผ่านกระบวนการอัปไซเคิลแล้ว สิ่งที่ได้จะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่
ส่วนการรีไซเคิล (Recycle) จะเป็นการนำเอาสิ่งของกลับเข้ากระบวนการผลิตใหม่ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์แบบเดิม หรือนำกลับมาใช้ใหม่ด้วยวัตถุประสงค์เดิม
เช่น หากเราเอาเสื้อผ้าเก่าที่มีอยู่มาทำให้กลายเป็นกระเป๋า นั่นคือ “การอัปไซเคิล” แต่ถ้าหากเรานำเสื้อเก่านั้น ไปแปรรูปให้กลายเป็นเสื้อตัวใหม่ นั่นคือ “การรีไซเคิล”
ฉะนั้นหัวใจหลักในการทำธุรกิจของ Vintagewknd ก็คือการนำเอาเศษผ้าจากโรงงาน
มาอัปไซเคิลเพื่อให้เกิดเป็นเสื้อผ้าสไตล์วินเทจ และขายบนแพลตฟอร์มของตัวเอง
แต่ด้วยกระบวนการผลิตที่ต้องอาศัยการนำเอาสิ่งที่เหลือทิ้ง มาทำเป็นชุดใหม่ ก็ทำให้ผลิตได้จำนวนไม่เยอะ และยังมีความยุ่งยาก จนทำให้สินค้าราคาแพงขึ้นด้วย
แล้วแบบนี้ สินค้าจะขายได้หรือไม่ ?
จากการศึกษาโดยบริษัท Bain & Company และโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook พบว่าลูกค้าจำนวนมากในยุคนี้ เริ่มมองหาสินค้าที่ส่งเสริมเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น
โดย 90% ของลูกค้าอยากจะซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืน
ในขณะเดียวกัน 85% ของคนกลุ่มนี้ก็ยินดีที่จะจ่ายเงินแพงขึ้นเพื่อความยั่งยืน
ดังนั้น สินค้าของ Vintagewknd จึงสามารถตอบโจทย์ความต้องการ ของกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ได้อย่างตรงเป้า
จากเรื่องนี้จึงสรุปได้ว่า ราคาไม่ใช่ปัญหาสำหรับลูกค้า เพราะหลาย ๆ คน
ยินดีที่จะจ่ายแพงขึ้น เพื่อเข้าถึงสินค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมนั่นเอง
อย่างไรก็ตามไม่ได้มีแค่การนำเศษผ้ามาอัปไซเคิลเท่านั้นที่ทำให้ Vintagewknd โดดเด่น
เพราะอีกด้านสไตล์เสื้อผ้าแบบวินเทจของ Vintagewknd เองก็โดดเด่นไม่แพ้กัน
โดยสินค้าส่วนใหญ่ของ Vintagewknd จะเป็นสไตล์ที่เราพบเห็นได้ในยุคปี 2000
หรือเรียกย่อ ๆ ว่าสไตล์ Y2K ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เริ่มกลับมาฮิตอีกครั้งในปี 2021 นี้
เพราะหากมองถึงกลุ่มคนที่กำลังเป็นกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ในวันนี้
ก็คือเหล่าเด็ก ๆ ในยุค 2000 ที่เคยนั่งดูรายการโทรทัศน์และเห็นแฟชั่นจากในทีวี
แต่อาจไม่เคยมีโอกาสได้ใส่เสื้อผ้าเหล่านั้น เพราะตัวเองยังเป็นแค่เด็กน้อย
พอมาถึงปัจจุบันจากเด็กน้อยก็ได้กลายเป็นคนที่ทำงานหาเงินด้วยตัวเอง
การจะซื้อเสื้อผ้าที่ตัวเองเคยใฝ่ฝันในวัยเด็ก จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนทำ
นอกจากนั้น เสื้อผ้าของ Vintagewknd เองก็ได้แรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนในวัยเด็กด้วย
ดังนั้น จึงไม่ใช่แค่กลุ่มเป้าหมายที่ชื่นชอบสินค้าที่มีความยั่งยืน
แต่ยังได้กลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบการแต่งตัวแบบย้อนยุคอีกด้วย
ซึ่งสิ่งที่ช่วยให้ Vintagewknd ตามหากลุ่มลูกค้าของตัวเองจนเจอ
ก็คือ โซเชียลมีเดีย ที่ทางแบรนด์เน้นไปที่การใช้งาน Instagram และ TikTok
เพราะเป็นโซเชียลที่กำลังมาแรง และช่วยขับเคลื่อนเทรนด์ต่าง ๆ ได้อย่างดี
ทำให้ Vintagewknd สามารถเข้าถึงคนเป็นจำนวนมากได้ในแต่ละวัน
จากการทำคอนเทนต์ลงบนโซเชียลมีเดียเหล่านี้
เรียกได้ว่ากรณีของ Vintagewknd ก็แสดงให้เห็นถึงอีกหนึ่งช่องทาง ที่จะมาช่วยลดผลกระทบจากอุตสาหกรรม Fast Fashion
โดยไม่ได้มีเพียงแค่การหยุดซื้อเสื้อผ้าใหม่ ๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการใช้เสื้อผ้าที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ไม่ว่าจะเป็นการขายต่อให้คนอื่น นำไปบริจาค หรือนำไปดัดแปลงให้กลายเป็นสิ่งใหม่ ก็เป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยเหลือโลกได้เช่นกัน
และไม่แน่ว่า อาจกลายเป็นอีกธุรกิจที่สร้างมูลค่าและเปลี่ยนแปลงโลกไปพร้อม ๆ กัน เหมือนกับ Vintagewknd ก็เป็นได้..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.